ภาวะเกล็ดเลือดมาก (Thrombocytosis) และ ภาวะเกล็ดเลือดเกิน (Thrombocythemia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 7 มกราคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?
- เกล็ดเลือดมากมีสาเหตุจากอะไร? มีกี่แบบ? พบบ่อยไหม?
- เกล็ดเลือดมากมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยและหาสาเหตุเกล็ดเลือดมากได้อย่างไร?
- รักษาภาวะเกล็ดเลือดมากอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะพังผืดในโพรงมดลูกอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เกล็ดเลือดมากก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ภาวะเกล็ดเลือดมากมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันภาวะเกล็ดเลือดมากอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล หรือ เอเอ็นแอลแอล (Acute Myelogenous Leukemia : AML หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia : ANLL)
- เกล็ดเลือดต่ำ เกล็ดเลือดน้อย (Thrombocytopenia)
- ไขกระดูกเป็นพังผืด (Myelofibrosis)
- เลือดหนืด หรือ ภาวะเม็ดเลือดแดงมากปฐมภูมิ (Polycythemia vera)
- ไขกระดูก (Bone marrow)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ: คือโรคอะไร?
โรค/ภาวะเกล็ดเลือดมาก (Thrombocytosis) คือโรค/ภาวะที่เมื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(ซีบีซี/CBC)แล้วพบว่า มีค่าเกล็ดเลือดสูงเกินปกติ โดยผู้ป่วยอาจ มีอาการ หรือ ไม่มีอาการ ก็ได้ ทั้งนี้มีสาเหตุจากเซลล์สร้างเกล็ดเลือดของไขกระดูกทำงานมากเกินปกติ
เกล็ดเลือด (Platelet หรือ Thrombocyte) ย่อว่า Plt หรือ plt คือ เซลล์เม็ดเลือดชนิดทำหน้าที่ช่วยป้องกันเลือดออกง่าย รวมถึงเมื่อมีเลือดออกก็จะช่วยให้เลือดหยุดโดยช่วยสร้างลิ่มเลือดเพื่ออุดกั้น/อุดตันรอยรั่วหรือบาดแผลที่ทำให้เลือดออก ทั้งนี้ปริมาณปกติของเกล็ดเลือดจากการตรวจซีบีซี คือประมาณ 150,000-400,000 เซลล์ต่อเลือด 1 ไมโครลิตร (µL หรือ mcl หรือ Microliter)
เกล็ดเลือดมากมีสาเหตุจากอะไร? มีกี่แบบ? พบบ่อยไหม?
โรค/ภาวะเกล็ดเลือดมาก หรือ เกล็ดมาก หรือ เกล็ดเลือดสูง แบ่งโดยสาเหตุเป็น2 ชนิด/แบบ คือ ชนิดปฐมภูมิ และ ชนิดทุติยภูมิ
ก. เกล็ดเลือดมากปฐมภูมิ (Primary Thrombocytosis อีกชื่อคือ Non-reactive thrombocytosis): คือ ภาวะเกล็ดเลือดมากที่เกิดจากความผิดปกติของตัวไขกระดูกเองที่ทำให้เซลล์สร้างเกล็ดเลือดในไขกระดูกทำงานมากเกินไป ซึ่ง
- ในผู้ป่วยที่แพทย์หาสาเหตุไม่พบ: จะเรียกภาวะนี้ว่า ‘Essential thrombocythemia หรือ Essential Thrombocytosis ซึ่งชื่อภาษาไทย คือ ‘ภาวะเกล็ดเลือดเกิน’ โดยเรียกย่อว่า อีที/ET
- แต่ผู้ป่วยบางราย(พบได้น้อย)พบสาเหตุโดยจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด: ซึ่งพันธุกรรม/จีน/ยีน/Gene ผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น Janus kinase2 (JAK2), Calreticulin(CALR), Myeloproliferative leukemia virus oncogene (MPL), หรือ Thrombopoietin genes(THPO)
*หมายเหตุ: คำแปลภาษาไทยของ Thrombocytosis และ Thrombocythemia มาจากหนังสือ ศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547
เกล็ดเลือดมากปฐมภูมิ มีธรรมชาติของโรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว โรคคงอยู่ตลอดไป รักษาไม่หาย การรักษาเพียงเพื่อลดการสร้างเกล็ดเลือด ซึ่งเมื่อหยุดรักษา ไขกระดูกก็จะกลับมาสร้างเกล็ดเลือดมากเกินอีก
ทั้งนี้ เกล็ดเลือดมากปฐมภูมิ พบประมาณ 30 รายต่อประชากร 1แสนคน, ส่วนใหญ่ พบในอายุตั้งแต่ 60ปีขึ้นไป ประมาณ 20%พบในอายุน้อยกว่า 40 ปี และพบได้น้อยมากในเด็ก, ในกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบภาวะนี้ได้เท่ากันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ในกลุ่มอายุน้อยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า
ข. เกล็ดเลือดมากทุติยภูมิ(Secondary thrombocytosis หรือ Reactive thrombocytosis) คือภาวะที่ปริมาณเกล็ดเลือดเพิ่มมากขึ้นจากเซลล์สร้างเกล็ดเลือด/ไขกระดูกถูกกระตุ้นให้ทำงานเกินจากปัจจัยภายนอกไขกระดูก ที่พบบ่อย เช่น
- ภาวะโลหิตจาง/ภาวะซีด/โรคซีด โดยเฉพาะภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ที่เป็นสาเหตุพบบ่อย
- ร่างกายติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะชนิดเรื้อรัง เช่น วัณโรค ซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยเช่นกัน
- ร่างกายมีโรคที่เกิดจากการอักเสบที่ 'ไม่ใช่จากการติดเชื้อ' เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคซาร์คอยโดซิส
- ร่างกายมีเลือดออก ทั้งแบบเลือดออกเฉียบพลัน(เช่น จากอุบัติเหตุ การผ่าตัดที่มีการเสียเลือด) หรือ แบบเลือดออกเรื้อรัง (เช่น จากโรคริดสีดวงทวาร)
- โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งในระบบโรคเลือด/ระบบโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล
- ผู้ที่ไม่มีม้าม ทั้งจาก ไม่มีม้ามแต่กำเนิด หรือ จากการตัดม้ามออก
- ภาวะที่ทำให้เกิดการตายของเม็ดเลือดแดงก่อนกำหนด เช่น โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี โรคธาลัสซีเมีย
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด(อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา) เช่นยา Epinephrine, Tretinoin, Heparin, Erythropoietin
ภาวะเกล็ดเลือดมากทุติยภูมิ พบได้บ่อย บ่อยกว่าชนิดปฐมภูมิมาก โดยในผู้ใหญ่พบเป็นประมาณ 88-97% ของภาวะเกล็ดเลือดมาก และเป็นสาเหตุในเด็กเกือบ 100%
ภาวะเกล็ดเลือดมากทุติยภูมิ จะรักษาหายได้เสมอ โดยจะหายได้หลังดูแลรักษาสาเหตุหายแล้ว และถ้าสาเหตุไม่รุนแรงและเกล็ดเลือดไม่สูงมากไม่จำเป็นต้องมีการรักษา โรคจะหายได้เอง เช่น ในกรณีเกิดหลังผ่าตัด เป็นต้น, แต่อย่างไรก็ตาม โรค/ภาวะนี้จะกลับเป็นซ้ำได้อีกเสมอเมื่อไขกระดูกถูกกระตุ้น/กระทบจากสาเหตุต่างๆ อีก
เกล็ดเลือดมากมีอาการอย่างไร?
อาการจากเกล็ดเลือดมาก เป็นอาการที่เกิดโดยตรงจากภาวะเกล็ดเลือดมากที่จะเหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละราย, ร่วมกับอาการจากสาเหตุ ที่จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นกรณีๆไปตามแต่ละสาเหตุ
ก. อาการโดยตรงจากมีเกล็ดเลือดมาก: โดยทั่วไป ถ้าเกล็ดเลือดมาก แต่ปริมาณยังต่ำกว่า 1 ล้าน/ไมโครลิตร ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ, แต่ถ้าเกล็ดเลือดสูงกว่านี้ จะส่งผลเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ส่งผลต่อเนื่องให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี อวัยวะต่างๆจึงขาดเลือด/ขาดออกซิเจน จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้นจากอวัยวะที่ขาดเลือด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นๆหายๆ, เกิดบ่อย, หรือเกิดตลอดเวลา ก็ได้ เช่น
- อาการของ โรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เป็นลม
- อาการของ อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง เช่น ชาแขนขา แขนขาอ่อนแรง
- ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ
- เล็บ มือ เท้า เขียวคล้ำ, ปวด/เจ็บ ปลายมือ ปลายเท้า
- ตาพร่า
- อาจมี ม้ามโต, บางรายอาจมีตับโตร่วมด้วย (แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความ เรื่อง ตับม้ามโต ในเว็บ com)
ข. อาการจากสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ (ดังกล่าวในหัวข้อ ‘สาเหตุฯ’) ที่รวมถึง ‘อาการ’ ได้ในเว็บ haamor.com เช่น โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก, โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก, ซาร์คอยโดซิส, ฯลฯ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ
- กรณีไม่มีอาการ แต่ตรวจซีบีซีจากการตรวจสุขภาพทั่วไป แล้วพบเกล็ดเลือดมาก/สูงเกินค่าปกติ ควรตรวจซ้ำที่ประมาณ 3-4 สัปดาห์, ถ้าพบยังสูงเกินอยู่ ควรนำผลตรวจไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- กรณีมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ ‘อาการฯ’ และผลตรวจซีบีซี พบเกล็ดเลือดมากเกินปกติ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- กรณีเกล็ดเลือดมากตั้งแต่ 1 ล้าน/ไมโครลิตร ควรต้องรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยและหาสาเหตุเกล็ดเลือดมากได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดมากได้จาก การตรวจความสมบูรณ์ของเลือดที่เรียกว่า ซีบีซี/CBC, และหาสาเหตุเกล็ดเลือดมาก ได้จาก
- อาการผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย
- การสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน และ/หรือสารก่อภูมิต้านทาน เพื่อการวินิจฉัยภาวะติดเชื้อ หรือ ภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ และ/หรือ
- ตรวจไขกระดูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาภาวะเกล็ดเลือดมากอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะเกล็ดเลือดมาก ได้แก่ การรักษาให้เกล็ดเลือดลดต่ำลงเป็นปกติ ร่วมกับการรักษาสาเหตุ
ก. การรักษาให้เกล็ดเลือดต่ำลง:
- กรณีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 1ล้าน/ไมโครลิตร และผู้ป่วยไม่มีอาการ: จะไม่มีการรักษาทางการแพทย์ แต่แพทย์จะแนะนำการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วย และแพทย์จะนัดผู้ป่วยเป็นระยะๆเพื่อตรวจติดตามโรค
