บิวสไปโรน (Buspirone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- บิวสไปโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- บิวสไปโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บิวสไปโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บิวสไปโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- บิวสไปโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บิวสไปโรนอย่างไร?
- บิวสไปโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบิวสไปโรนอย่างไร?
- บิวสไปโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- บาร์บิทูเรต (Barbiturate)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
บทนำ: คือยาอะไร?
บิวสไปโรน (Buspirone) คือ ยารักษาอาการวิตกกังวล จัดอยู่ในสารเคมีประเภท Azapirone chemical class (กลุ่มยาจิตเวชกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างจากยากลุ่ม Benzodiazepines หรือ Barbiturates และไม่ทำให้เสพติดหรือมีอาการถอนยา(ลงแดง)หลังหยุดใช้ยาอย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์
เราเริ่มรู้จักยาบิวสไปโรนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) และนำมาใช้รักษาอาการวิตกกังวลในช่วงระยะสั้นๆ โดยเริ่มใช้ในแถบอเมริกาและอังกฤษก่อน ทางคลินิกยังนำยาบิวสไปโรนมารักษาอาการโรคสมาธิสั้นและภาวะอาการของ Cerebellar ataxia (อาการเซเหตุจากโรคทางสมอง) อีก ด้วย
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาบิวสไปโรนจะเป็นชนิดเม็ดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจาก ระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดเพียงประมาณ 4% จากนั้นจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 86 - 95% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อตัวยานี้ผ่านไปถึงสมองจะแสดงฤทธิ์ของการรักษาออกมา ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยานี้ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ยังมีเกณฑ์บางประการที่แพทย์ใช้พิจารณาประกอบก่อนการสั่งจ่ายบิวสไปโรน เช่น
- หากผู้ป่วยใช้ยารักษาความวิตกกังวลกลุ่มอื่นๆอยู่ แพทย์จะสั่งให้หยุดการใช้และให้มาใช้ยาบิวสไปโรนแทน หรือพิจารณาเป็นรายบุคคลว่าสมควรใช้ยาอื่นใดร่วมในการรักษาด้วย
- ผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่มMAOI ภายใน 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่ด้วยการใช้ร่วมกับยาบิวสไปโรนในช่วงเวลาดังกล่าวจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาทั้งสองติดตามมาได้อย่าง มาก
- ผู้ป่วยมีโรคตับ โรคไตหรือไม่ด้วยอวัยวะทั้ง 2 นี้เป็นอวัยวะที่คอยทำลายและขับยานี้ออกจากร่างกาย
- เคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่ ด้วยข้อมูลทางคลินิกที่ใช้สนับสนุนความปลอดภัยต่อเด็กทารกยังมีไม่มากพอ
ทั้งนี้หลังจากมีการสั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วย โดยปกติแพทย์จะกำชับผู้ป่วยให้ปฏิบัติตัวดังนี้ เช่น
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองหรือหยุดการใช้ยานี้โดยทันทีเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับอาการที่เรียกว่า การถอนยา และยานี้จะแสดงประสิทธิผลได้นั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ขึ้นไป
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงของยานี้อย่างมากมาย
- กรณีรับประทานยานี้แล้วมีอาการคล้ายแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคัน ลมพิษขึ้นเต็มตัว มือ-เท้าบวม ต้องรีบหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
บิวสไปโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาบิวสไปโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดรักษาอาการโรควิตกกังวลโดยไม่ก่ออาการถอนยา(ลงแดง)หรือติดยาเมื่อเลิกใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
บิวสไปโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบิวสไปโรนคือ ตัวยาจะมีกลไกออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ในสมองเช่น 5-HT1A (5-hydroxytryptamine1A หรือ Serotonin 1A) receptor และ 5-HT2 receptor รวมถึง D2 (Dopamine2) receptor ส่งผลต่อสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองของมนุษย์ทำให้อารมณ์ความรู้สึกกลับมาเหมือนปกติ และเป็นที่มาของสรรพคุณ
บิวสไปโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบิวสไปโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 5, 10, 15 และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด
บิวสไปโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาบิวสไปโรนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายมากกว่า 18 ปีขึ้นไป: รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 7.5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หรือรับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 20 - 60 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้อายุ 6 – 18 ปี: ขนาดรับประทานเริ่มต้น 2.5 - 10 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 15 - 60 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานตามคำสั่งแพทย์
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ที่แน่ชัด การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุล พินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง: สามารถรับประทานยาบิวสไปโรนก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาบิวสไปโรน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขี้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบิวสไปโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาบิวสไปโรนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาบิวสไปโรนให้ตรงเวลา
บิวสไปโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบิวสไปโรนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ตาพร่า
- เหงื่อออกมาก
- ขาดสมาธิ
- ท้องเสีย
- ง่วงนอน
- ปากคอแห้ง
- ปวดกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อเกร็งตัว
- นอนไม่หลับ
- ฝันร้าย
- อ่อนเพลีย
ทั้งนี้ อาการข้างเคียงเหล่านี้อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้โดยขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย
*อนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร รูม่านตาแคบลง ซึ่งเมื่อใช้ยานี้แล้วมีอาการดังกล่าวควรหยุดยานี้ และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้บิวสไปโรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบิวสไปโรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งของแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หากมีอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันเช่น ปัสสาวะไม่ออก ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ยาบิวสไปโรนอาจทำให้ฮอร์โมน โปรแลกติน (Prolactin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่ควบคุมการสร้างน้ำนม) สูงขึ้นเกิดมีอาการน้ำนมไหล และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol, ฮอร์โมนต่อมหมวกไตที่ควบคุมการทำงานต่างๆของเซลล์ต่างๆในร่างกาย) เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้มีอาการผิดปกติได้หลาก หลายอาการเช่น ความดันโลหิตสูง อ้วน
- ยาบิวสไปโรนยังส่งผลต่อความดันโลหิตอาจทำให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำก็ได้โดยเฉพาะในเพศชาย ดังนั้นระหว่างการใช้ยานี้จึงต้องควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ
- ควรรับประทานยานี้พร้อมน้ำเปล่า ห้ามรับประทานยาพร้อมกับสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำผลไม้บางชนิดเช่น Grapefruit ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยานี้สูงขึ้น
- กรณีมีอาการแพ้ยาให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบิวสไปโรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บิวสไปโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบิวสไปโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาบิวสไปโรน ร่วมกับยา Propoxyphene จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น วิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ และพบได้มากกับผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาบิวสไปโรน ร่วมกับยา Tryptophan, Methylene blue อาจก่อให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการสับสน ประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาบิวสไปโรน ร่วมกับยา Buprenorphine อาจก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ (หายใจตื้น และเบา) อาจมีอาการโคม่าจนถึงขั้นตายได้ในที่สุด กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาบิวสไปโรน ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ มีอาการ ปวดหัว วิงเวียน ชีพจรผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาบิวสไปโรนอย่างไร?
ควรเก็บยาบิวสไปโรน:
- ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บิวสไปโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบิวสไปโรน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anxiolan (แอนซิโอแลน) | Medochemie |
Buspar (บัสปาร์) | Bristol-Myers Squibb |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/buspirone.html [2022,April 23 ]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Buspirone [2022,April 23]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Anxiolan/ [2022,April 23]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/buspirone-oral-route/proper-use/drg-20062457 [2022,April 23]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/buspirone-index.html?filter=3&generic_only= [2022,April 23]