วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไวรัสตับอักเสบบี หรือ Hepatitis B virus เป็นไวรัสที่มีมนุษย์เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ปัญหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ซึ่งพบว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตับอักเสบชนิดเรื้อรัง, โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับในเวลาต่อมา

ปกติแล้วเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะอยู่ในเลือดและในสารคัดหลั่งต่างๆของร่างกายคน การติดต่อเกิดขึ้นจากคนสู่คนผ่านทางการได้รับหรือสัมผัสเลือด, ผลิตภัณฑ์ของเลือดเช่น เกล็ดเลือด, หรือสารคัดหลั่งต่างๆที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วยหรือของผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้ ดังนั้นการติดต่อจึงผ่านทางเลือด เพศสัมพันธ์ การใช้ของมีคมร่วมกันระหว่างบุคคล หรือติดเชื้อจากมารดาที่เป็นพาหะโรคนี้ในขณะคลอดหรือในระยะหลังคลอด

ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี แต่มีแนวโน้มลดลงเนื่องมาจากประสิทธิภาพการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีที่ครอบคลุมเกินกว่า 90% ของประชากรไทย ทั้งนี้การเริ่มให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจะถูกพิจารณาให้แก่ทารกแรกเกิดทุกคนทั่วประเทศตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (ภูมิคุ้มกันฯ) ของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และพบว่าอัตราการติดเชื้อและการเป็นพาหะโรคนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีไข้ต่ำๆในวันแรกๆ จุก/แน่นท้อง ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม โดยทั่วไปการติดเชื้อนี้ในเด็กจะมีอาการน้อยกว่า การติดเชื้อนี้ในผู้ใหญ่ แต่จะมีโอกาสเป็นพาหะเรื้อรังของโรคนี้มากกว่าการติดเชื้อในผู้ใหญ่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจไม่มีอาการหรืออาจมีอาการตับอักเสบก็ได้ การเกิดอาการโรคตับอักเสบแบบเฉียบพลันจะพบในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุผู้ป่วย

ภาวะเจ็บป่วยจากไวรัสตับอักเสบบีสามารถหายได้เองและร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันฯหรืออาจติดเชื้อเรื้อรังไปตลอดชีวิต ซึ่งการติดเชื้อเรื้อรังส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อขณะคลอดจากแม่

มีข้อบ่งใช้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีอย่างไร?

วัคซีนตับอักเสบบี

ข้อบ่งใช้/สรรพคุณของวัคซีนตับอักเสบบีคือ ใช้สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันฯแบบ Active immunization หมายถึง เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนป้องกันโรคแล้ว ร่างกายของมนุษย์จะสามารถถูกกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันฯเฉพาะโรคนั้นขึ้นมาได้ กรณีวัคซีนตับอักเสบบีก็คือเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี มีผลลัพธ์เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและก่อโรคได้ในมนุษย์ โดยกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีได้แก่

1. บุคคลากรทางการแพทย์

2. ผู้ป่วยที่ได้รับผลิตภัณฑ์เลือดเป็นประจำเช่น นักปฏิบัติการในห้องทดลอง/ห้องปฏิบัติการ

3. ผู้ที่อาศัยหรือทำงานในสถานที่สำหรับดูแลคนเช่น เด็กในสถานรับเลี้ยงหรือผู้ดูแลเด็ก นักโทษและผู้คุมนักโทษ เป็นต้น

4. บุคคลที่่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ บุคคลที่ฉีดสาร/ยาเสพติด นักท่องเที่ยวในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสอักเสบบี

5. ทารกที่เกิดจากมารดาเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี

6. บุคคลที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ

7. ผู้ป่วยโรคตับชนิดเรื้อรัง หรือผู้ป่วยพาหะโรคไวรัสตับอักเสบซี

8. ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีได้ถูกจัดอยู่ในวัคซีนพื้นฐานที่ทารกที่เกิดมาต้องได้รับซึ่งช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบีได้

วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีมีกี่ชนิด?

วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเป็นวัคซีนเชื้อตาย (Killed vaccine) หมายถึง วัคซีนที่ผลิตขึ้นจากใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้ว หรือจากส่วนประกอบของเชื้อโรคบางส่วน หรือจากโปรตีนส่วนประกอบของเชื้อที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนนี้โดยอาศัยหลักการทางพันธุวิศวกรรม

ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีถูกผลิตจากส่วนประกอบของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีคือ บริเวณส่วนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรียกว่า HBsAg โดยมี 2 ชนิดคือ

1. Plasma derived vaccine เป็นวัคซีนที่สกัดส่วนโปรตีนแอนติเจน (Antigen/สารก่อภูมิต้าน ทาน) ของเชื้อ (HBsAg) ที่มาจากน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี แล้วนำมาทำลายเชื้อโดยสารฟอร์มาลิน (Formalin) หรือด้วยความร้อน ปัจจุบันวัคซีนดังกล่าวได้ถูกเลิกผลิตแล้วทั้งนี้เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยจากการปนเปื้อนในน้ำเหลืองและขบวนการผลิตที่ยุ่งยากกว่า

