อะคาร์โบส (Acarbose)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- อะคาร์โบสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อะคาร์โบสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะคาร์โบสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะคาร์โบสมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะคาร์โบสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะคาร์โบสอย่างไร?
- อะคาร์โบสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะคาร์โบสอย่างไร?
- อะคาร์โบสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase inhibitor)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- น้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c)
บทนำ:คือยาอะไร?
อะคาร์โบส (Acarbose) คือ ยาสังเคราะห์ที่นำมารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 จัดอยู่ในกลุ่มยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase inhibitor) มีจำหน่ายแพร่หลายในแถบยุโรปและจีนภายใต้ชื่อการค้าว่า “กลูโคเบย์ (Glucobay)” หลักการทำงานของยาชนิดนี้ไม่มีอะไรซับ ซ้อน โดยตัวยาจะไปยับยั้งไม่ให้เอนไซม์ในลำไส้ที่ชื่อว่าไกลโคไซด์ ไฮโดรเลส (Glycoside hydro lases) และเอนไซม์จากตับอ่อนที่ชื่อว่า แอลฟา-อะมัยเลส (Alpha amylase) เปลี่ยนสารอาหารจำ พวกแป้งไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลที่เล็กลง ทำให้ลดการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เล็ก ทางคลินิกยาอะคาร์โบสจึงช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ในระยะสั้น และให้ผลการรักษาระยะยาวกับการลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมหรือที่วงการแพทย์เรียกว่า ‘น้ำตาลสะสมในเลือด (Glycated hemoglobin ย่อว่า HbA1c )’
สำหรับผู้ใหญ่ ยาอะคาร์โบสมีขนาดรับประทานเฉลี่ยครั้งละ 25 - 100 มิลลิกรัมรับประทานวันละ 3 ครั้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษา อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่โดดเด่นของยานี้ได้แก่ มีภาวะท้องอืด เนื่องจากยานี้ทำให้การย่อยอาหารประเภทแป้งไปเป็นน้ำตาลทำได้ยากขึ้นนั่นเอง
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานเท่านั้น ยาอะคาร์โบสมีการดูดซึมเข้า สู่ร่างกายต่ำ ตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีจากระบบทางเดินอาหารเท่านั้น ร่างกายสามารถ ขับยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระและมีบางส่วนที่ถูกดูดซึมและขับออกจากร่างกายไปพร้อมกับปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาอะคาร์โบสอยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุการใช้กับผู้ป่วยเบาหวานบางรายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูง อีกทั้งกำกับให้รับประทานยานี้พร้อมกับอาหารคำแรกอีกด้วย
การเลือกใช้ยาอะคารโบสกับผู้ป่วย แพทย์มักจะคัดกรองโดยการตรวจร่างกายพร้อมกับสอบ ถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อยืนยันว่าเหมาะสมที่จะใช้ยาอะคาร์โบสหรือไม่เช่น
- ผู้ป่วยเบาหวานต้องไม่มีโรคของระบบทางเดินอาหารอักเสบ(เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ, ลำไส้อักเสบ) หรือ ลำไส้อุดตัน
- ไม่มีแผลในบริเวณลำไส้เล็ก
- ไม่เป็นโรคตับแข็ง หรือ โรคตับชนิดอื่น
- มีการใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดอื่นอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
นอกจากนี้ แพทย์จะกำกับเตือนให้ผู้ป่วยทราบว่า การใช้ยาอะคาร์โบสนี้ควรต้องควบคุมอาหารที่รับประทานพร้อมกับมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ด้วยประโยชน์ของยานี้ไม่เพียงแต่ใช้บำบัดรักษาเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ในเชิงป้องกันกับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงกับการเกิดโรคเบาหวาน เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาอะคาร์โบสผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง หากเกิดอาการผิดปกติหลังใช้ยานี้ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
อะคาร์โบสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะคาร์โบสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้บำบัดรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2
- ใช้เป็นยาป้องกันในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานโดยต้องอาศัยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายร่วมด้วย
อะคาร์โบสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะคาร์โบส มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกลุ่มเอนไซม์ในลำไส้เล็กที่มีชื่อว่า Glycoside hydrolases โดยเฉพาะตัวที่ชื่อว่า Alpha-glucosidase รวมถึงเอนไซม์จากตับอ่อนที่มีชื่อว่า Alpha-amylase ไม่ให้เปลี่ยนหรือย่อยแป้งหรืออาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคเข้าไป โดยไม่ให้เปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลที่มีโครงสร้างโมเลกุลเล็กลง ส่งผลให้ลำไส้ดูดซึมน้ำตาลโมเลกุลเล็กกลูโคส (Glucose) เข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง และช่วยสนับสนุนในการบำบัดอาการเบาหวานประเภทที่ 2 ตามสรรพคุณ
