คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

คาร์ซิโนมา (Carcinoma) คือ กลุ่มมะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อบุผิว ซึ่งคือ เนื้อเยื่อที่ปกคลุมอยู่ภายนอกเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเช่น ผิวหนัง หนังศีรษะ, หรือ ปกคลุมผนังชั้นในสุดอวัยวะภายใน  เช่น รังไข่ อัณฑะ ท่อไต,ระบบทางเดินอาหาร, ซึ่งเนื้อเยื่อบุผิวเรียกได้หลายชื่อขึ้นกับหน้าที่ของเนื้อเยื่อบุผิวนั้นๆ เช่น  ถ้าบุปกคลุมอยู่ผนังหลอดเลือดและหัวใจ เรียกว่า เนื้อเยื่อบุโพรง (Endothelium) แต่ถ้าผนังบุผนังและสร้างน้ำเมือกที่ใช้หล่อลื่นและ/หรือที่ช่วยการทำงานของอวัยวะนั้นๆ (เช่นสร้าง น้ำลาย เอนไซม์ต่างๆ ฮอร์โมนต่างๆ หรือช่วยย่อยและดูดซึมสารต่างๆ) จะเรียกว่า เนื้อเยื่อเมือก/เยื่อเมือก เช่น เนื้อเยื่อบุผิวในช่องปากและลำคอ และ ในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

มะเร็ง  เป็นโรคเรื้อรังและร้ายแรง เกิดจากเซลล์ร่างกายบางส่วนไม่มีการตายตามธรรมชาติ แต่กลับเจริญเติบโตแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติจนร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญโตนั้นๆได้ ทั่วไปเซลล์มะเร็งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 5-6 กลุ่ม (แล้วแต่พยาธิแพทย์ของแต่ละสถาบัน) แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดของมะเร็ง คือ กลุ่มชนิด ‘คาร์ซิโนมา (มะเร็งคาร์ซิโนมา)’ และกลุ่ม ‘มะเร็งซาร์โคมา’

โดยมะเร็งซาร์โคมา คือ มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งได้แยกเขียนต่างหากในอีกบทความในเว็บhaamor.com คือ ‘มะเร็งซาร์โคมา’ จึงไม่กล่าวในบทความนี้,โดย บทความนี้จะกล่าวเฉพาะ ‘มะเร็งคาร์ซิโนมา’ เท่านั้น

มะเร็งคาร์ซิโนมา  พบบ่อยที่สุดเกือบทั้งหมดของโรคมะเร็งโดยเป็นประมาณ 80-90% ของมะเร็งทุกกลุ่ม  พบมะเร็งกลุ่มอื่นๆ รวมกันได้เพียงประมาณ 10-20% ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อพูดถึง ‘โรคมะเร็ง (Cancer) จึงมักหมายถึงมะเร็งชนิดนี้ คือ มะเร็งคาร์ซิโนมา’

มะเร็งคาร์ซิโนมา เกิดได้กับทุกเนื้อเยื่อบุผิวของทุกอวัยวะทั่วร่างกาย พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย บางอวัยวะพบในเพศหญิงสูงกว่าในเพศชาย เช่น โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์, แต่บางอวัยวะพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง เช่น โรคมะเร็งปอด,  และพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด (นิยามคำว่าเด็ก) ไปจนถึงผู้สูงอายุ  แต่ทั่วไปมะเร็งคาร์ซิโนมาจะเกิดในผู้ใหญ่โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป พบในวัยเด็กเพียงประมาณ 1%

มะเร็งคาร์ซิโนมาเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?

มะเร็งคาร์ซิโนมา

 

สาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งคาร์ซิโนมา ยังไม่ทราบชัดเจน แต่จากการศึกษาเชื่อว่า ต้องประกอบด้วยหลายๆปัจจัยร่วมกัน ซึ่งมะเร็งคาร์ซิโนมาก็เช่นเดียวกัน คือ ยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัด  แต่พบปัจจัยเสี่ยงได้หลายปัจจัยที่พบบ่อย คือ  

