ซาซ่ากริปติน (Saxagliptin)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 22 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาซาซ่ากริปตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาซาซ่ากริปตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาซาซ่ากริปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาซาซ่ากริปตินมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาซาซ่ากริปตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาซาซ่ากริปตินอย่างไร?
- ยาซาซ่ากริปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาซาซ่ากริปตินอย่างไร?
- ยาซาซ่ากริปตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- เลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis)
- น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
ซาซ่ากริปติน (Saxagliptin) คือ ยาชนิดรับประทานที่ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไดเปปทิดิวเปปทิเดส-4 (Dipeptidyl peptidase 4 enzyme/เอนไซม์จากเซลล์ลำไส้เล็กที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส/Glucose) หรือที่เรียกสั้นๆว่า “เอนไซม์ DPP-4 (DPP-4 inhibitor)” ยานี้มีชื่อการค้าในประเทศไทยว่า “อองไกลซา (Onglyza)”
กลไกของยาซาซ่ากริปติน คือ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ DPP-4 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้อง กันการทำลายฮอร์โมนอินครีติน (Incretin hormones, กลุ่มฮอร์โมนจากเซลล์ในลำไส้เล็กที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด) ของร่างกายจากเอนไซม์ DPP-4
อนึ่ง ฮอร์โมนอินครีตินนี้เป็นกลุ่มของฮอร์โมนหลายชนิดโดยมี 2 ชนิดที่สำคัญที่มีชื่อว่า Gastric inhibitory polypeptide (มีชื่อย่อว่า GIP) และ Glucagon-like peptide-1 (มีชื่อย่อว่า GLP-1)
ทั้งนี้ การยับยั้งเอนไซม์ DPP-4 ก็เพื่อให้มีฮอร์โมน GIP และ GLP-1 อยู่ในกระแสเลือดยาว นานขึ้น เพื่อสามารถกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin hormone) จากตับอ่อนที่ร่างกายใช้ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติหลังการรับประทานอาหาร
การรักษาโรคเบาหวานด้วยการเพิ่มการทำงานของฮอร์โมนอินครีตินด้วยยากลุ่ม DPP-4 inhibitor จะทำให้การทำงานของฮอร์โมนอินครีตินเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น จุดเด่นของยาในกลุ่มนี้คือ ไม่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เนื่องจากฮอร์โมนอินครีตินจะเข้าสู่กระแสเลือดแล้วส่งผลกระ ตุ้นการหลั่งอินซูลินของตับอ่อนก็ต่อเมื่อมีอาหารผ่านลงไปในทางเดินอาหาร (ลำไส้เล็ก) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของฮอร์โมนอินครีตินจะขึ้นกับระดับน้ำตาลในร่างกาย
ยาซาซ่ากริปตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาซาซ่ากริปตินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- สำหรับรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดย
- ใช้เป็นยารักษาเดี่ยวร่วมกับควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
- หรือใช้ร่วมกับยาเบาหวานชนิดที่ 2 ชนิดอื่นๆ เช่นยา เม็ทฟอร์มิน (Metformin) หรือไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยานี้สำหรับการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือใช้ในการรักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetes Ketoacidosis หรือ DKA) เนื่องจากยาไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะดังกล่าว
ยาซาซ่ากริปตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินหลังรับประทานอาหารเพื่อนำน้ำตาลจากอาหารเข้าสู่เซลล์ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ โดยหนึ่งในกระบวนการที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งอินซู ลินคือ การหลั่งของฮอร์โมนอินครีติน (Incretin) ที่บริเวณลำไส้เล็ก โดยมีอาหารที่รับประทานเป็นตัวกระตุ้นให้ฮอร์โมนอินครีตินจับกับตัวรับที่เซลล์ตับอ่อนชนิดที่เรียกว่า เบตาเซลล์ (Beta cell at pancrease) เกิดการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินออกมา การกระตุ้นโดยผ่านฮอร์โมนอินครีตินนี้มีข้อ ดีคือ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ในผู้ป่วยเบาหวานเพราะการหลั่งของอินซูลินจะขึ้นกับระดับน้ำตาลในทางเดินอาหารและในเลือด
โดยฮอร์โมนอินคริตินที่สำคัญในร่างกายมี 2 ชนิดคือ Gastric inhibitory polypeptide (GIP) และ Glucagon-like peptide-1 (GLP-1) ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนอินครีตินเช่น GIP และ GLP-1 ในกระแสเลือดจากลำไส้เล็กโดยการกระตุ้นจากการรับประทานอาหาร ซึ่งฮอร์โมนอินครีตินจะออก มาสู่กระแสเลือดแล้วส่งผลกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน จะทำให้ฮอร์โมนอินซูลินถูกหลั่งออก มาจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนโดยสัมพันธ์กับระดับน้ำตาล แต่ฮอร์โมน GIP และ GLP-1 จะถูกทำ ลายโดยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ไดเปปทิดิว เปปทิเดส-4 (Dipeptidyl peptidase-4, DPP4) อย่างรวดเร็ว โดย GLP-1 ยังคงออกฤทธิ์กดการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucogon, ฮอร์โมนเพิ่มน้ำตาลในเลือด) จากเซลล์ของตับอ่อนชนิดที่เรียกว่า แอลฟาเซลล์ ( Alpha cell) ซึ่งควบคุมการผลิตน้ำตาลจากตับ(Liver) ให้ลดลง ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ความเข้มข้นของ GLP-1 จะลดลงแต่การตอบสนองของอินซูลินต่อ GLP-1 ยังดีอยู่
