การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: ทั่วไปเกี่ยวกับโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease/CKD) เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขโรคหนึ่ง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะตามระดับอัตราการกรองของไต หรือ อัตราการทำงานของไต (Estimated Glomerular filtration rate/eGFR)

  • ระยะที่ 1: ไตมีพยาธิสภาพโดยที่ยังมีค่า eGFR มากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซีซี/ลูกบาศก์เซนติ เมตร (CC/Cubic centrimetre) ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 73 ตารางเมตร
  • ระยะที่ 2, 3, 4: เป็นระยะที่ไตมีพยาธิสภาพ โดยมีค่า eGFR น้อยกว่า 90, 60, 30 ซีซี ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 73 ตารางเมตร ตามลำดับ
  • และโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 หรือโรคไตระยะสุดท้าย (End stage kidney disease): มีค่า eGFR น้อยกว่า 15 ซีซีต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 73 ตารางเมตร เป็นระยะที่จำเป็นต้องรักษาโดยการทดแทนไต (Renal replacement therapy หรือ Chronic renal replacement thera py/CRRT) ด้วยการล้างไต (Kidney dialysis หรือ Renal dialysis) หรือ การเปลี่ยนไต (การผ่า ตัดปลูกถ่ายไต/Kidney transplantation)

โดยโรคไตเรื้อรังระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อผู้ป่วยมีการเสื่อมของไตมากขึ้นโดยเฉพาะโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 หรือระยะที่ 5 จะมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ได้แก่ โลหิตจาง  ภาวะความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติของสมดุลน้ำและเกลือแร่ มีการคั่งของของเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวม มีภาวะปอดบวมน้ำ  ปัสสาวะออกน้อยลง มีอาการ อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร ในบางรายอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น อาการซึม หรืออาการชัก รวมทั้งผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงขึ้น

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อนจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยสาเหตุส่วนใหของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเกิดจาก โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ และโรคนิ่วในไต

หลักสำคัญของการรักษาโรคไตเรื้อรังในระยะเบื้องต้น คือ การรักษาที่สาเหตุของโรคและให้การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต การรักษาจึงประกอบด้วยยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการบริโภคเกลือโซเดียมและโปรตีน การใช้ยาให้ถูกต้องและการออกกำลังกาย

เมื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสื่อมของไตเข้าช่วงท้ายของโรคไตระยะที่ 4 หรือระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มมีอาการแทรกซ้อนต่างๆดังที่กล่าวไปแล้ว แพทย์และพยาบาลจะให้คำแนะนำ และเตรียมความพร้อมสำหรับการบำบัดทดแทนไตเพื่อรักษาอาการแทรกซ้อนต่างๆ และเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การบำบัดทดแทนไตคืออะไร? มีกี่วิธี?

การล้างไต

 

การบำบัดทดแทนไต เป็นกระบวนการการรักษาเพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้มีการขจัดของเสียที่คั่งอยู่ในร่างกาย ขจัดน้ำส่วนเกินจากร่างกาย รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ต่างๆ และรักษาภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่เกิดจากภาวะไตวายเรื้อรัง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร

การบำบัดทดแทนไตมี 3 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต/การเปลี่ยนไต (Kidney transplantation)
  2. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
  3. การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis)

การบำบัดทดแทนไตทั้ง 3 วิธี แตกต่างกันอย่างไร?

ก. การปลูกถ่ายไต หรือ การเปลี่ยนไต: คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ในตำแหน่งไตเดิม

การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย  

การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงอื่นๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับ ‘ยากดภูมิคุ้มกัน’ ตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป/ตลอดชีวิตเช่นกัน หากขาดยากดภูมิคุ้มกัน ร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ ทำให้ไตใหม่นั้นเสีย และยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตถือเป็นการรักษาภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และมีมากกว่าวิธีอื่น แต่ถ้าผลที่ได้รับดีกว่า ผู้ป่วยจะมีชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากกว่าวิธีอื่น ผลการรักษาจะดีถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีโรคของระบบอื่นนอกเหนือจากโรคไต ไม่มีภาวะติดเชื้อ และอายุไม่มาก เป็นต้น ในการปลูกถ่ายไตแพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ ว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดี และในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้ 

