ไฮออสไซยามีน (Hyoscyamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไฮออสไซยามีน (Hyoscyamine) เป็นสารประเภท โทรเพน อันคาลอยด์ (Tropane alkaloid) พบในพืชตระกูล Solanacae บางคนอาจสับสนว่าเป็นสาร/ยาตัวเดียวกันกับไฮออสซีน (Hyoscine) หรือไม่ สารทั้ง 2 ชนิดเป็นสารคนละตัว เพียงแต่สูตรโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกันเท่านั้น ทางการแพทย์นำมาทำเป็นยารักษาอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบในระบบทางเดินอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร บำบัดอาการลำไส้แปรปรวน ภาวะตับอ่อนอักเสบ อาการปวดแบบโคลิก/ปวดบีบ/ปวดเกร็ง (Colic)ของกระเพาะอาหารและลำไส้ เส้นทางการบริหารยา/การใช้ยานี้กับผู้ป่วย มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด

เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ไฮออสไซยามีนจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 50% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของไฮออสไซยามีน ร่างกายต้องใช้เวลา 3 – 5 ชั่วโมง ในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

สำหรับประเทศไทย จะไม่ค่อยพบเห็นไฮออสไซยามีนในรูปแบบของยาเดี่ยว จะพบเห็นเป็นยาช่วยสนับสนุนการรักษาที่ผสมร่วมกับยาอื่นด้วยวัตถุประสงค์เป็นยาสงบประสาท และช่วยให้นอนหลับ หรือผสมกับยารักษาอาการกรดไหลย้อน การจะเลือกใช้ยาชนิดนี้ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาไฮออสไซยามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไฮออสไซยามีน

ยาไฮออสไซยามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาและบำบัดอาการลำไส้แปรปรวน
  • ลดอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบในช่องทางเดินอาหาร
  • บรรเทาอาการปวดเกร็งของ โรคนิ่วในไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี

ยาไฮออสไซยามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮออสไซยามีนคือ ตัวยาจะเข้าไปปิดกั้นการทำงานของสารอะเซทิลคลอลีน(Acetylcholine, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) ในส่วนของประสาทอัตโนมัติชนิดพาราซิมพาเทติค(Parasympathetic nervous system) ที่บริเวณกล้ามเนื้อเรียบ บริเวณต่อมต่างๆ และในสมอง จนทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาไฮออสไซยามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไฮออสไซยามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดที่ผสมกับยาอื่นเพื่อช่วยให้นอนหลับ และสงบประสาท เช่น Phenobarbital Na 16.2 mg + Atropine sulfate 0.0194 mg + Hyoscine HBr 0.0065 mg + Hyoscyamine sulfate 0.1037 mg
  • ยาเม็ดที่ผสมกับยาอื่นเพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อน เช่น Aluminium glycinate 500 mg + Belladonna dry extr 15 mg equiv to Hyoscyamine 0.15 mg)

ยาไฮออสไซยามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไฮออสไซยามีนมีขนาดรับประทานได้หลากหลาย ขึ้นกับว่าจะใช้บำบัดรักษาอาการจากโรคอะไร ซึ่งจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์ประเมินจากที่ว่า เป็นโรคอะไร และมีความรุนแรงของอาการเป็นอย่างไร

ในที่นี้ จึงขอกล่าวถึงเฉพาะสำหรับ ‘รักษาอาการลำไส้แปรปรวน’: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.125 – 0.25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ขนาดสูงสุดที่รับประทานต่อวันไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัม ควรรับประทานยาก่อนอาหาร 30 – 60 นาที
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยานี้ ขึ้นกับอาการ และอายุเด็ก ดังนั้น จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง: หากได้รับ *ยาไฮออสไซยามีนเกินขนาด* ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที อาการที่พบจากการได้รับยานี้เกินขนาด เช่น

  • รูม่านตาขยาย
  • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • มีอาการร้อนตามผิวหนัง
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูง
  • หายใจถี่/หายใจเร็วเกินปกติ

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึง ยาไฮออสไซยามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไฮออสไซยามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ/อาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร

เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไฮออสไซยามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไฮออสไซยามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไฮออสไซยามีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปากคอแห้ง
  • เจ็บบริเวณคอ และเจ็บลูกตา
  • การมองภาพไม่ชัดเจน
  • วิงเวียน
  • กระสับกระส่าย
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ใบหน้าแดง
  • เป็นลม
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ประสาทหลอน
  • สูญเสียความทรงจำในระยะสั้นๆ
  • ลมพิษ
  • กดการหลั่งน้ำนม
  • ปัสสาวะขัด
  • เพิ่มความดันลูกตา
  • รูม่านตาขยาย
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ท้องอืด
  • และท้องผูก เป็นต้น

*ส่วนอาการ *แพ้ยาไฮออสไซยามีน* ซึ่งหากเกิดขึ้น ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

โดยอาการพบบ่อยของการแพ้ยานี้ เช่น

  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ผื่นขึ้นเต็มตัว
  • ใบหน้าและริมฝีปากบวม

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสไซยามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสไซยามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยลำไส้อักเสบในระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะท้องเสีย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยภาะวไทรอยด์ฮอร์โมน/ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูง(โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรืออยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อน ด้วยไฮออสไซยามีน จะลดการขับเหงื่อของร่างกาย จนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินปกติ เกิดอาการคล้ายอาการไข้สูงได้
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮออสไซยามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไฮออสไซยามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร

ยาไฮออสไซยามีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไฮออสไซยามีนร่วมกับกลุ่มยาต่อไปนี้ สามารถก่อให้เกิดพิษของยาไฮออสไซยามีนต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยาAmantadine (ยารักษาโรคพาร์กินสัน), ยาต้านสารฮิสตามีน (Antihistamine), ยา Antimuscarinics (ยาลดการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ), Haloperidol, Phenothiazine, ยากลุ่ม TCAs (Tricyclic antidepressants : ยารักษาโรคซึมเศร้า) และยากลุ่ม MAOIs
  • การใช้ยาไฮออสไซยามีนร่วมกับยาลดกรด สามารถลดการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยาไฮออสไซยามีน และทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไฮออสไซยามีนด้อยลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาด หรือเวลาของการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป
  • การใช้ยาไฮออสไซยามีนร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดอาการง่วงและวิงเวียนอย่างมาก ห้ามรับประทานร่วมกันโดยเด็ดขาด

ควรเก็บรักษายาไฮออสไซยามีนอย่างไร

สามารถเก็บยาไฮออสไซยามีน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไฮออสไซยามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฮออสไซยามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Belladonna Alkaloids with Phenobarbital
(เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ วิท ฟีโนบาร์บิทอล)
Samakeephaesaj (Union Drug Lab)
New Gel (นิว เจล) New York Chemical

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyoscyamine [2020,May16]
  2. https://www.drugs.com/cdi/hyoscyamine-injection.html [2020,May16]
  3. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-13766/hyoscyamine-oral/details [2020,May16]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=hyoscyamine [2020,May16]
  5. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fbelladonna%2520alkaloids%2520with%2520phenobarbital%2f [2020,May16]
  6. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fNew%2520Gel%2fnew%2520gel-new%2520gel%2520-d [2020,May16]
  7. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fhyoscyamine%2f%3ftype%3dbrief%26mtype%3dgeneric [2020,May16]