ไตอักเสบ (Nephritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

ไตอักเสบ (Nephritis) คือ  โรคไตที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อไตที่ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชนิดหลักคือ

  • Glomerulus, พหูพจน์คือ Glomeruli: เป็นเนื้อเยื่อที่เปลี่ยนแปลงมาจากหลอดเลือดเล็กๆที่ทำหน้าที่กรองสิ่งต่างๆจากเลือดที่ไหลผ่านมายังไต เช่น กรองปัสสาวะ เป็นต้น
  • Tubule: เนื้อเยื่อที่เป็นท่อเล็กๆที่นำสิ่งที่ไตกรองทิ้ง/ปัสสาวะเพื่อกำจัดออกจากไตผ่านส่วนที่เรียกว่ากรวยไต(Renal pelvis) และ
  • Interstitial tissue: เนื้อเยื่อที่ล้อมรอบอยู่ระหว่าง Glomerulus และ Tubule

 *อนึ่ง:

  • อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ไต และ เรื่องกายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การอักเสบที่เกิดกับ Glomerlus เรียกว่า Glumerulonephritis,
  • การอักเสบที่เกิดกับ Interstitial tissue เรียกว่า Interstitial nephritis ซึ่งมักเกิดร่วมกับการอักเสบของ Tubule เสมอจึงรวมเรียกว่า Tubulointerstitial nephritis,
  • ส่วนการอักเสบที่เกิดกับกรวยไตที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เรียกว่า Pyelo nephritis หรือกรวยไตอักเสบ ที่ได้แยกเขียนเป็นอีกบทความต่างหากในเว็บ com เรื่อง กรวยไตอักเสบ ดังนั้นจึงจะไม่กล่าวถึง’กรวยไตอักเสบ’ในบทความนี้

 ไตอักเสบ:

  • เมื่อไตอักเสบในระยะเวลารวดเร็วซึ่งไตจะมีลักษณะบวมใหญ่ขึ้นเรียกว่า ‘ไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute nephritis)’ ซึ่งมักมีอาการรุนแรงจนอาจเกิดไตวายเฉียบพลันจนถึงตายได้ หรือถ้าสาเหตุไม่รุนแรงอาจรักษาหายได้
  • แต่ถ้าไตอักเสบที่อาการค่อยๆเกิดโดยระยะแรกอาการไม่รุนแรง แต่อาการจะค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับไตมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เรียกว่า ‘โรคไตเรื้อรัง’ และจะเกิด ‘ไตวาย’ในที่สุดเรียกว่า “ไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic nephritis)”

         ไตอักเสบ พบทั้งในเพศหญิง,ในเพศชาย,และในทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ โดยอาจเกิดกับไตเพียงข้างเดียว (ข้างซ้ายหรือข้างขวามีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน) หรือกับไตพร้อมกันทั้ง 2 ข้างทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งสถิติเกิดไตอักเสบในภาพรวมยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน เพราะโดยทั่วไปมักแยกรายงานตามแต่ละสาเหตุซึ่งมีสถิติการเกิดต่างๆกัน ขึ้นกับแต่ละเชื้อชาติ, โรงพยาบาล, และแต่ละประเทศ

ไตอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

ไตอักเสบ

สาเหตุของไตอักเสบ ได้แก่

ก. สาเหตุของ Glomerulonephritis: เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เกิดไตอักเสบตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus ในโรคสเตรปโธรท (Strep throat), หรือเกิดตามหลังโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือเกิดจาก                             โรคติดเชื้อไวรัส เช่น ในโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือในไวรัสตับอักเสบบี
  • จากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลูปัส-เอสแอลอี (SLE)
  • จากโรคต่างๆที่ก่อการอักเสบโดยตรงต่อ Glomeruli เช่น โรคเบาหวาน    โรคความดันโลหิตสูง
  • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น ยาแก้ปวด/ยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด/NSAID ที่ใช้ในปริมาณสูงต่อเนื่อง), หรือการได้รับสารพิษต่างๆปริมาณสูงหรือต่อเนื่อง (เช่น พิษตะกั่ว, พิษปรอท, ควันรถยนต์)
  • จากโรคหลอดเลือดอักเสบ เช่น โรค Polyarteritis

