กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 15 ธันวาคม 2562
- Tweet
- อวัยวะสืบพันธ์ชายประกอบด้วยอะไรบ้าง?
- อวัยวะเพศชายมีหน้าที่อะไรบ้าง?
- อะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ชาย?
- บรรณานุกรม
- มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Penile cancer)
- มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- อัณฑะค้างในท้อง (Undescended testis)
- ฮอร์โมนจากอัณฑะ (Testicular hormones)
- เทสทอสเทอโรน (Testosterone)
- ฮอร์โมนเพศชาย (Male sex hormone) หรือ แอนโดรเจน (Androgen)v
- การทำหมันชาย (Vasectomy)
อวัยวะสืบพันธุ์ชาย ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
อวัยวะสืบพันธุ์ชายประกอบด้วย
- องคชาต (Penis)
- อัณฑะ (Testis)
- ถุงเก็บตัวอสุจิใกล้อัณฑะ หรือ เรียกทับศัพท์ว่า เอพิดิไดมิส(Epididymis)
- ถุงอัณฑะ (Scrotum)
- หลอดนำอสุจิ (vas Deferens หรือ Spermatic cord)
- ถุงสร้างสารบำรุงตัวอสุจิ (Seminal vesicles)
- ต่อมลูกหมาก (Prostate gland)
- ต่อมคาวเปอร์ (Cowper gland)
องคชาต (Penis):
องคชาติ คืออวัยวะที่ประกอบด้วยหลอดเลือดจำนวนมาก กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) มี
องคชาต มีลักษณะเป็นรูปแท่งยาว ปกคลุมภายนอกด้วยผิวหนัง ขนาดความยาวขององคชาตชาวตะวันตกปกติในเวลาที่ไม่แข็งตัวประมาณ 3.5 ถึง 3.9 นิ้ว หรือ 9 ถึง 10 เซนติเมตร ขนาดในเวลาที่แข็งตัวเต็มที่ประมาณ 5.5 ถึง 6.3 นิ้ว หรือ 14 ถึง 16 เซนติเมตร
องคชาติของมนุษย์จะไม่มีกระดูกและไม่มีกระดูกอ่อนซึ่งแตกต่างจากสัตว์หลายชนิดที่จะมีกระดูกและกระดูกอ่อนด้วย
ส่วนปลายสุดขององคชาติจะบานออกเป็นรูปร่างคล้ายดอกเห็ด หรือหมวกเรียกว่า Glans penis ซึ่งบริเวณ Glans penis นี้จะมีหลอดเลือดและเส้นประสาทมากเป็นพิเศษ
ส่วนภายนอกขององคชาติจะมีผิวหนังคลุมตั้งแต่โคนจนถึงส่วนปลายจะเปิดเป็นรูสำหรับให้ Glans penis โผล่ออกมาได้ รวมทั้งให้เป็นทางออกของปัสสาวะที่มีรูเปิดอยู่ตรงส่วนปลายสุดของ Glans penis ที่เรียกว่า Meatus ด้วย
ส่วนของผิวหนังที่คลุมส่วนปลายขององคชาติหรือ Glans penis นี้เรียกว่า หนังหุ้มปลาย หรือ Foreskin หรือ Prepuce ซึ่งในชายที่เป็นผู้ใหญ่ปกติส่วนของหนังหุ้มปลายนี้จะต้องสามารถเลื่อนไปทางด้านหลังให้ส่วนของ Glans penis โผล่ออกมาได้
ส่วนล่างของหนังหุ้มปลาย จะมีเนื้อเยื่อพังผืด ลักษณะเป็นเส้นยึดกับ Glans penis ด้านล่าง เรียกว่า สายสองสลึง (Frenulum)
โครงสร้างภายในขององคชาติ ประกอบด้วยเนื้อเยื่อรูปแท่งยาว 3 แท่งเรียงอยู่ด้านบน โดย 2 แท่งเรียกว่า Corpus cavernosum ส่วนแท่งด้านล่าง 1 แท่งหุ้มอยู่รอบๆท่อปัสสาวะเรียกว่า Corpus spongiosum ภายในแท่งเนื้อทั้งสามนี้ เป็นหลอดเลือดจำนวนมากซึ่งจะทำให้องคชาติแข็งตัวเมื่อมีการคั่งของเลือดในหลอดเลือดเหล่านี้ และเมื่อเลือดหยุดคั่ง องคชาติก็จะกลับมาอ่อนตัวที่ขนาดปกติตามเดิม
อัณฑะ (Testis หรือ Testicle):
อัณฑะ เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สร้างตัวอสุจิ (Spermatozoa หรือ Sperm) และสร้างฮอร์โมนเพศชาย (Androgen หรือ Testosterone) โดยมีลักษณะเป็นอวัยวะรูปไข่ ขนาดยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร หนักประมาณ 25 กรัม
อัณฑะมี 2 ข้างซ้ายและขวา ห้อยอยู่นอกร่างกายในถุง ซึ่งเรียกว่าถุงอัณฑะ (Scrotum หรือ Scrotal sac) ถุงอัณฑะนี้จะมีผิวหนังย่นๆคลุมอยู่ด้านนอกสุด
