อาหารโรคไตเรื้อรังก่อนฟอกไต/ล้างไต (Nutrition before dialysis)

บทความที่เกี่ยวข้อง


อาหารโรคไตเรื้อรังก่อนฟอกไต

บทนำ

โรคไตเรื้อรัง แบ่งออกเป็นสองช่วงด้วยกัน คือ

  • โรคไตเรื้อรังช่วงก่อนฟอกไต/ล้างไต และ
  • โรคไตเรื้อรังช่วงหลังฟอกไต/ล้างไต

ซึ่งในบทความนี้ จะกล่าวถึง ‘โรคไตเรื้อรังช่วงก่อนฟอกไต/ล้างไต’ โดยโรคไตเรื้อรังช่วงก่อนฟอกไต/ล้างไตสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะด้วยกัน(ดังจะกล่าวในบทความนี้ ตาราง1 ระยะของโรคไตเรื้อรัง) ดังนั่นปริมาณอาหารที่สามารถทานได้ในแต่ละระยะของโรคไตเรื้อรัง จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการทำงานของไตและภาวะร่างกายของแต่ละคน

โรคไตเรื้อรังคืออะไร?

โรคไตเรื้อรัง เป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อยๆฝ่อเล็กลง สาเหตุสำคัญที่ไตถูกทำลาย คือ

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • นิ่วในไต
  • การกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น

อนึ่ง ในโรคไตเรื้อรัง การทำงานของไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไตฝ่อ และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ เมื่อไตเสื่อมจะขับ น้ำ เกลือแร่ และของเสียออกจากร่างกายได้ลดลง ทำให้น้ำ เกลือแร่ และของเสียคั่งในร่างกาย ทำให้เกิด

  • ภาวะบวมน้ำ
  • มีโพแทสเซียมในเลือดสูง
  • ฟอสฟอรัสในเลือดสูง และ
  • กรดยูริคในเลือดสูงได้

ตารางที่ 1 การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง

ชะลอการเสื่อมของไตได้อย่างไร?

ทั่วไป สามารถชะลอไตเสื่อมได้จากปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญคือ

  • การควบคุมโรคต่างๆ ที่สำคัญคือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ให้อยู่ในภาวะปกติ
  • หลีกเลี่ยงการซื้อ ยาต่างๆ หรือ สมุนไพรต่างๆ มาทานเองโดยไม่ปรึกษา แพทย์ เภสัชกร พยาบาล และ
  • ทานอาหารอย่างเหมาะสม(อาหารมีประโยชน์5หมู่)

ซึ่งการดูแลปัจจัยต่างๆดังกล่าว จะช่วยให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆต่อร่างกายลดลง ที่จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้ นอกจากนั้น ยังควรต้องควบคุมรูปร่างและน้ำหนักตัวให้ได้ตามเกณฑ์ดังนี้

1. ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI)ควรอยู่ในช่วง 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อเมตร2

2. เส้นรอบเอวระดับสะดือ ควรน้อยกว่า(<) 90 เซนติเมตร สำหรับเพศชาย และ < 80 เซนติเมตร สำหรับเพศหญิง

3. อัตราส่วนเส้นรอบเอวระดับสะดือต่อเส้นรอบสะโพก (ชาย < 1.0; หญิง < 0.8)

พลังงานจากอาหารที่ควรได้รับต่อวันช่วงก่อนฟอกไต/ล้างไต

การจะมีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ได้ ร่างกายควรได้รับพลังงานจากอาหาร และมีการออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม รวมทั้งชั่งน้ำหนักตัวสม่ำเสมอ โดยสามารถคำนวณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวันได้ดังนี้

1. ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงาน 35 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น 1 กิโลกรัม

2. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงาน 30 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น 1 กิโลกรัม

เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคไตมักมีภาวะบวมน้ำ จึงต้องคำนวณพลังงานจากน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น (Ideal body weight) ซึ่งสามารถคำนวณได้ดังนี้

