เซฟลอน (Savlon)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 เซฟลอน (Savlon) คือ ผลิตภัณฑ์ยาใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค   เช่น แบคทีเรีย และ เชื้อรา มีตัวยาที่เป็นส่วนประกอบหลัก 2 ชนิดคือ Chlorhexidine gluconate และ Cetrimide   ในทางคลินิกนำมาใช้ทำความสะอาดบาดแผล ทำความสะอาดร่างกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อขณะที่ทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วย

 อาจจำแนกผลิตภัณฑ์เซฟลอนตามลักษณะของการใช้งานได้ดังนี้

  1. Savlon antiseptic liquid: เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นของเหลว ส่วนประกอบที่ เป็นสารสำคัญคือ Cetrimide 3% และ Chlorhexidine gluconate 0.3% การใช้ผลิตภัณฑ์นี้ต้องเจือจางกับน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา/เอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ และห้ามมิให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรงโดยมิได้เจือจางด้วยน้ำอุ่นที่สะอาดเสียก่อน ต้องหลีกเลี่ยงมิให้เข้าตาหรือกลืนลงท้องโดยเด็ดขาด
  2. Savlon first aid wash spray: เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดพ่นสเปรย์ มีสารสำคัญ คือ  Cetrimide 0.5% ลักษณะการใช้ต้องสเปรย์ห่างจากบาดแผล 2 – 3 นิ้ว
  3. Savlon antiseptic cream: เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทครีมทาผิวหนังประกอบด้วย  Cetrimide 0.5% และ Chlorhexidine gluconate 0.1% ใช้ทำความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อกับบาดแผลเล็กน้อยเช่น แผลพุพอง  แผลไหม้ และแผลถลอก
  4. Savlon bite & stings pain relief gel :ใช้บรรเทาอาการปวด คัน ระคายเคือง และ ป้องกันการติดเชื้อ ประกอบด้วยตัวยา Lidocaine hydrochlorinde 2%, Zinc sulphate 1% และ Cetrimide 0.5% ใช้ทาผิวหนังที่แมลงกัดต่อย ทาเพียงบางๆวันละ 3 - 4 ครั้ง และห้ามใช้กับบาด แผลที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด
  5. Savlon dry: เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยการฉีดพ่นโดยมีระยะการพ่นยาห่างจากบาดแผล 6 - 9 นิ้ว ต้องเขย่าขวดให้ตัวยากระจายตัวก่อนสเปรย์ทุกครั้ง ส่วนประกอบสำคัญคือ Povidone iodine 1.14%

 สำหรับประเทศไทยจะพบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงอยู่หลายรายการ แต่มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสารละลาย และสามารถพบเห็นการใช้ได้ตามสถานพยาบาลทั่วไป

เซฟลอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

เซฟลอน

ยาเซฟลอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น 

  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อจากบาดแผลประเภทต่างๆทางผิวหนังและบรรเทาอาการผื่นคัน
  • ใช้ทำความสะอาดผิวหนังก่อนทำหัตถการทางการแพทย์

เซฟลอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธ์ของยาเซฟลอนคือ ตัวยา Cetrimide และ Chlorhexidine เป็นยาต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ และยังออกฤทธิ์ต่อต้านยีสต์ (Yeast/เชื้อ    ราประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเซลล์เดี่ยว) เชื้อรา และเชื้อไวรัส (ประเภท Lipophillic viruses) จึงมีผลให้สภาพบาดแผลหายได้เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการทางผิวหนัง จนเป็นที่มาของสรรพคุณ

เซฟลอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟลอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • สารละลายเข้มข้น
  • ยาครีม - ยาเจล สำหรับทาผิวหนัง
  • ยาพ่นสเปรย์ภายนอกเฉพาะที่

เซฟลอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซฟลอนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับข้อบ่งชี้ว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดซึ่งจะเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างดังนี้เช่น

  • Savlon antiseptic liquid:
  • ผู้ใหญ่: สำหรับทำความสะอาดบาดแผลผิวหนังโดยเจือจาง Savlon liquid 30 มิลลิลิตรกับน้ำอุ่นสะอาด 500 มิลลิลิตรใช้ฟอกชะล้างบาดแผลบริเวณผิวหนัง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลด้านผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็ก แต่เชื่อว่าให้ผลเช่นเดียวกับในผู้ ใหญ่ ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ข. Savlon bite & stings pain relief gel:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: ทาบริเวณที่แมลงกัดต่อยวันละ 3 - 4 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ แต่เชื่อว่าให้ผลเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร     ก่อนเสมอ         

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซฟลอน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟลอนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เซฟลอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ในทุกรูปแบบของผลิตภัณฑ์ของยาเซฟลอนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) คือ อาการระคายเคืองผิวหนัง

มีข้อควรระวังการใช้เซฟลอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟลอน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเซฟลอน หรือแพ้สารประกอบต่างๆในผลิตภัณฑ์ยานี้
  • ห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดเข้าตา หู หรือช่องปาก
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเข้มข้นสัมผัสผิวหนังโดยตรงโดยมิได้เจือจางน้ำสะอาดตาม เอกสารกำกับยา (ฉลากยา)ที่มากับตัวผลิตภัณฑ์ 
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ควรอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์หรือใช้ผลิตภัณฑ์ตามขั้นตอนในเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นเช่น มีผื่นคันเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับผู้ป่วยทันที กรณีใช้ยานี้ที่บ้านต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์เซฟลอนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด                          และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซฟลอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

 ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่า ผลิตภัณฑ์ยาเซฟลอนเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ    

ควรเก็บรักษาเซฟลอนอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาเซฟลอน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซฟลอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟลอน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Savlon (เซฟลอน) Johnson & Johnson
Bactricide (แบคทริไซด์) Medicpharma
Dekka (เดคคา) Pond’s Chemical
Dekkalon (เดคคาลอน) Sinopharm
Inhibac Hospital Conc (อินฮิแบค ฮอสพิทอล คองค์) Pharmaland
Killa (คิลลา) T.Man Pharma
Septol-c (เซพทอล-ซี) BJ Benjaosoth
Septrex (เซพเทร็กซ์) Burapha

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/uk/savlon-antiseptic-liquid-leaflet.html   [2022,Feb26]
  2. https://www.drugs.com/uk/savlon-antiseptic-liquid-leaflet.html   [2022,Feb26]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorhexidine   [2022,Feb26]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cetrimide   [2022,Feb26]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/24427   [2022,Feb26]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21043  [2022,Feb26]
  7. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21045  [2022,Feb26]
  8. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21044  [2022,Feb26]
  9. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=Cetrimide%20%2B%20Chlorhexidine  [2022,Feb26]
  10. https://www.mims.com/india/drug/info/savlon/savlon%20topical%20liqd  [2022,Feb26]