ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาควรทำอย่างไร?
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder)
- ไมเกรน (Migraine)
- โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
- สะอึก (Hiccup)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (GI motility stimulant or Prokinetic drugs)
- สมองเสื่อม (Dementia)
บทนำ: คือยาอะไร?
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน/เซโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists) คือ กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคทางจิตประสาท/ยาจิตเวชซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า Serotonin (เซโรโทนิน หรือ ซีโรโทนิน) โดยตัวยากลุ่มนี้จะเข้าจับกับตัวรับ/(Receptor)ที่มีชื่อว่า Serotonin receptor หรือจะเรียกว่า 5-HT receptor (5-hydroxytryptamine receptor)ซึ่งจะพบในสมอง, ในระบบทางเดินอาหาร, ในกล้ามเนื้อเรียบ, ในหลอดเลือด, ในเกล็ดเลือด, และในระบบประสาทส่วนปลาย
กลุ่มยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ จะส่งผลต่อระบบต่างๆของร่างกายและจิตใจ เช่น อารมณ์ ความหิว ความดันโลหิต การทำงานของหัวใจ ความจำ การเรียนรู้ การทำงานของระบบทางเดินอาหาร การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย พฤติกรรมทางเพศ การนอนหลับ เป็นต้น
ทางคลินิกยังสามารถแบ่งกลุ่มยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ตามตำแหน่งของตัวรับที่เกิดการออกฤทธิ์เป็นหมวดย่อยๆได้ดังนี้
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT1A: เช่นยา Flesinoxan, Gepirone, Haloperidol, Ipsapirone, Quetiapine, Trazodone, Tandospirone และ Yohimbine ยาในหมวดนี้มักถูกนำไปใช้รักษาอาการทางจิต เช่น โรคอารมณ์สองขั้ว โรคสมาธิสั้น ลดอารมณ์ก้าวร้าว การติดสุรา ภาวะสะอึก โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ปัญหาสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT1B: เช่น ยา Dihydroergotamine, Eltoprazine, Ergotamine, Methysergide, Vortioxetine และยากลุ่ม Triptans มีการออกฤทธิ์ต่อสมองและหลอดเลือด และนำมาใช้รักษาโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ช่วยการหดตัวของหลอดเลือดส่งผลให้มีฤทธิ์รักษาโรคไมเกรนด้วย
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT1D: เช่น ยา Dihydroergotamine, Ergotamine, Methysergide, Yohimbine และยากลุ่ม Triptans มียาหลายตัวที่ซ้ำกับการออกฤทธิ์ที่ 5-HT1B คือมีผลต่อสมองและผนังหลอดเลือด นำมารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน การปวดศีรษะคลัสเตอร์
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT1E: เป็นหมวดที่ยังเป็นงานระหว่างทดลองและวิจัย
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT1F: เช่น ยา Lasmiditan และ Naratriptan โดยนำมาใช้รักษาอา การไมเกรน
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT2A: เช่น ยา Benzylpiperazine, Bufotenin, Ergonovine, LSD, Mescaline, Psilocin, Psilocybin มักถูกใช้เพื่อกระตุ้นประสาทหรือกระตุ้นการหดตัวของ กล้ามเนื้อเรียบ
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT2B: เช่น ยา Fenfluramine ใช้เป็นยาที่ควบคุมอารมณ์และช่วยลดความอยากอาหาร ปัจจุบันถูกเพิกถอนการใช้เป็นเวลานานหลายปีด้วยผลข้างเคียงที่เกี่ยวกับการเกิดโรคลิ้นหัวใจและก่อให้เกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT2C :เช่น ยา Aripiprazole, Ergonovine, Lorcaserin, Trazodone, โดยนำมาใช้รักษาความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคสมาธิสั้น
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT3: เช่น ยาอนุพันธุ์ของ Tryptamine, Benzylpiperazine, Quipa zine เป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT4: เช่น ยา Cinitapride, Cisapride, Dazopride, Metoclopramide, Mosapride, Prucalopride, Renzapride, Tegaserod และ Zacopride ใช้เป็นยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารช่วยลดอาการอาเจียน
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT5A :เช่น Ergotamine และ Valerenic acid ใช้รักษาไมเกรน/ยาไมเกรน และช่วยให้นอนหลับ
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT6: เช่น ยาอนุพันธุ์ของ Tryptamine ที่มีชื่อย่อว่า EMDT (2-Ethyl-5-methoxy-N,N-dimethyltryptamine) กำลังอยู่ในการศึกษาที่อาจนำมาใช้เป็นยาต้านเศร้าได้
- ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT7: เช่น ยา Aripiprazide ใช้รักษาอาการทางจิตประสาท โรคอารมณ์สองขั้ว และโรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ จะพบว่ายาในกลุ่มนี้มีความเฉพาะเจาะจงต่ออาการโรค แพทย์เท่านั้นที่จะสามารถคัดกรองและเลือกใช้ยาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยารักษาอาการทางจิตประสาท เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล และโรคอารมณ์สองขั้ว