อะคาร์โบสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะคาร์โบสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
อะคาร์โบสมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะคาร์โบสมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.ใช้บำบัดโรคเบาหวานประเภทที่ 2:
- ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งพร้อมอาหารคำแรก แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม/ครั้งถ้าจำเป็น และอาจปรับขนาดรับประทานสูงสุดได้ถึง 200 มิลลิกรัม/ครั้ง
ข.ใช้ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน:
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมพร้อมอาหารคำแรกวันละ 3 ครั้ง หลังจากนั้นอีก 4 - 8 สัปดาห์แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
*อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะคาร์โบส ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะคาร์โบสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะคาร์โบส สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อะคาร์โบสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะคาร์โบสสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก.อาการข้างเคียงทั่วไป: เช่น ปวดท้อง มีอาการ ท้องอืด ท้องเสีย วิงเวียน อ่อนเพลีย ปวดหัว อาจพบโรคซีดด้วยยานี้มีผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กจากระบบทางเดินอาหารได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นคันได้อีกด้วย
ข. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อยมาก: เช่น ตัวเหลือง/ตาเหลืองคล้ายดีซ่าน
มีข้อควรระวังการใช้อะคาร์โบสอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะคาร์โบส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (เช่น ลำไส้อักเสบ) หรือมีการอุดตัน(เช่น ลำไส้อุดตัน) เป็นแผลในระบบทางเดินอาหาร (เช่น แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก/ แผลเปบติค) หรือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังของลำไส้เล็ก (เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ระหว่างการใช้ยานี้ให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วยเสมอ
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลอย่างสม่ำเสมอ
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเพื่อตรวจสภาพร่างกายและติดตามความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะคาร์โบสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะคาร์โบสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะคาร์โบสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอะคาร์โบส ร่วมกับยา Digoxin อาจมีผลต่อการกระจายตัวรวมถึงระดับยา Digoxin ในกระแสเลือดจนส่งผลกระทบต่อการรักษา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาอะคาร์โบส ร่วมกับยา Gatifloxacin อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นเหตุเข้าขั้นโคม่า และในบางกรณีอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน (ปัสสาวะบ่อยร่วมกับกระหายน้ำ) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะคาร์โบส ร่วมกับยา Phenylpropanolamine, Pseudoephedrine, Phenylephrine อาจทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดของยาอะคาร์โบสด้อยประสิทธิภาพลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาอะคาร์โบสอย่างไร?
ควรเก็บยาอะคาร์โบส: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะคาร์โบสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะคาร์โบส มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Glucobay (กลูโคเบย์) | Bayer HealthCare Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-glucosidase_inhibitor [2022,July2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acarbose [2022,July2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Glycated_hemoglobin [2022,July2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/acarbose?mtype=generic [2022,July2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/acarbose/patientmedicine/acarbose%2B-%2Boral [2022,July2]
- https://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Glucobay/?type=brief [2022,July2]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2022,July2]
- https://www.drugs.com/mtm/acarbose.html [2022,July2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/acarbose-index.html?filter=3&generic_only= [2022,July2]