อินดินาเวียร์ (Indinavir)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 16 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาอินดินาเวียร์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
- ยาอินดินาเวียร์ออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอินดินาเวียร์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอินดินาเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอินดินาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- ยาอินดินาเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาอินดินาเวียร์อย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอินดินาเวียร์อย่างไร?
- ยาอินดินาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านไวรัสพีไอ (PIs: Protease inhibitors)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
บทนำ: คือยาอะไร?
อินดินาเวียร์ (Indinavir) คือ ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)/ยาต้านเอชไอวี ซึ่งรีโทรไวรัสหมายรวมถึงไวรัสเอชไอวี (HIV; Human immunodeficiency virus) โดยจัดอยู่ในกลุ่มยายับยั้งการทำงานเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitors หรือชื่อย่อว่า พีไอ PIs; เอนไซม์โปรติเอส คือ เอนไซม์ที่ไวรัสใช้เพื่อการเจริญที่สมบูรณ์เพื่อการเจริญขยายพันธุ์จนทำให้ก่อโรคได้) ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ จึงไม่สามารถเจริญเติบโตจนทำให้เกิดโรคได้
ปัจจุบันยาอินดินาเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ควรใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาอย่างสม่ำเสมอ
ยาอินดินาเวียร์มีสรรพคุณอย่างไร?
ยาอินดินาเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยใช้ร่วมกับยาต้านเอชไอวีอื่นๆรวมกันอย่างน้อย 3 ชนิดในการรักษาร่วมกัน เช่น ยาซิโดวูดีน (Zidovudine), ยาลามิวูดีน (Lamivudine), ยาสตาวูดีน (Stavudine)
ยาอินดินาเวียร์ เป็นยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานเอนไซม์โปรติเอส/ยาต้านไวรัสพีไอ (Protease Inhibitors/PI) แต่ไม่นิยมใช้เป็นยาเดี่ยวของกลุ่มในสูตรการรักษาเอชไอวีเนื่องจากมีฤทธิ์ในร่างกายเป็นระยะ เวลาสั้นๆ จึงนิยมใช้ร่วมกับยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานเอนไซม์โปรติเอสชนิดอื่น เช่นยา ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ร่วมกันในการรักษา
ยาอินดินาเวียร์ออกฤทธิ์อย่างไร?
ก่อนการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของไวรัสเอชไอวีที่มีความสามารถในการนำโรคได้ ไวรัสฯจำเป็นต้องมีการพัฒนาในหลายขั้นตอน ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาของไวรัสฯไปเป็นไวรัสที่เจริญเติบโตเต็มที่คือ การแบ่งโปรตีนที่มีชื่อว่า Gag และ Pol ออกจากกัน โดยอาศัยเอน ไซม์ชื่อโปรตีเอส (Protease) โปรตีน Gag และ Pol เป็นโปรตีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างของตัวไวรัสฯ และการพัฒนาเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆที่ไวรัสนี้ฯจะใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อการเจริญเติบโตเต็มที่
ยาอินดินาเวียร์ ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitors) ทำให้ไม่สามารถแยกโปรตีน Gag และ Pol ออกจากกันได้ ส่งผลให้เชื้อไวรัสฯไม่สามารถเจริญ เติบโตได้อย่างสมบูรณ์/เต็มที่ จึงนำไปสู่การพัฒนาเป็นไวรัสเอชไอวีที่ไม่มีความสามารถในการนำโรค/ทำให้เกิดโรค
ยาอินดินาเวียร์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอินดินาเวียร์ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์:
- ยาแคปซูลชนิด รับประทาน ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
ยาอินดินาเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอินดินาเวียร์มีขนาดยาแนะนำสำหรับรับประทาน เช่น
ก. ขนาดยาสำหรับเด็กอายุ 4 - 15 ปี: เช่น แนะนำขนาด 500 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวของร่างกายหนึ่งตารางเมตร (500 mg/m2) ทุกๆ 8 ชั่วโมง (เภสัชกรอาจพิจารณาการเตรียมยาเพื่อผู้ป่วยเฉพาะราย เช่น เด็ก /นิยามคำว่าเด็ก, ในรูปแบบยาน้ำจากยาแคปซูล)
อนึ่ง ยังไม่มีการศึกษาขนาดยาที่เหมาะสมและความปลอดภัยของยานี้ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีจึงยังไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว
ข. ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่: เช่น
- หากใช้ยานี้เป็นยาเดี่ยวในกลุ่มยับยั้งการทำงานเอนไซม์โปรติเอส ให้รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
