ทินิดาโซล (Tinidazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ทินิดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ทินิดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทินิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทินิดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ทินิดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทินิดาโซลอย่างไร?
- ทินิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทินิดาโซลอย่างไร?
- ทินิดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคบิดมีตัว โรคบิดอะมีบา (Amebic dysentery)
- การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis)
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)
- เจียอาร์ไดอาซิส (Giardiasis)
- กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram-like Reaction)
บทนำ:คือยาอะไร?
ทินิดาโซล (Tinidazole) คือ ยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านปรสิต เช่น เชื้อโปรโตซัว (Protozoa) เคยถูกใช้อย่างแพร่หลายในแถบยุโรป ยานี้ถูกสังเคราะห์และพัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) มีการวางจำหน่ายหลายชื่อการค้าเช่น Tindamax, Fasigyn, Simplotan และ Sporinex เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าฤทธิ์ของการรักษาอย่างต่อเนื่องและพบว่าทินิดาโซลยังสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้อีกหลายชนิด ทั้งสามารถใช้เป็นยาร่วมรักษาอาการของผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobactor pylori) อีกด้วย ผลข้างเคียงที่โดดเด่นของยาทินิดาโซลเห็นจะได้แก่ อาการไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้หลังรับประทานยา การรับรสชาติของลิ้นเปลี่ยน ไป และอาจพบอาการผื่นคันตามร่างกาย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นและมีการใช้มาก จะเป็นยาชนิดรับประทาน
เมื่อยาทินิดาโซล ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 12% ตับจะคอยทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 - 14 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือด และผ่านออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาทินิดาโซลเป็นยาอันตราย สำหรับการใช้ยากับผู้ป่วยควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ประชาชนไม่ควรไปซื้อหายาทินิดาโซลมารับประ ทานเอง
ทินิดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาทินิดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการติดเชื้อโปรโตซัวชนิด Trichomoniasis (การติดเชื้อทริโคโมแนส) และ Giardiasis (เจียอาร์ไดอาซิส)
- รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณช่องคลอด/ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบค ทีเรีย (Bacterial vaginosis)
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดมีชีวิตไม่ขึ้นกับออกซิเจน (Anaerobic bacterial infections)
- รักษาอาการฝีในปอด (Lung abscess)
- รักษาอาการปอดบวม (Pnenmonia)
- รักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง(ผิวหนังติดเชื้อ)
- ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหลังผ่าตัด
- รักษาการติดเชื้อโรคบิดมีตัวในลำไส้เล็ก (Intestinal amoebiasis)
ทินิดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาทินิดาโซลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำลายและยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมในตัวของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้เชื้อโรคที่ได้รับยาทินิดาโซล หยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ทินิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
ทินิดาโซลมีขนาดการรับประทานอย่างไร?
ยาทินิดาโซลมีขนาดการรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคติดเชื้อProtozoa (โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว)ชนิด Trichomoniasis & Giardiasis: เช่น
- ผู้ใหญ่:เช่น รับประทาน 2 กรัม วันละ1ครั้งเป็นเวลา 1 วัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทาน 50 - 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเป็นเวลา 1 วัน
ข. สำหรับการติดเชื้ออะมีบา (โรคบิดมีตัว)ในลำไส้เล็ก (Intestinal amebiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 2 กรัม วันละ1ครั้งเป็นเวลา 2 - 3 วัน
- เด็ก: เช่น รับประทาน 50 - 60 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3 วัน
ค. สำหรับการติดเชื้อแอนแอโรบิคแบคทีเรีย (Anaerobic bacterial infections): เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 2 กรัม ครั้งเดียวในวันแรก จากนั้นรับประทาน 1 กรัม วันละ1 ครั้ง เป็นเวลา 5 - 6 วัน
- เด็ก: เช่น การใช้ยานี้ในเด็กกรณีโรคนี้จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาชัดเจนถึงผลของยานี้ในเด็ก
ง. สำหรับป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 2 กรัม ครั้งเดียวก่อนเข้ารับการผ่าตัด 12 ชั่วโมง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กกรณีนี้จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาชัด เจนถึงผลของยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยาทินิดาโซลพร้อมอาหาร
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทินิดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก2หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทินิดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทินิดาโซลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ทินิดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทินิดาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีภาวะรบกวนการทำงานของระบบประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน สั่น นอนไม่หลับ
- รู้สึกไม่สบายในกระเพาะและลำไส้
- คลื่นไส้อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- มีไข้
- การรับรสชาติของลิ้นเปลี่ยนไป
- ปวดหัว
- ปัสสาวะมีสีคล้ำ
- ท้องเสีย
- อาจเกิดอาการชัก
- มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- อ่อนเพลีย
มีข้อควรระวังการใช้ทินิดาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทินิดาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และกับผู้ที่แพ้ยาที่เป็นอนุพันธุ์ของยาในกลุ่ม 5-Nitroimidazole (ยาปฏิชีวนะกลุ่มหนึ่ง)
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีความผิดปกติของโลหิตหรือเป็นโรคเลือด รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria:โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่มีความผิดปกติในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง)
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีอาจทำให้มีอาการวิงเวียนหรือการควบคุมร่างกายทำได้ลำบาก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทินิดาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ทินิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทินิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทินิดาโซล ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจทำให้ฤทธิ์ของ ยาWarfarin เพิ่มมากขึ้นและเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาทินิดาโซล ร่วมกับยาบางตัว เช่นยา Ciclosporin, Tacrolimus, หรือ Lithium , อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว
- การใช้ยาทินิดาโซล ร่วมกับยา Colestyramine สามารถรบกวนการดูดซึมยา Colestyramine เข้าสู่ร่างกายและอาจส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามรับประทานยาทินิดาโซล ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมด้วยจะทำให้เกิดพิษและอาการข้างเคียงกับร่างกายหรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจาก ไดซัลฟิแรม (Disulfiram-like reaction: อาการเช่น ตับอักเสบ ผิวหนังขึ้นผื่น มีอาการทางระบบประสาท ลมหายใจมีกลิ่นผิดปกติ) กรณีผู้ป่วยที่ดื่มสุราจะต้องหยุดดื่มเป็นเวลา 3 วันขึ้นไปร่างกายจึงพร้อมที่จะรับยาทินิดาโซล
ควรเก็บรักษาทินิดาโซลอย่างไร?
สามารถเก็บยาทินิดาโซล: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ทินิดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทินิดาโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Asiazole-TN (เอเชียโซล-ทีเอ็น) | Asian Pharm |
Fasigyn (ฟาสซิกายน์) | Pfizer |
Funida (ฟูนิดา) | Nakornpatana |
Gynogena (กายโนจีนา) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Idazole (ไอดาโซล) | Chew Brothers |
Leuco (ลูโค) | Chinta |
Pagyn (แพจิน) | Patar Lab |
T.M. Dazole (ที.เอ็ม. ดาโซล) | T. Man Pharma |
Tinazole (ทินาโซล) | General Drugs House |
Tivagil-500 (ทิวาจิล-500) | P P Lab |
Trichonas (ทริโชนาส) | Central Poly Trading |
Tricogyn-500 (ทริโคจิน-500) | Pharmaland |
Tricozone (ทริโคโซล) | B L Hua |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=tinidazole&page=0 [2022,Jan22]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Fasigyn/?type=brief [2022,Jan22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tinidazole [2022,Jan22]
- https://www.drugs.com/mtm/tinidazole.html [2022,Jan22]
- https://www.drugs.com/cons/tinidazole.html [2022,Jan22]