หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคติดเชื้อไวรัส Molluscum contagiosum หรือ โรคหูดข้าวสุก เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยทั่วโลก อัตราการเกิดโรคพบมากขึ้นในประเทศเขตร้อน ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบประ มาณ 1% ของประชากรทั้งหมด พบได้ในเด็กอายุหนึ่งปีขึ้นไป เนื่องจากในเด็กเล็กอายุน้อยกว่าหนึ่งปีนั้นจะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากมารดาอยู่ จึงมักไม่ติดเชื้อนี้

 

โรคนี้เป็นโรคที่มีระยะแสดงอาการหลังการติดเชื้อได้ค่อนข้างนาน อาจนานถึงหกเดือนแล้วหายเองได้ เป็นโรคพบมากในเด็กที่ช่วงอายุ 1-10 ปี ส่วนในผู้ใหญ่หูดข้าวสุกที่บริเวณอวัยวะเพศถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง อัตราการเป็นโรคเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยพบอยู่ที่ 5-18% ของประชากรที่ป่วยด้วยโรคเอดส์

 

หูดข้าวสุกเกิดได้อย่างไร?

หูดข้าวสุก

สาเหตุของโรคหูดข้าวสุกเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อเดียวกันกับชื่อโรค คือ Molluscum contagiosum virus ย่อว่า ไวรัส MCV/เอ็มซีวี โดยหลังได้รับเชื้อจากการสัมผัส ไวรัสนี้จะเข้าไปแบ่งตัวในเซลล์ผิวหนังชั้นนอก เมื่อแบ่งตัวมากขึ้นๆ ก็จะรวมกันเป็นก้อนในไซโตพลาสซึม (Cytoplasm,ของเหลวที่อยู่ภายในเซลล์) ของเซลล์ เรียกก้อนนี้ว่า Molluscum bodies ซึ่งจะมองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ และเมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนนี้จากการตรวจชิ้นเนื้อผิวหนังที่เกิดโรค ก็จะเป็นตัวช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ของแพทย์

 

ไวรัส MCV นั้นสามารถแยกย่อยออกได้เป็น 4 ชนิดย่อย/Subtype คือ MCV subtype 1 ถึง MCV subtype 4 แต่ทั้ง 4 ชนิดนั้นมีลักษณะอาการและการรักษาเช่นเดียวกัน โดยมีชนิดที่ 1 (Subtype 1) เป็นสาเหตุในการเกิดโรคมากที่สุดถึง 98% ของโรคทั้งหมด

 

หูดข้าวสุกติดต่อได้อย่างไร?

โรคหูดข้าวสุก สามารถติดต่อได้โดย

  • การสัมผัสผิวหนังที่รอยโรค
  • ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (โรคหูดข้าวสุกที่อวัยวะเพศ จัดเป็นโรคติดต่อทาง เพศสัมพันธ์)
  • การติดโรคจากการเกา ทำให้เชื้อโรคติดในเล็บและผิวหนังที่สัมผัสโรค และกระจายสัม ผัสผิวหนังจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งในคนๆเดียวกัน เรียกการติดโรคด้วยวิธีนี้ว่า “Autoinoculation” เช่น รอยโรคแรกเป็นที่มือ แต่เมื่อเอานิ้วมือที่สัมผัสโรคไปขยี้ตา ก็ทำให้เปลือกตาติดหูดข้าวสุกไปด้วย
  • ติดเชื้อไวรัสจากสิ่งของที่ใช้ร่วมกันกับผู้ที่มีรอยโรคหูดข้าวสุก เช่น ผ้าขนหนู และ/หรือ อุปกรณ์ในสถานออกกำลังกาย เป็นต้น

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหูดข้าวสุก?

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหูดข้าวสุกนั้น แท้จริงแล้วสามารถเป็นได้ทุกคน ทุกเพศทุกวัย เพราะปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การสัมผัสกับรอยโรค หรือสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส MCV อยู่

 

ดังนั้น การลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อโรคหูดข้าวสุกทำได้โดย

  • การหลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรค
  • ล้างมือเป็นประจำ
  • ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกัน
  • และไม่ใช้สิ่งของส่วน ตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า รองเท้า

 

หูดข้าวสุกมีอาการอย่างไร?

