คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อาหารและโรคไทรอยด์ (ตอน2)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
Angela M, Leung และ Gonzalo J. Acosta แพทย์โรคต่อมไร้ท่อ จาก UCLA Health and the VA Greater Los Angeles Healthcare System, สหรัฐอเมริกา และ สมาคมโรคไทรอยด์ สหรัฐอเมริกา (American Thyroid Association) ได้เขียนเผยแพร่ในข่าวสารการแพทย์ Medscape oncology ทางอินเทอร์เนต เมื่อ 18มกราคม 2021 ในเรื่องอาหารที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าน่าสัมพันธ์กับโรคไทรอยด์ ซึ่ง สรุปโดยทั่วไป อาหารที่เกี่ยวข้องกับโรคไทรอยด์ ได้แก่ ไอโอดีน, อาหารกลุ่มอาจทำให้เกิดคอพอก, เกลือแร่/แร่ธาตุบางชนิดที่ร่างกายต้องการในปริมาณเล็กน้อย, และอื่นๆ
บทความตอน2นี้ จะสรุปเฉพาะในเรื่อง ‘อาหารกลุ่มอาจทำให้เกิดคอพอก’, ส่วนอาหารกลุ่มอื่นๆจะทยอยเขียนในตอนที่3(ตอนจบ) ทั้งนี้ในตอน1ได้นำเสนอไปแล้วคือเรื่อง ‘ไอโอดีน’
อาหารกลุ่มอาจทำให้เกิดคอพอก(กอยโทรเจน/Goitrogens): คือ อาหารและสารรวมถึงยาชนิดที่บริโภคแล้วเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดคอพอกด้วยมีคุณสมบัติลดการจับไอโอดีนของเซลล์ต่อมไทรอยด์และยับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ด้วย ซึ่งอาหารในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มผักกะหล่ำทุกชนิด , และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองทุกชนิด
ก. ผักในตระกูลกะหล่ำ: เช่น บรอคโคลิ, กะหล่ำปลี, หน่อไม้ฝรั่ง, กะหล่ำดาว, ผักเคล, ผักกาด, ผักคะน้า, ผักคะน้าฝรั่ง, ผักกาดกวางตุ้ง, ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคอาหารกลุ่มนี้ในปริมาณมากๆต่อเนื่อง ควรบริโภคปริมาณพอควร ‘แต่ไม่จำเป็นต้องเลิกบริโภค’ เพียงแต่บริโภคปริมาณไม่มากในแต่ละวัน, ซึ่งนอกจากทำให้เกิดคอพอกแล้ว อาหารกลุ่มนี้ยังอาจทำให้อาการจากโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน(ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ)รุนแรงขึ้น
ข. ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองทุกชนิด : เช่น ตัวถั่วเหลืองเอง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ฯลฯซึ่งสามารถบริโภคได้เสมอ ในปริมาณพอควรในแต่ละวัน ไม่ให้มากจนเกินไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า ฤทธิ์ของกอยโทรเจนในอาหารกลุ่มนี้ต่อไทรอยด์มีไม่ค่อยมาก และสามารถบริโภคได้ในปริมาณปกติในกรณีของผู้ป่วยภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนที่ได้รับการรักษาด้วยยาไทรอยด์ฮอร์โมน แต่ควรระวังในการใช้นมถั่วเหลืองเลี้ยงทารกแรกเกิด
แหล่งข้อมูล:
- https://www.medscape.com/viewarticle/943151 [2021,Oct18]