- หากใช้ยานี้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ให้รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
ค. การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคตับและโรคไต: เช่น
- ผู้ป่วยโรคไตไม่จำเป็นต้องมีการปรับระดับขนาดยา
- ผู้ป่วยโรคตับบกพร่องชนิดรุนแรงน้อยถึงปานกลางอันเนื่องมาจากภาวะตับแข็ง แนะนำขนาดยารับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
- ไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับชนิดรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในกลุ่ม ผู้ป่วยดังกล่าว
*อนึ่ง: การบริหารยา/การใช้ยาอินดินาเวียร์ควรรับประทานในเวลาเดียวกันของทุกๆวัน และควรรับประทานในขณะที่ท้องว่างคือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร อาจทานร่วมกับน้ำดื่ม นมขาดมันเนย น้ำผลไม้ ชาหรือกาแฟ ก็ได้ แต่ไม่ควรรับ ประทานร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของไขมันเนื่องจากจะทำให้การดูดซึมของยานี้ลดลง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาต่างๆที่รวมถึงยาอินดินาเวียร์ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยาและแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติโรคประจำตัว ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาสมุนไพร โดยเฉพาะ
- ยาลดความดันสูงที่ปอด เช่น ยาโบเซนแทน (Bosentan)
- ยาลดความดันในกลุ่มยับยั้งการปิดกั้นแคลเซียมแชนแนล(Calcium Channel Blockers) เช่น ยาแอมโลไดพีน (Amlodipine), ยาฟีโลไดพีน (Felodipine), ยาไนคาร์ไดพีน (Nicardipine), ยาไนเฟดไดพีน (Nifedipine)
- ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น ยาคาร์บามาซิพีน (Carbamazepine), ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin)
- ยาในกลุ่มยาลดไขมันในเลือด เช่น ยาอะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin), ยาโรซูวาสแททิน (Rosuvastatin)
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin), ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- ยาลดการอักเสบ เช่น ยาโคลชิซีน (Colchicine)
- ยาเสตียรอยด์ เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone), ยาฟลูทิคาโซน (Fluticarsone)
- ยาในกลุ่มยาต้านเชื้อรา เช่น ยาอิทราโคนาโซล (Iraconazole), ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ยาต้านเอชไอวีชนิดอื่นๆที่ใช้ร่วมอยู่ เช่น ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazana vir), ยาดีลาเวียร์ดีน (Delavirdine), ยาอีฟาไวเรนส์ (Efavirenz), นาเนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir), ยาเนวิราปีน (Nevirapine), ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir), และยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir)
- ยาในกลุ่มรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาลิโดเคอีน (Lidocaine), และยาควินิดีน (Quinidine)
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin), ยาซิโรไลมัส (Sirolimus), และยาทาโครไลมัน (Tacrolimus)
- ยาในกลุ่มยาคลายเครียด เช่น ยามิดาโซแลม (Midazolam)
- ยาในกลุ่มยับยังเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phosphodiesterase) เพื่อรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ/นกเขาไม่ขัน เช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ยาทาดาลาฟิน (Tadalafil), ยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil)
- ยารักษาโรคจิตเภท เช่น ยาทราโซโดน (Trazodone), ยาควิไทอะพีน (Quetiapine), และยาเวนลาฟาซีน (Venlafazine)
- สมุนไพรเซนจอห์นเวิร์ท (St’ Jon’s Wort)
- ประวัติโรคโดยเฉพาะโรคเลือดจาง/ โรคซีด โรคเบาหวาน โรคไต และโรคตับ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอินดินาเวียร์น้อยกว่า 2 ชั่วโมงให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากเลยเวลารับประทานปกติไปมากกว่า 2 ชั่วโมงแล้วให้ข้ามมื้อยานั้นไป และรับประทานตามปกติในมื้อยาถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ทั้งนี้ ควรจดบันทึกมื้อยาและวันที่ลืมรับประทาน แจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบในการตรวจครั้งต่อไปเพื่อประเมินประสิทธิภาพในการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
ยาอินดินาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอินดินาเวียร์อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) บางประการ ให้แจ้งให้แพทย์พยาบาลทราบ เมื่อพบแพทย์ครั้งต่อไป อาการเช่น
- การรับรสอาหารเปลี่ยนไป
- มึนงง
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
*อนึ่ง: หากรับประทานยาอินดินาเวียร์แล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หรืออาการข้างเคียงที่มีความรุนแรง มีผื่นคันขึ้น มีการลอกหรือเกิดการบวมพองของผิวหนัง ปวดหลังหรือสีข้าง/ปวดเอว ปวดท้อง พบเลือดในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง/ตัวเหลือง-ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้มหรือเปลี่ยนเป็นน้ำตาล หัวใจเต้นเร็ว ตัวซีด ให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
*อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อาจพบว่าเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ยาอินดินาเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาอินดินาเวียร์ มีการเมทาบอไลต์ (Metabolite/ทำลาย) ผ่านเอนไซม์ชื่อ ไซโทโครมพี 450 (Cytochrome P450) ชนิดที่เรียกว่า Cytochrome P450 3A4 ย่อว่า CYP3A4 ซึ่งเป็นเอน ไซม์ในตับที่ใช้ในการเมทาบอไลต์สารเคมีต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายที่รวมถึงยาต่างๆที่มีกระบวนการเมทาบอไลต์ผ่านเอนไซม์ชนิดเดียวกันนี้ การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาอินดินาเวียร์จึงอาจส่งผลต่อฤทธิ์ทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาอินดินาเวียร์ หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกันได้ เช่น
ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาดังต่อไปนี้ร่วมกับยาอินดินาเวียร์: เช่น
- ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต เช่น ยาแอลฟูโซซิน (Alfuzosin) เนื่องจากจะทำให้ระดับยาแอลฟูโซซินในกระแสเลือดสูงขึ้นอาจส่งผลทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ และอัตราการเต้นหัวใจสูงขึ้น
- ยาคลายความเครียด เช่น ยาแอลพราโซแลม (Alprazolam), ยามิดาโซแลม (Midazolam) เนื่องจากอาจทำให้ฤทธิ์ของยาเหล่านี้สูงขึ้น อาการข้างเคียงจากยาเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเช่น เกิดอาการสับสน เหนื่อยล้า อ่อนเพลียอย่างรุนแรง รวมไปถึงอาการหายใจลำบาก
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) เพราะอาจส่งผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ
- ยารักษาภาวะกรดไหลย้อน เช่น ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) เนื่องจากจะทำให้ระดับยาซิซาไพรด์ในเลือดสูงขึ้นจึงอาจเกิดผลข้างเคียงของยาหรือพิษของยาต่อการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
- ยาที่มีส่วนผสมของสารจำพวกเออร์กอต (Ergot) เช่น ยาเออร์โกทามีน (Ergotamine) เนื่องจากจะทำให้ระดับยาจำพวกเออร์กอตสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดพิษของยาคือ เกิดการตีบของเส้นเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้น้อยลง
- ยาลดไขมันในกระแสเลือด เช่น ยาโลวาสแททิน (Lovastatin) ยาซิมวาสแททิน (Simvastatin) เนื่องจากจะทำให้ระดับยาเหล่านี้สูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการทำลายเซลล์ตับและการเกิดกล้ามเนื้อลายสลาย
- ยารักษาโรคจิตเภท เช่น ยาพิโมไซด์ (Pimozide) เนื่องจากทำให้ระดับยาพิโมไซด์ ในเลือดสูงขึ้น อาจเกิดพิษจากยาเช่น การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
- ยารักษาภาวะเสื่อมสรรถภาพทางเพศ เช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) เนื่องจากทำให้ระดับยาซิลเดนาฟิลเลือดสูงขึ้นอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดเกิดภาวะองคชาตแข็งค้างที่ไม่หดตัวกลับสู่ภาวะปกติ (Priapsim)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาไรวารอกซาแบน (Rivaroxaban) ทำให้ระดับยาไรวารอกซาแบนในเลือดสูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงการเกิดเลือดออก (Bleeding)
ข. ยาอินดินาเวียร์อาจทำให้ระดับยาต่อไปนี้เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจ ผลข้างเคียงหรือพิษของยานั้นๆจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอหากใช้ร่วมกับยาอินดินาเวียร์
- ยาลดความดันหลอดเลือดปอดสูง เช่น ยาโบเซนแทน (Bosentan)
- ยาลดความดันโลหิตในกลุ่มยับยั้งการปิดกั้นแคลเซียมแชนแนล (Calcium Channel Blockers) เช่น ยาแอมโลไดพีน (Amlodipine) ยาฟีโลไดพีน (Felodipine) ยาไนคาร์ไดพีน (Nicardipine) ยาไนเฟดไดพีน (Nifedipine)