- ใช้บรรเทาและลดอาการ ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะคลัสเตอร์
- ใช้ป้องกันการอาเจียนโดยเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้
- บรรเทาอาการความจำเสื่อม
- ลดอารมณ์ก้าวร้าวและรักษาภาวะติดสุรา
- รักษาอาการสะอึก (URL=สะอึก2)
- ช่วยเพิ่มสมรรถนะทางเพศส
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับ ตามอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายอย่างจำเพาะเจาะจงและส่งผลให้อวัยวะของร่างกายนั้นๆทำงานตามฤทธิ์ของตัวยานั้นๆ
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยารับประทานชนิดเม็ด และ ชนิดน้ำ
- ยาพ่นจมูก
- ยาฉีด
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มนี้มีหลายรายการ ขนาดรับประทานและการบริหารยาจะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยต้องอาศัยข้อมูล/ประวัติทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและให้มีความปลอดภัยมากที่สุด หลายอาการของโรคต้องใช้ระยะเวลาของการรับประทานให้ครบตามมาตรฐานถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้นการรับประทานยากลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำ สั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทาน/ใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาในกลุ่มยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ สามารถ รับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็น ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- คลื่นไส้
- ปากคอแห้ง
- เจ็บหน้าอก
- แน่นหน้าอก
- เจ็บคอ คออักเสบ
- ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ตาพร่า
- มือ-เท้าเย็น
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- อารมณ์เหวี่ยง/อารมณ์แปรปรวน
- เป็นลม
*อนึ่ง: อาการแพ้ยากลุ่มนี้มักจะทำให้เกิด ผื่นคัน ตัวบวม วิงเวียนอย่างมาก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้หรือแพ้ยากลุ่ม Sulfonamides
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยา Ergot (กลุ่มยาที่ได้จากเชื้อราชื่อ Ergot เช่น Ergota mone) อาจก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดหดตัวส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและ/หรือเนื้อเยื่อขาดเลือด เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Cisapride ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เช่นยา Clarithomycin, Erythromycin สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับประทานยาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ร่วมกัน
- การใช้ยา Ergotamine ร่วมกับยาต้านซึมเศร้าอาจเพิ่มความเสี่ยงของกลุ่มอาการเซโรโทนิน ซึ่งจะมีอาการจิต/ประสาทหลอน รู้สึกสับสน มีอาการชัก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ปวดท้องแบบปวดบีบ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากอาการรุนแรงมากอาจมีอาการโคม่าและถึงตายได้ ยาต้านภาวะซึมเศร้าดังกล่าวเช่น Fluoxetine, Sertraline
- การใช้ยา Aripiprazole ร่วมกับยา Bupropion อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่ายอีกทั้ง Bupropion จะทำให้ระดับของ Aripiprazole ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นราย บุคคลไป
ควรเก็บรักษาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Imigran (อิมิแกรน) | GlaxoSmithKline |
Maxalt (แมกซอลท์) | Merck & Co Inc |
Amerge (อเมอร์ท) | GlaxoSmithKline |
Relpax (เรลแพกซ์) | Pfizer Inc |
Frova (โฟรวา) | Endo Pharmaceuticals Inc |
Cipasid (ซิพาซิด) | Siam Bheasach |
Cisapac (ซิซาแพค) | Inpac Pharma |
Cisapid (ซิซาพิด) | Inpac Pharma |
Cisaride (ซิซาไรด์) | Pharmasant Lab |
Palcid (แพลซิด) | Pharmadica |
Pri-De-Sid (ไพร-เด-ซิด) | Polipharm |
Avamigran (เอวาไมเกรน) | A. Menarini |
Cafergot (คาเฟอร์กอท) | Amdipharm |
Degran (ดีแกรน) | Ranbaxy |
Ergosia (เออร์โกเซีย) | Asian Pharm |
Gynaemine (กายเนมีน) | Sriprasit Pharma |
Hofergot (โฮเฟอร์กอท) | Pharmahof |
Migana (ไมกานา) | T. Man Pharma |
Neuramizone (นูรามิโซน) | Sriprasit Pharma |
Poligot-CF (โพลิกอต-ซีเอฟ) | Polipharm |
Polygot (โพลีกอต) | Pharmasant Lab |
Tofago (โทฟาโก) | T.O. Chemicals |
Abilify (อะบิลิฟาย) | Otsuka |
บรรณานุกรม
1 https://en.wikipedia.org/wiki/5-HT_receptor [2021,Nov13]
2 https://journals.physiology.org/doi/full/10.1152/jn.00046.2006 [2021,Nov13]
3 https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_receptor_agonist#5-HT1B_agonists [2021,Nov13]
4 https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=cisapride [2021,Nov13]
5 https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23018546/ [2021,Nov13]
6 https://en.wikipedia.org/wiki/Triptan [2021,Nov13]