อาหารในโรคไต (Kidney disease diet)

ผู้ป่วยในระบบโรคไต/โรคไตที่ต้องดูแลในเรื่องอาหาร คือ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วยโรคไตเฉียบพลัน การบริโภคอาหารมักเป็นอาหารปกติ คือ อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ โดยจำกัด อาหารเค็ม อาหารหวาน และอาหารไขมัน เพิ่มผัก และผลไม้

ไตมีหน้าที่สำคัญในการกำจัดของเสีย และอาหาร/สารอาหารส่วนเกินออกจากร่างกายทางปัสสาวะ เมื่อเป็นโรคไตจึงมีของเสียและสารอาหารส่วนเกินคั่งในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอา การผิดปกติต่างๆขึ้น

ดังนั้นอาหารของผู้ป่วยโรคไตจึงเป็นอาหารที่ต้องลดปริมาณของเสีย และปริมาณอาหารส่วนเกินลง

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับระดับการทำงานของไตที่เสียไป รวมทั้งเป็นผู้ป่วยที่ล้างไต (การล้างไต) หรือไม่ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจะได้รับคำแนะ นำในเรื่องอาหารและน้ำดื่มเป็นรายๆไปจากแพทย์ พยาบาลผู้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจมีนักโภชนาการร่วมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังโดยทั่วไป มักได้รับการแนะนำในเรื่องประเภทอาหาร/สารอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องดื่ม ดังนี้

ในเรื่องอาหาร/สารอาหารสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

  • อาหารควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสจืด (ประเภทอาหารทางการแพทย์) แต่ควรต้องเป็นอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วน
  • จำกัดอาหารโปรตีน ส่วนจะจำกัดมากน้อยอย่างไร ขึ้นกับระดับการทำงานของไต ดังนั้นจึงต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคไต และควรเป็นโปรตีนที่มีของเสียต่ำ คือ โปรตีนจากปลา มากกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
  • จำเป็นต้องจำกัดอาหารหวานเมื่อมีโรคเบาหวานร่วมด้วย แต่อาจเพิ่มปริมาณอา หารแป้งได้บ้าง ควรเป็นแป้งจากธัญพืชชนิดไม่ขัดสี ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าแป้งที่ได้จากการขัดสี
  • ยังจำเป็นต้องจำกัดอาหารไขมัน แต่อาจเพิ่มปริมาณได้มากกว่าในคนปกติ เพื่อชด เชยพลังงานจากโปรตีนที่ต้องจำกัด และควรเป็นไขมันจากพืช มากกว่าไขมันจากสัตว์
  • จำกัดอาหารเค็ม คือ เกลือแกง/เกลือโซเดียม
  • จำกัดอาหารมีเกลือโปแตสเซียม (Potassium) สูง เกลือโปแตสเซี่ยมมีสูงในพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโอต ผลไม้แห้งทุกชนิด (เช่น ลูกเกด) พืชกินหัว แครอต มันฝรั่ง มันเทศ ฟักทอง ผักโขม มะเขือเทศ อาหารกระป๋อง อะโวคาโด กล้วย แคนตาลูป ส้ม ฝรั่ง กิวี มะม่วง แพร์ พรุน องุ่น และน้ำผลไม้ โยเกิร์ต ช็อก โกแลต โก โก้ ผลนัทต่างๆ (Nut)
  • จำกัดอาหารที่มีฟอสฟอรัส (Phosphorus) สูง อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น นม เนย เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาหารทะเล ปลาทะเล ตับ ไก่งวง ช็อกโกแลต โยเกิร์ต ถั่วต่างๆ
  • ไม่ควรซื้อวิตามิน เกลือแร่ อาหารเสริมต่างๆบริโภคเอง ควรต้องปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาโรคไตก่อนเสมอ เพราะอาหารเหล่านี้ มีผลต่อการทำงานของไตโดย ตรง

- ในเรื่องน้ำดื่ม เมื่อไตเสียการทำงานมากขึ้น จะส่งผลให้มีน้ำคั่งในร่างกายมากขึ้น แพทย์อาจจำเป็นต้องให้จำกัดน้ำดื่ม (ดังนั้นจึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ เพราะขึ้นกับประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ยังเหลืออยู่) ซึ่งทั้งนี้ นับรวมถึงน้ำที่ได้จากเครื่องดื่ม และอาหารที่เป็นน้ำ เช่น น้ำแกงจืด และน้ำซุป

เมื่อต้องจำกัดน้ำ และกระหายน้ำบ่อย ให้ใช้การอมน้ำแข็งชิ้นเล็กๆจะช่วยได้ดี

- เครื่องดื่มอื่นๆ แพทย์แนะนำงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มกาเฟอีนทุกชนิด (เช่น ชา กาแฟ โคล่า) เพราะมีการศึกษาพบว่า เป็นสาเหตุให้ไตทำงานได้ลดลง

- บุหรี่ ต้องเลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของเซลล์ของไต และต่อหลอดเลือดต่างๆรวมทั้งหลอดเลือดไต

บรรณานุกรม

  1. Diet for renal patient. http://www.mcw.edu/Nephrology/ClinicalServices/DietforRenalPatient.htm [2012,Nov23].
  2. Diet-chronic kidney disease. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002442.htm [2012,Nov22].
  3. Kidney and renal food lists. http://www.nephinc.com/food-lists.asp [2012,Nov22].
  4. Nutrition and chronic kidney disease. http://www.kidney.org/atoz/pdf/nutri_chronic.pdf [2012,Nov23].