ยาริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids medications)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบรรเทา/ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร หรือ ยาริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids medica tions) ที่มีจำหน่ายทั่วโลกมากมายหลายสูตรตำรับ ถูกนำมาใช้รักษากับผู้ป่วยเป็นจำนวนหลายล้านคนที่ป่วยด้วยโรคริดสีดวงทวาร เพื่อความเข้าใจและรู้จักประเภทของยารักษาโรคริดสีดวงทวาร จึงขอแบ่งยากลุ่มนี้ตามหมวดต่างๆเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ และตรงต่อความต้อง การของผู้ใช้ยาได้ดังนี้

1. แบ่งตามลักษณะการใช้: ได้แก่

  • ยาใช้ภายนอกซึ่งถือเป็นยาใช้เฉพาะที่: เช่น
    • ยาเหน็บทวารหนัก
    • ยาครีม
    • ยาขี้ผึ้งที่ใช้ทาบริเวณตัวริดสีดวงทวาร
  • ยารับประทาน: มักพบเห็นเป็นลักษณะของ ยาแคปซูล และยาเม็ด และถูกจัดอยู่ใน หมวดของยาอันตราย

2. แบ่งตามฤทธิ์ของการรักษา: ยาในหมวดนี้มีความหลากหลายและเป็นทางเลือกของแพทย์และผู้ป่วย โดยขอยกตัวอย่างกลุ่มยาที่นำมาประกอบเป็นสูตรตำรับของการรักษา ดังนี้

  • ยารับประทานแผนปัจจุบัน: ที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง มีความยืดหยุ่น และเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น
  • ยารับประทานแผนโบราณ: ประเภทยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก บรรเทาอาการท้องผูกที่เป็นสาเหตุหนึ่งของริดสีดวงทวาร
  • ยาใช้เฉพาะที่: ออกฤทธิ์โดยตรงต่อบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร ประกอบด้วย
    • ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์
    • ยาชาออกฤทธิ์ลดอาการปวด
    • ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร
    • ยาฆ่าเชื้อและระงับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
    • ยาระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอย่างอ่อนและมีฤทธิ์สมานแผล/สมานการอักเสบ

ทั้งนี้ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาริดสีดวงทวารชนิดใด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • อาการ และความรุนแรงของโรค
  • ความสะดวก ความชอบในการใช้ผลิตภัณฑ์ยาของผู้ป่วย
  • ศักยภาพในการจ่ายค่ายา ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ฯลฯ

กรณีที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้เพียงการบำบัดรักษาโดยลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคริดสีดวงทวาร เช่น ท้องผูก, การนั่ง-ยืนนานเกินไป, หากเพียงปฏิบัติได้ตามคำแนะนำของแพทย์ก็อาจจะหายจากโรคได้เอง

แต่ในทางตรงข้าม หากมีอาการรุนแรง อาจต้องใช้หัตถการทางแพทย์ เช่น การผ่าตัดร่วมกับ ยารับประทาน ยาทาขี้ผึ้ง ยาเหน็บทวาร จึงจะเยียวยาผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ ยังมียากลุ่มอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโดยตรง แต่ถูกนำมาใช้ในเชิงบำบัดอาการให้ทุเลา เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol), หรือใช้ในเชิงป้องกัน เช่น ยาระบายต่างๆ (ยาแก้ท้องผูก) ก็อาจจะถูกนำมาประกอบการรักษาได้เช่นเดียวกัน

*ด้วยข้อมูลดังกล่าวข้างต้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับรักษาโรคริดสีดวงทวาร จึงควรต้องปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ

ยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาริดสีดวงทวาร

ยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการริดสีดวงทวารทั้งชนิดเฉียบพลัน ชนิดเรื้อรัง แบบภายใน และแบบภายนอก
  • รักษาอาการเลือดออกที่ทวารหนัก อันมีสาเหตุจากอาการท้องผูก
  • ยารักษาริดสีดวงทวารบางตัว ช่วยรักษาภาวะเส้นเลือดขอด/หลอดเลือดดำขอด และหลอดเลือดดำผิวอักเสบอีกด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับกลไกการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัว
  • รักษาและบรรเทาอาการปวดจากริดสีดวงทวาร หรืออาการปวดริดสีดวงทวารขณะถ่ายอุจจาระ
  • บรรเทาอาการคัน หรือระคายเคืองในบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร

ยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยารักษาริดสีดวงทวาร แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับตัวยาของยาแต่ละชนิด ดังต่อไปนี้ เช่น