ลักษณะอาการของโรคหูดข้าวสุก คือ

  • เป็นตุ่มสีเนื้อที่ผิวหนัง ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตรงกลางอาจมีจุดบุ๋มลงไปคล้ายสะดือ มักพบบริเวณใบหน้า แขน/ขา ในเด็ก และบริเวณอวัยวะเพศในผู้ใหญ่
  • ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดงคันบริเวณหูดข้าวสุกร่วมด้วย ซึ่งอาการผื่นแดงคันนี้ จะหายไปเมื่อทำการรักษาหูดข้าวสุก
  • ในผู้ป่วยโรคเอดส์ ปริมาณของหูดฯจะเกิดมากกว่าในคนที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ และมักดื้อต่อการรักษา
  • โดยปกติ (คนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ) หูดข้าวสุกนั้น สามารถหายได้เองแม้ไม่ได้ทำการรักษาที่ระยะเวลาประมาณ 2-9 เดือน มีส่วนน้อยมากที่อาศัยเวลา 2-3 ปีจึงหาย

 

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

โดยปกติรอยโรคแต่ละตุ่มของหูดข้าวสุก จะหายได้เองภายในประมาณ 2-9 เดือน (โดยเฉลี่ย ประมาณ 2-3 เดือน) การรักษานั้น เพียงทำให้รอยโรคหายเร็วขึ้น และลดการกระจายของเชื้อ จึงแนะนำให้พบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเมื่อพบรอยโรคผิดปกติกับผิวหนังไม่ว่าในตำแหน่งใดก็ตาม เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมในแต่ละบุคคล

 

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นหูดข้าวสุกได้อย่างไร?

โดยปกติการตรวจรอยโรคที่ผิวหนังด้วยตาเปล่า พบลักษณะเฉพาะคือ เป็นตุ่มมีรอยบุ๋มคล้ายสะดือตรงกลางรอยโรค ก็สามารถบอกได้ว่ารอยโรคนั้นคือ หูดข้าวสุก

 

แต่หากลักษณะรอยโรคไม่ชัดเจน ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเพียงแต่ใช้เข็มเจาะ/ดูด แล้วนำสารภายในรอยโรคมาย้อมสีด้วยเทคนิคทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาก้อน Molluscum bodies (กลุ่มของไวรัสที่สะสมอยู่ในไซโตพลาสซึมของเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส) ซึ่งจะเห็นเป็นสารสีส้มในสไล์ด (Slide/แผ่นแก้วที่ใช้ย้อมสี)

 

แพทย์รักษาหูดข้าวสุกอย่างไร?

แนวทางการรักษาหูดข้าวสุกโดยแพทย์ คือ

1. รอให้รอยโรคหายเอง เนื่องจากแต่ละรอยโรคใช้เวลาหายเองมักไม่เกิน 2-3 เดือน ซึ่งอาจพิจารณาใช้วิธีนี้ในเด็กที่เป็นไม่มาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากการรักษาด้วยวิธีอื่น

2. ส่วนวิธีอื่นที่เป็นการรักษาเพื่อให้โรคหายเร็วขึ้น คือ

  • การใช้ยา สำหรับยาที่ใช้ในการรักษานั้น ยังไม่มียาตัวใดได้รับการระบุ/แนะนำจากองค์ การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ใช้ในการรักษาหูดข้าวสุกโดยเฉพาะ แต่ได้มีการศึกษาทดลองนำ “ยาทา” มาใช้ในการรักษาหูดข้าวสุกในเด็ก และผู้ป่วยโรคเอดส์มากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดและวิธีการใช้ยาจึงแตกต่างกันไปตามแต่ละสูตรการรักษา

 

ตัวอย่างยาทาที่มี “การทดลอง” ใช้ในการรักษาหูดข้าวสุกมี 2 ตัวยา คือ

  • ยาที่มีส่วนผสมของ Salicylic acid เพื่อทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ
  • และ ยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้ทำลายเชื้อ ชื่อยา คือ Imiquimod

 

***** ที่สำคัญ การใช้ยาทาทั้ง 2 ชนิดนั้น ถึงแม้ว่าจะสามารถซื้อทาเองได้ที่บ้าน “แต่แนะนำให้พบแพทย์ก่อนเสมอ” เพื่อให้การใช้ยาอยู่ภายใต้การรักษาดูแลของแพทย์ เพราะยังเป็นตัวยาที่อยู่ในการศึกษาทดลองใช้

 

