เหงือกงอกเกิน (Gingival enlargement)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เหงือกงอกเกิน หรือ เหงือกงอก (Gingival enlargement)เป็นโรคที่เหงือกมีการเจริญใหญ่ขึ้นผิดปกติ ทั่วไปมักเกิดกับเหงือกได้ทุกส่วนจนเห็นลักษณะเงือกเป็นตะปุ่มตะป่ำ แต่ส่วนน้อยอาจเกิดเพียงตำแหน่งเดียว โรคนี้เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น สุขอนามัยช่องปากไม่ดี หรือ เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

เหงือกงอก /เหงือกงอกเกิน พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ เป็นโรคพบได้เรื่อยๆไม่บ่อยมาก พบในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ เพศชายและหญิงมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่มีการศึกษารายงานอัตราการเกิดโรคที่แน่ชัด

อนึ่ง ชื่ออื่นของเหงือกงอก เช่น

  • Gingival hyperplasia
  • Gingival hypertrophy
  • Gingival overgrowth

เหงือกงอกเกินมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

เหงือกงอก

เหงือกงอก /เหงือกงอกเกินมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้หลากหลาย แบ่งเป็นกลุ่มๆตามสาเหตุหลักได้ดังนี้

ก. สาเหตุจากเหงือกอักเสบเรื้อรัง: เป็นสาเหตุพบบ่อย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีสุขอนามัยช่องปากไม่ดี เหงือกจะใหญ่ขึ้น บวม ค่อนข้างนิ่ม แดง เจ็บ เลือดออกง่าย มักเกิดจากเงือกอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อแบคทีเรียและการเกิดหินปูน เช่น ผู้ป่วยโรคปริทันต์ หรือ ผู้ที่หายใจทางปากจากสาเหตุต่างๆต่อเนื่อง

ข. ผลข้างเคียงจากยาบางกลุ่ม: เป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อย โดยลักษณะเหงือกงอกที่งอกมักไม่มีการบวม ค่อนข้างแข็ง สีชมพูอ่อน ไม่มีอาการเจ็บ ยาที่มักมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดเหงือกงอกเกิน มีบางการศึกษารายงานว่าเกิดจากผู้ป่วยกลุ่มที่มีผลข้างเคียงนี้มีพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภาวะไวเกินต่อยากลุ่มต่างๆดังกล่าว กลุ่มยาดังกล่าว เช่น

  • กลุ่มยากันชัก/ยาต้านชัก: เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin), ไพรมิโดน(Primidone)
  • กลุ่มยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูงในกลุ่มที่เรียกว่า แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker): เช่น ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine), ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน: เช่นยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) เป็นต้น

ค. สาเหตุจากโรค/ภาวะอื่นๆที่ส่งผลกระทบอวัยวะทั่วร่างกาย(Systemic diseases): เช่น

  • เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์
  • โรคลักปิดลักเปิด (ภาวะขาดวิตามินซี)
  • โรคซีด
  • เอชไอวี/ โรคเอดส์
  • โรคเบาหวาน
  • โรคโครห์น

ง. สาเหตุจากโรคเนื้องอก หรือ มะเร็ง: เช่น เนื้องอกเหงือก, มะเร็งเหงือก, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งไฝของเหงือก

จ. โรคทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ในครอบครัว: ที่ทำให้เกิดเหงือกงอกเกิน ได้แก่ โรค Hereditary gingival fibromatosis แต่เป็นโรคที่พบน้อยมากๆ

ฉ. อื่นๆ: ที่เรียกว่า False gingival enlargement: คือกลุ่มที่โรคไม่ได้เกิดที่เหงือก แต่เกิดกับกระดูกกราม(เช่น ความผิดปกติของกระดูกกราม)ที่ส่งผลต่อเนื่องให้คล้ายเกิดเหงือกงอกเกิน

เหงือกงอกเกินมีอาการอย่างไร?

