คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ขนาดลูกตาในมะเร็งจอตา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ขนาดลูกตาในมะเร็งจอตา
มะเร็งจอตา หรือมะเร็งเรติโนบลาสโตมา(Retinoblastoma)เป็นมะเร็งพบทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เป็นมะเร็งตาชนิดพบบ่อยในเด็กเล็ก สถิติเกิดพบประมาณ 1รายต่อเด็กเกิด 17,000 ราย มักพบในเด็กวัย 2-3ปี พบในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิงประมาณ 1.6 เท่า มะเร็งชนิดนี้พบเกิดกับตาข้างเดียวประมาณ75% และพบเกิดทั้งสองตาประมาณ 25%
แพทย์วินิจฉัยโรคในเบื้องต้นได้จาก อาการทางตา, อายุของเด็ก, ประวัติโรคนี้ในครอบครัว, ร่วมกับการตรวจตาจากการส่องกล้อง, และการตรวจภาพลูกตาด้วยซีทีสแกนหรือเอมอาร์ไอ, ผลวินิจฉัยแน่นอนได้จากตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหลังผ่าตัด
ทั่วไป ขนาดลูกตาในมะเร็งเรติโนบลาสโตมามักมีขนาดปกติ แต่ทางคลินิก แพทย์พบมีเด็กมะเร็งเรติโนบลาสโตมาหลายรายที่มีขนาดลูกตาใหญ่ผิดปกติ คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นนำโดย พญ.สุจิวรรณ ประเสริฐเจริญสุข ภาควิชารังสีวิทยาจึงต้องการศึกษาถึงผลกระทบของขนาดลูกตาในมะเร็งชนิดนี้ และได้รายงานผลศึกษาในวารสารการแพทย์ ‘จดหมายเหตุทางแพทย์ ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์(Journal of the Medical Association of Thailand ย่อว่า J Med Assoc Thai)’ ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020
คณะแพทย์ได้ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเรติโนบลาสโตมาของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 47ราย จำนวน54ลูกตาจาก7รายมีโรคทั้งสองตา(ผู้ป่วยช่วง มกราคม 2008-สิงหาคม 2015) และในจำนวนนี้ได้มีการรักษาโดยผ่าตัดลูกตาออกเพื่อการรักษาโรคมะเร็งจอตานี้และมีผลตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
ผลการศึกษา: จากการตรวจขนาดลูกตาจากภาพซีสแกน หรือ เอมอาร์ไอ รวมถึงผลทางพยาธิวิทยาพบว่า
- ไม่มีความต่างอย่างมีความสำคัญทางสถิติในขนาดลูกตาที่เป็นโรคมะเร็งจอตา กับลูกตาปกติ (p=0.47 ในความยาวของแกนลูกตา, p=0.6 ในความยาวเส้นศูนย์สูตร, p=0.42ในปริมาตรลูกตา)
- ความลึกของช่องหน้าม่านตาตื้นขึ้นอย่างมีความสำคัญทางสถิติในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งจอตา(p=0.001)
- ปริมาตรลูกตามีความสัมพันธ์น้อยกับปริมาตรของก้อนมะเร็ง
- ขนาดลูกตาที่ใหญ่ขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างสำคัญทางสถิติกับผลพยาธิวิทยาที่พบมะเร็งบุกรุกลูกตาชั้นคอรอยด์, การบุกรุกลูกตาชั้นสเคลรา, และการบุกรุกเส้นประสาทตา(p ต่ำกว่า 05ในทุกรายการ)
คณะผู้ศึกษาสรุปผลศึกษาว่า
- ขนาดลูกตาในมะเร็งเรติโนบลาสโตมาไม่มีความแตกต่างอย่างสำคัญทางสถิติกับขนาดลูกตาปกติ
- กรณีมะเร็งเรติโนบลาสโตมามีขนาดลูกตาใหญ่กว่าขนาดตาปกติจะสัมพันธ์อย่างมีความสำคัญทางสถิติกับพยาธิสภาพของโรคที่มีการบุกรุกรุนแรงชั้นเนื้อเยื่อต่างๆของลูกตา
บรรณานุกรม
J Med Assoc Thai 2020;103(7):632-8