คีโตไลด์ (Ketolides)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 คีโตไลด์ (Ketolides)  คือ ยาปฏิชีวนะรุ่นใหม่ของกลุ่มยาปฏิชีวนะแมคโคไลด์ (Macrolide) มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสร้างสารโปรตีนในตัวแบคทีเรีย

สามารถจำแนกคีโตไลด์เป็นรายการย่อยๆ ดังนี้

  • Cethromycin: ใช้รักษาโรคปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นยารับประทาน ตัวยาจะดูดซึมและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายประมาณ 35.8 - 60% และถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ยาชื่อการค้าที่รู้จักกันดีคือ ‘Restanza’
  • Solithromycin: ใช้รักษาโรคปอดบวม มีรูปแบบทั้งยารับประทานและยาฉีด เป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้กว้างขวาง และใช้ต่อต้านแบคทีเรียแกรมบวกที่มักเล่นงานระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ปัจจุบันยังมิได้นำมาใช้ทางคลินิก
  • Telithromycin : ใช้รักษาโรคปอดบวมที่มีความรุนแรงต่ำไปจนถึงขั้นปานกลาง รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 57% ร่าง กายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้นไปก่อนที่ยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายผ่านไปทางอุจจาระ และปัสสาวะ ยาชื่อการค้าที่พบเห็นได้บ่อยคือ Ketek

 ทั้งนี้มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มคีโตไลด์อยู่บางประการที่แพทย์จะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังก่อนการสั่งจ่ายให้ผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ป่วยแพ้ยากลุ่มนี้หรือไม่ รวมถึงห้ามใช้ยาคีโตไลด์ร่วมกับยากลุ่ม Statin หรือห้ามใช้กับผู้ ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อย่างเช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis)
  • ในบางกรณียาคีโตไลด์สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อตับโดยทำให้เกิดภาวะตับวายจนเป็นเหตุให้ถึงขั้นตายได้

อนึ่ง: ขณะที่ใช้ยากลุ่มนี้แล้วพบอาการ คลื่นไส้ ปวดท้อง มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีคล้ำ อุจจาระมีสีออกเทาๆ หรือเกิดภาวะดีซ่าน หากเกิดอาการเหล่านี้ต้องรีบหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

การใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะในนมบุตร หรือในเด็กเล็ก ล้วนแต่เป็นข้อที่ควรหลีกเลี่ยง ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ระบุถึงความปลอดภัยของการใช้ยาคีโตไลด์กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับยาคีโตไลด์อาจมีภาวะตาพร่าและความสามารถในการตัดสินใจถดถอยลงไป หากพบอาการดังกล่าวแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆหรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยสุ่มเสี่ยงกับการเกิดอันตรายได้ง่าย

ประการสุดท้าย ยาคีโตไลด์ยังสามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด  ยาโรคหัวใจ   ยาวัณโรค  ยากลุ่มเออร์กอต(Ergot) ยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด และยากันชัก ซึ่งหากผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่มดังกล่าวจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะให้ผู้ป่วยใช้ยากลุ่มคีโตไลด์หรือไม่

คีโตไลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

คีโตไลด์

ยาคีโตไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย: เช่น

  • รักษาอาการโรคปอดบวม
  • รักษาไซนัสอักเสบ
  • รักษาหลอดลมอักเสบ
  • รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ

คีโตไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มคีโตไลด์ คือ ตัวยาจะเข้าจับสารพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ถูกเรียกว่า 50s Ribosomal subunit ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนขึ้นได้ ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ และส่งผลให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด

คีโตไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคีโตไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด

คีโตไลด์มีขนาดการรับประทานอย่างไร?

ยาคีโตไลด์ มีขนาดการรับประทานขึ้นกับแต่ละชนิดและความรุนแรงของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา และถึงแม้หลังใช้ยาแล้วอาการดีขึ้น ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยานี้ให้ครบตามที่แพทย์สั่งทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของแบคทีเรีย/เชื้อดื้อยา

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคีโตไลด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคีโตไลด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคีโตไลด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคีโตไลด์ให้ตรงเวลา

คีโตไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคีโตไลด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • มีอาการใบหน้าแดง
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นช้า
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • เหงื่อออกมาก
  • เกิดภาวะตับอักเสบ
  • ตาพร่า
  • หากใช้กับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจเกิดการกดการหายใจ (หายใจช้า-เบา-ตื้น อาจถึงขั้นหยุดหายใจ)
  • ผู้ป่วยบางรายจะพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

มีข้อควรระวังการใช้คีโตไลด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคีโตไลด์  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง          
  • อาจเกิดภาวะตับอักเสบหรือดีซ่านขึ้นได้ หากพบภาวะดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทัน ที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคีโตไลด์ด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คีโตไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคีโตไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยา Telithromycin ร่วมกับยา Simvastatin ด้วยจะทำให้ระดับยา Simvastatin ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลเกิดการทำลายตับ/ตับอักเสบติดตามมา

ควรเก็บรักษาคีโตไลด์อย่างไร?

 ควรเก็บยาคีโตไลด์:

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คีโตไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคีโตไลด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ketek (คีเตค) Aventis
Restanza (รีสแตนซา) Advanced Life Sciences

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ketolide  [2022,March12]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/macrolides.html   [2022,March12]
  3. https://www.drugs.com/drug-class/ketolides.html   [2022,March12]
  4. https://www.drugs.com/dosage/telithromycin.html   [2022,March12]
  5. http://www.antimicrobe.org/new/drugpopup/Telithromycin-rev.pdf  [2022,March12]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/ketek-with-simcor-2151-1400-2797-12489.html  [2022,March12]
  7. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Restanza#section=InChI  [2022,March12]