ไวรัสตับอักเสบ ดี (Viral hepatitis D or Hepatitis D)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? ติดโรคได้กี่แบบ? พบบ่อยไหม?

ตับอักเสบดี (Hepatitis D) หรือ ไวรัสตับอักเสบดี (Viral Hepatitis D) คือ โรคไวรัสตับอักเสบชนิดเกิดจากตับติดเชื้อไวรัส ชื่อ ‘ไวรัสตับอักเสบดี (Hepatitis D virus เรียกย่อว่า HDV)’ ซึ่งอาการจะคล้ายในโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด แยกกันไม่ได้ด้วยอาการ, อาการหลัก เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง ฯลฯ , ทั่วไปโรคนี้จะพบร่วมในคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี, และอีกชื่อของตับอักเสบดี คือ ‘Delta hepatitis’

ไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นไวรัสคนละชนิดกับที่ทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบเอ, โรคไวรัสตับอักเสบบี, โรคไวรัสตับอักเสบซี และ ไวรัสตับอักเสบ-อี, ซึ่งอีกชื่อของไวรัสนี้ คือ ‘Satellite virus’ จากที่ไวรัสนี้จะก่อการติดเชื้อเฉพาะในคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น

ธรรมชาติของไวรัสตับอักเสบดี/ตับอักเสบดี จะเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ (ไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี หรือ อี) กล่าวคือ เมื่อมีการติดเชื้อและมีอาการอย่างเฉียบพลันจะมีอาการชัดเจนและสามารถรักษาได้หายภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เรียกว่าเป็น “ไวรัสตับอักเสบ ดีเฉียบพลัน,” แต่ถ้าเมื่อติดเชื้อแล้วอาการมีไม่มากไม่ชัดเจน แต่โรคจะก่อให้เกิดการอักเสบบาดเจ็บของเซลล์ตับไปเรื่อยๆตลอดเวลาโดยมีการติดเชื้อเรื้อรังนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งตรวจพบโรคได้จากการตรวจเลือดเรียกว่าเป็น ”ไวรัสตับอักเสบดีเรื้อรัง”

ไวรัสตับอักเสบ ดี/ตับอักเสบดี เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสเลือด, และเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตัวนี้(วิธีติดต่อเช่นเดียวกับในไวรัสตับอักเสบบี) พบได้ทุกเพศ และทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็ก เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน

ไวรัสตับอักเสบ ดี /ตับอักเสบดี พบทั่วโลก(มีรายงานในปี 2020 พบประมาณ 12 ล้านคน) มักพบเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศยากจนที่กำลังพัฒนาและมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง เช่นในแถบ อะเมซอน, เอเชีย, อัฟริกา, ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานว่าพบได้ประมาณ 5% ของผู้ที่ป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

ไวรัสตับอักเสบ ดี เกิดได้อย่างไร?

ไวรัสตับอักเสบดี-01

โรคไวรัสตับอักเสบดี/ตับอักเสบดี เกิดจากการติดเขื้อไวรัส ชื่อ ‘ไวรัสตับอักเสบดี(Hepatitis D virus /HDV)’ โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนซึ่งมีวิธีติดต่อหรือติดโรคเช่นเดียวกับในโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยผู้ป่วยได้รับเชื้อผ่านทางการสัมผัสเลือดของคนที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ เช่น จากการให้เลือดหรือให้สารต่างๆที่เป็นส่วนประกอบของเลือด (เช่น เกล็ดเลือดหรือเม็ดเลือดขาว), จากมีแผลและแผลสัมผัสเลือด/สารคัดหลั่งผู้มีเชื้อนี้, จากการใช้เข็มฉีดยาหรือเครื่องใช้อื่นๆที่อาจสัมผัสเลือดผู้มีเชื้อนี้ร่วมกัน(เช่น ฉีดยาเสพติด กรรไกรตัดเล็บ เข็มที่ใช้ในการเจาะหู หรือในการสักลายตามร่างกาย), และจากเลือดของมารดาในขณะคลอดเมื่อมารดามีเชื้อนี้อยู่ (แต่วิธีนี้เกิดได้น้อยมาก)

นอกจากนั้น คือ การติดต่อทางเพศสัมพันธ์เนื่องจากพบเชื้อได้ในน้ำอสุจิหรือน้ำช่องคลอด, แต่การติดต่อด้วยวิธีนี้พบได้น้อยกว่าจากไวรัสตับอักเสบบี