2. Recombinant vaccine เป็นวัคซีนที่ผลิตจากกระบวนการพันธุวิศวกรรมซึ่งถูกใช้แพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบันรวมทั้งในประเทศไทย

ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีชนิดที่ 2 นี้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยเช่น Engerix-B (20 mcg/mL), Engerix-B pediatric (10 mcg/0.5mL) และ Hepavax-gene (20 mcg/mL)

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยได้บรรจุวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเป็นวัคซีนรวมในเข็มเดียวกันที่ประกอบด้วยวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบีเข้าไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนแยกแต่ละชนิดแต่มีความสะดวกในการใช้สูงกว่า

วิธีฉีดและขนาดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี

วิธีฉีดและขนาดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีได้แก่

1. เด็กทารกแรกเกิดถึงเด็กวัยรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี:

  • ในทารกหรือในเด็กเล็กแนะนำฉีดบริเวณต้นแขนฉีดวัคซีนครั้งละ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปด้านนอก (Anterolateral of thigh)
  • ส่วนในเด็กโตแนะนำฉีดบริเวณต้นแขน

2. เด็กวัยรุ่นอายุ 11 - 15 ปีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อน: อาจให้แบบ 2 เข็ม โดยให้ใช้วัคซีนตับอักเสบบีชนิดเดี่ยวขนาดของผู้ใหญ่ (ขนาด 1 มล.) ฉีดห่างกัน 6 เดือนก็ได้ผลดีเช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการสร้างภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการฉีดโดยใช้วัคซีนนี้ขนาด 0.5 มล. ฉีด 3 ครั้งแบบปกติตามตารางเวลาที่กำหนด

3. วัยรุ่นอายุ 18 ปี ขึ้นไปและผู้ใหญ่: ฉีดวัคซีนครั้งละ 1 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ไม่ควรฉีดที่สะโพกเนื่องจากเนื้อบริเวณสะโพกจะหนาและมีไขมันมากอาจทำให้การบริหารวัคซีนฉีดเข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกลงไปได้ยาก ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อจะทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันฯของวัคซีนลดลง โดยฉีดตามตารางเวลาที่กำหนดทั้งหมด 3 เข็มดังจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ ตารางเวลา

4. สำหรับผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันฯบกพร่องหรือผู้ป่วยฟอกไต/ล้างไต: ให้ฉีดวัคซีนนี้ขนาดที่สูง ขึ้นคือ 40 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรจำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งแรกวันใดก็ได้ ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน 2 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ และแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานโรคนี้( Anti-HBs antibody) ซึ่งควรมีค่าสูงกว่าหรือเท่ากับระดับ 10 IU/L เพื่อให้สามารถป้องกันโรคได้

5. กรณีไม่สามารถไปรับวัคซีนนี้ตรงตามนัดของแพทย์ได้: ปกติแล้วตารางเวลาในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีคือ การฉีดให้ครบจำนวน 3 ครั้งคือ เมื่อเดือนที่ 0 เดือนที่ 1 และเดือนที่ 6 ทั้งนี้กรณีไม่สามารถไปรับฉีดวัคซีนตรงตามตารางเวลา สามารถเลื่อนเวลาในการฉีดวัคซีนได้แต่ ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนถึงกำหนดเวลาเช่น เมื่อต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ช่วงเดือนที่ 1 สามารถเลื่อนฉีดได้ถึงเดือนที่ 2 หรือเข็มที่ 3 ช่วงเดือนที่ 6 สามารถเลื่อนฉีดได้ถึงเดือนที่ 7

6. กรณีลืมรับ/ฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา (สำหรับวัคซีนเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3): หากผู้ป่วยได้รับการวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเข็มที่ 1 แล้วลืมไปรับวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ตามตารางเวลาที่กำหนด จำเป็นต้องเริ่มรับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีใหม่ตั้งแต่เข็มที่ 1 หรือไม่ กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฉีดใหม่ตั้งแต่เข็มที่ 1 ผู้รับวัคซีนสามารถไปรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ และเข็มที่ 3 ผู้รับวัคซีนสามารถฉีดได้โดยห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 2 เดือน และกรณีที่ผู้รับวัคซีนลืมไปรับวัคซีนเข็มที่ 3 ผู้รับวัคซีนสามารถไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ได้ทันทีที่นึกขึ้นได้

ข้อห้ามใช้ของวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีคืออะไร?

