ซีโทรมัยซิน (Cethromycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซีโทรมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ซีโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซีโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซีโทรมัยซินมีขนาดการรับประทานยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซีโทรมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซีโทรมัยซินอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซีโทรมัยซินอย่างไร?
- ซีโทรมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- คีโตไลด์ (Ketolides)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- เจ็บคอ (Sore throat) คออักเสบ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
บทนำ: คือยาอะไร?
ซีโทรมัยซิน (Cethromycin) คือ ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Ketolide ถูกนำมารักษาอาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม (Community acquired pneumonia) หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ และสามารถใช้ป้องกันโรคแอนแทรกได้
ยาซีโทรมัยซินเป็นยาที่มีฤทธิ์กว้าง และมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram positive bacteria) เช่น Mycoplasma pneumoniae, Chlamydia pneumoniae, Ureaplasma urealyticum, Legionella pneumophila, Haemophilus influenzae, Neisseria, Bordatella pertussis, Clostridium perfringens และ Moraxella catarrhalis, โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะเกิดที่สารพันธุกรรมของแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า RNA
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาซีโทรมัยซินจะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและผ่านสู่ร่างกายได้ประมาณ 35.8 - 60% ตับจะคอยเปลี่ยนโครง สร้างทางเคมีอย่างต่อเนื่องของยานี้ก่อนที่จะถูกขับออกไปทางอุจจาระและบางส่วนผ่านไปกับปัสสาวะ
ยาซีโทรมัยซินเป็นยาที่สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เหมือนกับยาอื่น ทั่วไป แต่มีอาการข้างเคียงซึ่งอาจเกิดกับตับและถือเป็นข้อพึงระวังของการใช้ยานี้ ด้วยยาซีโทรมัยซินอาจทำให้เกิดแผลที่ตับและกระตุ้นให้ตับหลั่งเอนไซม์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรนั้น ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากพอที่จะยืนยันความปลอดภัยในการใช้ยาซีโทรมัยซินกับผู้ป่วยกลุ่มนี้
สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่พบเห็นการใช้ยาซีโทรมัยซินแพร่หลายมากเท่าใดนัก แต่ ในต่างประเทศจะรู้จักซีโทรมัยซินภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Restanza’
ซีโทรมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาซีโทรมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เพื่อรักษาโรค/อาการ เช่น
- ปอดบวม
- หลอดลมอักเสบ
- คออักเสบ
- ไซนัสอักเสบ
ซีโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซีโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สารพันธุกรรมของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า23s Ribosomal RNA เกิดการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ซีโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซีโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด
ซีโทรมัยซินมีขนาดการรับประทานอย่างไร?
ยาซีโทรมัยซินมีขนาดการรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 150 - 600 มิลลิกรัมวันละครั้งทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆ ไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซีโทรมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีโทรมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซีโทรมัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาซีโทรมัยซินตรงเวลา
ซีโทรมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซีโทรมัยซิน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- ปวดหัว
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ความดันโลหิตต่ำ
- ตับอักเสบ
- ผิวหนังมีผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้ซีโทรมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซีโทรมัยซิน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ยากลุ่ม Ketolide
- ควรแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เสมอว่าใช้ยา/สมุนไพร/อาหารเสริมอะไรอยู่ เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก รวมถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- *หากพบอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
- ควรรับประทานยานี้ให้ครบตามมาตรฐานของยาซีโทรมัยซิน คือ ตามแพทย์สั่ง, ห้ามหยุดยาเองถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซีโทรมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษาซีโทรมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาซีโทรมัยซิน: เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ซีโทรมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซีโทรมัยซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Restanza (รีสแตนซา) | Advanced Life Sciences |