ผื่นนูนพีพีพี (PPP: Pearly penile papule)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคผื่นนูนที่ปลายองคชาต (อวัยวะเพศชาย) ที่เรียกย่อว่า โรคผื่นนูน พีพีพี (PPP: Pearly penile papules หรือ อีกชื่อ คือ Penis angiofibroma) จัดเป็นภาวะปกติที่แตกต่างทางลักษณะภายนอกของหัวองคชาตที่พบได้บ่อย คือ พบได้ประมาณ 15-48% ของผู้ชายทั้ง หมดทั่วโลก พบได้บ่อยขึ้นในชายผิวดำ หรือชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ โดยเริ่มพบในช่วงวัยรุ่น ซึ่งผื่นนูน/ตุ่ม (Papule) นี้จะลดจำนวน และขนาด และสีของผื่นก็จะจางลงเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น

ผื่นนูนพีพีพีมีสาเหตุและกลไกการเกิดอย่างไร?

ผื่นนูนพีพีพี

ผื่นนูนพีพีพี เป็นความแตกต่างตามปกติโดยธรรมะชาติ ไม่ได้เกิดจากโรคใดๆ ไม่มีการติดเชื้อ และไม่ติดต่อ สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดขององคชาตขยายตัว และมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมาล้อมรอบ โดยไม่ทราบสาเหตุว่าทำไม่ถึงเกิดกลไกนี้

อาการของผื่นนูนพีพีพีเป็นอย่างไร?

ลักษณะของผืนนูนพีพีพี เป็นตุ่มนูนผิวเรียบสีเนื้อ หรือสีชมพูอ่อน ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายกันๆทุกตุ่ม เรียงตัวเป็นแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ อยู่ที่บริเวณร่องรอบฐานหัวองคชาต ตุ่ม/ผื่นนูนเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ ไม่เจ็บหรือคัน

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

เนื่องจากต้องทำการวินิจฉัยแยกผื่นนูนพีพีพี จากโรคอื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น โรคหูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก Lichen nitidus (โรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด) ดังนั้นหากมีข้อสงสัยว่าเป็นผื่นนูนพีพีพีหรือไม่ จึงควรมาพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน เพื่อแยกจากโรคต่างๆเหล่านี้

แพทย์วินิจฉัยผื่นนูนพีพีพีได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยผื่นนูนพีพีพี ได้จากการ สอบถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจลักษณะของผื่นนูนนี้ และหากสงสัย ที่ต้องแยกจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจต้องมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเชื้อจากสารคัดหลั่งหรือจากแผล กรณีพบมีสารคัดหลั่งหรือมีแผลร่วมด้วย เป็นต้น

รักษาผื่นนูนพีพีพีได้อย่างไร?

เนื่องจากผื่นนูนพีพีพี ไม่ได้เป็นโรค จึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษา ไม่จำเป็นต้องใช้ยากิน หรือยาทา แต่หากต้องการกำจัดผื่นนูนนี้ออก สามารถกำจัดออกได้หลายวิธี เช่น จี้ออกด้วยไฟฟ้า จี้ออกด้วยความเย็น จี้ด้วยเลเซอร์ การตัดผื่นนูนนี้ออกด้วยใบมีด แต่การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ ก็มีโอกาสทำให้เกิดแผลเป็นที่องคชาต ที่ทำให้องคชาตผิดรูปได้

ผื่นนูนพีพีพีมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผื่นนูนพีพีพี เป็นผื่นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน ไม่ก่ออา การ ไม่ก่ออันตราย ไม่กลายเป็นมะเร็ง และไม่มีผลต่อความสัมพันธ์/ความรู้สึกทางเพศ เพียง แต่สำหรับบางคน อาจรู้สึกว่าเสียภาพลักษณ์

ผื่นนูนพีพีพีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของผื่นนูนพีพีพีนี้ จัดว่าดีมาก ถึงแม้ว่าจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต แต่เพราะดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ผลข้างเคียงว่า ผื่นนูนนี้เป็นการเกิดตามธรรมชาติ ไม่ก่อผลข้างเคียงใดๆ อย่างไรก็ตาม จำนวน ขนาดของผื่นนูนเหล่านี้ จะค่อยๆลดลง รวมทั้งสี ก็จะค่อยๆจางลงได้ เมื่ออายุมากขึ้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีผื่นนูนพีพีพี คือ ความเข้าใจธรรมชาติของโรคของผื่นนี้ แต่ถ้ากังวลว่าใช่ผื่นนี้หรือไม่ หรือกังวลในภาพลักษณ์ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค และเพื่อการรักษา แต่ก็ต้องยอมรับผลจากการรักษา เช่น เอาผื่นออกไม่หมด, การเป็นแผลเป็นที่องค ชาตที่อาจทำให้รูปร่างขององคชาตเปลี่ยนไป, ผื่นนูนอาจเกิดเป็นซ้ำ, แผลจากการรักษาอักเสบติดเชื้อ และ/หรือเลือดออกมาก

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า เป็นผื่นนูนพีพีพี แต่ถ้าผื่นนูนนี้โตขึ้น หรือก่ออาการ หรือยังกังวลในผื่นนูน ก็ควรพบแพทย์อีกครั้ง เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด และปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจว่า วิธีรักษาควรเป็นอย่างไร

ป้องกันการเกิดผื่นนูนพีพีพีได้อย่างไร?

เนื่องจากผื่นนูนพีพีพี เกิดตามธรรมชาติ โดยยังไม่รู้กลไกการเกิดที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดผื่นนูนนี้ และถึงแม้มีรายงานว่า พบผื่นนูนเกิดได้น้อยในคนที่ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ แต่แพทย์ทุกท่านก็ยังไม่แนะนำการขลิบหนังหุ้มฯ เพื่อป้องกันการเกิดผื่นนูนนี้

บรรณานุกรม

  1. Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest , Amy S.Paller , David J, Leffell , Klaus Wolff ,Amy S. Paller , David J Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eight edition , Mc Grawhill medical
  2. ปรียา กุลละวณิชย์ , ประวิตร พิศาลยบุตร บรรณาธิการ , ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์โฮลิสติกพับลิชชิ่ง 2555