ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาท (Neurogenic orthostatic hypotension)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 2 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าคืออะไร?
- ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทคืออะไร?
- อาการของความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทมีอะไรบ้าง?
- ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทเกิดได้อย่างไร?
- ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทพบบ่อยหรือไม่?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาท?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทอย่างไร?
- รักษาความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทรักษาหายหรือไม่?
- ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ป้องกันความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทอย่างไร?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension)
- โรคความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาท
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคไขสันหลัง
- โรคโบทูลิซึม (Botulism)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- กลุ่มอาการจีบีเอส กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (GBS หรือ Guillain-Barre syndrome)
บทนำ
หลายคนคงเคยมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมในขณะเปลี่ยนท่าจากนั่งเป็นยืน หรือนอนเป็นนั่ง อาการผิดปกตินี้คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และเกี่ยวข้องอะไรกับผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาท หรือ โรคเบาหวาน ต้องติดตามบทความนี้ครับ “ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาท (Neurogenic orthostatic hypotension)”
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าคืออะไร?
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าคือ การที่ความดันโลหิต ค่าซีสโตลิค/systolic ลดลง 20 มม.ปรอท/มิลลิเมตรปรอท หรือค่าไดแอสโตลิค/Diastolic ลดลง 10 มม.ปรอท เมื่อมีอาการ เปลี่ยนท่าจากนอนเป็นนั่ง นั่งเป็นยืน หรือการยกศีรษะขึ้นสูง ภายใน 3 นาทีผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม รู้สึกเบาศีรษะหรือหนักๆศีรษะ ตาลาย/ตาพร่า ไม่มีสมาธิ คิดอะไรไม่ออก และอาจเป็นลมหมดสติได้เมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางดังกล่าว
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่ามีสาเหตุพบได้มากมายหลายสาเหตุเช่น ภาวะขาดน้ำ โรคหัวใจ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์) ผู้สูงอายุ ทานยาลดความดันเลือด ยาควบคุมระบบเต้นของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาโรคระบบประสาท เป็นต้น
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทคืออะไร?
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทคือ อาการของความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าที่พบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน อัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขสันหลัง เป็นต้น
อาการของความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทมีอะไรบ้าง?
อาการผิดปกติของภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาท ได้แก่
1. วิงเวียนศีรษะ ตาลาย/ตาพร่า
2. หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
3. อ่อนเพลีย
4. หนักหัว ตึงต้นคอ
5. ไม่มีสมาธิ
6. รู้สึกเบาๆหวิวๆในหัว
7. ล้มลงหมดสติ
โดยอาการที่เป็นนั้นพบในขณะที่เปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นนั่ง หรือนั่งเป็นยืน และ/หรือ ยกศีรษะสูงขึ้น โดยเป็นการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทเกิดได้อย่างไร?
อาการของภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทเกิดขึ้นเนื่องจาก ระบบควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System malfunction) ของสมองที่โดยปกติเมื่อเวลาเปลี่ยนท่าทาง ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายจะควบคุมให้เกิดการเพิ่มแรงต้านทานของหลอดเลือดส่วนปลาย (ของแขน ขา มือ เท้า) และมีการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นทำให้เลือดมีการไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้คงที่ แต่ในกรณีที่ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทนี้มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบประสาท/สมอง จึงส่งผลให้เกิดความดันโลหิตตกในขณะเปลี่ยนท่า ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงเกิดอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทพบบ่อยหรือไม่?
ภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทพบได้ไม่บ่อยในประชากรทั่วไป แต่ในกลุ่มประชากรที่มีโรคประจำตัวหรือในผู้สูงอายุพบได้บ่อย ดังนี้
- ผู้สูงอายุพบได้ประมาณ 10 - 30%
- ในโรคเบาหวานพบได้ประมาณ 7%
- ในโรคพาร์กินสันพบได้ประมาณ 37 - 58% เป็นต้น
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาท?
ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทได้บ่อย ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ยารักษาต่อมลูกหมากโต ยาต้านเศร้า ยาขยายหลอดเลือด
- ผู้ป่วยโรคระบบประสาท เช่น ผู้ป่วยโรคระบบประสาทอัตโนมัติที่ผิดปกติ เนื่องอกสมองส่วนหลัง (Posterior fossa tumor) โรคไขสันหลัง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจีบีเอส (Guillain Barre syndrome: GBS)
- ได้รับสารพิษโบทูไลนัมท็อกซิน (Botulinum toxin)
- โรคเบาหวาน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ผู้ป่วยควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลถ้ามีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่ออาการที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงเป็นบ่อยจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้านานๆมีอาการครั้งหนึ่งและไม่รุนแรง เพียงการปรับตัวปรับพฤติกรรมก็ไม่มีอาการอีก แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์
แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทได้โดยพิจารณาจาก
- อาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจวัดความดันโลหิตในท่านอนและเปลี่ยนเป็นวัดในท่ายืนและ/หรือนั่ง ถ้ามีอาการและความดันซีสโตลิคตกลง 20 มม.ปรอท, ค่าความดันไดแอสโตลิคตกลง 10 มม.ปรอท, ภายใน 3 นาที ก็สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้
- ต่อจากนั้นแพทย์จะหาสาเหตุของภาวะนี้ต่อไป เช่น
- ดูประวัติการใช้ยาต่างๆ
- และประวัติโรคทางระบบประสาทที่เป็นสาเหตุ
รักษาความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทอย่างไร?
การรักษาภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทขึ้นกับสาเหตุที่ก่อให้ เกิดภาวะนี้ เช่น ถ้าเกิดจากยาก็ต้องปรับเปลี่ยนยา เป็นต้น
นอกจากนั้นคือ การใช้ยาต่างๆ เช่น
- ยาที่ทำให้มีการเพิ่มแรงต้านของหลอดเลือดส่วนปลาย เช่น
- ยากลุ่ม Alpha-1 adrenergic receptor agonist เช่น ยา Midodrine
- ยาที่มีฤทธิ์เกิดการคั่งของเกลือโซเดียมในเลือดมากขึ้น เช่น ยา 9-alpha-Fluorohydrocortison/synthetic mineralocorticoid/Fludrocortisone
- ยาลดการปัสสาวะกลางคืน เช่น ยากลุ่ม Vasopressin-analogue ชื่อยา Desmopressin เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร?
ผู้ป่วยความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทควรดูแลตนเอง/ปรับพฤติกรรม โดย
- ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งนานๆ
- พยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว
- การเปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นนั่งหรือยืน ควรให้มั่นคงก่อนลุกยืนหรือเดิน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากขึ้นอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน
- ไม่ให้ท้องผูก
- หลีกเลี่ยงการออกแรงยกของหนักหรือไอจามแรงๆ
- ใช้ผ้ายืด (Elastic bandage) รัดน่อง ท้อง
- ทานอาหารที่มีแป้ง โดยแบ่งเป็นมื้อเล็กๆแต่ทานบ่อยขึ้น
- ทานอาหารเค็มขึ้น
- หากเป็นผู้ป่วยโรคไตหรือโรคหัวใจต้องระมัดระวังในเรื่องการดื่มน้ำและอาหารเค็ม จึงควร ต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนการปฏิบัติ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติมากขึ้น ไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษา เช่น มีอาการบวมเนื้อตัว แขน ขา มือ เท้า มากขึ้น ซึม สับสน ปัสสาวะออกน้อยลง ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด/รีบไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทรักษาหายหรือไม่?
การพยากรณ์โรคของภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทขึ้นกับ สาเหตุว่าเป็นจากสาเหตุอะไร ถ้าเป็นจากยา การหยุดยา ปรับเปลี่ยนยาอาการก็ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นจากโรคต่างๆก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ต้องค่อยๆปรับยาที่รักษาอาการนี้ร่วมกับปรับการรักษาแต่ละสาเหตุนั้นๆ
อนึ่ง กิจกรรมต่างๆในการดำเนินชีวิตประจำวันก็ไม่มีอันตรายต่อชีวิต ยกเว้นเกิดอุบัติเหตุที่มีการ “หมดสติ” ร่วมด้วย
ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาท เช่น
- การล้มจากอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม ที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆรวมถึง กระดูกหัก
- อาจส่งผลให้เกิดอาการหลอดเลือดทางสมองในช่วงที่มีความดันโลหิตต่ำ
- อาจส่งผลให้เกิดอาการจากโรคหัวใจในช่วงความดันโลหิตต่ำ
ป้องกันความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทอย่างไร?
การป้องกันภาวะความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าเหตุระบบประสาทคือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยง (ที่ป้องกันได้) ต่อการเกิดภาวะนี้ดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งการป้องกันที่สำคัญคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
แต่เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงหรือเกิดปัจจัยเสี่ยงขึ้นแล้วก็ต้องดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาทต่างๆ (เช่น โรคพาร์กินสัน อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง) นอกจากนั้นการควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุได้ยังช่วยให้แพทย์สามารถลดขนาดการใช้ยารักษาควบคุมโรคเหล่านั้นลงได้ซึ่งเป็นการช่วยลดอีกปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุของภาวะนี้อันเกิดจากยาเหล่านั้น
นอกจากนั้นคือการดูแลตนเอง/การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดภาวะนี้เช่นเดียวกับดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’