คาร์เบนิซิลลิน (Carbenicillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- คาร์เบนิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- คาร์เบนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์เบนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์เบนิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คาร์เบนิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาร์เบนิซิลลินอย่างไร?
- คาร์เบนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาร์เบนิซิลลินอย่างไร?
- คาร์เบนิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
- ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
คาร์เบนิซิลลิน (Carbenicillin) คือ ยาปฏิชีวนะที่จัดอยู่ในกลุ่มยา Penicillin มีฤทธิ์ต่อต้านและทำลายเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบซึ่งรวม Pseudomonas aeruginosa ด้วย แต่ยานี้ไม่สามารถทำลายแบคทีเรียชนิดแกรมบวกได้ ปกติทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และที่ต่อมลูกหมาก (ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ) รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด
แพทย์จะใช้ยาคาร์เบนิซิลลินเป็นทางเลือกในการรักษาโรคโดยต้องอาศัยเงื่อนไข ดังนี้
- แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการโรคต้องตอบสนองกับยานี้
- ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลินมาก่อน
- ต้องไม่มีประวัติมีอาการท้องเสียหลังการใช้ยาปฏิชีวนะ
- ต้องไม่มีโรคหรือปัญหาการทำงานของเกล็ดเลือดหรือป่วยด้วยโรคตับ
- ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคที่เรียเท่านั้น แพทย์จะไม่นำมาใช้รักษาอาการป่วยจาก โรคติดเชื้อไวรัส
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรรับทราบเกี่ยวกับการใช้ ยาคาร์เบนิซิลลิน อาทิเช่น
- การใช้ยาชนิดนี้บ่อยๆเป็นเวลานานๆอาจเกิดการติดเชื้อโรคนอกเหนือจากแบคทีเรีย เช่น โรคเชื้อราติดตามมาได้ แต่แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเปลี่ยนแปลงการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมที่สุด
- หากมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือดหลังการใช้ยานี้ต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีด้วยอาจเกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิด Pseudomembranous colitis
- การใช้ยาคาร์เบนิซิลลินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยลงและเกิดภาวะตั้งครรภ์ตามมา ระหว่างใช้ยานี้จึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชาย
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยตรวจสอบการทำงานของไตรวมถึงระบบโรคเลือดให้เป็นปกติเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
- หากใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับการรักษา
จะเห็นได้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ว่าจะเป็นยาคาร์เบนิซิลลินหรือยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่นๆ ล้วนแล้ว แต่มีข้อควรระวังทั้งสิ้น การจะใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมจึงควรต้องเป็นไปตามคำ สั่งของแพทย์เท่านั้น
คาร์เบนิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาคาร์เบนิซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคติดเชื้อระบบเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก (ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ)
คาร์เบนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาร์เบนิซิลลินคือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างสาร Peptidoglycan ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ในตัวแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
คาร์เบนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์เบนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 382 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 1 และ 5 กรัม/ขวด (Vial)
คาร์เบนิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคาร์เบนิซิลลินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 382 - 764 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้งก่อนอาหารเป็นเวลา 3 - 7 วัน
ข.สำหรับการติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก (ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ):เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 764 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้งก่อนอาหารเป็นเวลา 14 วัน
*อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาฉีด: จะขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคตลอดจนถึงสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย การใช้ยาฉีดจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคาร์เบนิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์เบนิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคาร์เบนิซิลลิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคาร์เบนิซิลลินให้ตรงเวลา
คาร์เบนิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์เบนิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- การรับรสชาติเปลี่ยนไป
- มีไข้
- ผื่นคัน
- อาจพบโรคซีด
- Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)
- เม็ดเลือดขาวต่ำ
- Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ)
- Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilสูง)
- ตับทำงานผิดปกติ
- หากเป็นสตรีอาจพบอาการช่องคลอดอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้คาร์เบนิซิลลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์เบนิซิลลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ภาวะหัวใจล้มเหลว
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานต้องเฝ้าระวังโรคเชื้อราตามมา
- หากพบอาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม มีลมพิษ ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์เบนิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คาร์เบนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์เบนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาคาร์เบนิซิลลิน ร่วมกับยา Tetracycline จะทำให้ประสิทธิภาพของตัวยาคาร์เบนิซิล ลินด้อยลงไป ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองร่วมกัน
- การใช้ยาคาร์เบนิซิลลิน ร่วมกับยา Methotrexate อาจส่งผลให้ระดับยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจนำมาซึ่งอาการข้างเคียงมากมาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- ไม่ควรรับประทานยาคาร์เบนิซิลลิน ร่วมกับอาหารด้วยจะทำให้ลดการดูดซึมของยานี้จนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา
ควรเก็บรักษาคาร์เบนิซิลลินอย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์เบนิซิลลิน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
คาร์เบนิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์เบนิซิลลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
GEOCILLIN (จีโอซิลลิน) | pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbenicillin [2022,March5]
- https://www.drugs.com/cdi/carbenicillin-indanyl.html [2022,March5]
- https://www.mims.com/India/drug/info/carbenicillin/?type=brief&mtype=generic [2022,March5]
- https://www.drugs.com/dosage/carbenicillin.html [2022,March5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/carbenicillin-index.html?filter=2&generic_only=#T [2022,March5]
- https://tajpharma.com/carbenicillin-generics-taj-pharmaceuticals.htm [2022,March5]