  • ยาจี้ที่รอยโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้จี้รักษา ชื่อว่า Podophyllin เป็นยาชนิดเดียวกับที่ใช้รัก ษาหูดหงอนไก่ ใช้เพื่อทำลายเซลล์ผิวหนังที่ติดเชื้อไวรัสนี้ เหมาะกับรักษารอยโรคบริเวณเนื้อ เยื่อเมือกของอวัยวะเพศ โดยแพทย์จะจี้ซ้ำทุกสัปดาห์จนรอยโรคหมดไปในระยะเวลารักษาประ มาณ 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ ห้ามจี้ยาเองเพราะอาจเกิดผลข้างเคียง คือเกิดแผลเนื้อตายกับเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้างเคียงรอยโรคได้
  • การกำจัดรอยโรคด้วยการขูด และการจี้เย็น ซึ่งจัดเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับหูดข้าวสุก ซึ่งแพทย์จะให้การรักษารอยโรคซ้ำทุก 2-3 สัปดาห์ จนรอยโรคหายทุกรอย
    • ทั้งนี้ การขูดรอยโรค/Molluscum bodies ออกด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Curette ซึ่งสามารถแปะยาชาเพื่อบรรเทาความเจ็บระหว่างขูดให้ลดลงได้
    • ส่วนการจี้เย็น (Cryotherapy ) นั้น แพทย์จะใช้คอตตอนบัด (Cotton bud/ไม้พันสำลี) จุ่มไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แต้มที่รอยโรค ระหว่างทำอาจมีอาการเจ็บได้ และมีโอกาสเกิดรอยดำและ/หรือแผลเป็นที่รอยโรคได้ แต่พบเกิดไม่บ่อยนัก

 

หูดข้าวสุกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีผื่นคันร่วมด้วยที่ตำแหน่งหูดข้าวสุก, หูดข้าวสุกที่เป็นบริเวณเปลือกตา อาจทำให้เกิดเยื่อตาอักเสบได้, และในคนที่เกาแกะรอยโรคอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

 

การพยากรณ์โรคของหูดข้าวสุกเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของหูดข้าวสุกนั้น เป็นโรคที่สามารถหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา และเป็นโรคที่มีการกลับเป็นซ้ำได้บ่อยหลังการรักษา/หรือหลังการหายจากโรคครั้งแรก คือ ประมาณหนึ่งในสาม (1/3) ของผู้ป่วยทั้งหมด

 

ทั้งนี้ หูดข้าวสุกในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในโรคเอดส์ จะดื้อต่อการรักษามากกว่าผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ แพทย์อาจต้องใช้การรักษาร่วมกัน 2 วิธี เช่น การรักษาด้วยการจี้เย็น ร่วมกับ ยาทา

 

เมื่อเป็นหูดข้าวสุกควรดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นหูดข้าวสุกควรดูแลตนเอง ได้แก่

1. การดูแลตนเองเมื่อเป็นหูดข้าวสุก เช่น พยายามไม่แกะเการอยโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และลดการพาเชื้อไปติดบริเวณอื่นของร่างกาย (Autoinoculation)

 

2. การดูแลตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหูดข้าวสุกสู่ผู้อื่น เช่น

  • ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมรอยโรค เพื่อป้องกันการเกาจากตนเอง และเพื่อป้องกันการสัมผัสรอยโรคสู่ผู้อื่น รอยโรคนอกร่มผ้าให้ใช้พลาสเตอร์กันน้ำแปะ
  • งดการใช้สระว่ายน้ำขณะมีรอยโรค หรือหากจำเป็นให้ปกคลุมรอยโรคไว้ด้วยพลาส เตอร์กันน้ำ
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ฟองน้ำ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า
  • ไม่จำเป็นต้องหยุดงาน หรือ หยุดโรงเรียน เพียงแต่ปกคลุมรอยโรคด้วยเสื้อผ้า และพลาสเตอร์ดังกล่าว
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สัมผัสรอยโรคด้วยการซักด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้าตาม ปกติ
  • เมื่อสัมผัสรอยโรค ให้ล้างมือด้วยสบู่ล้างมือ หรือถ้าไม่มีที่ล้างมือ ให้ใช้เป็นแอลกอ ฮอล์ชนิดเจลทำความสะอาดมือได้

 

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อเป็นหูดข้าวสุกควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • ให้สังเกตลักษณะอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่รอยโรค เช่น อาจมีหนอง หรือปวด บวม แดงร้อน ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่รอยโรค หรือที่แผลที่อาจเกิดตามหลังการรักษา
  • หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่รอยโรคหรือที่แผลจากการรักษาที่ผิดไปจากเดิม
  • หรือเมื่อกังวลในอาการ ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเช่นกัน

 

ป้องกันหูดข้าวสุกได้อย่างไร?

หลักการป้องกันการติดเชื้อหูดข้าวสุกคือ

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรคจากผู้ที่เป็นหูดข้าวสุกอยู่ เช่น
    • การเล่นกีฬาที่มีการสัมผัสกัน เช่น มวยปล้ำ
    • หรือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นหูดข้าวสุก
  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในสถานที่ที่ใช้ร่วม กัน เช่น สถานออกกำลังกาย
  • ไม่ใช้เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หรือเก็บ/วางปะปนกับของผู้อื่น

 

บรรณานุกรม

  1. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest
  2. Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; seven edition ; Mc Grawhill medical
  3. https://emedicine.medscape.com/article/910570-overview#showall [2019,May4]