เจ็บคอ (Sore throat) คออักเสบ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เจ็บคอ (Sore throat) หรือ คออักเสบ/คอหอยอักเสบ (Pharyngitis) คือ อาการไม่ใช่โรค โดยเป็นอาการเจ็บในลำคอ/ในคอหอยที่เกิดจากลำคอ/คอหอยเกิดอักเสบ, ได้รับบาดเจ็บ, และ/หรือ ระคายเคือง, อาจจากติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ (เช่น พูดมาก ไอมาก กรดไหลย้อน แพ้อาหาร และ/หรือแพ้ยา), เป็นอาการพบบ่อยมาก เกือบทุกคนต้องเคยมีอาการนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต,  อาการนี้เกิดตลอดปี แต่พบสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว

เจ็บคอ/คออักเสบพบทังเพศหญิงและเพศชายในอัตราใกล้เคียงกัน และพบทุกอายุตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว

เจ็บคอมีสาเหตุจากอะไร?

 

เจ็บคอ/คออักเสบมีสาเหตุได้ทั้งจากลำคอติดเชื้อ และจากที่เกิดโดยไม่มีการติดเชื้อ:

ก. สาเหตุจากช่องปาก/ลำคอติดเชื้อ: เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดคิดเป็นประมาณ 80 - 90% ของการเจ็บคอทั้งหมด โดยมักเป็นจากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนบน (จมูก ช่องปาก และช่องคอ) ซึ่งเกิดได้ทั้งจากโรคติดเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย หรือโรคเชื้อรา

  • สาเหตุจากเชื้อไวรัส: เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด เชื้อที่เป็นสาเหตุพบบ่อย เช่น โรคหวัด   โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัด โรคอีสุกอีใส, ซึ่งในเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวพบอาการเจ็บคอมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสประมาณ 60 - 70%, ส่วนในผู้ใหญ่อาการเจ็บคอพบจากเชื้อไวรัสประมาณ 80 - 85%
  • จากเชื้อแบคทีเรีย: ที่เป็นสาเหตุพบบ่อยของการเจ็บคอ คือจาก เชื้อ สเตรปกรุ๊ป เอ (Group A beta-hemolytic streptococcus เรียกย่อว่า GABHS หรือแพทย์บางท่านเรียกว่า Group A streptococcus โดยเรียกย่อว่า GAS), โดยแบคทีเรียเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอในเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวได้ประมาณ 25 - 40%, ส่วนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุพบแบคทีเรียเป็นสาเหตุได้ประมาณ 5 - 15%, ซึ่งโรคพบบ่อยจากเชื้อแบคทีเรีย คือ  ต่อมทอนซิลอักเสบ นอกจากนั้น เช่น โรคไอกรน และ โรคคอตีบ
  • เชื้อรา: เป็นสาเหตุพบน้อย มักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง  ผู้ป่วยได้ยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยโรคเอดส์/ เอชไอวี

ข. สาเหตุเจ็บคอที่ไม่ใช่จากติดเชื้อ: พบได้น้อยประมาณ 5 - 10% เช่น

  • ช่องคอบาดเจ็บโดยตรง เช่นจาก อุบัติเหตุ                                
  • มีสิ่งแปลกปลอมในช่องคอ เช่น ก้างปลา                                                
  • ช่องคอระคายเคือง เช่น จากควันบุหรี่ (ทั้งจากการสูบโดยตรงหรือการสูบบุหรี่มือสอง) การ  ตะโกน การใช้เสียงมาก ไอเรื้อรัง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง/ควันต่างๆที่ได้รับต่อเนื่อง, อาหารรสจัด                                  
  • มีโรคภูมิแพ้                                                                                                                           
  • การระคายเคืองจากกรดในกระเพาะอาหารในโรคกรดไหลย้อน/กรดไหลกลับ                              
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันบางชนิด เช่น ยา Atenolol
  • ดื่มน้ำน้อย                                                                                                                     
  • อาการของโรคมะเร็งระบบศีรษะ-ลำคอ เช่น  มะเร็งคอหอย,  มะเร็งกล่องเสียง                                                                                                       

อาการเจ็บคอเกิดร่วมกับอาการอะไรได้บ้าง?