ผู้ป่วยโรคไตที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกถ่ายไต หรือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอรับการบริจาค ผู้ป่วยต้องบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, และการล้างไตทางช่องท้อง ทั้งสองวิธีไม่ทำให้หายจากโรคไตวาย แต่เป็นการทำงานแทนไตที่เสียไป คือ ล้างเอาน้ำและของเสียออกจากร่างกาย, รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ต่างๆ, ซึ่งเมื่อหยุดล้างไต น้ำและของเสียในเลือดก็จะสะสมขึ้นมาอีก ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการบวม   อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย มีภาวะปอดบวมน้ำ   คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร ซึม สับสน หรืออาการชัก เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จึงต้องล้างไตอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้มีชีวิตอยู่ได้เช่นคนทั่วไป

ข. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "การฟอกเลือด": เป็นการนำเลือดจากหลอดเลือด (ต้องมีการเตรียมหลอดเลือดไว้ล่วงหน้า) ออกจากร่างกาย ผ่านเข้ามาในตัวกรองของเสียที่เครื่องไตเทียม เพื่อดึงน้ำและของเสียออกจากร่างกาย เลือดที่ถูกกรองแล้วจะไหลกลับเข้าร่างกายทางหลอดเลือดอีกหลอดหนึ่ง วิธีการนำเลือดเข้า - ออกทางหลอดเลือดนี้คล้ายกับการให้เลือดหรือน้ำเกลือทางหลอดเลือด (มิใช่การผ่าตัดเอาเลือดออกมาล้าง) โดยทั่วไปทำครั้งละ 4-5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เนื่องจากการฟอกเลือดต้องทำที่ศูนย์ไตเทียมหรือโรงพยาบาล โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม ในปัจจุบันมีการฟอกเลือดที่บ้าน (Home hemodialysis) แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากเป็นภาระและใช้การลงทุนที่ค่อนข้างสูง

ค. การล้างไตทางช่องท้อง: วิธีนี้อาศัยเยื่อบุช่องท้องช่วยกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติกที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ทิ้งน้ำ ยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องแล้วทิ้งไป น้ำและของเสียในเลือดที่ซึมออกมาอยู่ในน้ำยาจะถูกกำจัดจากร่างกาย ผู้ป่วยและญาติสามารถเปลี่ยนน้ำ ยาได้เองที่บ้าน โดยทั่วไปจะทำการเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4 ครั้ง ต้องทำต่อเนื่องทุกวัน ผู้ป่วยและญาติสามารถปรับเปลี่ยนการเปลี่ยนถุงน้ำยาให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยได้ โดยขณะที่มีน้ำยาในช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถทำงานและมีกิจกรรมได้ตามปกติ 

ผู้ป่วยรายใดที่ควรเตรียมตัวเพื่อการบำบัดทดแทนไต? เมื่อไรควรเริ่มล้างไต?

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับคำแนะนำให้เตรียมตัวเพื่อการบำบัดทดแทนไต เมื่อเริ่มเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 (eGFR น้อยกว่า 30 ซีซี/นาที/ต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร) โดยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 ขึ้นไปและญาติ ควรได้รับความรู้เรื่องโรคไตเรื้อรังและการรักษาโดยการล้างไต การปลูกถ่ายไต และการรักษาแบบประคับประคอง รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่พึงได้จากรัฐบาล หรือหน่วยงานอื่นๆ

ควรพิจารณาเริ่มทำการล้างไต เมื่ออัตราการกรองของไต (eGFR) น้อยกว่า 10 ซีซี/นาที /พื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร หรืออาจพิจารณาเมื่ออัตราการกรองของไต (eGFR) 10-15

ซีซี/นาทีต่อ 1.73 ตารางเมตรและมีข้อบ่งชี้ทางคลินิก เช่น

  • ภาวะน้ำเกินในร่างกาย (Volume overload) ที่ไม่ตอบสนองต่อยาขับปัสสาวะ
  • ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มปอดอักเสบที่เกิดจากการคั่งของของเสีย (Uremic pericarditis or pleuritis)
  • ภาวะขาดสารอาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร
  • อาการซึม สับสน หรืออาการชัก ที่เกิดจากการคั่งของของเสีย (Uremic encephalo pathy)
  • ภาวะเลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (Metabolic acidosis) ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยารักษา
  • ภาวะเลือดออกที่เกิดจากการคั่งของของเสีย (Bleeding diathesis due to uremia)

