โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 16 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคหัวใจและหลอดเลือดมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคหัวใจและหลอดเลือดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างไร?
- รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร?
- โรคหัวใจและหลอดเลือดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- มีการตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดไหม?
- ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- อาหารป้องกันโรคหัวใจ (Healthy heart diet)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
- เอคโคหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Cardiac echo: Echocardiogram)
บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคหัวใจและหลอดเลือด(Cardiovascular disease ย่อว่า ซีวีดี/CVD)คือ โรคทุกชนิด,และทุกภาวะ/อาการผิดปกติต่างๆที่เกิดกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะในระบบหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจ (Heart Disease) เป็น คำที่ทุกคนพูดถึงเมื่อเกิดโรคขึ้นกับหัวใจ แต่เนื่องจากโรคหัวใจมักมีความสัมพันธ์กับโรคของหลอดเลือดเสมอ ดังนั้น ทั่วไปทางการแพทย์จึงเรียกโรคในภาพรวมกลุ่มนี้ว่า “โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)”
หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญ มีหน้าที่หลักในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย (หัวใจ: กายวิภาคและสรีรวิทยา) ดังนั้นเมื่อเกิดโรคกับหัวใจจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว/ภาวะหัวใจวาย ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงการขาดเลือดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั่วร่างกายอันเป็นสาเหตุถึงตายได้
โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคพบบ่อยมากของประชากรทั้งโลก และเป็นสาเหตุ การตายติด 1 ใน 4 ลำดับสาเหตุสูงสุดของคนทุกเชื้อชาติและทุกประเทศ, องค์การอนามัยโรครายงานอัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลกในปีค.ศ.2019 ประมาณ17.9ล้านคนคิดเป็นประมาณ32%ของทุกสาเหตุ
ส่วนในประเทศไทยมีรายงานในปีพ.ศ. 2564 จากกรมควบคุมโรค พบโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ1ของคนไทย
โรคหัวใจและหลอดเลือดพบได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุขึ้นกับสาเหตุ เช่น ในเด็กแรกเกิดสาเหตุจะเป็นจากความผิดปกติแต่กำเนิด, ส่วนในผู้สูงอายุ โรคหัวใจฯที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ พบโรคหัวใจฯในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง
โรคหัวใจและหลอดเลือดมีหลากหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง, โรคหัวใจ: หลอดเลือดหัวใจ, โรค/ภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย, ซึ่งทั้ง 3 โรคที่กล่าวเป็นตัวอย่างโรคหัวใจฯที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนั้น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม, โรค/ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคหัวใจติดเชื้อ เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, โรคลิ้นหัวใจ, และที่พบได้บ้าง คือโรคความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดแต่กำเนิด ส่วนโรคเนื้องอกหัวใจ และโรคมะเร็งหัวใจ พบน้อยมาก มักเป็นเพียงรายงานประปรายเท่านั้น
โรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมีหลากหลายสาเหตุ เช่น
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- โรคปอด เพราะปอดกับหัวใจมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเสมอ
- โรคความดันโลหิตสูง
- การติดเชื้อ ซึ่งมีได้ทั้ง เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อปรสิต
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลถึงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด, ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาพุ่งเป้าบางชนิด
- ผลข้างเคียงจากสารบางชนิดที่ส่งผลต่อหลอดเลือดและเป็นสาเหตุให้หัวใจขาดเลือดได้ เช่น ยาเสพติดบางชนิด
- การฉายรังสีรักษาบริเวณหัวใจ อาจเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ เสียหายได้
- โรคหลอดเลือดอักเสบ
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- โรคความผิดปกติแต่กำเนิดของ หัวใจ หลอดเลือด และ/หรือ ลิ้นหัวใจ
โรคหัวใจและหลอดเลือดมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันควบคุมได้, และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันควบคุมไม่ได้
ก. ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันควบคุมได้: เช่น
- สูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง (เป็นทั้งสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง)
- ขาดการออกกำลังกาย
- ความเครียด
- ขาดสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ และมีปัญหาทางสุขภาพจิต
ข. ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันควบคุมไม่ได้: เช่น
- อายุ: ยิ่งสูงอายุ โอกาสเกิดยิ่งสูงขึ้น จากมีการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งของหัวใจ
- เพศชาย: มีโอกาสเกิดสูงกว่าเพศหญิง โดยในเพศชายอัตราเสี่ยงสูงขึ้นในช่วงอายุ 40-45 ปี, ส่วนในเพศหญิงอัตราเสี่ยงสูงขึ้นในวัยหมดประจำเดือน
- พันธุกรรม:พบโรคหัวใจได้สูงขึ้นในคนที่มีคนในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง พ่อแม่เดียวกัน) เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือดมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดแตกต่างกันบ้างตามชนิดของโรคหัวใจฯ แต่โดยทั่วไปมีอาการที่คล้ายกันที่มักเกิดกับโรคหัวใจฯทุกชนิด เช่น
- เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเมื่อออกแรง
- เจ็บหน้าอก เมื่อเป็นมากจะมีอาการหายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- วิงเวียน เป็นลม ง่าย
- ดูซีด
- มีความผิดปกติของความดันโลหิต ส่วนใหญ่ มีความดันโลหิตสูง แต่พบมีความดันโลหิตต่ำได้
- มีการผิดปกติในจังหวะการเต้นของหัวใจ ชีพจรผิดปกติ และอาจมีเสียงหัวใจเต้นผิดปกติ อาจหัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า