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าสู่ตับและก่อให้เกิดการอักเสบบาดเจ็บของเซลล์ตับ ซึ่งสามารถ ทำให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบได้ทั้งชนิดเฉียบพลัน (ไวรัสตับอักเสบดีเฉียบพลัน) และชนิดเรื้อรัง (ไวรัสตับอักเสบดีเรื้อรัง) ทั้งนี้ขึ้นกับมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ร่วมอยู่ด้วยในลักษณะใด, และอาจขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ย่อยของไวรัสนี้ (ไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ย่อย)

ไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ก่อโรคได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้อง อาศัยสารบางชนิดจากไวรัสตับอักเสบบีช่วยในการขยายพันธุ์ ดังนั้นไวรัสตับอักเสบดีจะก่อโรคได้ต่อเมื่อคนคนนั้นต้องติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วย

ถ้ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี พร้อมๆกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า ไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้มีการติดเชื้อได้ด้วยวิธีการเดียวกัน ซึ่งเรียกการติดเชื้อลักษณะร่วมนี้ว่า “Co-infection” โดยการติดเชื้อลักษณะนี้มักพบในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลัน และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีไปพร้อมกัน, แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ก่อนแล้วและต่อมาเกิดติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีตามมาทีหลังเรียกการติดเชื้อลักษณะนี้ว่า “Super-infection” ซึ่งการติดเชื้อลักษณะนี้มักพบเป็นการติดเชื้อในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

เชื้อไวรัสตับอักเสบดี ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ Mario Rizzetto ในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) โดยมีคนเป็นแหล่งรังโรค, แต่สามารถพบในลิงซิมแปนซีและในหนูยักษ์ (Woodchuck) ได้บ้าง แต่ไม่สามารถติดต่อมายังคนได้, ทั้งนี้เมื่อได้รับเชื้อจะก่อให้เกิดอาการประมาณ 2 - 8 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค)

อนึ่ง: วิธีฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบดี ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบทุกชนิด จะถูกฆ่าด้วย

  • 6 - 10% Hydrogen peroxide
  • 8 - 12% Formaldehyde
  • สาร Chlorine (Free chlorine 500 - 5,000 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร)
  • การต้มในน้ำเดือด(Moist heat) 121 องศาเซียลเซียส (Celsius) นานประมาณ 15 นาที หรือ
  • อบแห้งที่ 170 องศาเซลเซียสนานประมาณ 1 ชั่วโมง, หรือ160 องศาเซลเซียสนานประมาณ 2 ชั่วโมง

อนึ่ง: เชื้อไวรัสชนิดนี้ถ้าอยู่ในเลือดหรือในส่วนประกอบของเลือด เชื้อสามารถอยู่ได้นานตลอดการเก็บรักษา, แต่ถ้าอยู่นอกร่างกายในที่แห้งอาจอยู่ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ โดยในที่เปียกชื้นเชื้ออาจอยู่ได้นานกว่านี้

ไวรัสตับอักเสบ ดี ติดต่อได้อย่างไร?

โรคไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนเช่นเดียวกับในโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยการสัมผัสเลือดและ/หรือส่วนประกอบของเลือดของผู้ป่วยโรคนี้ เช่น จากแผล, จากการให้เลือดหรือให้สารประกอบของเลือด, จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน, จากของใช้ที่สัมผัสเลือดผู้ป่วย เช่น กรรไกรตัดเล็บ เข็มสักผิวหนัง การเจาะหู, นอกจากนั้นที่มีโอกาสติดเชื้อได้แต่พบได้น้อย คือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์, และการติดเชื้อจากมารดาสู่ลูกในขณะคลอด (มีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่าวิธีอื่นๆ)

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไวรัสตับอักเสบ ดี?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี คือ

  • ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เพราะดังกล่าวแล้วว่าการก่อโรคของไวรัสตับอักเสบดี ต้องอาศัยไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ติดยาเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • สำส่อนทางเพศ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • เป็นโรคที่ต้องได้รับการให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเลือดฮีโมฟิเลีย (Hemophilia, โรคทางพันธุกรรมที่มีเลือดออกได้ง่ายจากเลือดแข็งตัวไม่ได้) แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ในปัจจุบันโอกาสติดเชื้อลดลงมากเนื่องจากมีการตรวจคัดกรองเลือดบริจาคอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ไวรัสตับอักเสบ ดี มีอาการอย่างไร?

อาการจากไวรัสตับอักเสบดีทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง จะเช่นเดียวกับในโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิดทั้งนี้เพราะเป็นอาการที่เกิดจากมีการอักเสบของเซลล์ตับเช่นเดียวกัน

ก. อาการของโรคไวรัสตับอักเสบดีเฉียบพลัน: จะเกิดขึ้นประมาณ 2 - 8 สัปดาห์หลังการได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) และมักเกิดขึ้นพร้อมๆกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาการต่างๆจะเช่นเดียวกับอาการของไวรัสตับอักเสบบี คือ อาจมีไข้ได้ทั้งไข้สูง (พบได้น้อยกว่า)หรือไข้ต่ำ (พบได้บ่อยกว่า), มีอาการคล้ายอาการโรคหวัด เช่น ปวดเมื่อยตัว ไม่มีแรง อ่อนเพลีย แต่จะอ่อนเพลียมากกว่าจากไข้หวัดมาก, อาจมีท้องเสียแต่ไม่รุนแรง, เจ็บใต้ชายโครงขวา/เจ็บตับ, ทั้งนี้อาการต่างๆจะเป็นอยู่ประมาณ 3 - 7 วัน ต่อจากนั้นจะเริ่มมีตัวและตาเหลือง(โรคดีซ่าน), ปัสสาวะสีเหลืองเข็ม, และอุจจาระอาจมีสีซีด

หลังจากนั้นอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นช้าๆ ระยะเวลาที่จะกลับมาปกติหรือใกล้ปกติประมาณ 3 - 4 สัปดาห์นับจากเริ่มมีอาการ, แต่ในบางคนอาการอ่อนเพลียยังมีอยู่ต่อเนื่องอีกเป็นเดือนหรือหลายเดือนเพราะการทำงานของตับจะกลับปกติได้ในระยะเวลาประมาณ 16 สัปดาห์

แต่ในรายที่เป็นการติดเชื้อลักษณะที่เกิดซ้อนตามหลังผู้ป่วยที่เป็นไวรสตับอักเสบบี เรื้อรัง (Super-infection) ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงมากจนถึงขั้นตับวายและถึงตายได้

ข. อาการของโรคไวรัสตับอักเสบดีเรื้อรัง: จะเช่นเดียวกับในไวรัสตับอักเสบดี เฉียบพลัน แต่อาการจะน้อยกว่ามาก, ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการเลยก็ได้, แต่ประมาณ 60 - 80% ของผู้ป่วยโรคจะค่อยๆเลวลงไปเรื่อยๆช้าๆจนกลายเป็นโรคตับแข็งในระยะเวลานานหลายปี อาจนานถึงประมาณ 5 - 10 ปี, และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติมากอาจถึงเป็น 100 เท่า, ซึ่งในที่สุดผู้ป่วยทั้งจากโรคตับแข็งหรือจากโรคมะเร็งตับจะตายจากตับวายในที่สุด

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ดี ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ดี/ตับอักเสบดี ได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติการมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ
  • การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibody) เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ดี
  • อาจตรวจหาสารทางพันธุกรรมของไวรัสตับอักเสบดี (ตรวจได้เฉพาะห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่นำสมัย)
  • อาจมีการตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์, ซีทีสแกน(เอกซเรย์คอมพิวเตอร์), และ/หรือเอมอาร์ไอ เพื่อแยกจากโรคตับชนิดอื่นๆโดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • และในผู้ป่วยบางคนอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เช่นกัน

รักษาไวรัสตับอักเสบ ดี อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบดี:

ก. ไวรัสตับอักเสบดีเฉียบพลัน คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ ทั้งนี้ไม่มีประโยชน์จากการให้ยาปฏิชีวนะเนื่องจากยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ และการรักษาไม่ได้ผลจากการใช้ยาต้านไวรัส

การรักษาประคับประคองตามอาการที่สำคัญ คือ เพื่อลดการทำงานของตับโดย พักผ่อนให้เต็มที่ หยุดงาน หยุดเรียน เคลื่อนไหวร่างกายแต่พอควร, ร่วมกับลด/จำกัดการกินอาหารโปรตีนและอาหารไขมัน, แต่กินผักและผลไม้เพิ่มให้มากขึ้นเพื่อช่วยลดการทำงานของตับเช่นกัน, ดื่มน้ำให้ได้มากๆเมื่อแพทย์ไม่ได้แนะนำให้จำกัดน้ำดื่ม, ร่วมกับระมัดระวังในการกินยาต่างๆรวมทั้งสมุนไพร โดยการกินยาต่างๆควรได้รับการแนะนำจากแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกรเพื่อลดการทำงานของตับและลดผลข้างเคียงของยาต่อตับ เพราะตับจะเป็นอวัยวะที่ใช้กำจัดยาส่วนเกิน

ข. ส่วนการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบดีเรื้อรัง คือ การให้ยาต้านไวรัส เช่น ยา Interferon เพื่อช่วยชะลอการเกิดโรคตับแข็งซึ่งอาจจำเป็นต้องฉีดยาต่อเนื่องตลอดไป

*อนึ่ง: การรักษาโรคนี้ด้วย’การปลูกถ่ายตับ’ ยังให้ผลรักษาไม่ชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาเป็นกรณีๆไป