- ยาในกลุ่มต้านชัก/ยากันชักเช่น ยาคาร์บามาซิพีน (Carbamazepine) ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin)
- ยาในกลุ่มยาลดไขมันในเลือด เช่น ยาอะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin) ยาโรซูวาสแททิน (Rosuvastatin)
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ เช่น ยาโคลชิซีน (Colchicine)
- ยาเสตียรอยด์เช่น ยาเด็กซาเมธาโซน (Dexamethasone) ยาฟลูทิคาโซน (Fluticarsone)
- ยาแก้ปวด เช่น ยาเฟนทานิล (Fentanyl) ยาออกซีโคโดน (Oxycodone)
- ยาในกลุ่มยาต้านเชื้อรา เช่น ยาอิทราโคนาโซล (Iraconazole) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ยาต้านเอชไอวีชนิดอื่นๆที่ใช้ร่วมอยู่ เช่น ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazana vir) ยาดีลาเวียร์ดีน (Delavirdine) ยาอีฟาไวเรนส์ (Efavirenz) นาเนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir) ยาเนวิราปีน (Nevirapine) ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) และยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir)
- ยาในกลุ่ม ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาลิโดเคอีน (Lidocaine) และยาควินิดีน (Quinidine)
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาซิโรไลมัส (Sirolimus) และยาทาโครไลมัน (Tacrolimus)
- ยาในกลุ่มยาคลายเครียด เช่น ยามิดาโซแลม (Midazolam)
- ยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรสเพื่อรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในชาย เช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาทาดาลาฟิน (Tadalafil) ยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil)
- ยารักษาโรคจิตเภท เช่น ยาทราโซโดน (Trazodone) ยาควิไทอะพีน (Quetiapine)
- สมุนไพรเซนจอห์นเวิร์ท (St’ Jon’s Wort)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาไรวารอกซาแบน (Rivaroxaban) ยาเอพิซาแบน (Apixaban)
- ยาต้านเศร้า กลุ่ม TCAs (Tricyclic and tetracyclic antidepressants) เช่น ยาอะมิทริปทีลีน (Amitriptyline)
ค. ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ระดับยาอินดินาเวียร์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ควรใช้ด้วยความระมัดระวังและติดตามอาการข้างเคียงจากยาอินดินาเวียร์อย่างใกล้ชิด เช่น
- ยาต้านเอชไอวี เช่น ยาอะทาซาเวียร์ (Atazavir) ยาดีลาวิดรีน (Delavidrine) ยาอีทราวิรีน (Etravirine) ยาไซมิพริเวียร์ (Simeprevir)
- ยาฆ่าเชื้อ ชนิดฆ่าแบคทีเรีย เช่น ยาคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin)
- ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาอิทราโคนาโซล (Itraconazole) ยาคีโตโคนาโซล (Ketocona zole)
ง. ยาบางชนิดอาจมีระดับยาลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยาอินดินาเวียร์ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะตรวจประสิทธิภาพจากยาหรืออาจปรับขนาดยาตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
- ยาต้านเอชไอวี เช่น ยาอะบาคาเวียร์ (Abacavir) ยาโบซีพรีเวียร์ (Boceprevir) ยาดีลาวิดรีน (Delavidrine) อีทราวิรีน (Etravirine)
- ยาฆ่าเชื้อ สำหรับติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin)
- ยารักษาโรคจิตเภท เช่น กรดวาลโพรอิก (Valproic acid)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยา ไทคากรีลอร์ (Ticagrelor)
จ. ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ระดับยาอินดินาเวียร์ในกระแสเลือดลดลง แพทย์ผู้ทำการ รักษาจะตรวจประสิทธิภาพจากยาอินดินาเวียร์ในการรักษาหากให้ยาร่วมกับยาอื่นๆ เช่น
- ยาลดกรด (Antacids)
- ยาต้านมาลาเรีย เช่น ยาอะโทวาโควน (Atovaquone)
- ยาต้านรีโทรไวรัส/ ยาต้านเอชไอวี เช่น ยาโบซีพรีเวียร์ (Boceprevir) ยาไดดาโนซีน (Didanosine) ยาอีฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ยาเนวิราปีน (Nevirapine)
- ยาลดความดันหลอดเลือดปอดสูง เช่น ยาโบเซนแทน (Bosentan)
- ยารักษาโรคลมชัก เช่น ยาคาร์บามาซิพีน (Carbamazepine)
- ยารักษาโรคจิตเภท เช่น ยาเวนลาฟาซีน (Venlafazine)
- สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิท (St. John’s wort)
*อนึ่ง ยาอินดินาเวียร์อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวใดตัวหนึ่งได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น
- เพิ่มหรือลดประสิทธิภาพหรือผลข้างเคียงของยาอินดินาเวียร์
- หรือเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพหรือผลข้างเคียงของยาร่วมนั้นๆ
