ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 มิถุนายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนเกิดได้อย่างไร?
- อะไรคือปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุจากความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน?
- ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้อย่างไร?
- รักษาโรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้อย่างไร?
- โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน หรือ ความดันโลหิตตกเมื่อลุกยืน หรือ ความดันตกในท่ายืน (Orthostatic hypotension หรือ Postural hypotension) คือโรค/ภาวะเมื่อเปลี่ยนท่าจากนอนหรือจากนั่งเป็นลุกยืน จะส่งผลให้มีความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงต่ำลงหรือตกลงทันทีอย่างรวดเร็วภายในประมาณ 3 นาที โดยความดันโลหิตตัวบน (Systolic)จะต่ำ/ตกลงอย่างน้อย 20 มิลลิเมตร (มม.) ปรอท (mm Hg) และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic) ต่ำ/ตกลงอย่างน้อย 10 มม.ปรอท แต่โดยทั่วไปมักมีอาการเสมอเมื่อความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มม.ปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 60 มม.ปรอท
ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนเป็นภาวะ/โรคพบบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะเมื่ออายุมาก กว่า 65 ปี (ประมาณ 20 - 30% ของผู้สูงอายุทั้งหมด) และพบมีอาการประมาณ 5 - 10% ในวัยกลางคน ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน
โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนเกิดได้อย่างไร?
โดยทั่วไปเมื่อเราเปลี่ยนท่าจากนอนหรือจากนั่งเป็นลุกยืนทันที จะส่งผลให้เลือด/โลหิตที่มีการไหลเวียนเลือดประมาณ 500 - 1,000 มิลลิลิตร (มล.) ตกลงไปคั่งอยู่บริเวณขาทั้งสองข้างและในบริเวณช่องท้องตามแรงโน้มถ่วง/แรงดึงดูดของโลก จึงส่งผลให้เกิดเลือดไม่พอในการไหลเวียน ซึ่งในภาวะปกติร่างกายจะชดเชยเพื่อให้ความดันโลหิตอยู่ในภาวะปกติโดยกระบวนการของระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system) กล่าวคือ มีการเพิ่มแรงต้านทานในหลอดเลือด, มีการเพิ่มการไหลกลับเข้าหัวใจของเลือดดำ, และมีการเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ, แต่ในคนที่กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ภาวะขาดน้ำ หรือ โรคหัวใจและหลอดเลือด การลุกยืนทันทีจึงส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ/ตกทันที จึงก่อให้เกิดภาวะ/โรคที่เรียกว่า “ความดันโลหิตต่ำ/ตกเมื่อลุกยืน”
อนึ่ง:
- ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนที่มีสาเหตุเกิดจากภาวะชั่วคราวที่ไม่ใช่เกิดจากโรค เรียก ภาวะนี้ว่า “ภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ/ความดันโลหิตตกเมื่อลุกยืนเฉียบพลัน (Acute orthostatic hypotension)”ซึ่งมักมีความดันโลหิตต่ำได้มากจึงมักก่ออาการเป็นลมได้
- แต่เมื่อมีสาเหตุมาจากโรค อาการมักเป็นๆหายๆ ความดันโลหิตมักต่ำลงไม่มากจึงไม่ค่อยเกิดการเป็นลม เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะ/โรคความดันต่ำ/ตกเมื่อลุกยืนเรื้อรัง (Chronic orthostatic hypotension)”
อะไรคือปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุของความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้แก่
- ผู้สูงอายุ: จากการมีโรคเรื้อรัง/ โรคประจำตัวต่างๆและการเสื่อมถอยของเซลล์ทุกชนิดในร่างกายรวมทั้งของ หัวใจ หลอดเลือด และระบบประสาทอัตโนมัติ และร่วมกับผู้สูงอายุมักไม่ค่อยได้ดื่มน้ำ ร่างกายจึงมักอยู่ในภาวะขาดน้ำเสมอ
- ภาวะขาดน้ำ: จึงส่งผลให้ปริมาตรของน้ำในหลอดเลือดลดลง ส่งผลให้ปริมาตรของเลือดในร่างกาย/ในหลอดเลือดลดลง เมื่อเกิดเลือดคั่งในขาหรือในช่องท้องจึงเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้ง่าย เช่น จากดื่มน้ำน้อย จากอากาศร้อน เหงื่อออกมากจากเล่นกีฬาหรือทำงานกลางแจ้ง หรือการสูญเสียน้ำจากท้องเสียรุนแรง
- โรคขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต เช่น โรคแอดดิสัน (Addison’s disease)
- โรคของระบบประสาทอัตโนมัติ (Neurogenic orthostatic hypotension)
- โรคสมองบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคสมองเสื่อม
- การดื่มสุราเรื้อรัง
- โรคซีด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคเบาหวานและ/หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- การเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เช่น ภาวะมีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)
- มีเลือดออกมาก เช่น อุจจาระเป็นเลือด หรือ จากเลือดกำเดาออกมาก
- ขาดการเคลื่อนไหวต้องนอนในเตียงนานๆ/ ภาวะนอนติดเตียง เช่น หลังการผ่าตัดใหญ่
- ภาวะมีความเครียดสูง วิตกกังวลสูง หรือตกใจมาก
- คนที่มีอาการความดันโลหิตต่ำหลังกินอาหารมื้อหลักในปริมาณสูงโดยเฉพาะอาหารแป้งซึ่งมักจะเกิดอาการความดันโลหิตต่ำภายในประมาณ 2 ชั่วโมงหลังกินอาหารมื้อใหญ่ (Postprandial hypotension)
- เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาคลายเครียด ยาลดความดัน
ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนมีอาการอย่างไร?
อาการจากความดันโลหิตต่ำ/ตกเมื่อลุกยืน ได้แก่ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อลุกยืนทันทีจากท่านั่งหรือนอนเป็นท่ายืน ซึ่งมักพบเกิดบ่อยในช่วงตื่นนอนเช้า, หลังการออกกำลังกาย, หรือหลังการเบ่งอุจจาระ โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่
- มึนงง วิงเวียน
- เซ
- เหนื่อย
- มือสั่น
- หูไม่ได้ยิน หรือได้ยินน้อยลง หูอื้อ
- ตาพร่า
- คลื่นไส้
- อาจปวดหัว ปวดต้นคอ หรือปวดไหล่
- ขาชา
- เมื่อความดันโลหิตต่ำมากอาจเป็นลม หมดสติ
แพทย์วินิจฉัยโรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้จาก
- ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติการงานและการเล่นกีฬา
- การตรวจวัดสัญญาณชีพ (ความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ และอุณหภูมิร่างกาย)
- การตรวจวัดความดันโลหิตในท่ายืนเมื่อลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในผู้ป่วยที่ลุกยืนไม่ได้อาจวัดความดันโลหิตในท่านอนเอนประมาณ 60 องศา
- การตรวจร่างกาย
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- การตรวจอัลตราซาวด์ดูการทำงานของหัวใจ(เอคโคหัวใจ)
- ตรวจเลือดดูค่าต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือด, เกลื่อแร่ในเลือด
- ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC ดูโรคซีด
รักษาโรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน คือ การรักษาสาเหตุ, การรักษาโดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต, และการรักษาโดยการใช้ยา
ก. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การรักษาโรคเบาหวานเมื่ออาการเกิดจากโรคเบาหวาน, การรักษาปรับสมดุลของน้ำและเกลือแร่เมื่ออาการเกิดจากการขาดสมดุลของเกลือแร่, หรือการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่ออาการเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com)
ข. การรักษาโดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: เช่น
- ไม่เปลี่ยนท่าทางทันที ต้องค่อยๆลุกหลังจากนอน ต้องนั่งพักก่อนเพื่อปรับการไหลเวียนเลือด
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม และดื่มน้ำให้มากขึ้นตามภาวะที่เกิดการเสียน้ำ เช่น เมื่ออากาศร้อน เมื่อออกกำลังกาย เมื่อท้องเสีย
- กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณพอควรไม่มากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารแป้งมากๆ
- ใส่ถุงเท้า/ถุงขาที่ช่วยพยุงหลอดเลือดขา (Leg circulation support socks) เมื่อต้องยืนนานๆ
- หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย และออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- ระมัดระวังไม่ให้ท้องผูก และฝึกไม่ให้เบ่งอุจจาระ
- ไม่ก้มเก็บของ ใช้วิธีค่อยๆย่อตัวโดยค่อยๆงอเข่าแทน
- ไม่นอนราบ ควรนอนในท่าเอน/ตะแคงตัวเสมอ
- อาจต้องกินอาหารเค็มขึ้นถ้าเกิดจากมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำทั้งนี้ขึ้นกับคำ แนะนำของแพทย์
- แพทย์จะปรับเปลี่ยนยาเมื่ออาการเกิดจากผลข้างเคียงของยา
- สังเกตเสมอว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยนั้น
- ไม่ตากแดดจัด ไม่ออกกำลังกายจนเหงื่อออกมากเกินไป หลีกเลี่ยงสถานที่อบอ้าว
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
ค. การรักษาโดยการใช้ยา: มักเป็นยากิน เช่น ยา Fludrocotizone เพื่อการปรับสมดุลของน้ำและเกลือโซเดียม, ยาต่างๆไม่ควรซื้อใช้เองควรเป็นยาที่ต้องสั่งใช้โดยแพทย์เพื่อการใช้ยาในปริมาณที่ถูกต้องและป้องกันผลข้างเคียงจากยา เช่น อาการตัว-แขน-ขา-บวม, การเกิด ภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, และภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไปไม่รุนแรง แพทย์รักษาควบคุมได้
ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะนี้ที่พบได้บ่อยเมื่อไม่ระมัดระวังคือ
- การล้มที่อาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ และ
- การเป็นลมหมดสติอาจส่งผลให้อวัยวะต่างๆขาดเลือดโดยเฉพาะสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจส่งผลให้เกิดอัมพาตถาวรได้
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้นใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเมื่ออาการเกิดขึ้นบ่อย ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อหาสาเหตุและเพื่อการรักษาที่เหมาะสม ป้องกันอันตรายที่เกิดจาก การเป็นลม การหมดสติ และการล้ม
การดูแลตนเองเมื่อรู้ตัวว่ามีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน คือ
- เมื่อพบแพทย์ควรปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ให้ถูกต้องครบถ้วน
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วนไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- ไม่ซื้อยากินเอง เมื่อจะซื้อยากินเองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาและรู้ผลข้างเคียงของยาที่กินเสมอ
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’
- เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการจะเป็นลม ควรหาที่นั่งลงเพื่อป้องกันการล้ม
- มีเอกสารติดตัวระบุ ชื่อ, ที่อยู่, ผู้ที่ควรติดต่อ, เป็นโรคอะไร, กินยาอะไรอยู่, รักษาที่โรงพยาบาลไหน, และเลขประจำตัวโรงพยาบาล, ติดตัวเสมอ เมื่อมีภาวะฉุกเฉินหรือเป็นลมจะได้มีคนช่วยอย่างถูกต้อง
ป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้อย่างไร?
การป้องกันโรคความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ หัวข้อย่อย การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’ แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน 2 หัวข้อนั้น ทั้งนี้ที่สำคัญ เช่น
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม และตามปริมาณน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป เช่น ในภาวะเหงื่อออกมาก เป็นต้น
- ป้องกันรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ระมัดระวังการใช้ยาต่างๆและต้องรู้ผลข้างเคียงของยาที่ใช้อยู่เสมอ
บรรณานุกรม
- Bradley, J., and Davis, K. (2003). Am Fam Physician. 68, 2393-2399.
- Lanier,J. et al. (2011). Am Fam Physician. 84, 527-536.
- Phillip A. Low, PA and Tomalia, V A. (2015). J Clin Neurol.;11(3):220-226
- http://en.wikipedia.org/wiki/Orthostatic_hypotension[2020,June6]
- https://emedicine.medscape.com/article/1154266-overview#showall[2020,June6]
- https://rarediseases.org/rare-diseases/orthostatic-hypotension/[2020,June6]