เด็กซ์แพนทีนอล (Dexpanthenol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เด็กซ์แพนทีนอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- เด็กซ์แพนทีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เด็กซ์แพนทีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เด็กซ์แพนทีนอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เด็กซ์แพนทีนอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เด็กซ์แพนทีนอลอย่างไร?
- เด็กซ์แพนทีนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเด็กซ์แพนทีนอลอย่างไร?
- เด็กซ์แพนทีนอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- วิตามินบี (Vitamin B)
- วิตามินบีรวม (B-complex vitamins)
- ไฮออสไซยามีน (Hyoscyamine)
บทนำ: คือยาอะไร?
เด็กซ์แพนทีนอล (Dexpanthenol) หรือ แพนทีนอล (Panthenol) คือ สารเคมีประเภท กรดแพนโทเทนิก (Pantothenic acid) ที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอลกอฮอล์ หรืออาจกล่าวว่าเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 5 ประโยชน์ที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้นั้นเกิดจากคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของตัวยาเด็กซ์แพนทีนอลนั่นเอง
- วงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้นำยาเด็กซ์แพนทีนอลมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์แชมพูและยานวดผม
- สำหรับวงการเภสัชกรรมได้ใช้เด็กซ์แพนทีนอลผสมในสูตรตำรับยากลุ่มขี้ผึ้งทาผิวหนัง โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการซึมผ่านลงในชั้นผิวหนัง บางสูตรตำรับอาจเพิ่มตัวยา Allantoin ที่ช่วยทำให้แผลสมานตัวได้เร็วและลดอาการระคายเคืองที่มีต่อผิวหนัง
สำหรับรูปแบบยาแผนปัจจุบันสูตรตำรับที่มียาเด็กซ์แพนทีนอลเป็นส่วนประกอบสำคัญได้แก่ ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาพ่นจมูก และยาฉีด รูปแบบของผลิตภัณฑ์จะถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น
- ใช้เพื่อป้องกันผิวแห้ง ตกสะเก็ด
- ใช้เพื่อบรรเทาอาการคันหรือระคายเคืองทางผิวหนัง
- กรณียาฉีดใช้ฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้หลังทำการผ่าตัดช่องท้อง
- ลดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกโดยช่วยเรื่องความชุ่มชื้นและลดอาการระคายเคืองของบาดแผลในโพรงจมูก
- เป็นวิตามินเสริมให้กับร่างกายมักจะอยู่ในรูปแบบวิตามินรวมชนิดที่เป็นยาฉีดและยารับประทาน
ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประกอบกับวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเด็กซ์แพนทีนอล ทำให้ผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถใช้ยาในกลุ่มที่มียาเด็กซ์แพนทีนอลเป็นส่วนประกอบได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรในสถานพยาบาลและตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป
เด็กซ์แพนทีนอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเด็กซ์แพนทีนอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาอาการผื่นคันของผิวหนังหรือผิวหนังระคายเคือง
- บรรเทาอาการระคายเคืองในโพรงจมูกโดยใช้กลไกเพิ่มความชุ่มชื้น
- ใช้เสริมสร้างให้ผู้ป่วยที่ร่างกายขาดสารอาหารประเภทวิตามินบี
- ใช้กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร-ลำไส้หลังได้รับการผ่าตัดช่องท้องซึ่งเป็นยาฉีดที่มีปริมาณยาเด็กซ์แพนทีนอลขนาดสูง
เด็กซ์แพนทีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเด็กซ์แพนทีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์ได้หลากหลายขึ้นกับชนิดของผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่าง เช่น
ก. สำหรับกระตุ้นการทำงานของลำไส้: ยาเด็กซ์แพนทีนอลออกฤทธิ์โดยจะมีกลไกเป็นสารตั้งต้นที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นสาร Coenzyme A ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญของการสร้างกรดไขมัน, กรดอะมิโน และเป็นส่วนประกอบในกระบวนการที่ร่างกายนำโปรตีนมาใช้ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Acetylation of choline ซึ่งร่างกายได้ใช้กลไกที่กล่าวมาข้างต้นในการสร้างสารสื่อประสาทที่จะช่วยสั่งการให้กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวและทำงานได้เหมือนปกติ
ข. สำหรับกลไกลดอาการระคายเคืองทางผิวหนังและเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มของร่างกาย: จะเป็นลักษณะที่ตัวยาเด็กซ์แพนทีนอลช่วยดูดซับความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง/เนื้อเยื่อ ทำให้ลดอาการแห้งกร้านซึ่งเป็นต้นเหตุของการระคายเคือง
เด็กซ์แพนทีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเด็กซ์แพนทีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาพ่นจมูก ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาครีมทาผิวหนังที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Dexpanthenol 5% + Chlorhexidine dihydrochloride 0.5%
- ยาขี้ผึ้งทาผิวหนังที่มีความเข้มข้น 5%
- ยารับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นชนิด ยาเม็ด แคปซูล และยาน้ำ
- ยาฉีด ขนาด 250 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีดที่เป็นลักษณะของกลุ่มวิตามินรวม