อัณฑะและถุงอัณฑะ จะอยู่ที่ด้านหลังองคชาต และอยู่ด้านหน้าของทวารหนัก
อัณฑะจะมีเปลือกหุ้มเป็นพังผืดสีขาวเรียกว่า Tunica albuginea ภายในจะมีพังผืดบางๆ แยกเป็นส่วนย่อยๆประมาณ 200 ถึง 400 ส่วนย่อย ภายในแต่ละส่วนย่อยเหล่านี้จะมีท่อยาวขนาดเล็ก เป็นที่อยู่ของเซลล์ที่จะกลายเป็นตัวอสุจิ (Germ cells) เรียกว่าท่อ Seminiferous tubules
ภายในท่อ Seminiferous tubules นอกจากจะมี Germ cells แล้วยังมีเซลล์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า Sertoli cell ทำหน้าที่สร้างสารฮอร์โมนชื่อ Inhibin (ฮอร์โมนช่วยทำหน้าที่กำกับการสร้างอสุจิ) และทำหน้าที่คล้ายเซลล์พี่เลี้ยงในการร่วมสร้างตัวอสุจิ
ท่อ Seminiferous tubules จะต่อกับท่อขนาดเล็กอีก 2 ชนิด ได้แก่ Rete testis และ Ductuli efferentes ต่อจากท่อทั้งสองชนิดนี้ ก็จะเป็นถุงที่เรียกว่า Epididymis ต่อไป
เซลล์อีกชนิดในอัณฑะเรียกว่า Leydig cell มีความสำคัญคือ เป็นเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย (Androgen หรือ Testosterone) Leydig cell นี้จะแทรกอยู่ในเนื้อเยื่ออัณฑะที่อยู่นอกท่อ Seminiferous tubules แต่ละอัน
ถุงเก็บตัวอสุจิใกล้อัณฑะ(Epididymis):
ถุงเก็บตัวอสุจิใกล้อัณฑะ หรือเรียกทับศัพท์ว่า เอพิดิไดมิส (Epididymis) เป็นเนื้อเยื่อลักษณะเป็นท่อยาว ขดไปมาต่อมาจาก Ductuli efferentes โดยทำหน้าที่เป็นทางผ่านของตัวอสุจิ ก่อนที่จะไปเข้าสู่ หลอดนำอสุจิ (Spermatic cord) และยังทำหน้าที่เป็นที่เก็บตัวอสุจิที่สร้างเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะปล่อยออกไปทำหน้าที่ผสมพันธุ์
ผนังด้านในของถุง Epididymis จะมีเซลล์รูปแท่งยาวและมีขน (Cilia) อยู่บนผิวของเซลล์ เพื่อทำหน้าที่พัดโบกตัวอสุจิให้เคลื่อนที่ออกไปได้เร็วขึ้นด้วย
ถุงอัณฑะ (Scrotum หรือ scrotal sac):
ถุงอัณฑะ เป็นเนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยผิวหนังอยู่ทางด้านนอกและกล้ามเนื้ออยู่ทางด้านใน โดยหุ้มอยู่รอบๆอัณฑะ
ถุงอัณฑะทำหน้าที่ปกป้องอัณฑะและช่วยรักษาอุณหภูมิของอัณฑะให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายในร่างกายเพื่อการสร้างอสุจิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลอดนำอสุจิ (vas Deferens หรือ Spermatic cord):
หลอดนำอสุจิ เป็นท่อ/หลอดนำตัวอสุจิต่อมาจากถุง Epididymis ลักษณะเป็นท่อที่มีกล้ามเนื้อเรียบหนา 3 ชั้นหุ้มอยู่โดยรอบรูตรงกลาง หลอดนำอสุจิยาวทั้งหมดประมาณ 30 เซนติเมตร กล้ามเนื้อของหลอดนำอสุจิเหล่านี้ จะบีบตัวเพื่อให้ตัวอสุจิเคลื่อนที่ออกไปอย่างรวดเร็ว
ถุงสร้างสารบำรุงตัวอสุจิ (Seminal vesicles):
ถุงสร้างสารบำรุงตัวอสุจิ มี 2 ข้างซ้ายและขวา อยู่บริเวณด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง อยู่ติดกับต่อมลูกหมาก ลักษณะเป็นต่อมที่มีลักษณะเป็นถุงยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ปากของถุง Seminal vesicles จะเปิดเข้ารวมกับหลอดนำอสุจิ แล้วกลายเป็นท่อขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่า ท่อ Ejaculatory duct เข้าสู่ต่อมลูกหมากต่อไป
ต่อมลูกหมาก (Prostate gland):
ต่อมลูกหมาก เป็นต่อมที่มีน้ำหนักในผู้ใหญ่ปกติประมาณ 20 กรัม มีขนาดในผู้ใหญ่ปกติประมาณ 4x3x2 เซนติเมตร ตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่ที่บริเวณต่อกับกระเพาะปัสสาวะ โดยหุ้มอยู่รอบๆท่อปัสสาวะส่วนที่เพิ่งออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ
ต่อมลูกหมากมีส่วนประกอบเป็นต่อมขนาดเล็กจำนวนมาก กล้ามเนื้อเรียบ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งทำให้ต่อมลูกหมากมีความแข็งเหมือนยางลบ ผิวนอกของต่อมลูกหมากจะเรียบ
ท่อที่อยู่ภายในต่อมลูกหมาก ได้แก่ ท่อปัสสาวะ ท่อ/หลอดนำ อสุจิหลังจากที่รวมกับท่อจากถุง Seminal vesicles แล้ว ที่เรียกว่า ท่อ Ejaculatory duct และจะมีของเหลวจากต่อมลูกหมากมารวมด้วยอีกส่วนหนึ่ง
ต่อมลูกหมาก แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน (Zone) ได้แก่ ส่วนกลาง(Central zone) ซึ่งอยู่ใกล้กระเพาะปัสสาวะ ต่อมาเป็นส่วนที่เรียกว่า ส่วนแปรเปลี่ยน (Transitional zone ) อยู่รอบท่อปัสสาวะ และส่วนรอบนอก (Peripheral zone) ซึ่งอยู่เป็นเปลือกนอกสุด โดยเป็นบริเวณที่มักจะเกิดมะเร็งมากที่สุด
ต่อมคาวเปอร์ (Cowper gland):
ต่อมคาวเปอร์เป็นต่อมขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วลิสง อยู่บริเวณโคนขององคชาต และมีท่อมาเปิดที่บริเวณท่อปัสสาวะ
อวัยวะเพศชายมีหน้าที่อะไรบ้าง?
หน้าที่ของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆในระบบอวัยวะเพศชาย คือ
- องคชาต: มีหน้าที่ในการผสมพันธุ์โดยจะมีการแข็งตัวเมื่อมีอารมณ์เพศและอยู่ในขณะที่มีเพศสัมพันธุ์ การแข็งตัวเกิดจากการที่มีเลือดเข้าไปคั่งอยู่ในหลอดเลือดของ Corpus cavernosum โดยเลือดจะเข้ามาทางหลอดเลือดแดง ส่วนหลอดเลือดดำจะไม่ขยายตัว จึงส่งผลให้มีเลือดคั่งอยู่ภายในองคชาต จนกว่าจะมีการหลั่งน้ำอสุจิ จึงจะมีการขยายตัวของหลอดเลือดดำ ซึ่งจะปล่อยให้เลือดออกไปได้ หลังจากนั้นองคชาติก็จะอ่อนตัวลง ในการร่วมเพศฝ่ายชายจะสอดใส่องคชาตเข้าไปในช่องคลอด (Vagina) ของฝ่ายหญิง
- อัณฑะ: มีหน้าที่หลายประการได้แก่ สร้างตัวอสุจิ (Spermatozoa), สร้างฮอร์โมนเพศชายซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะของเพศชาย
- การสร้างตัวอสุจิ จะมีประสิทธิภาพที่อุณหภูมิประมาณ 35-36 องศาเซลเซียส (Celsius) ซึ่งต่ำกว่าอุณหภูมิภายในร่างกายปกติประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิปกติภายในร่างกาย คือ 37 องศาเซลเซียส) ดังนั้น อัณฑะจึงต้องห้อยอยู่นอกร่างกายภายในถุงอัณฑะ เพื่อให้อุณหภูมิต่ำกว่าร่างกายปกติ
- เมื่ออากาศเย็นลง อัณฑะจะมีอุณหภูมิลดลงมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ถุงอัณฑะ ทำให้อัณฑะเข้าไปใกล้ร่างกายมากขึ้น เพื่อที่อุณหภูมิจะอยู่ในระดับพอเหมาะ
- ในภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เช่น ในขณะที่มีไข้ จะเกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อที่ถุงอัณฑะโดยอัตโนมัติ เพื่อให้อัณฑะออกห่างจากร่างกาย อุณหภูมิของอัณฑะก็จะไม่สูงเกินไป
- ฮอร์โมนเพศชายที่สร้างมาจากเซลล์ในอัณฑะที่ชื่อ Leydig cell จะมีปริมาณลดลงตามอายุที่มากขึ้น
- ถุงอัณฑะ: มีหน้าที่ปกป้องอัณฑะและช่วยรักษาอุณหภูมิของอัณฑะให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายในร่างกาย เพื่อการสร้างอสุจิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ถุงเก็บตัวอสุจิใกล้อัณฑะ: มีหน้าที่เก็บตัวอสุจิก่อนที่จะปล่อยออกไปในหลอดนำอสุจิ (vas Deferens) เมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิจะมีตัวอสุจิจำนวนมากออกจากถุง Epididymis ไปตามหลอดนำอสุจิ (vas Deferens) รวมกับน้ำที่ผลิตออกมาจากถุง Seminal vesicles เพื่อเข้าไปสู่ท่อ Ejaculatory duct ต่อไป