1. น้ำหนักตัวที่ควรจะเป็นของผู้ชาย (กิโลกรัม) = ส่วนสูง (เซนติเมตร) – 100

2. น้ำหนักตัวที่ควรจะเป็นของผู้หญิง (กิโลกรัม) = ส่วนสูง (เซนติเมตร) – 105

ตัวอย่าง การคำนวณพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน

หญิงไทยอายุ 50 ปี สูง 155 เซนติเมตร เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 ควรได้รับพลังงานวันละกี่กิโลแคลอรี

วิธีคำนวณ :

อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังช่วงก่อนฟอกไต/ล้างไต

การทานอาหารอย่างถูกต้อง และเหมาะสมมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังดังนี้

1. ลดการทำงานของไต ทำให้ชะลอการเสื่อมของไตได้

2. ลดการคั่งของของเสียที่เกิดจากอาหารโปรตีน

3. ป้องกันการขาดสารอาหาร

4. ยืดเวลาที่ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตออกไป

5. ช่วยให้มีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ซึ่งอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ได้แก่

ก. แป้งปลอดโปรตีน:

ปกติอาหารประเภทข้าวแป้งจะมีคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) เป็นส่วนประกอบหลัก และมีโปรตีนผสมอยู่ด้วยมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของแป้ง แต่แป้งปลอดโปรตีนคือ แป้งที่มีโปรตีนต่ำมาก แป้งปลอดโปรตีนจึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องคุมการทานโปรตีน วิธีการทานหมวดข้าวแป้งคือ

1. ทานอาหารกลุ่มข้าวแป้งที่มีโปรตีนทั่วไป ได้แก่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ขนมจีน ขนมปัง ควรกินไม่เกินมื้อละ 2-3 ทัพพีเล็ก

2. ถ้าไม่อิ่มให้กินกลุ่มข้าวแป้งที่ปลอดโปรตีนเพิ่ม ได้แก่ วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ โดยสามารถทานแทน ข้าว หรือก๋วยเตี๋ยวทั่วไปได้

3. สามารถทานขนมที่ทำจากแป้งปลอดโปรตีน เช่น ขนมชั้น สาคู ลอดช่องสิงคโปร์ สลิ่ม (เลี่ยงน้ำกะทิ) ถ้าเป็นเบาหวานร่วมด้วย ต้องระวังกินข้าวแป้งในแต่ละมื้อให้คงที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไปด้วย

อาหารข้าวแป้งบางอย่างนอกจากมี โปรตีน (Protein) แล้ว ยังมีโซเดียม (Sodium) ฟอสฟอรัส (Phosphorus) และโพแทสเซียม (Potassium) ซึ่งอาหารในกลุ่มนี้ควรทานในปริมาณที่น้อย เช่น

1. อาหารข้าวแป้งที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ ขนมปังขาว หมั่นโถว แป้งซาลาเปา เป็นต้น

2. อาหารข้าวแป้งที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ข้าวกล้อง บะหมี่ พาสต้า เป็นต้น

3. อาหารข้าวแป้งที่มีโซเดียมและฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ขนมปังโฮลวีท บะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น

4. อาหารข้าวแป้งที่มีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ เผือก มันฝรั่ง เป็นต้น

ข. เนื้อสัตว์:

เนื้อสัตว์มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งโปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยในการเสริมสร้าง และซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานเชื้อโรค แต่ถ้าทานโปรตีนมากเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนัก ส่งผลให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ในทางกลับกัน ถ้ากินโปรตีนน้อยเกินไปก็จะเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ โดยทั่วไปสามารถแบ่งโปรตีนที่กินออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. โปรตีนคุณภาพดี (High Biological Value: HBV) คือ มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายและมีของเสียน้อย ไตจึงไม่ต้องทำงานหนัก แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรทานในปริมาณที่เหมาะสม อาหารในกลุ่มนี้ เช่น ไข่ขาว ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ควรเลือกกินที่ไม่มีหนังและมัน