  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อผนังหลอดเลือด: จะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนผ่านบริเวณริดสีดวงทวารได้ดีขึ้น เพิ่มความแข็งแรง และเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ยาบางตัวมีฤทธิ์ทำให้ หลอดเลือดหดตัว จึงลดอาการเลือดออกและลดอาการบวมของแผลริดสีดวงฯ อีกทั้งช่วยให้หัวริดสีดวงฯยุบตัวลง เรามักจะพบในยาชนิดรับประทานที่ประกอบไปด้วยตัวยา เช่น Diosmin, Hesperidin, Aescin, Ginkgo biloba, Rutosides
  • ยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบของริดสีดวง ทำให้แผลริดสีดวงหายได้เร็วขึ้น: ยา กลุ่มนี้ เช่น ยาสเตียรอยด์ เช่นยา Hydrocortisone, Fluocortolone pivalate
  • ยาที่ออกฤทธิ์โดยลดอาการเจ็บปวดบริเวณแผลของริดสีดวง หรือแผลตรงรูทวารซึ่งมักจะใช้ยาชาเป็นส่วนผสม เช่นยา Lidocaine, Cinchocaine
  • ยาปฏิชีวนะสำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งพบมากในบริเวณรูทวารหนัก ซึ่งทำให้แผลริดสีดวงฯหายช้า ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่นยา Framycetin
  • ยาที่เป็นสารระงับและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย (Antiseptic: สารระงับเชื้อ)ที่เป็นคนละกลุ่มกับยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มนี้จะช่วยยับยั้งการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ริดสีดวงฯหรือแผลบริเวณรูทวารหนักหายช้า ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่นยา Resorcinol
  • ยาที่มีฤทธิ์เป็นยาสมานแผล ระงับเชื้อแบคทีเรียได้อ่อนๆ ทำให้อาการระคายเคือง อาการคัน ทุเลาลง ยากลุ่มนี้ เช่นยา Bismuth oxide, Bismuth subgallate, Zinc oxide

ยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สำหรับประเทศไทย ยารักษาริดสีดวงทวารมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ชนิดรับประทาน ในรูปแบบ ยาเม็ด ยาแคปซูล
  • ชนิดเหน็บทวาร
  • ชนิดยาขี้ผึ้ง ใช้ทาบนตัวริดสีดวงฯ และ/หรือแผลที่รูทวารหนัก

การบริหารยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีวิธีการอย่างไร?

การบริหารยา/การใช้ยา หรือ ขนาดการรับประทานยาริดสีดวงทวารแต่ละสูตรตำรับยา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาที่แตกต่างกัน ควรใช้ตามคำแนะนำที่กำกับในเอกสารกำกับยา หรือ ใช้ตามคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร

การใช้ยาเหน็บหรือยาทาขี้ผึ้ง อาจใช้หลักเกณฑ์ในการเลือกใช้โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของการใช้ยา, ความปลอดภัยของผู้ป่วย, อย่างเช่น การใช้ยาเหน็บกับริดสีดวงทวารชนิดริดสีดวงภายใน น่าจะได้ประโยชน์มากกว่ายาทาขี้ผึ้ง หรือการใช้ยาทากับริดสีดวงฯชนิดภายนอกน่าจะเหมาะสมมากกว่ายาเหน็บ

อย่างไรก็ตาม การที่จะเลือกใช้ยารูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นชนิดรับประทาน หรือชนิดเหน็บ หรือยาทา หรือใช้หลายขนานร่วมกัน ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ร่วมกับการยอมรับ/ความสะดวกของผู้ป่วย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร? หากลืมรับประทานยาหรือลืม เหน็บยาควรทำอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยารักษาริดสีดวงทวาร ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารักษาริดสีดวงทวารอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยา หลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • ประวัติแพ้ยา เหน็บทวารชนิดใดหรือไม่
  • อยู่ในภาวะท้องเสีย หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก (อุจจาระเป็นเลือด) หรือไม่
หากลืมรับประทานยาหรือลืมเหน็บยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาหรือลืมเหน็บยารักษาริดสีดวงทวาร สามารถรับประทาน หรือเหน็บยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาหรือเหน็บยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

ก. สำหรับผลไม่พึงประสงค์ของยาเหน็บทวาร หรือยาทาขี้ผึ้งที่รักษาริดสีดวงทวาร ที่อาจพบเห็นได้ เช่น

  • มีอาการระคายเคือง หรือ
  • รู้สึกคันผิวหนังบริเวณที่สัมผัสยา

ข. ส่วนยารับประทานรักษาริดสีดวงทวาร: อาจพบอาการข้างเคียง เช่น

  • ไม่สบายท้องได้เล็กน้อย หรือ
  • บางทีจะพบอาการนอนไม่หลับได้บ้าง
  • พบว่า บางสูตรตำรับยา อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยาในผู้ป่วยบางรายได้ เช่น
    • หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
    • ริมฝีปากบวม ใบหน้าบวม
    • *ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