ไวรัสตับอักเสบ ดี รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรค และ ผลข้างเคียงของไวรัสตับอักเสบดี/ตับอักเสบดี:

ก. ไวรัสตับอักเสบดีที่เกิดจากการติดเชื้อชนิดเกิดพร้อมๆกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Co- infection), โรคมักไม่รุนแรงมักรักษาหายได้, มีประมาณ 2 - 5% ที่จะเปลี่ยนไปเป็นไวรัสตับอักเสบดีเรื้อรัง, อย่างไรก็ตามประมาณ 5% ของผู้ป่วยโรคจะรุนแรงถึงขั้นตับวาย และถึงตายในที่สุด

แต่ไวรัสตับอักเสบ ดี ที่ติดเชื้อแบบตามหลังการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (Super-infect ion), โรคค่อนข้างรุนแรงกล่าวคือประมาณ 60 - 70% ของผู้ป่วยจะเกิดตับอักเสบเฉียบพลันรุนแรง และในกลุ่มอาการเฉียบพลันรุนแรงนี้ประมาณ 80 - 90% จะกลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง และประมาณ 5% จะเกิดตับวายและถึงตายในที่สุด

ข. ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบดี คือ การเกิดโรค ตับแข็ง, และการเกิดโรคมะเร็งตับ, ซึ่งทั่วไปพบได้ประมาณ 2 - 20%, แต่บางชนิดย่อยอาจพบได้มากกว่า50%ของผู้ป่วย, โดยเกิดได้ตั้งแต่ช่วงระยะเวลาประมาณ 1-50 ปีหลังการติดเชื้อ, แต่ส่วนใหญ่จะประมาณ 5-10 ปี

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง ที่สำคัญคือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

เมื่อได้พบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบดี การดูแลตนเองคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • ระมัดระวังการกินยาต่างๆรวมทั้ง วิตามิน เกลือแร่ อาหารเสริม และสมุนไพร ทั้งนี้ ยาต่างๆควรเป็นการแนะนำจากแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกรเสมอโดยควรต้องแจ้งเสมอว่าว่าตนเป็นโรคอะไรอยู่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นานเท่าที่ยังมีอาการอ่อนเพลียอยู่ เพื่อลดการทำงานของตับ ดังนั้นจึงควรหยุดงาน/หยุดเรียนช่วงที่ยังอ่อนเพลีย
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆถ้าแพทย์ไม่แนะนำให้จำกัดน้ำดื่มเพราะจะช่วยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นรวมทั้งอาการดีซ่านจะหายเร็วขึ้น
  • กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเกร็ดเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) ลดอา หารโปรตีนและไขมัน เพิ่มผักผลไม้และอาหารแป้งน้ำตาลเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอาหารที่พอเพียง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆแย่ลง เช่น ตัว2ตาเหลืองมากขึ้น, อ่อนเพลียมากขึ้น, หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีห้อเลือดง่าย, และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันไวรัสตับอักเสบ ดี อย่างไร? มีวัคซีนไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบดี/ตับอักเสบดี, แต่การฉีด ’วัคซีนตับอักเสบบี’ ก็สามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคไวรัสตับอักเสบดีได้ เพราะดังกล่าวแล้วว่า ไวรัสตับอักเสบดี ต้องอาศัยไวรัสตับอักเสบบีในการก่อโรคเสมอ ดังนั้นการป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจึงเท่ากับช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบดีได้ด้วย

ส่วนการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบดี ด้วยวิธีอื่นๆที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งในเรื่องของการไม่เสพสิ่งเสพติด, การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย, และการไม่สำส่อนทางเพศ

นอกจากนั้นคือการระมัดระวังในการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้อื่น เช่น จากการเจาะหู การสัก การใช้กรรไกรตัดเล็บ ใบมีดโกน ที่โกนหนวด รวมไปถึงแปรงสีฟันเพราะน้ำลายก็เป็นหนึ่งในสารคัดหลั่งที่อาจมีเชื้อไวรัสนี้ได้

บรรณานุกรม

  1. Hughes, S. et al. (2011). Hepatitis delta virus. Lancet. 378, 73-85.
  2. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hepatitis-d [2022,July9]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Hepatitis_D [2022,July9]
  4. https://www.cdc.gov/hepatitis/hdv/index.htm [2022,July9]
  5. https://www.cdc.gov/hepatitis/hdv/hdvfaq.htm [2022,July9]
  6. https://www.journal-of-hepatology.eu/article/S0168-8278(20)30220-8/fulltext [2022,July9]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/178038-overview#showall [2022,July9]
  8. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/hepatitis-d-virus.html [2022,July9]
  9. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470436/ [2022,July9]