ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 มิถุนายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาแอมโลดิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาแอมโลดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแอมโลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแอมโลดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแอมโลดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมโลดิปีนอย่างไร?
- ยาแอมโลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแอมโลดิปีนอย่างไร?
- ยาแอมโลดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- เหงือกอักเสบ (Gingivitis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- เหงือกงอกเกิน (Gingival enlargement)
บทนำ
ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) เป็นยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง ที่มีใช้อย่างแพร่หลาย โดยยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาที่เรียกว่า Calcium Channel Blocker ทางการแพทย์ยังนำยาแอมโลดิปีน มาใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอก เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หรือที่เรียกว่า Angina pectoris (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด )
ยาแอมโลดิปีนนี้ จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ ตับ และขับออกจากร่างกายโดยไตทางปัสสาวะ หลังรับประทานยา พบว่ายานี้จะมีระดับคงอยู่ในกระแสเลือดได้นานถึง 30 – 50 ชั่วโมง ด้วยยาแอมโลดิปีนมีผลข้างเคียงและมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นอย่างมากมาย การใช้ยานี้หรือการปรับขนาดการรับประทาน จึงต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น จึงไม่สมควรที่จะซื้อยานี้มารับประทานเอง
ยาแอมโลดิพีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแอมโลดิปีน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาความดันโลหิตสูง
- รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ
- รักษาอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน
ยาแอมโลดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอมโลดิปีน ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณหัวใจ และเส้นเลือดฝอยขยายตัว จึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ จึงทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น
ยาแอมโลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอมโลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม
ยาแอมโลดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแอมโลดิปีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 – 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง สามารถรับประทานก่อน หรือหลังอาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):ขนาดรับประทานในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาแอมโลดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมโลดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือแจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแอมโลดิปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาแอมโลดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ของยาแอมโลดิปีน เช่น
- ปลายมือ ปลายเท้าบวม (Peripheral edema)
- ปวดหัว
- อาหารไม่ย่อย
- คลื่นไส้
- วิงเวียน
- อ่อนเพลีย
- นอนไม่หลับ
- ซึมเศร้า
- หัวใจเต้นเร็ว
- เหงือกงอกเกิน
- เหงือกอักเสบ
อนึ่ง: อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่พบได้ แต่พบได้น้อย ได้แก่ ตัวเหลือง, ตับอักเสบ, น้ำตาลในเลือดสูง, อาการสั่น, และกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดกับผิวหนังและเยื่อเมือกที่เรียกว่า Stevens - Johnson Syndrome
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมโลดิปีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาแอมโลดิปีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระมัดระวังการใช้ยากับผู้ป่วย โรคตับ, ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ระวังการใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ (อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้) และสตรีที่กำลังให้นมบุตร (ยาจะปนออกมาในน้ำนม ก่อผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์ต่อทารกได้)
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาแอมโลดิปีน) ยาแผนโบราณ/ยาแผนไทย อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแอมโลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอมโลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เช่น
- การรับประทานยาแอมโลดิปีน ร่วมกับยาลดไขมันบางตัว สามารถก่อให้เกิดความเสียหายกับตับและไต เพราะยาแอมโลดิปีนสามารถเพิ่มระดับยาลดไขมันบางกลุ่มในกระแสเลือดได้ อาทิเช่น ยา Simvastatin
- การใช้ยาแอมโลดิปีน ร่วมกับยาแก้ปวด/ยาลดไข้บางตัว สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานเพื่อลดผลเสียดังกล่าว ยาแก้ปวด/ลดไข้ดังกล่าว เช่น ยา Aspirin, ยา Ibuprofen
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์บางชนิด สามารถลดผลการทำงานของยาแอมโลดิปีนและส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ ยากลุ่มสเตียรอยด์ดังกล่าว เช่นยา Methylprednisolone
- การรับประทานแอมโลดิปีน ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม สามารถเพิ่มระดับของยาแอมโลดิปีนในกระแสเลือด จนส่งผลทำให้มีอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น เช่น ความดันโลหิตต่ำอย่างมาก, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, มีอาการคั่งของน้ำในร่างกาย (อาการบวมน้ำทั่วตัว), ตับบวม, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Clarithromycin
ควรเก็บรักษายาแอมโลดิปีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาแอมโลดิปีน:
- เก็บยาได้ในอุณหภูมิห้อง
- ควรเก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาแอมโลดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นๆ และชื่อบริษัทผู้ผลิตยาแอมโลดิปีน เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Ambes (แอมเบส) | GPO |
Amcardia (แอมคาร์เดีย) | Unique |
Amlod (แอมลอด) | Unison |
Amlodac (แอมโลแดก) | Zydus Cadila |
Amlopine (แอมโลพีน) | Berlin Pharm |
Amvas (แอมวาส) | Millimed |
Denten (เดนเทน) | Siam Bheasach |
Lovas (โลวาส) | Millimed |
Narvin (นาร์วิน) | T. O. Chemicals |
Norvasc (นอร์เวส) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=amlodipine [2020,June27]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Amlod/?q=amlodipine&type=brief [2020,June27]
- http://www.drugs.com/drug_interactions.html [2020,June27]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Amlodipine#Adverse_effects[2020,June27]