  • สูบบุหรี่: ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งคาร์ซิโนของอวัยวะต่างๆเกือบทุกอวัยวะ ที่พบบ่อย เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งอวัยวะระบบ-ศีรษะ-ลำคอ, มะเร็งอวัยวะระบบหูคอจมูก, มะเร็งปากมดลูก    
  • ดื่มแอลกอฮอล์: พบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งของหลายอวัยวะเช่นกัน โดยเฉพาะ มะเร็งอวัยวะระบบ-ศีรษะ-ลำคอ, มะเร็งอวัยวะระบบหูคอจมูก, มะเร็งตับ
  • การติดเชื้อชนิดเรื้อรังต่างๆ: เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี, โรคไวรัสตับอักเสบซี (ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับ), ไวรัสเอชพีวี (ปัจจัยเสี่ยงต่อ มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งคอหอยส่วนปาก), ไวรัสเอชไอวี(ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง), โรคพยาธิใบไม้ตับ (ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งท่อน้ำดีตับ)
  • ได้รับสารก่อมะเร็งเรื้อรัง: เช่น สารอะฟลาทอกซิน (สารพิษจากเชื้อราที่ขึ้นในธัญพืชต่างๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับ), สารหนู (ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง)
  • ได้รับแสงแดดจัดเรื้อรัง: เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งไฝ
  • ได้รับรังสีบางชนิดเรื่อรังหรือปริมาณสูง เช่น รังสีไอออนไนซ์ (รังสีจากการตรวจโรค) เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนัง, มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: เช่น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • โรคความดันโลหิตสูง: เช่น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • การใช้ยาบางชนิดเรื้อรัง: เช่น ยาฮอร์โมนเพศหญิง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้าน
  • พันธุกรรม: เพราะพบโรคฯ สูงขึ้นในครอบครัวของคนที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง

มะเร็งคาร์ซิโนมามีกี่ชนิด? ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?

มะเร็งคาร์ซิโนมามีหลากหลาชนิดมาก แต่พบบ่อยที่สุด มี 2 ชนิด คือ ชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma) และชนิด อะดีโน (Adenocarcinoma) ส่วนชนิดอื่นๆ เช่น Adenosquamous carcinoma,  Mucoepidermoid carcinoma, Infiltrating ductal carcinoma, Invasive ductal carcinoma, มะเร็ง/เนื้องอกเจิมเซลล์ (Germ cell tumor), และชนิด Undifferentiated carcinoma เป็นต้น

มะเร็งคาร์ซิโนมามีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งทุกชนิด รวมทั้ง มะเร็งคาร์ซิโนมา แต่ทุกชนิดของโรคมะเร็งจะมีอาการเหมือนๆกัน คือ ‘มีก้อนเนื้อ/ก้อน และ/หรือมีแผลเรื้อรัง’ และอาการอื่นๆนอกจากนั้นขึ้นกับว่าเป็นมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะใด อาการก็จะคล้ายการอักเสบที่เกิดกับอวัยวะเหล่านั้น เช่น

  • ถ้าเกิดกับปอด (มะเร็งปอด): เช่น ไอเรื้อรัง เสมหะปนเลือด, ไอเป็นเลือด หรือหายใจหอบเหนื่อย  
  • ถ้าเกิดกับเต้านม (มะเร็งเต้านม): อาการพบบ่อย คือ มีก้อนในเต้านม, มีสารคัดหลั่งจากหัวนมปนเลือดเลือดซึ่งพบน้อย เช่น น้ำนมปนเลือด
  • ถ้าเกิดกับปากมดลูก (มะเร็งปากมดลูก): จะมีการตกขาว และ/หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • ถ้าเกิดกับกระเพาะอาหาร (มะเร็งกระเพาะอาหาร): อาการ เช่น แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาจอาเจียนเป็นเลือด

(แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่องโรคมะเร็งแต่ละชนิดจากเว็บ haamor.com เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งต่อมไทรอยด์, ฯลฯ)

มะเร็งคาร์ซิโนมามีกี่ระยะ?

โดยทั่วไปโรคมะเร็งคาร์ซิโนมา มี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1-4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีก เช่น เป็น เอ (A), บี (B), หรือ ซี (C),  ทั้งนี้ระยะย่อยเหล่านี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินผลการรักษาและเพื่อการศึกษา ส่วน ‘ระยะศูนย์(0)/มะเร็งระยะศูนย์นั้น แพทย์โรคมะเร็งหลายท่านยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน จึงอาจเรียกว่า เป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง(Pre invasive cancer หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า ซีไอเอส/CIS)

ทั้งนี้ระยะโรคมะเร็งคาร์ซิโนมาจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับเป็นมะเร็งของอวัยวะใด ซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความแต่ละชนิดของโรคมะเร็งนั้นๆจากเว็บ haamor.com  โดยในภาพรวมสรุป ดังนี้ คือ

  • ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก โรคยังไม่ลุกลามออกนอกอวัยวะที่เป็นมะเร็ง
  • ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ กรณีมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองจะขนาดเล็กทั่วไปไม่เกิน3ซม.และมีจำนวนเพียงต่อมเดียวหรือมักไม่เกิน 3 ต่อม    
  • ระยะที่ 3: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็งหลายต่อม หรือต่อมฯมีขนาดใหญ่ มักเกิน3ซม.แต่ไม่เกิน 6 ซม.
  • ระยะที่ 4:
    • ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงจนทะลุ
    • และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้อวัยวะนั้นๆโดยต่อมน้ำเหลืองจะมีขนาดโตมาก/โตเกิน6ซม. และ/หรือ มีหลากหลายต่อม
    • และ/หรือ แพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ที่อยู่ไกลอวัยวะเกิดมะเร็ง
    • และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก

มะเร็งคาร์ซิโนมารุนแรงไหม?

ความรุนแรงหรือโอกาสรักษาได้หาย/การพยากรณ์โรคของมะเร็งคารร์ซิโนมา มีได้ตั้งแต่มีอัตรารอดที่ห้าปี  80 - 90%, ไปจนถึง ‘ไม่มีโอกาสหาย’ ทั้งนี้ขึ้นกับหลากหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น  

  • เป็นมะเร็งของอวัยวะใด: เช่น มะเร็งตับและมะเร็งปอดมีความรุนแรงสูงสุด ในขณะที่มะเร็งผิวหนังชนิดทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็งไฝ และ มะเร็งอัณฑะมีความรุนแรงต่ำสุด   
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง: เช่น ชนิด Undifferentiated มีความรุนแรงสูงสุด, ชนิด สะความัส และ ชนิดอะดีโนมีความรุนแรงปานกลาง, และชนิดเจิมเซลล์มีความรุนแรงต่ำ
  • ระยะของโรคมะเร็ง: โดยมะเร็งระยะศูนย์การพยากรณ์โรคดีมากอัตรารอดที่ห้าปีสูงกว่า 90%, ระยะ 4 การพยากรณ์โรคแย่ที่สุด มักไม่มีอัตรารอดที่ห้าปี
  • สุขภาพผู้ป่วย: การพยากรณ์โรคดีกว่ามากในผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว  
  • อายุของผู้ป่วย: เด็กอ่อน และผู้สูงอายุ การพยากรณ์โรคมักแย่ที่สุด

(แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องความรุนแรงและอัตราอยู่รอดที่ห้าปีของโรคมะเร็งแต่ละชนิดได้ในแต่ละบทความ ในแต่ละชนิดของโรคมะเร็งจากเว็บ haamor.com)

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งคาร์ซิโนมาอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งคาร์ซิโนมาได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งอื่นๆทั่วๆไป คือจาก

  • ประวัติอาการมีก้อนเนื้อ และ/หรือแผลเรื้อรัง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพอวัยวะที่เกิดโรคด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์  เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • และที่ให้ผลแน่นอน คือ
    • ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/รอยโรค เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา                        
    • และ/หรือ ดูด/เจาะรอยโรคเพื่อนำเซลล์มาตรวจด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา

ทั้งนี้ เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมาแล้ว จะมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อการสืบค้นจัดระยะของโรคมะเร็ง และประเมินสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย เช่น  

  • ตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
  • การตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจเลือดดู
    • ค่าน้ำตาลในเลือด (ดูโรคเบาหวาน)
    • การทำงานของ ตับ ไต และเกลือแร่ต่างๆ  
    • ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน เพื่อดูโรคของปอด หัวใจ และดูว่ามีมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอดหรือไม่
    • ตรวจภาพตับดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับด้วย อัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
    • และอาจมีการตรวจภาพกระดูกด้วยการสะแกนกระดูกเมื่อสงสัยมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่กระดูก

รักษามะเร็งคาร์ซิโนมาอย่างไร?

วิธีรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งชนิดคาร์ซิโนมาจะเหมือนกัน คือ ผ่าตัด, รังสีรักษา, ยาเคมีบำบัด,  ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาพุ่งเป้า (ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง), และการรักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ มักด้วยวิธีการทางอายุรกรรมทั่วไป (เช่น ยาแก้ปวด ให้ออกซิเจน ให้เลือด ให้สารน้ำหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำ), และ/หรือ การฉายรังสีเฉพาะจุดที่มีอาการ   

ทั้งนี้ การรักษามะเร็งในระยะต่างๆอาจเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งวิธีเดียว หรือหลายวิธีร่วมกันโดยขึ้นกับ ระยะโรค, ชนิดเซลล์มะเร็ง, สุขภาพผู้ป่วย, และอายุ, เป็นหลัก

(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเรื่องการรักษาโรคมะเร็งต่างๆตามแต่ชนิดของโรคมะเร็งได้จากบทความเรื่องโรคมะเร็งชนิดต่างๆจากเว็บ haamor.com)

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ *เมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดตำแหน่งใด ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ

ส่วนเมื่อทราบแล้วว่า เป็นโรคมะเร็งคาร์ซิโนมา การดูแลตนเองทั่วไป เช่น

  • ปฏิบัติตามแพทย์ และพยาบาล ผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งแนะนำ
  • รักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิตให้แข็งแรงเสมอ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการรักษาโรคมะเร็งเป็นการรักษาที่ซับซ้อน มีผลข้างเคียง และมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาสูงกว่าการรักษาโรคอื่นๆ รวมทั้งผลการรักษาเองก็พยากรณ์ได้ยาก
  • หยุดกิน ไม่กิน ยาสมุนไพร อาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ และ/หรือใช้การแพทย์ทางเลือก การแพทย์สนับสนุนต่างๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อยาต่างๆ เช่น ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน และรังสีรักษาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งได้
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • เคลื่อนไหวร่างกาย และออกกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว จะช่วยลดผลข้างเคียงต่างๆจากการรักษาลงได้มาก
  • ปรึกษาแพทย์ พยาบาล ผู้ให้การรักษาเสมอเมื่อมี ความสงสัย ปัญหา ความกลัว ความกังวล
  • อย่าหยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล ผู้ให้การรักษาก่อนเสมอ
  • พบแพทย์ผู้รักษา/มาโรงพยาบาลตามนัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม  
    • อาการต่างๆแย่ลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหารไม่ได้/เบื่ออาหารมาก/คลื่นไส้/อาเจียนทุกครั้งที่กิน  ท้องผูกหรือท้องเสีย  นอนไม่หลับ
    • กังวลในอาการ

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคาร์ซิโนมาไหม?

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่ประสิทธิภาพ คือ สามารถตรวจพบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก ซึ่งอัตราตายจากโรคมะเร็งกุ่มนี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคาร์ซิโนมาที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนทั่วไปมีเพียง 3 โรคเท่านั้น คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก,  การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม, และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง)

ส่วนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอื่นๆ เช่น  มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งตับ ฯลฯ แพทย์จะพูดคุยแนะนำกับผู้ป่วยเป็นรายๆไปเนื่องจากจะมีข้อกำหนดเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งนั้นๆเป็นรายบุคคลไป

ป้องกันมะเร็งคาร์ซิโนมาอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งคาร์ซิโนมาที่แน่นอนชัดเจน ดังนั้นการป้องกันมะเร็งคาร์ซิโนมาให้ได้ผลเต็มร้อยจึงเป็นไปไม่ได้, ปัจจุบันการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสียง ดังได้กล่าวแล้วใน’ หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้, วิธีป้องกัน/ลดโอกาสเกิดมะเร็ง ที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ โดย
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
    • ร่วมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • จำกัดการดื่มสุรา:เช่น
    • ผู้ชายไม่เกินวันละ 2 ดริงค์ (Drink)
    • ผู้หญิงไม่เกินวันละ 1 ดริงค์

บรรณานุกรม

  1. Cheryl L.Rock, et al. CA Cancer J Clin 2020;70: 245-271
  2. Jemal, A. et al. (2011). Global cancer statistics. CA Cancer J Clin. 61, 69-90.
  3. Rojanamatin J., et al. Cancer in Thailand vol x, 2016-2018, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Carcinoma [2022, Oct1]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Carcinoma_in_situ [2022,Oct1]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Epidemiology_of_cancer [2022,Oct1]
  7. https://acsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.3322/caac.21660 [2022,Oct1]
  8. https://acsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.3322/caac.21591 [2022,Oct1]
  9. https://training.seer.cancer.gov/disease/categories/classification.html [2022,Oct1]