- ถุงสร้างสารบำรุงตัวอสุจิ: มีหน้าที่ในการสร้างของเหลวที่จะเป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ประมาณ 60-70 %ของปริมาตรน้ำเชื้อ/น้ำอสุจิ ทั้งหมด โดยถุงฯจะบีบตัวเพื่อการหลั่งน้ำอสุจิ
- ของเหลวที่ผลิตโดยถุงสร้างบำรุงตัวอสุจินี้ จะมีสารที่มีประโยชน์ต่อประสิทธิภาพของตัวอสุจิหลายชนิด เช่น น้ำตาลฟรุคโตส (Fructose) เอนไซม์หลายชนิด และสาร Prostaglandins (สารที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำงานของสารในระบบต่างๆของร่างกาย) เป็นต้น
- นอกจากนั้นของเหลวฯนี้ ยังมีฤทธิ์เป็นด่างซึ่งจะป้องกันอันตรายต่อตัวอสุจิจากของเหลวในช่องคลอดซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอีกด้วย
- ต่อมลูกหมาก: มีหน้าที่
- สร้างของเหลวซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำเชื้อ/น้ำอสุจิอีกประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ(น้ำอสุจิ, 60-70%สร้างจากถุงสร้างสารบำรุงตัวอสุจิ) มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็น ธาตุสังกะสี (Zinc)
- นอกจากนั้นยังสร้างสารโปรตีนที่มีชื่อว่า PSA (Prostate specific antigen) ส่งเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งโปรตีนนี้จะมีปริมาณสูงขึ้นมากในกรณีที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น สารนี้จึงใช้เป็นตัวช่วยการตรวจคัดกรอง และช่วยการวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ต่อมคาวเปอร์: ทำหน้าที่สร้างของเหลวลักษณะคล้ายมูกใสๆ ทำหน้าที่หล่อลื่นท่อปัสสาวะก่อนที่จะเกิดการหลั่งน้ำอสุจิ โดยมากจะออกมาปริ่มๆรูเปิดของท่อปัสสาวะเมื่อมีอารมณ์เพศ ลักษณะเป็นน้ำใสๆจำนวนไม่มาก
*อนึ่ง น้ำเชื้อ/น้ำอสุจิ (Semen) นอกจากประกอบด้วยของเหลว/น้ำที่สร้างจากถุงสร้างสารบำรุงตัวอสุจิ และต่อมลูกหมากแล้ว ประมาณ 2-5% คือตัวอสุจิเองที่สร้างจากอัณฑะ และประมาณ น้อยกว่า 1% เป็นสารต่างๆ เช่น เมือก/มูกต่างๆที่สร้างจากต่อมคาวเปอร์
อะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ชาย?
ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะ ได้แก่ ฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) และฮอร์โมน FSH (Follicle stimulating hormone) ซึ่งผลิตจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior pituitary) ซึ่งต่อมนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนสร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus, สมองส่วนอยู่ลึกในสมองใหญ่ ในส่วนที่เรียกว่า Diencephalon) ที่ชื่อ GnRH (Gonadotropin releasing hormone) อีกต่อหนึ่ง
อนึ่ง:
- การเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ในเลือดจะย้อนกลับไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน LH, FSH,และ GnRH ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับของ Testosterone ไม่ให้สูงเกินไป
- แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง รายละเอียดของฮอร์โมนต่างๆดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับอัณฑะได้ในบทความต่างๆในเว็บ haamor.com ได้แก่เรื่อง
- ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง
- ฮอร์โมนจากอัณฑะ
- ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
บรรณานุกรม
- หลายบทความที่เกี่ยงข้องจาก Wikipedia, the free encyclopedia [2019,Nov23]
- หลายบทความที่เกี่ยวข้องจาก Encyclopedia Britanica online [2019,Nov23]
- Robbin pathologic basis of disease: Textbook