คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อาหารและโรคไทรอยด์ (ตอน3/ตอนจบ)

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อาหารและโรคไทรอยด์ (ตอน 3 / ตอนจบ)

Angela M, Leung และ  Gonzalo J. Acosta แพทย์โรคต่อมไร้ท่อ จาก UCLA Health and the VA Greater Los Angeles Healthcare System สหรัฐอเมริกาและ สมาคมโรคไทรอยด์ สหรัฐอเมริกา (American Thyroid Association) ได้เขียนเผยแพร่ในข่าวสารการแพทย์  Medscape oncology ทางอินเทอร์เนต เมื่อ 18มกราคม 2021 ในเรื่องอาหารที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าน่าสัมพันธ์กับโรคไทรอยด์ ซึ่ง สรุปโดยทั่วไป อาหารที่เกี่ยวข้องกับโรคไทรอยด์ ได้แก่ ไอโอดีน, อาหารกลุ่มอาจทำให้เกิดคอพอก(Goitrogens) ,เกลือแร่/แร่ธาตุบางชนิดที่ร่างกายต้องการปริมาณเล็กน้อย, และอื่นๆ

บทความตอน 3 (ตอนจบ) นี้ จะสรุปเฉพาะในเรื่องอาหารกลุ่มแร่ธาตุต่างๆ, และกลุ่มอื่นๆ  ส่วนอาหารกลุ่ม ไอโอดีน, และอาหารกลุ่มอาจทำให้เกิดคอพอก ได้เขียนไปแล้วในตอน 1 ,และตอน 2 ตามลำดับ

อาหารกลุ่มแร่ธาตุ/เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการในปริมาณเล็กน้อย (Trace minerals): ได้แก่

  • ซีลีเนียม: แร่ธาตุชนิดนี้ร่างกายต้องการในปริมาณเล็กน้อย ทั่วไปร่างกายมักได้รับอย่างเพียงพอจากอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ เช่น ขนมปัง ธัญพืช เนื้อสัตว์  เนื้อสัตว์ปีก ปลา และไข่
    • มีบางการศึกษาพบว่า การขาดซีลีเนียมอาจมีผลให้เกิดคอพอกและ/หรือมีก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ และบางการศึกษาพบว่าการให้ซีลีเนียมเสริมอาหารอาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและช่วยลดอาการผู้ป่วย โรคเกรฟส์ (โรคคอพอกชนิดตาโปน)ได้  
  • อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ ยังไม่มีการแนะนำให้บริโภคซีลีเนียมเป็นอาหารเสริมเพื่อป้องกันโรคของต่อมไทรอยด์
  • สังกะสี, ทองแดง, และแมกนีเซียม: การศึกษาเกี่ยวกับโรคไทรอยด์และแร่ธาตุกลุ่มนี้มีน้อยและให้ผลไม่ชัดเจน ดังนั้น จนถึงปัจจุบันแพทย์จึงยังไม่มีคำตอบของแร่ธาตุกลุ่มนี้กับโรคไทรอยด์
  • ฟลูออไรด์: จนถึงปัจจุบันถึงแม้การศึกษาในสัตว์ทดลองให้ผลว่า การได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปอาจมีผลให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ แต่ผลการศึกษาในคนด้วยวิธีเฝ้าสังเกตติดตามผู้ป่วย ยังไม่พบว่า การบริโภคฟลูออไรด์ปริมาณสูงเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะยังยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์จนเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

อาหารกลุ่มอื่นๆ:

  • อาหารกลุ่มปลอดกลูเตน: ปัจจุบันการศึกษาทางการแพทย์ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอาหารปลอดกลูเตน(โปรตีนชนิดหนึ่งจากพืชในกลุ่มข้าวสาลี ช้าวไรน์ ข้าวบาเล่ย ฯลฯ)กับโรคของไทรอยด์ทั้งในด้านบวกหรือลบ หรือใช้ช่วยรักษา โรคภูมิต้านตนเองของไทรอยด์
  • ชา กาแฟ สุรา: ปัจจุบันการศึกษาทางการแพทย์ยังไม่พบว่า เครื่องดื่มทั้ง3ประเภทเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • วิตามินดี: ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าวิตามินดีช่วยป้องกันหรือรักษาโรคไทรอยด์ชนิดต่างๆได้

แพทย์ผู้เขียนบทความนี้ สรุปว่า:

  • คนทั่วไป รวมถึงผู้เตรียมตั้งครรภ์, ผู้ตั้งครรภ์, และให้นมบุตร ปริมาณไอโอดีนต่อวันในเกณฑ์150 µg/วัน ก็เพียงพอ ยกเว้นแพทย์ผู้ดูแลแนะนำเป็นอย่างอื่น
  • ไม่มีความจำเป็นต้องงดกินอาหารกอยโทรเจน แต่ควรบริโภคในปริมาณที่พอควร
  • กรณีมีโรคคอพอกตาโปน(โรคเกรฟส์) ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาในเรื่องการใช้ซีลีเนียมเสริมอาหาร ไม่ควรซื้อรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
  • กรณีมีการโฆษณาชวนเชื่อสรรพคุณอาหารเสริมต่างๆที่จะป้องกันหรือรักษาโรคไทรอยด์ได้ ไม่ควรหลงเชื่อซื้อบริโภคเพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนทางการแพทย์ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนซื้อบริโภคเสมอ

บรรณานุกรม

https://www.medscape.com/viewarticle/943151 [2021,Oct18]