เซทริไมด์ (Cetrimide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 เซทริไมด์ (Cetrimide) คือ ยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้ทำ           ความสะอาดบาดแผลของผิวหนังและบำบัดอาการอักเสบของต่อมไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ผลิตภัณฑ์ของ                   ยาเซทริไมด์มีทั้งที่เป็นยาครีมและสารละลาย กลุ่มแบคทีเรียแกรมบวกจะตอบสนองกับยาเซทริไมด์ได้ค่อนข้างดี หลังการใช้ยาเซทริไมด์กับผิวหนังสามารถชำระล้างออกโดยสบู่ได้โดยง่าย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเซทริไมด์ได้ถูกพัฒนาโดยมีการผสมตัวยาฆ่าเชื้อโรคชนิดอื่นร่วมลงไปด้วย เช่น ยา Chlorhexidine และจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Savlon’

 ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ยาเซทริไมด์ควรทราบข้อมูลเบื้องต้นดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยเคยแพ้ยานี้หรือแพ้สารประกอบในสูตรตำรับยาเซทริไมด์หรือไม่
  • การใช้ยานี้กับผิวพรรณเป็นเวลานานอาจกระตุ้นให้มีอาการแพ้ยาตามมาได้
  • ยาชนิดนี้เป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามมิให้เข้าตาและห้ามรับประทาน กรณีที่เผลอรับประทาน ยานี้เข้าไปให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
  • ก่อนการทายาเซทริไมด์ต้องทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เป็นบาดแผลก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ทายาเพียงบางๆ
  • ห้ามใช้ยานี้ที่หมดอายุแล้วนอกจากคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจะต่ำลงแล้วยังอาจก่อให้เกิดอาการ แพ้ของผิวหนังได้ง่าย

 อนึ่งการใช้ยาเซทริไมด์ควรต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการ ใช้ยาเซทริไมด์ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชน นอกจากนี้ยังสามารถซื้อหาหรือสอบ ถามรายละเอียดของยาเซทริไมด์ได้จากเภสัชกรประจำร้านขายยาโดยทั่วไป

เซทริไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เซทริไมด์

ยาเซทริไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้ทำความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อของบาดแผล
  • รักษาอาการต่อมไขมันใต้ผิวหนังอักเสบ

เซทริไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซทริไมด์คือ ตัวยาจะเป็นสารลดแรงตึงผิว/แรงต้านที่ผิวเซลล์ (Surface tension) ที่มีคุณสมบัติต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียจนไม่สามารถกระจายพันธุ์ต่อไปได้ ส่งผลให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด

เซทริไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซทริไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • สารละลาย ขนาดความเข้มข้น 0.1 - 1%
  • ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 0.5%
  • ยาครีมที่ผสมร่วมกับตัวยาชนิดอื่นเช่น Benzalkonium Chloride 02 กรัม + Cetrimide 0.2 กรัม/ตัวยา 100 กรัม
  • สบู่เหลวที่มีส่วนประกอบของยาอื่นเช่น Chlorhexidine gluconate 1.5% + Cetrimide 15%
  • แชมพูสระผม ที่มีความเข้มข้น 10%

เซทริไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเซทริไมด์สำหรับทำความสะอาดบาดแผลบริเวณผิวหนัง เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายา (ทาบางๆ) ชนิดครีม 0.5% บริเวณบาดแผลที่ผิวหนังวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น หรือ ตามแพทย์สั่ง หรือตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็กที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน   เสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซทริไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซทริไมด์อาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน       
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

 หากลืมทายาเซทริไมด์ สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัด ไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรทายาเซทริไมด์ให้ตรงเวลา

เซทริไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 การใช้ยาเซทริไมด์ที่บริเวณผิวหนังอาจทำให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • ผิวหนังบริเวณสัมผัสยาเกิดการอักเสบแดงบางครั้งรู้สึกแสบคัน
  • *หากกลืน/กินยาเซทริไมด์จะก่อให้เกิด
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ
    • เนื้อเยื่อภายในร่างกายอาจเสื่อมสภาพจนอาจเกิดการตายของเนื้อเยื่อเหล่านั้นได้
    • ***ดังนั้นเมื่อเผลอกินยานี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้เซทริไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซทริไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานและห้ามมิให้ยานี้เข้าตา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก) โดยไม่มีคำสั่งการใช้ยาจากแพทย์ผู้รักษา
  • ไม่ควรใช้ยาเซทริไมด์ที่มีความเข้มข้นสูง ควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือใช้ตามคำ แนะนำของเอกสารกำกับยา(ฉลากยา)
  • ไม่ควรซื้อยานี้มาใช้เองโดยไม่ได้ขอคำแนะนำจากแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซทริไมด์) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซทริไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่พบข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเซทริไมด์กับยารับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาเซทริไมด์อย่างไร?

 ควรเก็บยาเซทริไมด์:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เซทริไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซทริไมด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bactricide (แบคทริไซด์) Medicpharma
Dekka (เดคคา) Pond’s Chemical
Dekkalon (เดคคาลอน) Sinopharm
Killa (คิลลา) T.Man Pharm
Napilene (นาไพลีน) Chinta
Septol-C (เซพทอล-ซี) BJ Benjaosoth
Septrex (เซพเทร็กซ์) Burapha

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cetrimide   [2022,March12]
  2. https://www.medindia.net/doctors/drug_information/cetrimide.htm   [2022,March12]
  3. https://www.mims.com/singapore/drug/info/cetrimide?mtype=generic  [2022,March12]
  4. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/cetrimide?mtype=generic  [2022,March12]
  5. https://www.steroplast.co.uk/cetrimide-antiseptic-cream.html   [2022,March12]
  6. https://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=153&drugName=&type=2  [2022,March12]