ทั่วไป เจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบ อาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ  เช่น

ก. อาการที่มักเกิดร่วมกับเจ็บคอที่สาเหตุจากติดเชื้อ: ที่พบบ่อย เช่น

  • ไข้, หนาวสั่น
  • ไอ อาจมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะ
  • จาม, มีน้ำมูก
  • ตาแดง, ตาสู้แสงไม่ได้/ตาไม่สู้แสง
  • ปวดหัว, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • อาจมีคลื่นไส้อาเจียน
  • อาจมีท้องเสียแต่มักไม่รุนแรง

ข. อาการที่เกิดร่วมกับการเจ็บคอทั้งที่ติดเชื้อหรือไม่ได้ติดเชื้อ: ที่พบบ่อยเช่น

  • คอแดง
  • เจ็บคอมากขึ้นเมื่อกิน ดื่ม กลืน พูด ไอ
  • อาจมีเสียงแหบ
  • ปากคอแห้ง
  • ต่อมทอนซิลแดง อาจโตและมีแผ่นขาวๆเหลืองๆปกคลุม, ต่อมทอนซิลอักเสบ
  • ในเด็ก: มักไม่ยอมกินเพราะเจ็บเวลากลืน
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองบวม/โตที่ลำคอ คลำได้ อาจเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และมักจะเจ็บ
  • อาจมีตุ่มนูนเล็กๆสีแดงกระจายที่ผนังด้านหลังของคอหอยที่เกิดจากการโตของ ต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า Lymphoid hyperplasia of pharyngeal wall

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการเจ็บคอมากจนมีผลต่อการกิน/ดื่ม และ/หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วยดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' และอาการไม่ดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังการดูแลตนเองตามอาการ, ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่ถ้าอาการแย่ลงหลังการดูแลตนเอง ควรรีบไปโรงพยาบาลไม่ควรรอจนถึง 2 - 3 วัน

*อนึ่ง: ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน ถ้ามีอาการรุนแรงอื่นร่วมด้วย เช่นหายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, และ/หรือ มีไข้สูงตั้งแต่39องศาขึ้นไป โดยเฉพาะไข้ไม่ลงหลังกินยาลดไข้

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุเจ็บคอได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยสาเหตุการเจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบโดยใช้เพียงลักษณะทางคลินิก เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย,  การตรวจร่างกาย,  การตรวจดูในลำคอ, การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ, และ อาจร่วมกับการตรวจทางหูคอจมูก

แต่ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง: มักมีการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อช่วยการวินิจฉัยแยกโรค เช่น  

  • ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC)
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจย้อมเชื้อและ/หรือการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง จากเสมหะและ/หรือจากลำคอ
  • การตรวจหาเชื้อ หรือสารสารภูมิต้านทานและ หรือสารก่อภูมิต้านทาน จากการป้าย/ตรวจสารคัดหลังจากโพรงจมูก ลำคอ และ/หรือ โพรงหลังจมูก ที่เรียกว่า ‘Rapid test’ เช่น การตรวจ ATK (Antigen test kit) ในโรคโควิด-19
  • การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานและ/หรือสารก่อภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่างๆ
  • เอกซเรย์ภาพปอดกรณีที่ไอมากร่วมกับมีเสมหะมาก

รักษาเจ็บคออย่างไร?

แนวทางการรักษาเจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ, ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส: ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าไวรัสได้ ฆ่าได้แต่ แบคทีเรีย ซึ่งไวรัสบางชนิดอาจรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสบางชนิด เช่น ยา Oseltamivir ในไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง เป็นต้น
  • การให้ยาปฏิชีวนะ: เมื่อสาเหตุเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาในกลุ่ม Penicillin เป็นต้น
  • การให้ยาต้านเชื้อรา: เมื่อสาเหตุเกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะใช้ยาชนิดใดขึ้นกับชนิดของเชื้อราเช่น ใช้ยา Fluconazole ในกรณีติดเชื้อราชนิด Candida(แคนดิไดอะซิส) เป็นต้น
  • อื่นๆ: เช่น รักษาสาเหตุ เช่นใน โรคกรดไหลย้อน,  มะเร็งกล่องเสียง, การเลิกบุหรี่, การรักษาโรคภูมิแพ้, การหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุอาการ (อ่านเพิ่มเติมการรักษาในโรคต่างๆได้จากเว็บcom)  

ข. รักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว (ถ้าไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม), ใช้ยาแก้ปวด/ยาแก้เจ็บคอ ยาลดไข้, อมยาลูกอมลดการระคายคอ, บ้วนปากบ่อยๆด้วยน้ำเกลือ หรือ น้ำยาบ้วนปากเพื่อรักษาความสะอาดช่องปากและช่วยให้ช่องปากชุ่มชื้นลดการระคายคอ, พักผ่อนเต็มที่, ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินดื่มได้น้อย, ฯลฯ