ซาซ่ากริปติน เป็นยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ DPP-4 จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำ งานของเอนไซม์ DPP-4 เป็นเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานกลูโคสหรือหลังมื้ออาหาร ซึ่งมีผลทำให้การทำลายฮอร์โมนอินครีตินในกระแสเลือดช้าลง ระดับความเข้มข้นของอินครีตินในเลือดจะเพิ่มขึ้น จึงช่วยลดระดับน้ำตาลช่วงที่อดอาหารและช่วงหลังอาหารได้ โดยการลดลงจะสัม พันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ยาซาซ่ากริปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาซาซ่ากริปติน:
- ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) สำหรับรับประทาน ขนาด5 และ 5 มิลลิกรัม
ยาซาซ่ากริปตินมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาซาซ่ากริปตินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. เด็ก : ยังไม่มีการศึกษาถึงข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ในเด็ก การใช้ ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข. ขนาดยานี้สำหรับการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่: เช่น ใช้ยา 2.5 - 5 มิลลิกรัมวัน ละ 1 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
ค. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่องในผู้ใหญ่: เช่น
- ผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไต (Creatinine Clearance) มากกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาที: ใช้ยา 5 - 5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไต (Creatinine Clearance) น้อยกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาที: เช่น ใช้ยา 2.5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้ป่วยไตวายระดับรุนแรงหรือผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องมีการล้างไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม: เช่น ใช้ยา 2.5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งภายหลังการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
- ยังไม่มีการศึกษาถึงขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตผ่านเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal dialysis)
ง. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่องในผู้ใหญ่: เช่น ใช้ยา 2.5 - 5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง
จ. ขนาดยาในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4/5: เช่น 2.5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ในรายการยาที่มีผลต่อยาซาซ่ากริปตินที่หัวข้อ ยาซาซ่ากริปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร)
อนึ่ง เอนไซม์ CYP3A4/5 (Cytochrome P450 3A4/5) คือ เอ็นไซม์สร้างจากตับและลำไส้ที่ทำหน้าที่ในการทำลายและขจัดสารต่างๆรวมทั้งยาต่างๆที่เรารับประทานเพื่อการรักษาโรคต่างๆด้วย ดังนั้นหากรับประทานยาซาซ่ากริปตินคู่กับยาชนิดใดๆที่ยับยั้งการทำงานของเอน ไซม์ CYP3A4/5 จะส่งผลทำให้เอนไซม์ที่ทำลายยาซาซ่ากริปตินลดลง ดังนั้นจึงควรลดขนาดยาซาซ่ากริปตินลง)
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมทั้งยาซาซ่ากริปติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซาซ่ากริปตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาซาซ่ากริปตินซึ่งเป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวัน
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้
- แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 12.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น.ทันทีที่นึกขึ้นได้
- แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัด เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 21.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 8.00 น.ของวันถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
ยาซาซ่ากริปตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยังไม่มีรายงานผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาซาซ่ากริปตินที่ชัดเจน เนื่องจากการศึกษาที่มีเป็นการใช้ยาซาซ่ากริปตินร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ชนิดอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่สามารถเปรียบเทียบอัตราการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ที่พบจากการศึกษาทางคลินิกของยาชนิดหนึ่งกับยาชนิดอื่นได้โดยตรง
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่มีรายงาน เช่น
- อาการบวมตามอวัยวะส่วนปลาย (Peripheral edema) เช่น เท้า ขา มือ แขน เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาเบาหวานกลุ่ม Thiazolidinediones เช่นยา พิโอกลิทาโซน (Pioglitazone)