ข. สาเหตุของ Interstitial nephritis/Tubulointerstsitial nephritis ที่บางสาเหตุเป็นสาเหตุเดียวกับ Glomerulonephritis เช่น

  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ใช้ในปริมาณสูงต่อเนื่องเช่น ยาแก้ปวด/ยาแก้อักเสบ เอ็นเสด, ยาปฏิชีวนะบางชนิดเช่น Sulfa drug, ยาขับปัสสาวะบางชนิด เช่นยา Furosemide
  • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี /SLE
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น เอชไอวี  ไวรัสตับอักเสบบี
  • ภาวะมีเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ภาวะมีแคลเซียมในเลือดสูง
  • กรดยูริคในเลือดสูง
  • ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่

ไตอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการจากไตอักเสบมีได้หลากหลายที่พบบ่อย ได้แก่

ก. อาการของ Glomerulonephritis:

  • อาการที่พบบ่อย คือ
    • ปัสสาวะเป็นเลือดโดยสีปัสสาวะจะคล้ำเข็มเหมือนสีน้ำปลา
    • ปัสสาวะเป็นฟอง  เพราะมีสารโปรตีน /แอลบูมิน ปนมาในปัสสาวะซึ่งจะไม่พบในภาวะไตปกติ  
    • และบวมน้ำทั่วร่างกายพบบ่อยที่ใบหน้า รอบตา ข้อเท้า และเท้า
  • ส่วนอาการที่พบได้แต่ไม่บ่อย เช่น
    • ปวดหลัง
    • ท้องเสียที่หาสาเหตุไม่ได้
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ปัสสาวะปริมาณมากหรือปัสสาวะปริมาณน้อยผิดปกติ
    • อ่อนเพลีย
    • เบื่ออาหาร
    • มีไข้
    • ความดันโลหิตสูง
    • มีเลือดออกง่ายจึงอาจมีเลือดกำเดาออกง่ายผิดปกติ หรือไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด  อุจจาระเป็นเลือดได้

ข. อาการจาก Tubulointerstitial nephritis เป็นอาการที่คล้ายกับอาการจาก Glomerulonephritis เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะมากหรือปัสสาวะน้อยกว่าปกติ, อาจมีไข้, ตัวบวม, คลื่นไส้อาเจียน, ความดันโลหิตสูง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ 

อนึ่ง: ไตอักเสบในระยะแรกอาจไม่พบมีอาการได้ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีจากแพทย์ และตรวจเลือดดูการทำงานของไตร่วมด้วยเสมอ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคไตได้แต่เนิ่นๆซึ่งจะช่วยให้ผลการรักษาและการควบคุมโรคได้ดีกว่าการพบโรคไตระยะที่มีอาการแล้ว

แพทย์วินิจฉัยไตอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยไตอักเสบได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆที่รวมถึงโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจเลือด ดูการทำงานของไตและดูค่าสารต่างๆที่จะช่วยการวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น สารภูมิต้านทานต่างๆ
  • นอกจากนั้น เช่น
    • การตรวจภาพไตอาจด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • อาจจำเป็นต้องส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ และ/หรือตัดชิ้นเนื้อจากไต เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาที่จะช่วยการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น

รักษาไตอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไตอักเสบคือ การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ, และร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ

ก. รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ: จะแตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละชนิดของโรค เช่น

  • ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากไตติดเชื้อแบคทีเรีย
  • หยุดยาหรือหยุดการได้รับสารพิษต่างๆ อาจร่วมกับการให้ยาที่ใช้ต้านพิษยาเหล่านั้นถ้ามียาต้านพิษ เช่น ยา Edetate calcium disodium ที่ใช้รักษาพิษปรอท  ถ้าสาเหตุมาจากยาหรือสารพิษ
  •  รักษาควบคุมโรคภูมิต้านตนเองเมื่อสาเหตุมาจากโรคนี้  