อาการของเหงือกงอก /เหงือกงอกเกิน ได้แก่ อาการที่เกิดกับตัวเหงือกเอง และ อาการที่เกิดจากสาเหตุ

ก. อาการที่เกิดกับตัวเหงือกเอง: ได้แก่

  • เหงือกมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ อาจเล็ก หรือใหญ่ ขึ้นกับสาเหตุ และระยะเวลาเกิดอาการที่เพิ่งมีอาการหรือเป็นมานานแล้ว, อาจเกิดตำแหน่งเดียวของเหงือก หรือกระจายเกิดกับหลายส่วนหรือทุกส่วนของเหงือกที่ทำให้เหงือกมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำ
  • เหงือกที่งอกเกิน/ก้อนเนื้อจะมีสีแดง หรือ สีชมพูเข้มขึ้นกว่าเหงือกปกติ บางรายอาจมีอาการบวมร่วมด้วย และถ้าสาเหตุเกิดจากการอักเสบฯ มักมีอาการเจ็บเหงือกส่วนงอกเกินร่วมด้วย แต่ถ้าเกิดจากผลข้างเคียงจากยา อาจมีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ และกรณีสาเหตุเกิดจากเนื้องอกในระยะแรกมักไม่มีอาการเจ็บ
  • ถ้าเหงือกงอกเกินเป็นมาก ส่วนที่งอกเกินจะโตจนบดบังฟันซี่ต่างๆส่งผลให้ทำความสะอาดยาก กินอาหาร/เคี้ยวอาหารลำบาก และอาจมีผลให้เสียงเปลี่ยนไปได้
  • อาจมีกลิ่นปากร่วมด้วย โดยเฉพาะกรณีเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ
  • กรณีสาเหตุเกิดจากช่องปากมีสุขอนามัยที่ไม่ดี มักพบมีคราบหินปูนร่วมด้วยที่รอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน
  • กรณีเกิดการอักเสบร่วมด้วย หรือสาเหตุจากมะเร็ง จะมีเลือดออกง่ายที่ออกจากตัว เหงือกงอกเกิน โดยเฉพาะขณะแปรงฟัน หรือเคี้ยวอาหารแข็ง
  • มีผลด้านความสวยงาม

ข.อาการของสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันขึ้นกับแต่ละสาเหตุ(แนะนำอ่านรายละเอียดแต่ละสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com เช่น โรคลักปิดลักเปิด(ภาวะขาดวิตามินซี), ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบางชนิด , โรคปริทันต์, โรคเบาหวาน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์/ทันตแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ทันตแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์/ทันตแพทย์วินิจฉัยเหงือกงอกเกินอย่างไร?

แพทย์/ทันตแพทย์วินิจฉัยเหงือกงอก /เหงือกงอกเกินได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ โรคประจำตัว รวมถึงยา (ยารักษาโรค)ที่ใช้เป็นประจำ ประวัติการดูแลสุขอนามัยช่องปากและฟัน ประเภทอาหารที่บริโภค
  • การตรวจดูช่องปากและฟัน
  • การตรวจร่างกายทั่วไป กรณีต้องการหาสาเหตุ ที่รวมถึงตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด ดูค่าความสมบูรณ์ของเลือด/ซีบีซี/CBC, ดูค่าน้ำตาลในเลือด(โรคเบาหวาน)
    • เอกซเรย์ภาพเหงือก ฟัน และกระดูกกราม
    • การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อที่เหงือกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยากรณีสงสัยเนื้องอกหรือมะเร็ง

รักษาเหงือกงอกเกินอย่างไร?

