เลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน(Ketone)จากเบาหวาน หรือภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน(Diabetic ketoacidosis ย่อว่า DKA หรือ Ketoacidosis) คือ ผลข้างเคียงของโรคเบาหวานที่อันตราย โดยพบได้น้อยในผู้ป่วยเบาหวานประเภท2 แต่พบได้เสมอในผู้ป่วยเบาหวานประเภท1 ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตให้ไปเป็นพลังงาน จึงหันไปใช้พลังงานที่ได้จากไขมันแทน ซึ่งในการใช้ไขมันนี้ จะส่งผลให้เกิดสารคีโตน(Ketone)สูงในเลือด ซึ่งสารคีโตนจะมีความเป็นกรด ดังนั้นจึงส่งผลต่อเนื่องให้เลือดมีความเป็นกรดสูงขึ้น ที่เรียกว่า “ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน หรือ ภาวะเลือดเป็นกรด(Ketoacidosis)” ที่เมื่อคีโตนในเลือดสูงขึ้นสาเหตุจากโรค เบาหวาน ก็จะเรียกว่าภาวะนี้ว่า “ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน หรือ ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน(Diabetic ketoacidosis)”

ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นเมื่อ น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(mg/dL), ค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือด(pH)ต่ำกว่า 7.3, ค่าคีโตนในเลือดสูงกว่า 0.6 Millimoles/liter, และตรวจพบสารคีโตนในปัสสาวะซึ่งในภาวะปกติจะไม่มีสารนี้ในปัสสาวะ

ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน พบได้ในทุกอายุ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศหญิงได้สูงกว่า มีรายงานพบโรคนี้ได้ประมาณ 4.6-8 รายต่อผู้ป่วยเบาหวาน 1,000คน แต่เมื่อแยกเป็นในผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1จะพบภาวะนี้ได้ประมาณ 4 -25% โดยในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบภาวะนี้ได้น้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา

อะไรเป็นสาเหตุเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน?

เลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน

สาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้น/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน คือ ผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 สาเหตุอื่นนอกจากนั้นที่พบได้ทั้งในผู้ป่วยเบาหวานประเภท1 และประเภท2 ได้แก่

ก. การขาดยาอินซูลิน: เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะที่เกิดในผู้ป่วยเบาหวานประเภท1 เช่น ผู้ป่วยลืมใช้ยาอินซุลิน ผู้ป่วยติดสุรา ติดสารเสพติด ผู้ป่วยไม้ไปพบแพทย/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจในค่าใช้จ่ายของยานี้

ข. การติดเชื้อ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

ค. ผลข้างเคียงจากยาอื่นๆบางชนิด: เช่น ยารักษาทางจิตเวช (เช่นยา Risperidone, Clozapine, Olanzapine), กลุ่มยาสเตียรอยด์(เช่นยา Corticosteroid), การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การใช้สารเสพติด

ง. ภาวะ/โรคบางชนิดที่ก่อให้ร่างกายมีภาวะเครียดสูง: เช่น Cushing’s disease, สภาพโตเกินไม่สมส่วน, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, การตั้งครรภ์, การได้รับอุบัติเหตุรุนแรง, ผู้ได้รับการผ่าตัด

จ. มีปัญหาสุขภาพจิต ที่ทำให้มีความเครียดทางอารณ์สูง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน?

ผู้มีมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานที่

  • เป็นโรคเบาหวานประเภท1 โดยเฉพาะอยู่ในวัยที่ยังดูแลตนเองได้ไม่ดี คือช่วงวัยต่ำกว่า 19 ปี
  • มีการติดเชื้อ โดยเฉพาะที่ทำให้มีไข้สูง
  • มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย
  • ดื่มสุรา
  • สูบบุหรี่
  • มีภาวะเครียดมาก

ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน จะเป็นอาการหลายอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันมักเกิดภายใน 24 ชัวโมง ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อยมาก และปัสสาวะแต่ละครั้งจะมีปริมาณน้ำปัสสาวะมาก
  • ใบหน้าแดง(Flushed face)
  • กระหายน้ำมาก ปากแห้ง และผิวแห้ง ซึ่งคือ ภาวะขาดน้ำรุนแรง
  • หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเร็ว
  • หายใจเร็ว หายใจลึก ต้องออกแรงหายใจ/หายใจลำบาก และลมหายใจมีกลิ่นผลไม้
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • สับสน
  • อ่อนล้ามาก
  • น้ำตาลในเลือดสูงมาก แต่ประมาณ 10%ของผู้ป่วย ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก
  • คีโตนในเลือดสูง และ ตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ค่าสารเกลือแร่(Electrolyte)ในเลือดผิดปกติ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”โดยเฉพาะในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวในหัวข้อ”สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเป็นโรคเบาหวาน มีโรคประจำตัวอื่น การใช้ยาอินซูลิน การใช้ยาอื่นๆ การดื่มสุรา เสพสารเสพติด อารมณ์ความเครียด การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดู ระดับน้ำตาล ระดับสารคีโตน ระดับสารเกลือแร่ การตรวจปัสสาวะดูภาวะเป็นกรด-ด่าง และดูระดับสารคีโตน การตรวจหาแก๊สออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์จากเลือดแดง(Arterial blood gases)เพื่อบอกความเป็นกรด-ด่างของเลือด

รักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน ได้แก่

  • การป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ โดยทั้งจากการให้ผู้ป่วยบริโภคทางปาก และการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • การแก้ไขระดับเกลือแร่ในเลือดให้กลับมาปกติ โดยการให้สารเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ
  • การลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติที่สุด ด้วยการใช้ยา อินซูลินเป็นหลัก
  • อื่นๆตามสาเหตุและอาการ: เช่น การให้ยาปฏิชีวนะกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาลดไข้กรณีมีไข้ การสูดดมออกซิเจนกรณีมีอาการทางการหายใจ การหยุดยาต่างๆกรณีภาวะนี้เกิดจากยาเหล่านั้น การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกรณีมีอาการจากภาวะนี้ และการให้ยาลดความดันโลหิตกรณีมีความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อนึ่ง การรักษาด้วยวิธีต่างๆเหล่านี้ จะต้องดำเนินไปพร้อมๆกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล และมักต้องให้การรักษาดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤติ

ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ สาเหตุเกิดอาการ การมาโรงพยาบาลได้รวดเร็วหลังเกิดอาการ และสุขภาพร่างกายที่รวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆ ตลอดจนอายุผู้ป่วย ซึ่งถ้าอาการไม่รุนแรง มาโรงพยาบาลได้เร็ว และสุขภาพพื้นฐานเดิมแข็งแรง ไม่ใช่ผู้สูงอายุ แพทย์มักรักษาควบคุมภาวะนี้ได้ภายใน 1-2 วัน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1-5% โดยสาเหตุการเสียชีวิตอาจเกิดจาก หัวใจหยุดเต้นจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะสมองบวม ปอดบวม ภาวะดีไอซี(DIC) และร่างกายติดเชื้อรุนแรง

อนึ่ง ภาวะนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ ถ้าผู้ป่วยยังมีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ”อยู่เหมือนเดิม

ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานที่อาจพบได้ คือ

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยาอินซูลินที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้
  • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ที่เป็นผลข้างเคียงจากยาอินซูลินเช่นกัน ที่จะส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติของ หัวใจ กล้ามเนื้อ และของเส้นประสาท เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว เส้นประสาทอักเสบ/โรคเส้นประสาท
  • ภาวะสมองบวม ซึ่งจัดเป็นผลข้างเคียงที่รุนแรงที่อาจทำให้ผู้ป่วยโคม่าได้
  • อาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน?

โดยทั่วไป ผู้ป่วยภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานจะได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล แต่เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน การดูแลตนเองที่บ้าน ได้แก่

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • กิน/ใช้ ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง พยายามหาวิธีต่างๆที่จะช่วยไม่ให้ลืมใช้ยาอินซูลิน เช่น การตั้งนาฬิกาปลุก/สัญาณเตือนต่างๆ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ”สาเหตุฯ”
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคีโตนในปัสสาวะ ด้วยตนเอง ตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง เพราะการมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เป็นโรคเบาหวาน)จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง จนมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย รวมถึงการมีความเครียดสูง ซึ่งทั้ง2 กรณี เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะนี้
  • ไม่ใช้ยาต่างๆพร่ำเพื่อ ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เอง โดยแจ้งว่าตนเองมีน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้
  • มีบัตร/เอกสาร ที่แสดงตนว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน และมีรายชื่อยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงชื่อโรงพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้พบเห็นจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกต้องเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะหมดสติ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อมีภาวะน้ำตาลสูงในเลือด/เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานที่แพทย์ให้ดูแลตนเองต่อที่บ้าน ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะเกิดทันทีภายใน 24 ชั่วโมง เช่น กระหายน้ำมากขึ้น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้ง มีไข้
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อนบ่อยๆ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดอักเสบ(ในผู้หญิง)
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียเรื้อรัง น้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวานได้อย่างไร?

การป้องกันการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน ได้แก่

  • ใช้ยารักษาเบาหวานตามแพทย์สั่งให้ถูกต้อง เคร่งครัด ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยพิ้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และลดความเครียด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ”สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ” ที่รวมถึง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้สารเสพติด
  • ตรวจเลือดด้วยตนเองตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด และรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เมื่อพบมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากหรือสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • ตรวจปัสสาวะด้วยตนเองตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ และเมื่อมีความเครียดสูง เพื่อดูระดับสารคีโตนในปัสสาวะ และรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที เมื่อพบมีสารคีโตนในปัสสาวะ

บรรณานุกรม

  1. Westerberg,D. Am Fam Physician. (2023);87(5):337-346[2017,July1]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/118361-overview#showall[2017,July1]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Diabetic_ketoacidosis[2017,July1]
  4. https://www.diabetes.org.uk/Guide-to-diabetes/Complications/Diabetic_Ketoacidosis/[2017,July1]
  5. https://medlineplus.gov/ency/article/000320.html[2017,July1]