2. โปรตีนคุณภาพต่ำ (Low Biological Value: LBV) คือ มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบและมีของเสียมาก ไตต้องทำงานหนักในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย จึงควรทานในปริมาณน้อย เช่น ถั่ว ธัญพืช เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมตามระยะของโรคไตเรื้อรัง คือ

1. ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 1-3 ควรได้รับโปรตีน 0.6-0.8 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น

2. ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 ควรได้รับโปรตีน 0.6 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น

ค. ไขมัน:

ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูง ควรทานในปริมาณที่เหมาะสม ดังนี้

1. ลดไขมันชนิดอิ่มตัว เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู กะทิ เนย มาร์การีน เนยเทียมแข็ง นม ครีม ไอศกรีม หมูสามชั้น เนื้อติดมันมากๆ ไส้กรอก เป็นต้น อาหารทอด เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยทอด ทอดมัน เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอล (Cholesterol) สูง เช่น สมองสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง กุ้งใหญ่ หอยนางรม ปลาหมึก เป็นต้น

3. น้ำมันที่เหมาะสำหรับนำมาปรุงหารในผู้ป่วยไตเรื้อรัง เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

ง.โซเดียม:

โซเดียม คือ แร่ธาตุที่ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย และควบคุมความดันโลหิต การได้รับโซเดียมมากเกินไปทำให้ ความดันโลหิตสูง ไตทำงานหนักและเกิดภาวะบวมน้ำได้

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรจำกัดปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ควรลดอาหาร และเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง ดังนี้

1. เครื่องปรุงรสที่มีรสชาติเค็ม เช่น น้ำปลา น้ำซีอิ๊ว เกลือ น้ำบูดู ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก และซุปทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง เป็นต้น

2. อาหารที่แปรรูปหรือถนอมอาหาร เช่น อาหารหมักดอง ผักดอง และ ผลไม้ดอง อาหารกระป๋องผลไม้กระป๋อง ไส้กรอก หมูยอ เป็นต้น

3. อาหารตากแห้ง เช่น กุ้ง/ปลาตากแห้ง ปลาสลิดแดดเดียว ปลาเค็มหมูแดดเดียว เนื้อแดดเดียว เป็นต้น

4. อาหารหมักดอง เช่น กะปิ ผักดองหวาน/เค็ม ปลาร้า เต้าเจี้ยว เป็นต้น

5. เครื่องดื่มเกลือแร่ เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา หรือผู้สูญเสียเหงื่อมาก

6. อาหารที่มีการใส่ผงชูรสหรือสารกันบูด เช่น อาหารสำเร็จรูปตามท้องตลาด ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด อาหารซองสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำผลไม้กระป๋อง

7. ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก และขนมปัง เป็นต้น

8. อาหารประเภทซุป เช่น ก๋วยเตี๋ยว แกงต่างๆ ควรทานน้ำซุปแต่น้อย เพราะน้ำซุปมีโซเดียมสูงจากเครื่องปรุงรสเค็มและผงปรุงรสหรือซุปก้อน

จ. โพแทสเซียม

โพแทสเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญในการควบคุมของเหลวภายในเซลล์ (Cell) และควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีการทำงานของไตลดลงบางราย มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้น เมื่อไตเสื่อมมากควรงด น้ำผักและน้ำผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้และผักบางชนิดที่มีโพแทสเซียมสูง ดังนี้

1. ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ที่ควรหลีกเลี่ยง : เช่น แก้วมังกร มะละกอ แคนตาลูป มะขามหวาน ทุเรียน ส้มฝรั่ง สตรอเบอรี่ แตงโม ลำไย อโวคาโด น้ำส้ม น้ำสับปะรด น้ำแอปเปิ้ล น้ำทับทิม น้ำลูกพรุน