เจ็บคอรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของการเจ็บคอ/คออักเสบ ขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น

  • สาเหตุ: โรคต่างๆมีความรุนแรงโรคไม่เท่ากัน เช่น ไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าโรคหวัดธรรมดา, โรคมะเร็งจะมีความรุนแรงโรคสูงสุด   
  • อายุ: เด็กเล็กและผู้สูงอายุอาการจะรุนแรงกว่าเพราะจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป
  • สุขภาพร่างกายดั่งเดิม: ผู้มีสุขภาพไม่แข็งแรง อาการจะรุนแรงกว่า
  • โรคประจำตัวต่างๆ: เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาการจะรุนแรงกว่า

อนึ่ง:  ทั่วไปการเจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบ มักไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ และแพทย์มักรักษาสาเหตุและอาการให้หายได้เสมอ

ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการเจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบ เช่น  อาจ เกิดภาวะขาดอาหาร  และโดยเฉพาะภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุจากการไม่ยอมกลืนเพราะกลืนแล้วเจ็บ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเจ็บคอ?

การดูแลตนเองเมื่อเจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบ ที่สำคัญ เช่น

  • กินอาหารอ่อน รสจืด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในเกร็ด เรื่องประเภทอาหารทางการ แพทย์) โดยกินครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยมื้อขึ้น
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือที่ไม่เค็มมากบ่อยๆโดยเฉพาะทุกครั้งหลังอาหาร, ดื่มเครื่องดื่ม,เพื่อให้ช่องปากลำคอชุ่มชื้น ลดการระคายเจ็บคอ และกำจัดเศษอาหาร สารคัดหลั่งต่างๆ เป็นการรักษาความสะอาดในช่องปาก/คอ ร่วมกับการให้ความชุ่มชื้น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆเพิ่มขึ้นกว่าเดิม, อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม ควรเป็นน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำพออุ่น
  • กินยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ พาราเซตามอล เมื่อมีไข้ หรือเจ็บคอมาก
  • อาจอมยาเม็ดอมบรรเทาอาการเจ็บคอ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งด/ลดใช้เสียง
  • ไม่ไปในที่แออัดหรือมีฝุ่นละอองมีควันต่างๆ
  • ควรหยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้จะลงแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • งดบุหรี่/ไม่สูบบุหรี่
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ถ้าได้พบแพทย์แล้วควรปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ, และกินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน, ไม่หยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น, และพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ถ้าเจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบและได้พบแพทย์แล้ว, ทั่วไปควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น เจ็บคอมากขึ้นจนกลืนไม่ได้
  • ยังคงมีไข้สูง หรือกลับมามีไข้ หรือมีอาการเจ็บคออีก หลังจากอาการเดิมหายไป/ดีขึ้นแล้ว
  • กินหรือดื่มน้ำได้น้อย
  • มีผื่นขึ้นตามมาหลังมีไข้ หรือหลังไข้ลง
  • ยังคงมีเสียงแหบหลังอาการต่างๆดีขึ้นแล้ว (เพราะอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกล่องเสียงได้ในวัยกลางคนถึงผู้สูงอายุ)
  • น้ำมูก/เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง หรือ ยังคงมีน้ำมูก เสมหะเรื้อรัง หลังอาการต่างๆหายแล้ว (อาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง)
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันเจ็บคอได้อย่างไร?

การป้องกันการเจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบ คือ การป้องกันสาเหตุซึ่งประมาณ 80% - 90% เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นวิธีป้องกันการเจ็บคอที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งวิธีป้องกันที่สำคัญ เช่น

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด โดยเฉพาะในช่วงมีการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆตั้งแต่วัยเด็กตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเช่น วัคซีนไอกรน วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ วัคซีนไข้หวัดใหญ่  วัคซีนโควิด-19

บรรณานุกรม

  1. Armstrong, C. (2010). AHA Guidelines on prevention of rheumatic fever and diagnosis and treatment of acute streptococcal pharyngitis. Am Fam Physician. 81, 346-359.
  2. Choby, B.(2009). Diagnosis and Treatment of Streptococcal Pharyngitis
  3. Vincent, M. et al. (2004). Pharyngitis. Am Fam Physician.69, 1465-1470.
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Sore_throat [2023,March25]
  5. https://www.nhs.uk/conditions/sore-throat/  [2023,March25]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK519550/  [2023,March25]