ยาต้านไวรัสพีไอ (PIs: Protease inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาต้านไวรัสเอดส์/ยาต้านเอชไอวี อีกหนึ่งกลุ่มที่วงการแพทย์นำมาใช้กับผู้ป่วยโรคเอชไอวีคือ กลุ่มที่มีชื่อเรียกว่า โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ ย่อว่า พีไอ (Protease inhibitors ย่อว่า PIs) ซึ่งต่อไปในบทความนี้ขอเรียกว่า “ยาต้านไวรัสพีไอ”

ยาต้านไวรัสพีไอ มีความจำเพาะเจาะจงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดเอชไอวี-1 และยาบางตัวในกลุ่มนี้ยังถูกพัฒนาเพื่อนำมารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-ซีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณในด้านต่อต้านเชื้อประเภทสัตว์เซลล์เดียว/โปรโตซัว(Protozoa)/โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น มาลาเรีย/ไข้จับสั่น, ต้านมะเร็ง (ซึ่งยังอยู่ในช่วงการทดสอบ ในสัตว์ทดลอง)

หากจะแบ่งยาในกลุ่ม ‘พีไอ’ ตามการรักษา สามารถแยกประเภทได้ดังนี้

1. บำบัดรักษาอาการในผู้ป่วยโรคเอดส์: แบ่งย่อยเป็น

  • กลุ่มที่คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาขึ้นทะเบียน ในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ได้แก่ยา Saquinavir, Ritonavir, Indinavir, และ Nelfinavir
  • กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ได้แก่ยา Amprenavir, Lopinavir
  • กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ได้แก่ยา Atazanavir, Fosamprenavir, และ Tipranavir
  • กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ได้แก่ Darunavir และ Simeprevir

2. บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคตับอักเสบซี: มียา 2 ตัว คือ Boceprevir และ Telaprevir

สำหรับยาในกลุ่มพีไอที่นำมาใช้ต้านโรคเอดส์นั้น กลุ่มยาเหล่านี้ไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต

ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มพีไอที่ขึ้นทะเบียนยาในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน

ยาต้านไวรัสพีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาต้านไวรัสพีไอ

ยาต้านไวรัสพีไอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บรรเทาอาการป่วยในผู้ป่วยโรคเอดส์หรือผู้ป่วยเอชไอวี
  • รักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ-ซี

ยาต้านไวรัสพีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มพีไอมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเข้าไปทำให้ไวรัส ไม่สามารถใช้สารเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Protease ตัดต่อโปรตีนให้มีโมเลกุลที่เล็กลง และนำโปรตีนดังกล่าวไปสร้างสารพันธุกรรมที่จำเป็นต่อการแพร่พันธุ์และเจริญเติบโต จึงนำมาซึ่งการควบคุมรักษาโรคดังกล่าว

ยาต้านไวรัสพีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านไวรัสพีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูล ขนาด 200, 300 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ด ขนาด 250, 300, 500 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิด
  • ยาน้ำชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิด

ยาต้านไวรัสพีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์และไวรัสตับอักเสบ-ซีมีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลของตัวผู้ป่วยเช่น สภาพร่างกาย โรคแทรกซ้อนที่เป็น อยู่ รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาต้านไวรัสพีไอ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาต้านไวรัสพีไออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาต้านไวรัสพีไอ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรงและอาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น

ยาต้านไวรัสพีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาต้านไวรัสพีไอ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • หายใจลำบาก
  • มีอาการบวมบริเวณ ใบหน้า - ปาก - ลิ้น - คอ
  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ผื่นคัน
  • ไขมันคลอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • เกิดนิ่วในไต
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ปวดท้อง
  • เบื่ออาหาร

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสพีไออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสพีไอ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มพีไอ
  • ห้ามใช้ยากลุ่มพีไอ เช่นยา Darunavir ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่นยา Astemizol, Terfenadin, Midazolam (ยาทำให้ง่วง ก่อนดมยาสลบ), Triazolam (ยานอนหลับ), Cisapride (ยาโรคกระเพาะอาหาร), Pimozide (ยารักษาโรคทางจิตเวช), และ Ergot alkaloids (ยารักษาไมเกรน)
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ
  • การใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบภาวะผื่นคันขึ้นตามร่างกาย แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลพร้อมน้ำยามาด้วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านไวรัสพีไอด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาต้านไวรัสพีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาต้านไวรัสพีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาต้านไวรัสพีไอร่วมกับยาลดไขมันกลุ่ม Statins สามารถทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง จึงห้ามการใช้ร่วมกันโดยเด็ดขาด
  • การใช้ร่วมกับยากันชักบางตัว เช่น Phenobarbital, Phenytoin หรือยาต้านเชื้อวัณโรค เช่น Rifampicin อาจทำให้ระดับยากลุ่มพีไอ เช่น Ritonavir มีปริมาณต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาต้านไวรัสกลุ่มพีไอร่วมกับยาขยายหลอดเลือด Sildenafil, Vadenafil สามารถทำให้ความเข้มข้นของยากลุ่มพีไอในกระแสเลือดสูงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาต้านไวรัสกลุ่มพีไอร่วมกับยากลุ่ม H2 Receptor Antagonists (ยาต้านสารฮิสตามีน/Histamine) จะทำให้ยาบางตัวในกลุ่มพีไอลดความเข้มข้นลง แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานในคนไข้เป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสพีไออย่างไร?

ควรเก็บยาต้านไวรัวพีไอ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้น แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาต้านไวรัสพีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาต้านไวรัสพีไอ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Invirase (อินไวเรส) Roche
Aluvia (อะลูเวีย) AbbVie
Kaletra (คาเลทรา) AbbVie
Norvir (นอร์เวีย) AbbVie
Prezista (พรีซิสตา) Janssen-Cilag
Inavir (อินาเวีย) GPO
Nafavir (นาฟาเวีย) GPO
Reyataz (เรยาทัซ) Bristol-Myers Squibb
Prezista (พรีซิสตา) Janssen-Cilag
Victrelis (วิกทรีลิส) MSD

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Protease_inhibitor_(pharmacology)[2020,Nov21]
  2. http://www.youtube.com/watch?v=MK2r8J7SCSg[2020,Nov21]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=saquinavir[2020,Nov21]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ATAZANAVIR[2020,Nov21]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=FOSAMPRENAVIR[2020,Nov21]
  6. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ftipranavir%3fmtype%3dgeneric[2020,Nov21]
  7. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fVictrelis%2f%3ftype%3dbrief [2020,Nov21]
  8. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=DARUNAVIR[2020,Nov21]
  9. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fReyataz%2f%3ftype%3dbrief[2020,Nov21]
  10. https://www.webmd.com/hiv-aids/hiv-medications [2020,Nov21]
  11. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15735444[2020,Nov21]
  12. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fPrezista%2f%3ftype%3dbrief [2020,Nov21]
  13. https://www.uspharmacist.com/article/drugdrug-interactions-with-hiv-antiretroviral-therapy[2020,Nov21]
  14. https://aidsinfo.nih.gov/guidelines/html/1/adult-and-adolescent-arv-guidelines/284/pi-drug-interactions[2020,Nov21]
  15. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fPrezista%2fPrezista%2520Oral%2520Suspension%3ftype%3dfull [2020,Nov21]