2. ผักที่มีโพแทสเซียมสูงที่ควรหลีกเลี่ยง : เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลีม่วง กระเจี๊ยบเขียว กระชาย ขิง แครอท จมูกข้าว ถั่วฝักยาว ลูกยอ ใบขี้เหล็ก ใบและเมล็ดมะรุม บล็อกโคลี เผือก ฟักทอง มะเขือเทศ มะเขือเทศสีดา มะเขือเปราะ มะเขือพวง มะเดื่อ มะระจีน มันแกว มันฝรั่ง มันเทศ ผักหวาน รากบัว วาซาบิ สะเดา สะตอ หัวปลี หัวผักกาด (หัวไชเท้า) เห็ดกระดุม เห็ดโคน เห็ดตับเต่า เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดเผาะ เห็ดเป๋าฮื้อ หอมแดง หน่อไม้ แห้ว เป็นต้น

ถึงแม้ว่าผักส่วนใหญ่จะมีโพแทสเซียมสูง ผู้ที่เป็นโรคไตก็ยังควรกินผักทุกวัน วันละ 1-2 มื้อ (มื้อละ 1 ทัพพีสำหรับผักสุก หรือ 1 ถ้วยตวงสำหรับผักดิบ) เพื่อที่จะได้ วิตามิน ใยอาหาร และป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งควรปรึกษานักกำหนดอาหาร/โภชนากร แพทย์ พยาบาล เพราะขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียมในเลือด

ทั้งนี้ ผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำที่สามารถทานได้ เช่น

1. ผักที่มีโพแทสเซียมต่ำ ที่กินได้คือ บวบ มะระ มะเขือยาว มะละกอดิบ ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม กะหล่ำปลี พริกหวาน พริกหยวก แตงกวา แตงร้าน ฟักเขียว ฟักแม้ว ถั่วแขก หอมใหญ่ เป็นต้น

2. ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ ทานได้วันละ1ครั้ง เช่น ชมพู่ 2 ผล ส้มโอ 2-3 กลีบ มังคุด 2-3 ผล เงาะ 4 ผล สับปะรด 8 ชิ้นคำ องุ่น 10 ผล เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม/ไตเรื้อรัง ควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีโซเดียมต่ำในท้องตลาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มักใช้เกลือโพแทสเซียมแทน ซึ่งอาจส่งผลให้มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงได้ ดังนั้นจึงควรอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ก่อนการเลือกซื้อสิ้นค้าทุกครั้ง

ฉ. ฟอสฟอรัส:

ฟอสฟอรัส คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในอาหาร และขับออกทางไต เมื่อไตขับฟอสฟอรัสได้น้อยลง ส่งผลให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ซึ่งมีผลต่อการสลายแคลเซียม(Calcium)ในกระดูก ส่งผลทำให้เกิดภาวะกระดูกบางและกระดูกหักง่าย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง เช่น

  • นม และ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต นมข้นหวาน ไอศกรีม กาแฟ และชานม เป็นต้น
  • ไข่แดง และ ผลิตภัณฑ์ที่มีไข่แดงเป็นส่วนประกอบ
  • ถั่ว เมล็ดพืช ธัญพืช และ ผลิตภัณฑ์ที่มีถั่ว เมล็ดพืชและธัญพืชเป็นส่วนประกอบ เช่น ถั่วต้ม ถั่วคั่ว น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้ เต้าหู้ เต้าฮวย งา เมล็ดแตงโม ลูกเดือย ข้าวกล้อง และน้ำข้าวกล้อง เป็นต้น
  • เครื่องดื่มที่มีสีเข้ม เช่น น้ำอัดลม ชา และกาแฟ เป็นต้น
  • เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากถั่วและธัญพืช เช่น น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เป็นต้น
  • เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
  • อาหารที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบ เช่น เค้ก คุกกี้ แป้งซาลาเปา และหมั่นโถว เป็นต้น
  • อาหารที่มียีสต์ (Yeast) เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง พิซซ่า (Pizza) เป็นต้น
  • อาหารทะเลแช่แข็ง เช่น กุ้ง ปลา หรืออาหารอื่นๆ ที่เติมฟอสเฟต (Phosphate) ก่อนแช่แข็ง
  • เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ ไก่หยอง หมูหยอง กุนเชียง และแหนม เป็นต้น