มีข้อควรระวังในการใช้ยาอินดินาเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาอินดินาเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่อไปนี้ร่วมกับยาอินดินาเวียร์
- ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต เช่น ยาแอลฟูโซซิน (Alfuzosin)
- ยาคลายเครียด เช่น ยาแอลพราโซแลม (Alprazolam), ยามิดาโซแลม (Midazo lam)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone)
- ยารักษาภาวะกรดไหลย้อน เช่น ยาซิซาไพรด์ (Cisapride)
- ยาที่มีส่วนผสมของสารจำพวกเออร์กอต (Ergot) เช่น ยาเออร์โกทามีน (Ergota mine)
- ยาลดไขมันในเลือด เช่น ยาโลวาสแททิน (Lovastatin) ยาซิมวาสแททิน (Simvastatin)
- ยารักษาโรคจิตเภท เช่น ยาพิโมไซด์ (Pimozide)
- ยารักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย/นกเขาไม่ขัน เช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil)
- หากรับประทานร่วมกับยาไดดาโนซีน (Didanosine) ให้รับประทานก่อนยาอินดินาเวียร์อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
- การรับประทานยาอินดินาเวียร์ในระยะยาวอาจทำให้ระดับไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นหรือมีการกระจายไปยังบริเวณเต้านม ด้านหลังส่วนบนคอ หน้าอก และหน้าท้อง เกิดเป็นคล้ายก้อนเนื้อ และอาจมีการสูญเสียไขมัน/เกิดการฟ่อ/ลีบที่บริเวณขา แขน ใบหน้า
- การรับประทานยาอินดินาเวียร์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แม้ว่าอาจไม่ได้มีโรค เบาหวาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากคุณมีอาการกระหายน้ำอย่างมาก ปัสสาวะบ่อย หิวมาก การมองเห็นพร่ามัว/ตาพร่า หรือมีอาการอ่อนแรง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจก่อให้เกิดภาวะรุนแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตเช่น ภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งจะมีอาการปากคอแห้ง อาเจียน หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ลมหายใจมีกลิ่นผิดปกติ และหมดสติ
- การรับประทานยาต้านไวรัสจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงขึ้น นั่นคือร่างกายอาจแข็งแรงขึ้นและสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่มีอยู่แล้วในร่างกายได้ จึงอาจทำให้ร่างกายตอบสนองเกิดอาการคล้ายการติดเชื้อเช่น มีไข้ ตัวร้อน อย่างไรก็ดีหากอาการเหล่านี้รุน แรงขึ้นและไม่ทุเลาลงให้รีบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
- ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวัดระดับเซลล์ซีดีโฟร์ (CD 4 cell) อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการตรวจวัดระดับ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย การตรวจระดับซีดีโฟร์จะทำให้ทราบถึงระดับความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันฯของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีระดับภูมิคุ้มกันฯที่ต่ำกว่าผู้ไม่ติดเชื้อ การตรวจวัดค่าซีดีโฟร์ทำให้แพทย์ทราบประสิทธิภาพในการรักษาของยานี้ว่า ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันฯที่ดีขึ้นหรือไม่
- ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอในขณะที่ใช้ยานี้เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอินดินาเวียร์) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาอินดินาเวียร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอินดินาเวียร์: เช่น
- เก็บยาในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ หรือในตู้เย็น
- ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะบรรจุยา
- เก็บภาชนะบรรจุยาในอุณหภูมิห้อง
ยาอินดินาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอินดินาเวียร์ มีชื่อยาชื่อการค้าอื่น และผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
อินนาเวียร์ (Inavir) | องค์การเภสัชกรรม |
บรรณานุกรม
- สุทธิพร ภัทรชยากุล. Guidelines for the Use of Antiretroviral Agent in Adults and Adolescents: Similarities and Differences. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
- American Pharmacists Association. Indinavir, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:1081-1083.
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00224 [2022,July16]
- https://clinicalinfo.hiv.gov/es/node/9246 [2022,July16]
- https://www.statpearls.com/ArticleLibrary/viewarticle/23451 [2022,July16]