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่มกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน (Insulin secretagogues) เช่นยา ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) และ ไกลพิไซด์ (Glipizide)
- อาการอื่นๆ เช่น อาการปวดหัว , ปวดท้อง, โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
มีข้อควรระวังการใช้ยาซาซ่ากริปตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซาซ่ากริปติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันไวเกิน (ภาวะไวเกิน) ระดับร้ายแรง เช่น แอนาฟิเล็กซิส (Anaphylaxis) หรือ แองจิโออีดีมา (Angioedema, อาการบวมทั่วตัวจากการขยายตัวของหลอดเลือดแดง) ต่อยาในกลุ่มเดียวกันกับยาซาซ่ากริปตินคือ ยาที่มีผลยับยั้งการทำ งานของเอนไซม์ ดีดีพี-4 (DDP-4 inhibitor) เช่น ไวดากริปติน (Vidagliptin), ซิตากริปติน (Sitagliptin), ไลนากริปติน (Linagliptin)
- มีรายงานการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis) หลังจากผู้ป่วยได้ รับยาซาซ่ากริปติน แต่ยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเกิดตับอ่อนอักเสบว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่หากใช้ยานี้
- การใช้ยาซาซ่ากริปตินร่วมกับยาในกลุ่มกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่นยา ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide), ไกลพิไซด์ (Glipizide) ฯลฯ สามารถทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้ ดังนั้นอาจจำเป็นต้องลดขนาดยากลุ่มกระตุ้นการหลั่งอินซูลินลง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโดยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- การใช้ยานี้ในช่วงกำลังตั้งครรภ์ มีเฉพาะการศึกษาที่ไม่พบอันตรายในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ดีและเพียงพอสำหรับยืนยันการใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์เพราะไม่สามารถทำนายผลในคนได้เสมอไป ดังนั้นควรเลือกใช้ยานี้เฉพาะมีความจำเป็นและควรได้รับการพิจารณาประโยชน์จากแพทย์แล้ว
- การใช้ยาในช่วงให้นมบุตร มีการศึกษาพบว่ายานี้ถูกขับออกทางน้ำนมในหนู แต่ไม่มีข้อมูล ในคน ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในสตรีระหว่างให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซาซ่ากริปตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาซาซ่ากริปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซาซ่ากริปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ยาซาซ่ากริปตินถูกทำลายผ่านทางเอนไซม์หลักคือ CYP3A4/5 ดังนั้นหากใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีผลต่อการยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4/5 ที่ออกฤทธิ์ได้แรง เช่นยา คีโตโคลนาโซล (Ketoconazole: ยาต้านเชื้อรา), อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir: ยาต้านไวรัส), อินดินาเวียร์ (Indinavir: ยาต้านไวรัส), ริโทนาเวียร์ (Ritonavir: ยาต้านไวรัส), ซาควินาเวียร์ (Saquinavir: ยาต้านไวรัส), เนวฟินาเวียร์ (Nelfinavir: ยาต้านไวรัส), เนฟฟาโซโดน (Nefazodone: ยาต้านซึมเศร้า), คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) จะมีผลทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4/5 ที่ใช้ในการทำลายยาซาซ่ากริปติน ดังนั้นเมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันกับยาซาซ่ากริปติน จึงควรจำกัดขนาดยาซาซ่ากริปตินที่ควรรับเพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาซาซ่ากริปติน
ควรเก็บรักษายาซาซ่ากริปตินอย่างไร?
แนะนำเก็บยาซาซ่ากริปติน: เช่น
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด และแสงสว่าง ที่กระทบยาได้โดยตรง
- หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
- ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว
- โดยควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาซาซ่ากริปตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซาซ่ากริปติน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Onglyza (อองไกลซา) | Bristol-Myers Squibb |
บรรณานุกรม
- เนติ สุขสมบูรณ์. การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยเบาหวาน. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2558.
- Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 21th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2013-14.
- Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
- Product Information: Onglyza, Saxagliptin, Bristol-Myers Squibb, Thailand.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica;2013
- https://en.wikipedia.org/wiki/Discovery_and_development_of_dipeptidyl_peptidase-4_inhibitors [2021,Nov21]
- https://reference.medscape.com/drug/onglyza-saxagliptin-999211 [2021,Nov20]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a610003.html [2021,Nov20]