แนวทางการรักษาเหงือกงอก /เหงือกงอกเกิน ที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาสุขอนามัยช่องปาก นอกจากนั้นได้แก่ การรักษาตัวเหงือกงอกเกินด้วยหัตถการทางการแพทย์, และการรักษาควบคุมสาเหตุ

ก. การรักษาสุขอนามัยช่องปาก: ซึ่งเป็นวิธีสำคัญที่สุด และเป็นการรักษาพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยทุกราย เป็นทั้งการป้องกันการเกิดโรคนี้ การดูแลรักษา และการป้องกันโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • แปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ2ครั้งก่อนเข้านอนและเมื่อตื่นนอนเช้า เลือกแปรงที่ขนแปรงก่อให้เกิดแผลต่อเหงือก และควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
  • ใช้ไหมขัดฟันก่อนแปรงฟันเข้านอนทุกครั้ง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพิ่มผักสดและผลไม้สด
  • ไม่กินขนม/อาหารหวานจุบจิบ
  • ลดอาหารเปรี้ยว/ ผลไม้เปรี้ยว
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงในทุกๆวัน และทุกครั้งหลังการรับประทาน/ดื่มเครื่องดื่มเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น กำจัดเศษอาหารที่ตกค้าง และช่วยลดความเป็นกรดของช่องปาก
  • ไม่เคี้ยว หมาก เมี่ยง ใบยาสูบ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พบทันตแพทย์ประมาณทุก6เดือนหรือตามทันตแพทย์แนะนำ

ข. หัตถการทางการแพทย์ในการรักษาตัวเหงือกงอกเกิน: ในบางครั้งเมื่อเหงือกงอกเกินก่อปัญหาในการคบเคี้ยว การพูด หรือด้านความสวยงาม แพทย์จะมีหัตถการทางการแพทย์เพื่อลดขนาดเหงือกงอกเกินซึ่งมีหลายวิธีการตามความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดก้อนเหงือก ด้วยเลเซอร์, ด้วยไฟฟ้า(Electrosurgery), หรือบางครั้งอาจต้องตัดเหงือกส่วนมีรอยโรคออกทั้งหมด

ค. การรักษาสาเหตุ:เป็นการรักษาที่แตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยขึ้นกับแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านรายละเอียดรวมถึงการรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บไซต์ haamor.com

เหงือกงอกเกินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคเหงือกงอก/ เหงือกงอกเกิน ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรงยกเว้นกรณีสาเหตุคือ โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งเหงือก ที่การพยากรณ์โรคไม่ค่อยดี/เป็นโรคที่รุนแรง ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคได้เหมาะสมกับแต่ละผู้ป่วยเป็นรายๆไป

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์/ทันตแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีเหงือกงอก/ เหงือกงอกเกิน ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • รักษาสุขอนามัยช่องปากที่รวมถึงฟันตาม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล แนะนำซึ่งรวมถึงที่ได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ’
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์/ทันตแพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์/ทันตแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/ทันตแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์/ทัตแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/ทันตแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น เจ็บเหงือกมากขึ้น มีกลิ่นปากมากขึ้น มีเลือดออกจากเหงื่อบ่อยมากขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกหรือท้องเสียมาก
    • กังวลในอาการ

ป้องกันเหงือกงอกเกินได้อย่างไร?

การป้องกันเหงือกงอก/เหงือกงอกเกิน ที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาสุขอนามัยช่องปากดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’ นอกจากนั้น คือ

  • ไม่ใช้ยาฯพร่ำเพื่อ ไม่ซื้อยาใช้เอง ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ควรรู้ผลข้างเคียงสำคัญของยาที่ต้องใช้ต่อเนื่องเป็นประจำ และถ้าจะซื้อยาใช้เองควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุเหงือกงอก/เหงือกงอกเกินให้ได้ดี (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุจากเว็บ haamor.com)

บรรณานุกรม

  • https://en.wikipedia.org/wiki/Gingival_enlargement [2020,June27]
  • https://www.healthline.com/health/gingival-hyperplasia [2020,June27]
  • https://www.aaom.com/index.php%3Foption=com_content&view=article&id=132:gingival-enlargement&catid=22:patient-condition-information&Itemid=120 [2020,June27]
  • https://familydoctor.org/mouth-and-teeth-how-to-keep-them-healthy/ [2020,June27]
  • https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/oral-health [2020,June27]