*อนึ่ง หากพบว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ก่อความรำคาญ ความกังวล และเป็นปัญหาต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยสามารถเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อขอคำ แนะนำและเพื่อแพทย์พิจารณาเปลี่ยนยาที่ใช้รักษาได้

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคริดสีดวงทวารอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยารักษาริดสีดวงทวาร เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่เคยแพ้ยานั้นๆ
  • ห้ามเผลอรับประทานยาเหน็บทวารเป็นอันขาด
  • ไม่สมควรใช้ยาเหน็บทวารกับผู้ที่กำลังมีอาการเลือดออกที่ช่องทวารหนัก หรือผู้ที่อยู่ในภาวะท้องเสียและยังไม่หยุดขับถ่าย
  • ระวังการใช้ยาเหน็บทวารชนิดที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์กับภาวะริดสีดวงที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง ด้วยอาจทำให้อาการของโรคกำเริบมากยิ่งขึ้น
  • การสอดยาเหน็บทวาร ควรสอดเข้ารูทวารหนักจนมิด ไม่ให้มีส่วนของแท่งยาโผล่ยื่นออกมา ด้วยจะเป็นเหตุให้แท่งยาหลุดออกมาได้
  • หากการสอดยาเหน็บฯเข้ารูทวารหนักทำไม่ได้หรือยากและไม่สะดวกต่อการใช้ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาเปลี่ยนรูปแบบของการใช้ยาเป็นลักษณะอื่น เช่น ยาครีม ยาขี้ผึ้งชนิดป้ายแทน
  • สำหรับสูตรตำรับที่มี Aescin (ตัวยารักษาหลอดเลือดของริดสีดวงทวาร) เป็นตัวยาสำคัญ มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่แพ้ยาตัวนี้
  • ไม่สมควรแบ่งยาให้กับผู้อื่นใช้ โดยมิได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อคัดกรองโรคว่าเป็นโรคอะไร ใช่ริดสีดวงทวารหรือไม่
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารักษาริดสีดวงทวารด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

โดยทั่วไป ไม่ค่อยพบว่ายารักษาโรคริดสีดวงทวารทั้ง ชนิดยารับประทาน ยาเหน็บทวาร ยาทาขี้ผึ้ง มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานหรือยาฉีดชนิดใดๆ

แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติหลังใช้ยารักษาโรคริดสีดวงทวารร่วมกับยาใดๆก็ตาม ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที

ควรเก็บรักษายารักษาโรคริดสีดวงทวารอย่างไร?

ควรเก็บรักษายารักษาโรคริดสีดวงทวาร เช่น

ก. สำหรับชนิดยารับประทาน ยาทาขี้ผึ้ง: สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้อง

ข. ส่วนชนิดยา เหน็บทวาร: ให้เก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)

ค. เก็บยาทุกรูปแบบ: เช่น

  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาในที่มิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยารักษาโรคริดสีดวงทวารมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารักษาริดสีดวงทวาร มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anusol (อะนูซอล) Pfizer
Circanetten (เซอคาเนทเทน) Fabrik Evers
Cyclo 3 Fort (ไซโคล 3 ฟอร์ท) Pierre Fabre Medicament
Daflon 500 mg (ดาฟลอน 500 มิลลิกรัม) Servier
Dafomin (ดาโฟมิน) T. O. Chemicals
Derfalon-500 (เดอร์ฟาลอน-500) Umeda
Diosmin 500 (ไดออสมิน 500) Charoen Bhaesaj Lab
Doproct (โดพร็อก) Continental-Pharm
Essaven (เอสเซเวน) sanofi-aventis
Flavon (ฟลาวอน) General Drugs House
Ginkor Fort (กินคอร์ ฟอร์ท) Ipsen
Hemolon (ฮีโมลอน) Greater Pharma
Heroid 500 (ฮีรอยด์ 500) Chew Brothers
Heteriod (ฮีเทอรอยด์) Chew Brothers
Proctosedyl (พรอกโตซีดิล) Sanofi-aventis
Reparil-Dragees (เรพาริล-ดรากีส) Madaus
Scheriproct N (เชริพรอก เอ็น) Intendis
Siduol (ซิดูออล) Eisai
T-Osmin (ที-ออสมิน) T. Man Pharma
Venoruton 300 (วีโนรูตอน 300) Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/condition/hemorrhoids.html [2020,Sept5]
  2. http://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/ [2020,Sept5]
  3. https://www.drugs.com/drug-class/anorectal-preparations.html [2020,Sept5]
  4. http://www.minclinic.ru/drugs/drugs_eng/A/Aescin.html [2020,Sept5]
  5. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fReparil-Dragees%2f%3fq%3danorectal%2520preparation%26type%3dbrief [2020,Sept5]