น้ำลายเทียม (Artificial Saliva)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 28 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ
- มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคหนังแข็ง (Scleroderma): มารู้จักโรคหนังแข็งกันเถอะ
- กลุ่มอาการโจเกรน กลุ่มอาการเอสเอส โรคปากแห้งตาแห้ง (Sjogren’s Syndrome: SS)
- ปากคอแห้ง (Dry mouth and Dry throat)
สารบัญ
- บทนำ: คืออะไร
- น้ำลายเทียมมีกี่ประเภท?
- น้ำลายเทียมมีจำหน่ายในรูปแบบใด?
- มีข้อบ่งใช้น้ำลายเทียมอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้น้ำลายเทียมอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้น้ำลายเทียมอย่างไร?
- การใช้น้ำลายเทียมในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้น้ำลายเทียมในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้น้ำลายเทียมในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- น้ำลายเทียมมีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทนำ: คืออะไร
น้ำลายเทียม (Artificial saliva) คือ ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นในช่องปากสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะปากคอแห้ง
ปัจจุบันน้ำลายเทียมถูกวิจัยและพัฒนาให้มีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำลายธรรมชาติให้มากที่สุด โดยมีส่วนประกอบคือ น้ำ, สารบัฟเฟอร์ (Buffering agent, สารช่วยคงสมดุลความเป็นกรดด่าง/pH)ที่ใส่เพื่อควบคุมความเป็นกรดด่าง, อนุพันธุ์ของเซลลูโลส (Cellulose deriva tive)เพื่อช่วยเพิ่มความเหนียวและความชุ่มชื้น, สารแต่งกลิ่นรส (Flavoring Agents), แต่อย่างไรก็ตามน้ำลายเทียมยังไม่มีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหาร, ยังไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยังไม่มีโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆเหมือนกับในน้ำลายธรรมชาติ
น้ำลายเทียมมีกี่ประเภท?
ปัจจุบันมีน้ำลายเทียมเพียงประเภท/ชนิดเดียวยังไม่มีการแบ่งประเภทเพิ่มเติม
น้ำลายเทียมมีจำหน่ายในรูปแบบใด?
น้ำลายเทียมมีจำหน่ายในรูปแบบ ดังนี้
- สเปรย์พ่นทางปาก (Oral spray)
- ยาเม็ดลูกอม (Lozenges)
- ยาเจล (Gel)
- ยาสีฟัน (Toothpaste)
- ยาเม็ด (Tablet)
- น้ำยาบ้วนปาก (Mouth rinse, Mouth wash)
มีข้อบ่งใช้น้ำลายเทียมอย่างไร?
น้ำลายเทียม มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะปากคอแห้ง ที่มีสาเหตุจากมีน้ำลายแห้ง/น้อยกว่าปกติส่งผลให้เกิดอาการ พูด เคี้ยว กลืนอาหาร ไม่สะดวก การหล่อลื่นในช่องปากลดลง เกิดการระคายเคืองของเนื้อเยื่อในช่องปากซึ่งทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อและเกิดแผลในช่องปากได้ง่าย รวมถึง ฟันผุ เหงือกอักเสบ มีกลิ่นปาก รู้สึกไม่สบายช่องปากในขณะที่ใส่ฟันปลอม การรับรสเปลี่ยนไปซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง
อนึ่งภาวะปากคอแห้งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ความเครียด
- ร่างกายขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
- หายใจทางปาก
- ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยลงเนื่องจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้, ยาแก้คัดจมูก, ยาขับปัสสาวะ, ยาลดความดัน, ยาคลายกังวล/ยาคลายเครียด
- ได้รับรังสีรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ
- มีโรคของต่อมน้ำลาย เช่น กลุ่มอาการโจเกรน
- มีความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การตั้งครรภ์ หรือในสตรีวัยหมดประจำเดือน
- เป็นโรคเบาหวาน
- เป็นโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน เช่น กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome)
มีข้อห้ามใช้น้ำลายเทียมอย่างไร?
ข้อห้ามใช้น้ำลายเทียมใน
- ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้น้ำลายเทียม
- แพ้ส่วนประกอบอื่นๆในตำรับน้ำลายเทียม
มีข้อควรระวังการใช้น้ำลายเทียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้น้ำลายเทียม เช่น
- หากผู้ป่วยเกิดภาวะปากคอแห้งจากการใช้ยาบางชนิดดังได้กล่าวในหัวข้อ “ข้อบ่งใช้ฯ” อาการปากคอแห้งสาเหตุนี้อาจหายเป็นปกติได้เองเมื่อผู้ป่วยหยุดใช้ยาเหล่านั้น ดังนั้นเมื่อมีอาการปากคอแห้งหลังได้รับยาบางชนิด ผู้ป่วยควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับขนาดหรือปรับเปลี่ยนยาที่ใช้รักษา โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะประเมินประโยชน์ของยานั้นๆว่ามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับ
- น้ำลายเทียมบางชนิดมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งหากใช้เป็นเวลานานจะทำให้ฟันผุได้ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปใช้น้ำลายเทียมที่มีฤทธิ์เป็นกลางแทนได้
การใช้น้ำลายเทียมในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
น้ำลายเทียม ยังไม่ได้ถูกจัดระดับความปลอดภัยของยาที่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ (US-FDA Pregnancy Category) และยังไม่มีการทดลองใช้ในสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์หรือที่ให้นมลูก
ดังนั้น สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรใช้น้ำลายเทียมก็ต่อเมื่อมีการประเมินจากแพทย์ระหว่างประโยชน์ที่จะได้จากการใช้น้ำลายเทียมและความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกที่อาจเกิดขึ้นว่าการใช้น้ำลายเทียมเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่
การใช้น้ำลายเทียมในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
ผู้สูงอายุเป็นวัยเกิดภาวะปากคอแห้งมากกว่าช่วงวัยอื่นๆเนื่องจากมีโรคประจำตัวและใช้ยาหลายชนิดซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะปากคอแห้งได้ ดังนั้นการที่ผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวอาจส่ง ผลให้อาการปากคอแห้งดีขึ้นตามลำดับ และควรแจ้งแพทย์หากใช้ยาต่างๆแล้วเกิดภาวะปากคอแห้ง
อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุมีอาการปากคอแห้งเกิดขึ้นก็สามารถบรรเทาอาการได้โดยการจิบน้ำบ่อยๆเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก หรือใช้น้ำลายเทียมเพื่อบรรเทาอาการได้อย่างปลอดภัย
การใช้น้ำลายเทียมในเด็กควรเป็นอย่างไร?
มีรายงานการใช้น้ำลายเทียมในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะปากคอแห้งเนื่องจากได้รับรังสีรักษาเมื่อป่วย เป็นโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ พบว่าผู้ป่วยเด็กสามารถใช้น้ำลายเทียมได้อย่างปลอดภัย
น้ำลายเทียมมีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)ใดๆในผู้ที่ใช้น้ำลายเทียม
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม น้ำลายเทียม) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดัง นั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์. โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจล สำหรับผู้ที่มีภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย. http://www.dent-in-found.org/newdesign/research/detail?p=8 [2021,Nov27]
- Bluestone D.C., and others. Pediatric Otolaryngology. 2. Elsevier Science (USA), 2003.
- UK Medicines Information. Saliva substitutes: Choosing and prescribing the right product. ukmi.nhs.uk/filestore/ukmias/NWQA190.6Salivasubstitutes.doc [2021,Nov27]
- https://www.ada.org/~/media/ADA/Publications/Files/Oral_Moisturizers.ashx [2021,Nov27]
- https://www.drugs.com/cdi/artificial-saliva-spray.html [2021,Nov27]