- ในระยะท้ายของโรค มักมีอาการบวมน้ำ โดยมักเริ่มที่เท้าก่อน
- อาจมีอาการเขียวคล้ำของ เล็บ นิ้ว มือ เท้า ริมฝีปาก
แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้จาก
- อายุ เพศ น้ำหนัก ชีพจร ความดันโลหิต ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ
- การตรวจร่างกาย และ การตรวจฟังการเต้นของหัวใจ
- ตรวจเลือดดูค่า ไขมัน น้ำตาล และสารต่างๆที่เกี่ยวกับโรคทางหัวใจฯ เช่น เอนไซม์ในกลุ่ม Cardiac troponins
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- ตรวจเอคโคหัวใจ
- ตรวจเอกซเรย์ปอดดูภาพของหัวใจและปอด
นอกจากนั้น อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย, สิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ, และดุลพินิจของแพทย์, เช่น
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress test)
- การสวนหัวใจ
- ตรวจหัวใจด้วยเอมอาร์ไอ และ/หรือ ตรวจหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน)
- ตรวจหัวใจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์/รังสีวิทยา(Cardiac scintigraphy)
- และบางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากหัวใจเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดขึ้นกับแต่ละชนิดของโรค ในภาพรวมคือ
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น
- การกินอาหาร (อาหารป้องกันโรคหัวใจ)
- การออกกำลังกาย
- การเลิกบุหรี่
- การผ่อนคลายความเครียด
- ใช้ยาต่างๆตามชนิดของโรค เช่น
- ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากหัวใจติดเชื้อแบคทีเรีย
- ยาสลายลิ่มเลือด และ/หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ยาลดความดัน เมื่อมีโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆตามชนิดของโรค เช่น เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) เป็นต้น
- หัตถการต่างๆทางการแพทย์โรคหัวใจ เช่น Coronary angioplasty (การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน/Heart balloon , การใส่ท่อตาข่ายขยายหลอดเลือด/ Stent
- การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดลิ้นหัวใจ, การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งการผ่าตัดหัวใจมักเลือกใช้เมื่อการรักษาทางยาไม่ได้ผล
- การรักษาตามอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการปวด, การให้ออกซิเจน, การให้น้ำและสารอาหารทางหลอดเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไปโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรครุนแรง แต่เมื่อได้รับการรักษาตั้งแต่ในเบื้องต้นของโรค มักสามารถรักษา ดูแล และควบคุมโรคได้ดี
ซึ่งการรักษาโรคหัวใจต้องได้รับความร่วมมืออย่างดีระหว่าง แพทย์ พยาบาล กับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องมีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดหลายประการในการใช้ชีวิตประจำวัน อาหาร เครื่องดื่ม การกินยา และการต้องพบแพทย์ที่ต้องต่อเนื่อง เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ คือ การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย, การเกิดอาการหัวใจล้ม (Heart attack) ซึ่งมักเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน/กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และอัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพราะโรคหัวใจฯจะเป็นสาเหตุให้สมองขาดเลือด
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อแพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุ
และเมื่อทราบแล้วว่าตนเองเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่สำคัญ คือ
- เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- ดูแล ควบคุม การบริโภคอาหาร (อาหารป้องกันโรคหัวใจ)
- มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ หรือ ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อลดการติดเชื้อ และเพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี
- เลิกสุรา
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้อย่างดี เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- อาการต่างๆแย่ลง
- กังวลในอาการ
- ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ
- เจ็บหน้าอก เจ็บร้าวไปใบหน้า/กราม ไหล่/บ่า/แขน
- วิงเวียน จะเป็นลม และ/หรือ
- พูดไม่ชัด สับสน แขน ขาอ่อนแรง
มีการตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดไหม?
การตรวจคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ การตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 15-18 ปี ตรวจโดยแพทย์ ตรวจชีพจร วัดความดันโลหิต, การตรวจร่างกาย, การตรวจปัสสาวะ, ตรวจเลือดดู ค่าน้ำตาล ไขมัน การทำงานของไต, ส่วนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี แพทย์มักแนะนำให้ตรวจเมื่ออายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไปและอาจพิจารณาเป็นรายๆไป
ส่วนผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ การตรวจคัดกรองโรคหัวใจควรอยู่ในการแนะนำของแพทย์
ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างไร?
การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ การป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ ปรับพฤติกรรมการการบริโภค (อาหารป้องกันโรคหัวใจ) ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ
- รักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- ตรวจสุขภาพประจำปีโดยแพทย์ เพื่อคัดกรองปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- เลิกสุรา
บรรณานุกรม
- https://haamor.com/หัวใจ [2022,July16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cardiovascular_disease [2022,July16]
- https://www.nhlbi.nih.gov/files/docs/public/heart/living_hd_fs.pdf [2022,July16]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK535419/ [2022,July16]
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cardiovascular-diseases-(cvds) [2022,July16]
- https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=20876&deptcode=brc [2022,July16]