นอนเบนโซไดอะซิปีน (Nonbenzodiazepine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- นอนเบนโซไดอะซิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- นอนเบนโซไดอะซิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นอนเบนโซไดอะซิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นอนเบนโซไดอะซิปีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นอนเบนโซไดอะซิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นอนเบนโซไดอะซิปีนอย่างไร?
- นอนเบนโซไดอะซิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานอนเบนโซไดอะซิปีนอย่างไร?
- นอนเบนโซไดอะซิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- โรคจิต (Psychosis)
- การสูญเสียความทรงจำ (Amnesia)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
บทนำ: คือยาอะไร?
นอนเบนโซไดอะซิปีน (Nonbenzodiazepine) คือ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเหมือนกับยากลุ่มเบนโซไดอะซิปีน (Benzodiazepine) อีกทั้งการออกฤทธิ์จะไปกระตุ้นตัวรับ (Receptor)ในสมองที่มีชื่อเรียกว่า กาบา เอ รีเซปเตอร์ (GABAA receptor, Gamma-aminobutyric acidA receptor) เช่นเดียวกัน แต่ยาทั้ง 2 กลุ่มมีโครงสร้างทางเคมีที่ต่างกันออกไป ซึ่ง GABA เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งของระบบประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อและกับการตื่นตัวของร่างกาย
ทางการแพทย์ได้ใช้ยานอนเบนโซไดอะซิปีนในการรักษาอาการนอนไม่หลับ ซึ่งบางกรณีจะให้ผลการรักษาดีกว่ายากลุ่มเบนโซไดอะซิปีนเสียอีก
เราอาจแบ่งยานอนเบนโซไดอะซิปีนออกเป็นหมวดย่อยต่างๆ ดังนี้
- หมวด Imidazopyridines: ประกอบด้วยตัวยา เช่นยา Zolpidem, Alpidem, Necopidem, และ Saripidem
- หมวด Pyrazolopyrimidines: ประกอบด้วยตัวยา เช่นยา Zaleplon, Divaplon, Fasiplon, Indiplon, Lorediplon, Ocinaplon, Panadiplon และ Taniplon
- หมวด Cyclopyrrolones: ประกอบด้วยตัวยา เช่นยา Eszopiclone, Zopiclone, Pagoclone, Pazinaclone, Suproclone และ Suriclone
- หมวด β-Carbolines: ประกอบด้วยตัวยา เช่น ยา Abecarnil และ Gedocarnil
ปัจจุบันมียาบางตัวในกลุ่มยานอนเบนโซไดอะซิปีนได้ถูกเพิกถอนออกจากตลาดยาด้วยมีผล เสียต่อตับรุนแรง เช่น ยา Alpidem
สำหรับจุดเด่นของยานอนเบนโซไดอะซิปีนเห็นจะได้แก่ยาในหมู่ที่เรียกกันว่า “Z-drug” ซึ่งประกอบไปด้วยยา Zopiclone, Zolpidem และ Zaleplon ยาทั้ง 3 ตัวถูกนำมาใช้รักษาอาการนอนไม่หลับที่ระดับไม่รุนแรงมากนัก นักวิทยาศาสตร์พบว่า Z-drug มีความปลอดภัยมากกว่ายารุ่นเก่าอย่าง เช่น Barbiturates โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการได้รับยาเกินขนาด และยังก่อให้เกิดอาการติดยาน้อยกว่ายาในกลุ่มเบนโซไดอะซิปีนเสียอีก จึงเป็นเหตุให้ Z-drugs ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Z-drug นานเกินไปเพราะอาจเป็นสาเหตุให้ติดยาได้เช่น เดียวกัน
สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยานอนเบนโซไดอะซิปีนเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์แล้ว แพทย์จะคอยปรับลดขนาดการใช้ และแนะนำไม่ควรหยุดยาทันทีด้วยจะก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับเพราะร่างกายคุ้นเคยกับการได้รับยาก่อนนอนหรือที่เรียกกันว่า “Rebound withdrawal effects”
สำหรับอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของ Z-drug อาจส่งผลให้เกิดภาวะความจำเสื่อม (การสูญเสียความทรงจำ) ระยะสั้น ในขณะที่ยาเบนโซไดอะซิปีนสามารถทำให้เกิดอาการประสาทหลอน
การใช้ Z-drug กับผู้สูงอายุก็สามารถส่งผลข้างเคียงที่คล้ายกันกับยากลุ่มเบนโซไดอะซิปีนได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือผู้ป่วยอาจสูญเสียการทรงตัวในขณะลุกขึ้นยืนหรือลุกจากที่นอน จนบางครั้งยาทั้ง 2 กลุ่มเป็นเหตุให้ผู้ป่วยสูงอายุบางรายหกล้มและได้รับบาดเจ็บถึงขั้นกระดูกหัก
ในทางคลินิกพบว่า Z-drug กับยากลุ่มเบนโซไดอะซิปีนยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องระมัด ระวังอีกมากมาย การใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้จึงควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไม่สมควรไปซื้อหายามารับประทานเองโดยเด็ดขาด
นอนเบนโซไดอะซิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เพื่อ
- ช่วยให้นอนหลับ เช่นยา Zaleplon, Zolpidem, Zopiclone
- ช่วยคลายความวิตกกังวล เช่นยา Buspirone และ Zopiclone
นอนเบนโซไดอะซิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสมองโดยเข้าจับกับ GABAA receptors ส่งผลทำให้เกิดภาวะสงบประสาท ช่วยทำให้นอนหลับและมีความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล และระยะเวลาของการออกฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อร่างกายจะเป็นไปตามธรรมชาติของยาแต่ละตัวที่ผู้ป่วยได้รับ
นอนเบนโซไดอะซิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ด และยาแคปซูล ชนิดรับประทานที่มีขนาดต่างๆตามแต่ละชนิดของตัวยา ซึ่งแต่ละตัวยาก็ยังมีรูปแบบจำหน่ายได้ในหลายขนาดยา เช่น ยา Zolpidem ชนิดรับประทาน 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด เป็นต้น
นอนเบนโซไดอะซิปีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
การรับประทานยานอนเบนโซไดอะซิปีนควรต้องเป็นตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ด้วยยา กลุ่มนี้มีข้อห้าม, ข้อควรระวัง, และผลข้างเคียงได้สูง, ผู้ป่วยไม่สมควรซื้อยากลุ่มนี้ใช้เอง หรือปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลา ใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
นอนเบนโซไดอะซิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ง่วงนอน
- วิงเวียน
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- ความคิดอ่านผิดปกติไปจากเดิม
- ตาพร่า
- บางคนอาจรู้สึกปวดหลัง
- เกิดภาวะตับอักเสบ
- บางคนอาจมีอาการแพ้ยา
*อนึ่ง: สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาดมีดังนี้ เช่น สูญเสียการควบคุมสติของตนเอง การหายใจผิดปกติไป และอาจเกิดภาวะโคม่า หากเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบพาผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้นอนเบนโซไดอะซิปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานอนเบนโซไดอะซิปีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรเนื่องจากผลข้างเคียงของยาที่อาจก่ออาการวิงเวียน
- ระวังเรื่องการทรงตัว เช่น หลังตื่นนอน ก่อนการลุกขึ้นยืน
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหลอดลมอักเสบขั้นรุนแรง ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ป่วยโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
- ระวังการใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ
- ยาบางตัวของกลุ่มนี้อาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายต่ำลงได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
นอนเบนโซไดอะซิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานอนเบนโซไดอะซิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีน ร่วมกับ ยาบางตัวสามารถทำให้ฤทธิ์สงบประสาทมีมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Topiramate, Oxycodone, Buspirone, Promethazine, Carisoprodol , Diazepam, Lorazepam และ Fentanyl
- การใช้ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีน ร่วมกับยาบางประเภทจะทำให้เกิดการกดประสาทส่วน กลางส่งผลให้หายใจลำบากจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Amitriptyline, Clonazepam, Baclofen, Temazepam , Codeine, Haloperidol และ Meperidine
ควรเก็บรักษานอนเบนโซไดอะซิปีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
นอนเบนโซไดอะซิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซิปีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Apo-Zopiclone (อาโป-โซพิโคลน) | Apotex |
Ambien (แอมเบียน) | Sanofi-aventis US |
Eurovan (ยูโรแวน) | Europharm Laboratoires |
Imovane (อิโมแวน) | Sanofi-aventis |
Insopin (อินโซปิน) | CCM Duopharma BioTech |
Sonata (โซนาตา) | King Pharmaceuticals Inc |
STILNITE (สติลไนท์) | Zydus |
Stilnox (สติลนอกซ์) | Sanofi-aventis |
Zopiclone Synthon (โซพิโคลน ซินทอน) | Synthon |
Zolon (โซลอน) | Taiwan Biotech |
Zomni (ซอมนี) | Jean-Marie |
ZOPICON (โซพิคอน) | Intas |
ZOPITRAN (โซพิทราน) | Alembic |
ZALEP (ซาเลพ) | Cipla |
ZALPILO (ซาลพิโล) | Micro Synchro |
ZAPLON (ซาพลอน) | Torrent |
ZASO (ซาโซ) | Cadila |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nonbenzodiazepine#Pharmacology [2022,March5]
- https://www.sleepdex.org/nonbenzo.htm [2022,March5]
- https://www.emedicinehealth.com/understanding_insomnia_medications/article_em.htm [2022,March5]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/zolpidem?mtype=generic [2022,March5]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/zolpidem?mtype=generic [2022,March5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Zopiclone#Contraindications [2022,March5]
- https://www.mims.com/singapore/drug/info/zopiclone?mtype=generic [2022,March5]
- https://www.mims.com/india/drug/info/sonata [2022,March5]
- https://www.mims.com/india/drug/info/sonata/sonata%20powd%20for%20oral%20susp [2022,March5]