*อนึ่ง: ไม่ควรรอจนอัตราการกรองของไต (eGFR) น้อยกว่า 5 ซีซี/นาที/พื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร จึงเริ่มการรักษาบำบัดทางไต เนื่องจากการเริ่มล้างไตเมื่อผู้ป่วยมีอาการมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าการเริ่มล้างไตในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยกว่า

ควรล้างไตด้วยวิธีไหน?

การล้างไตในปัจจุบันมี 2 วิธีดังที่กล่าวไปแล้ว คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีล้างไต คือ

  • โรคประจำตัวของผู้ป่วย
  • มีข้อห้ามในการล้างไตในแต่ละวิธีหรือไม่
  • สิทธิการรักษา
  • สภาวะทางการเงินและสังคมของผู้ป่วย เป็นต้น

ถ้าผู้ป่วยไม่มีปัญหาโรคประจำตัวอื่นๆนอกจากโรคไตเรื้อรัง ไม่มีข้อห้ามของการล้างไตทั้ง 2 วิธี ไม่มีปัญหาด้านสภาวะการเงินและสังคม หรือมีสิทธิการรักษาที่สามารถรักษาได้ทั้ง 2 วิธี ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเลือกวิธีการล้างไตได้ทั้ง 2 วิธี

ก. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม:

ข้อดี: คือ ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องทำเอง, และการฟอกเลือดแต่ละครั้งใช้เวลาไม่มาก นอกจาก นี้การฟอกเลือดสามารถแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่ของเสียคั่ง ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ หรือภาวะปอดบวมน้ำได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมาด้วยภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

ข้อเสีย: คือ ต้องมาโรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมบ่อย อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีที่อยู่ห่างไกลหรือไม่สะดวกที่จะมาศูนย์ไตเทียม และ ไม่ได้มีการขจัดของเสียอยู่ตลอดเวลาอย่างการรักษาทางช่องท้อง ส่วนในผู้สูงอายุ หรือในโรคเบาหวาน ที่มีปัญหาเรื่องของหลอดเลือด ไม่สามารถทำหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดได้ ก็ไม่เหมาะสมกับการฟอกเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ และหลอดเลือดที่รุนแรง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมอาจจะทำให้สัญญาณชีพ (ชีพจร อัตราการหายใจ อุณหภูมิร่างกาย และความดันโลหิต) ไม่คงที่ (Hemodynamic instability) และ มีความดันโลหิตต่ำขณะฟอกเลือดได้

ข. การล้างไตทางช่องท้อง:

ข้อดี: คือ มีการขจัดของเสียตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องทุกวัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพที่รุนแรงและรวดเร็วเหมือนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง และช่วยชะลอการสูญเสียการทำงานของไตที่เหลืออยู่ (Residual renal function) ได้ดีกว่า ผู้ป่วยและญาติสามารถทำเองได้ที่บ้าน และไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ และในกรณีเกิดภัยพิบัติ การล้างไตทางช่องท้องก็จะมีความคล่องตัวมากกว่า

ข้อเสีย: คือ หากไม่ระมัดระวังความสะอาดให้ดีโดยเฉพาะในการเปลี่ยนถุงน้ำยาจะเกิดการติดเชื้อที่บริเวณที่ใส่สายหรือติดเชื้อในช่องท้องได้ (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยตัวใหญ่ ผู้ป่วยที่ไม่เหลือการทำงานของไตเดิมเลย และข้อจำกัดอีกหลายประ การของการล้างไตทางช่องท้องคือ ผู้ป่วยที่เคยมีการผ่าตัดแล้วเกิดพังผืดในหน้าท้อง/ช่องท้องอย่างมาก ผู้ที่เคยมีประวัติการผ่าตัดลำไส้ทะลุ ผู้ป่วยที่กำลังมีภาวะติดเชื้อในช่องท้องก่อน ที่จะใส่สายล้างไตที่ท้อง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของผนังหน้าท้องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จะไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้