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • ให้ยาลดความดันถ้ามีความดันโลหิตสูง  
  • การล้างไตกรณีมีภาวะไตวาย ซึ่งทั้งนี้รวมไปถึงจำกัดอาหารรสเค็ม และการบริโภคอาหารในกลุ่มอาหารในโรคไต

ไตอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคไตอักเสบ เช่น

  • ภาวะไตวายเฉียบพลันในไตอักเสบเฉียบพลันที่เป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ และโรคไตเรื้อรังที่อาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง
  • และอาจเกิดกลุ่มอาการไตเสื่อม(Nephrotic syndrome/โรคไตรั่ว) คือภาวะที่ร่างกายสูญเสียสารโปรตีนออกมาในปัสสาวะมากจนส่งผลให้เกิดการบวมน้ำทั้งตัวเรื้อรังร่วมกับภาวะซีดและปัสสาวะเป็นฟองจากมีโปรตีนในปัสสาวะมาก

ไตอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของไตอักเสบไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้เพราะขึ้นกับหลายปัจจัยมาก แพทย์จึงให้การพยากรณ์โรคเป็นรายบุคคลไป ซึ่งปัจจัยสำคัญต่อการพยากรณ์โรคได้แก่

  • สาเหตุ: เช่น ถ้าสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยา การพยากรณ์โรคจะดีกว่าสาเหตุที่เกิดจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • ความรุนแรงของอาการ: ยิ่งอาการมาก การพยากรณ์โรคจะไม่ดี
  • ค่าการทำงานของไตที่เสียไป: ยิ่งไตเสียการทำงานมาก การพยากรณ์โรคจะไม่ดี
  • อายุ: การพยากรณ์โรคในเด็กจะดีกว่าในผู้ใหญ่ และในผู้สูงอายุการพยากรณ์โรคจะแย่กว่าในทุกอายุ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไตอักเสบ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ถ้าสูบอยู่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคหลอดเลือด
  • กินอาหารรสจืด (ไม่กินอาหารรสเค็ม) ควบคุมอาหารที่ลดการทำงานของไต ควรกิน อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง อาหารในโรคไต)
  • ไม่ซื้อยาต่างๆใช้เอง ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อเป็นไตอักเสบควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการเดิมที่เป็นอยู่แย่ลง เช่น ปัสสาวะเป็นฟองมากขึ้น
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น ปวดหลัง/ปวดเอวมากทั้งๆที่ไม่เคยมีอาการนี้มาก่อน
  • อาการที่ดีขึ้นแล้วกลับมาเป็นใหม่อีกเช่น กลับมามีปัสสาวะเป็นเลือดอีก
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากยาที่แพทย์สั่ง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันไตอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันไตอักเสบที่สำคัญ คือ

  • ป้องกันรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอชไอวี และโรคไวรัสตับอักเสบบี
  • ไม่สูบบุหรี่ ถ้าสูบอยู่ควรต้องเลิก
  • กินอาหารจืด ไม่กินอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ
  • ไม่กินยาพร่ำเพรื่อ กินแต่เฉพาะที่จำเป็น และเมื่อจะซื้อยาใช้เองต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
  • หลีกเลี่ยงภาวะเป็นพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำที่ปนเปื้อนโลหะหนัก (เช่น พิษตะกั่ว), ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
  • ตรวจสุขภาพประจำปีโดยแพทย์ที่รวมถึงการตรวจเลือดดูการทำงานของไตเพราะถึงแม้ไม่ช่วยป้องกันโรคไต แต่จะช่วยวินิจฉัยโรคไตได้ตั้งแต่เนิ่นๆขณะยังไม่มีอาการที่จะส่งถึงประสิทธิผลที่ดีในการรักษา

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/239278-overview#showall [2022,March5]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/239392-overview#showall [2022,March5]
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/000464.htm [2022,March5]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Nephritis [2022,March5]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/243597-overview#showall [2022,March5]