เด็กซ์แพนทีนอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเด็กซ์แพนทีนอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับโรคและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ซึ่งมีหลากหลาย ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น
ก. รูปแบบยาทาและยาพ่นจมูก: ให้ใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะผลิตภัณฑ์ เช่น
- ยาทา: ผู้ใหญ่; ทายาบริเวณผื่นคันและช่วยสมานแผล: ให้ทายา 1 - 2 ครั้ง/วันหรือตามคำสั่งแพทย์
- ยาพ่นจมูก: ผู้ใหญ่; ให้พ่นจมูกวันละ1ครั้ง หรือตามคำสั่งแพทย์
ข. รูปแบบของยาฉีดสำหรับกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร-ลำไส้หลังผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งแรก 250 - 500 มิลลิกรัม อีก 2 ชั่วโมงให้ฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง จากนั้น อาจต้องให้ยาทุก 6 ชั่วโมง โดยใช้ตามคำสั่งของแพทย์
*อนึ่ง: ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก); การใช้ยานี้ในทุกรูปแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเด็กซ์แพนทีนอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเด็กซ์แพนทีนอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายา/ใช้ยาเด็กซ์แพนทีนอลสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการใช้เป็น 2 เท่า
เด็กซ์แพนทีนอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเด็กซ์แพนทีนอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. ในรูปแบบยาทาผิวหนัง ยาพ่นจมูก: พบอาการข้างเคียงได้น้อยเพราะเป็นรูปแบบยาใช้ภายนอก นอกจากจะใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
ข. ในรูปแบบยาฉีด: การใช้ยานี้ในปริมาณที่เข้มข้นมากอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ, มีอาการกระสับกระส่าย, เกิดผื่นคัน, ลมพิษ, ท้องเสีย, อาเจียน, มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน, เกิดอาการแพ้ยาจนหยุดหายใจได้
ค. อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง, มีภาวะโคม่า, มีอาการชัก, มีไข้, ปากคอแห้ง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เด็กซ์แพนทีนอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเด็กซ์แพนทีนอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวผลิตภัณฑ์ที่ต่างจากสภาพปกติ
- การใช้ในลักษณะยาฉีด: แพทย์จะตรวจระดับเกลือแร่ในเลือดว่าอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่ควบคู่กันไป อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาที่ยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะ-ลำไส้ด้วยเช่นกัน เช่น ยาHyoscyamine
- การใช้ยาในสตรี สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเด็กซ์แพนทีนอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เด็กซ์แพนทีนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเด็กซ์แพนทีนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเด็กซ์แพนทีนอลชนิดฉีด ร่วมกับยากลุ่ม Succinylcholine ด้วยการใช้ร่วมกัน ยาเด็กซ์แพนทีนอลชนิดฉีดจะเพิ่มฤทธิ์และระยะเวลาของการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม Succinylcholine ต่อร่างกายมากขึ้นจนกลายเป็นผลเสีย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันต้องเว้นระยะเวลาการให้ยาห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ควรเก็บรักษาเด็กซ์แพนทีนอลอย่างไร?
ควรเก็บยาเด็กซ์แพนทีนอล:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เด็กซ์แพนทีนอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเด็กซ์แพนทีนอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่นตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Becolim 100 (บีโคลิม 100) | Atlantic Lab |
Bepanthen (บีแพนเทน) | Bayer HealthCare |
Cernevit (เซอร์เนวิท) | Baxter Healthcare |
Metaplex (เมทาเพล็กซ์) | Takeda |
Munti-Vim Drops (มันติ-วิม ดร็อพ) | B L Hua |
Mar Plus (มาร์ พลัส) | Stada |
Pharmaton Kiddi (ฟาร์มาตอน คิดดี้) | Boehringer Ingelheim |
Romilar (โรมิลาร์) | Bayer HealthCare |
Syn-O-Vits (ซิน-โอ-วิท) | Osoth Interlab |
Surplex (เซอร์เพล็กซ์) | Chi Sheng |
Vitacap (ไวตาแคป) | Neopharm |
Vibrumin (ไวบรูมิน) | General Drugs House |
บรรณานุกรม
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-75143/dexpanthenol-topical/details [2022,March26]
- https://www.drugs.com/pro/dexpanthenol.html [2022,March26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Panthenol [2022,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=dexpanthenol&page=1 [2022,March26]
- https://www.syrianclinic.com/med/en/ProfDrugs/Dexpanthenolpd.html#mechanism-action [2022,March26]
- https://www.drugs.com/pro/dexpanthenol.html [2022,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mar%20Plus/ [2022,March26]
- https://www.mims.com/India/drug/info/dexpanthenol/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,March26]