นอกจากนี้สิทธิการรักษายังมีผลต่อการตัดสินใจในการล้างไต โดยสิทธิหลักประกันสุข ภาพถ้วนหน้าจะได้รับบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรก และเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวน ถ้าผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ไม่ได้มีข้อห้ามในการล้างไตทางช่องท้องและต้องการฟอกเลือดต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดเองทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยสิทธิประ กันสังคมและผู้ป่วยสิทธิเบิกกรมบัญชีกลางสามารถเลือกได้ทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้อง โดยเบิกค่าใช้จ่ายในการล้างไตได้ตามสิทธิ

แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรจะวางแผนการล้างไตโดยปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

ผู้ป่วยล้างไตจะมีอายุได้นานเท่าไหร่ ?

จากการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตมีชีวิตยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป  

สาเหตุของการเสียชีวิตในผู้ป่วยล้างไต ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงประมาณ 40-50% ของสาเหตุของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าประชากรทั่วไปในทุกกลุ่มอายุ เพศ เชื้อชาติ  โดยมักไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุและชนิดของโรคที่ทำให้เกิดไตวาย

นอกจากนี้  ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นล้างไต จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

ส่วนโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ   ผู้ป่วยไตเรื้อรังอาจจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อนการล้างไต  ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า  

ส่วนในรายที่ไม่พบโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อนการล้างไต  ก็มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจประมาณ 3-4% ต่อปี

เมื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  จะมีโอกาสเสียชีวิตถึงประมาณ 50-60% ภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆได้อีก เช่น โรคติดเชื้อ, ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงต่างๆจากการล้างไต, และจากการทำหัตถการต่างๆที่เกี่ยวกับการล้างไต, เป็นต้น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแม้ว่าจะได้รับการล้างไตแล้วก็ต้องติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล ตลอดชีวิต

บรรณานุกรม

  1. Hsu CC, Hwang SJ, Wen CP, Chang HY, Chen T, Shiu RS, et al. High prevalence and low awareness of CKD in Taiwan: a study on the relationship between serum creatinine and awareness from a nationally representative survey. Am J Kidney Dis. 2006 Nov;48(5):727-38.
  2. Domrongkitchaiporn S, Sritara P, Kitiyakara C, Stitchantrakul W, Krittaphol V, Lolekha P, et al. Risk factors for development of decreased kidney function in a southeast Asian population: a 12-year cohort study. J Am Soc Nephrol. 2005 Mar;16(3):791-9.
  3. Levey AS, Coresh J, Balk E, Kausz AT, Levin A, Steffes MW, et al. National Kidney Foundation practice guidelines for chronic kidney disease: evaluation, classification, and stratification. Ann Intern Med. 2003 Jul 15;139(2):137-47
  4. Ingsathit A, Thakkinstian A, Chaiprasert A. Prevalence and risk factors of chronic kidney disease in the Thai adult population: Thai SEEK study. Nephrol Dial Transplant 2010; 25: 1567-1575(9).
  5. Praditpornsilpa K. Thailand renal replacement therapy 2010
  6. Cooper BA, Branley P, Bulfone L, et al. A randomized, controlled trial of early versus late initiation of dialysis. N Engl J Med 2010;363:609-19. 2
  7. K/DOQI Clinical Practice Guidelines on Chronic Kidney Disease. Am J Kidney Dis 2002; vol 39, No 2 (Suppl 1): S1
  8. United States Renal Data System. Excerpts from USRDS 2009 Annual Data Report. U.S. Department of Health and Human Services. The National Institutes of Health, National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. Am J Kidney Dis 2010; 55(Suppl 1):S
  9. Go AS, Chertow GM, Fan D, et al. Chronic kidney disease and the risk of death cardiovascular events and hospitalization . N Eng J Med 2004 ; 351:1296-305
  10. Parfrey PS, Foley RN, Harnett JD, et al. Outcome and risk factors of ischemic heart disease in chronic uremia. Kidney Int 1996 ; 49 (5) : 1428-34.
  11. https://www.kidney.org/sites/default/files/Final%20Session%205%20Weber%20Renal%20Replacement%20Therapy%20Options%20and%20Choices.pdf  [2022,Nov19]