ช.พิวรีน (Purine):

พิวรีน คือ สารประกอบชนิดหนึ่งในอาหาร เมื่อผ่านกระบวนการย่อยและการเผาผลาญอาหารแล้วจะได้เป็นกรดยูริค โดยปกติร่างกายสามารถขับกรดยูริค ออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่ในผู้ที่มีการทำงานของไตลดลงจะมีการขับ ยูริคทางปัสสาวะลดลง ส่งผลให้ระดับยูริคในเลือดสูง และนำไปสู่การเป็นโรคเกาต์ (Gout) ข้ออักเสบ นิ่วในไต และทำให้ไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง

ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงควรต้องจำกัดอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ (หัวใจ ตับ ตับอ่อน กึ่น เซ่งจี้ ไต) ปลาไส้ตัน ปลากระตัก ปลาดุก ปลาอินทรี ปลาทู ปลาแซลมอน หอยขม หอยโข่ง หอยสองฝา กุ้งชีแฮ้ กะปิ ยอดผัก ใจผัก(ส่วนในสุดของผัก) หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น และ

ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Alcohol) ทุกชนิด และ

ควรทานอาหารไขมันต่ำ เพื่อช่วยให้ระดับยูริคในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ซ. น้ำ:

ผู้ป่วยโรคไตที่ไม่มีอากรบวมน้ำ สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไปคือ 6-8 แก้วต่อวัน และหากเป็นโรคนิ่วในไต ควรกินน้ำให้มากขึ้น คือ 8-12 แก้วต่อวัน แต่ถ้ามีอาการ บวมน้ำ ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด จากการที่ไตเสื่อมมาก ต้องจำกัดน้ำตามที่แพทย์สั่ง

ฌ. สมุนไพร:

โดยทั่วไป ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่แนะนำยาสมุนไพรสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ และมีแบบแผน(การศึกษาทางการแพทย์)ว่า ยาสมุนไพร มีผลดีต่อโรคไต อีกทั้งพบว่า มียาสมุนไพรหลายๆ ชนิดทำให้เกิดไตวายฉับพลันได้ และถ้ามีไตเสื่อมอยู่แล้ว เวลาเกิดไตวายฉับพลัน แม้ว่าหยุดยาสมุนไพรดังกล่าว ไตอาจจะไม่ฟื้นคืนสู่ของเดิม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมของไต

วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมของไตได้แก่

1. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

2. ควรออกกำลังกายปานกลางทุกวัน เช่น เดินนับก้าววันละ 10 นาที หรือออกกำลังกาย เช่น เดิน ว่ายน้ำ 20-30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

3. ไม่ควรกิน อาหารเสริม ยาจีน หรือสมุนไพร เพราะอาจเป็นพิษต่อไตได้ ควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนซื้อสิ่งต่างๆดังกล่าวมาบริโภคเสมอ

4. ไม่ควรซื้อยาต่างๆใช้เอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน

5. ควรสอบถามแพทย์ผู้รักษาล่วงหน้าว่า ยาอะไรบ้างที่สามารถซื้อใช้ได้เอง

สรุป

ผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง (ก่อนล้างไต/ฟอกไต) ควรได้รับพลังงานและสารอาหารต่างๆในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต รวมทั้งป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพาตได้

บรรณานุกรม

  1. องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ สำหรับทุกช่วงวัย www.inmu.mahidol.ac.th/th/freebook_01.pdf [2018,Sept29]
  2. Stages of CKD http://www.renal.org/information-resources/the-uk-eckd-guide/ckd-stages#sthash.TMvpmlzp.dpbs [2018,Sept29]