- กรณีมีอาการจากเกล็ดเลือดมาก แพทย์จะรักษาเพื่อให้เกล็ดเลือดลดต่ำลง โดยจะเลือกวิธีการใด หรือ เลือกใช้ยาตัวใด จะขึ้นกับสาเหตุและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- เจาะเกล็ดเลือดทิ้ง(Plateletpheresis) หรือ
- ให้ยาลดการสร้างเกล็ดเลือด เช่น ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม Hydroxyurea, ยา Anagrelide
ข. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึง 'การรักษา' ได้ในเว็บ haamor.com ทั้งนี้กรณีเกล็ดเลือดมากทุติยภูมิที่ทั่วไปเกล็ดเลือดจะไม่สูงมาก เกล็ดเลือดจะลดลงเป็นปกติได้ถ้าหยุดสาเหตุ ทั่วไปจึงมักไม่มีการรักษาด้วยวิธีอื่นใด แพทย์จะใช้การเฝ้าติดตามผู้ป่วยหลังดูแลรักษาสาเหตุได้ดีแล้ว เช่น หยุดใช้ยานั้นๆกรณีเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
ค. การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด เช่น การเจาะเกล็ดเลือดทิ้งเพื่อลดจำนวนเกล็ดเลือดลงได้ทันที, การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ ยาต้านเกล็ดเลือด เช่นยา Aspirin
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองในภาวะเกล็ดเลือดมาก ทั่วไปได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรใช้ยาตามแพทย์สั่ง และควรต้องรู้ผลข้างเคียงของยาที่ใช้เสมอ
- ไม่ควรใช้ยาพร่ำเพื่อ
- การซื้อยาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาเสมอโดยเฉพาะเรื่องผลข้างเคียงของยา
เกล็ดเลือดมากก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
เกล็ดเลือดมาก ที่ปริมาณเกล็ดเลือดไม่สูงมาก และผู้ป่วยไม่มีอาการ มักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง
แต่กรณีเกล็ดเลือดสูงเกินกว่า 1ล้าน/ไมโครลิตรจะส่งผลเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ที่ส่งผลต่อเนื่องให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี อวัยวะต่างๆจึงขาดเลือด/ขาดออกซิเจน จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น ที่สำคัญคือ อาจก่อให้เกิด โรคหัวใจ/โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต
ภาวะเกล็ดเลือดมากมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะเกล็ดเลือดมาก ทั่วไป เช่น
- กรณีเป็นโรคในชนิดปฐมภูมิ: การรักษาโรคให้หายเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นโรคทางพันธุกรรม และในบางคน เป็นโรคที่แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ โรคกลุ่มนี้ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อควบคุมปริมาณเกล็ดเลือดไปตลอดชีวิต และมีโอกาสที่จะกลายพันธ์ไปเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(Acute myelogenous leukemia, AML)ได้ประมาณ 5%-5%
- กรณีเป็นโรคชนิดทุติยภูมิ: การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับ สาเหตุ รวมถึงผลการรักษาว่าควบคุมสาเหตุได้ดีหรือไม่ แต่ทั่วไปเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาให้หายได้
ป้องกันภาวะเกล็ดเลือดมากอย่างไร?
การป้องกันภาวะเกล็ดเลือดมาก: ทั่วไป เช่น
- กรณีชนิดปฐมภูมิ: ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคกลุ่มนี้ได้เพราะบางส่วนแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ, และอีกบางส่วนเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด
- กรณีเป็นชนิดทุติยภูมิ: การป้องกันคือการพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดมากที่สำคัญ เช่น
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ วิธีง่ายๆคือการรักษาสุขอนามับพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- การไม่ใช่ยาพร่ำเพื่อ ก่อนซื้อยาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
- ถ้ามีโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น ซีด/โลหิตจาง ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลและรักษาควบคุมโรค/ภาวะนั้นๆให้ได้ดี, โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล, และพบ/แพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
บรรณานุกรม
- https://cancer.ca/en/cancer-information/cancer-types/leukemia/what-is-leukemia/essential-thrombocytosis [2023,Jan7]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/thrombocytosis/symptoms-causes/syc-20378315 [2023,Jan7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thrombocythemia [2023,Jan7]
- https://emedicine.medscape.com/article/206811-overview#showall [2023,Jan7]
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/13350-thrombocytosis [2023,Jan7]
- https://haamor.com/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94 [2023,Jan7]