ห้ามให้/ห้ามใช้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีนนี้หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนนี้ หรือผู้ที่เคยมีอาการแสดงการแพ้ต่อวัคซีนที่ได้รับในครั้งก่อน อาการแพ้เช่น ผื่นแดงนูนซึ่งขึ้นทั่วร่างกาย หรือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเช่น หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงหวีด โดยอาการเกิดขึ้นภายหลังได้รับวัคซีนนี้

มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเช่น

1. กรณีมีไข้สูงเฉียบพลันหรือมีอาการเจ็บป่วยและถึงตารางเวลาที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ควรเลื่อนวันรับวัคซีนดังกล่าวออกไปก่อน รอให้อาการเจ็บป่วยดังกล่าวหายเป็นปกติแล้วจึงกลับไปรับวัคซีนเข็มที่ถูกเลื่อนออกไป

2. วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไม่สามารถใช้ป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ, ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสตับอักเสบอีได้

3. ภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยสำคัญที่ภูมิคุ้มกันฯอาจขึ้นได้น้อยได้แก่ อายุที่มากขึ้น เพศชาย ความอ้วน การสูบบุหรี่ โรคประจำตัวที่มีผลลดภูมิคุ้มกันฯของร่างกายเช่น โรคเอชไอวี และวิธีการให้ยาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นหากตอบสนองต่อวัคซีนนี้ลดลง โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีๆไป

4. ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องรวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด/การล้างไต ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เมื่อได้รับวัคซีนนี้ครบตามตารางในการสร้างภูมิคุ้มกันฯขั้นต้นแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันฯอาจไม่เพียงพอในการป้องกันโรค ดังนั้นจึงอาจจำเป็นต้องได้รับโด๊ส (Dose) วัคซีนเพิ่มมากขึ้นจากปกติทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

5. ระวังการบริหาร/การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีโดยฉีดวัคซีนเข้าภายในผิวหนัง (Intrader mal) ไม่เข้ากล้ามเนื้อเช่นบริเวณสะโพกเนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันฯอาจจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และห้ามฉีดวัคซีนนี้เข้าหลอดเลือดดำ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีดูแลอย่างไร?

ปฏิกิริยา/อาการไม่พึงประสงค์/ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีนตับอัก เสบบีคือ

1. ผลข้างเคียงเฉพาะที่: เช่น มีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนนี้ซึ่งอาการจะหายไปเองใน 2 - 3 วันไม่จำเป็นต้องมีการใช้ยารักษา

2. ปฏิกิริยาทั่วๆไปไม่รุนแรงและหายได้เอง: เช่น อาการปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และอาจมีไข้ต่ำๆ มักเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนนี้ไปแล้ว 3 - 4 ชั่วโมงและอาการคงอยู่ต่อนานไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดได้โดยเฉพาะในเด็กที่มีไข้หรือมีอาการไม่สบายตัวภายหลังได้รับวัคซีนนี้

มีตารางเวลาในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีอย่างไร?

ตารางเวลาในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีได้แก่

1. วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีถือเป็นวัคซีนที่เด็กทุกคนควรได้รับตั้งแต่แรกเกิดเพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งการติดเชื้อนี้ในวัยเด็กมีโอกาสที่เด็กที่ติดเชื้อนี้จะเป็นพาหะโรคนี้ได้สูง จึงควรฉีดวัคซีนนี้ 3 ครั้ง

  • ครั้งแรกฉีดโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
  • ครั้งที่ 2 ณ อายุ 1 - 2 เดือน และ
  • ครั้งที่ 3 ณ อายุ 6 - 7 เดือน (อย่างน้อยอายุเด็กต้องมากกว่า 24 สัปดาห์)

2. ทารกคลอดจากมารดาที่ไม่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg เป็นลบ) ให้ฉีดวัคซีนนี้จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อแรกเกิด ครั้งที่ 2 ณ อายุ 1 - 2 เดือน และครั้งที่ 3 ณ อายุ 6 เดือนตามลำดับ

3. กรณีไม่ทราบผลเลือดมารดาว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ ควรให้วัคซีนแก่ทารกที่คลอด 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ภายใน 12 ชม. ภายหลังการคลอด ครั้งที่ 2 ณ อายุ 1 เดือน และครั้งที่ 3 ณ อายุ 6 เดือนตามลำดับ

4. ทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ( HBsAg เป็นบวกและโดยเฉพาะถ้า HBeAg เป็นบวกด้วย/มารดามีการติดเชื้อไวรัสนี้) พิจารณาให้ยาอิมมูโนโกลบุลิน (สารภูมิต้านทาน/ Immunoglobulin) ของไวรัสตับอักเสบบีคือ Hepatitis B Imunoglobulin (HBIG) 0.5 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อแก่เด็กทารกภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอดและให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเด็กทารกครั้งที่ 1 พร้อมๆกันโดยบริหารวัคซีนคนละตำแหน่งกับที่ฉีดยา HBIG ที่ได้ฉีดให้ทารก จากนั้นพิจารณาให้วัคซีนนี้ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 1 - 2 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน

ทั้งนี้ยา Hepatitis B immunoglobulin (HBIG) คือการให้ยาภูมิคุ้มกันฯโรคแก่ร่างกายด้วยวิธี Passive immunization คือเมื่อร่างกายได้รับยา HBIG ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบีทันทีภายหลังได้รับยาตัวนี้ ซึ่งการใช้ยา HBIG จะมีผลป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีได้ทันที ซึ่งต่างจากที่ร่างกายได้รับวัคซีนนี้ที่ร่างกายจะเป็นตัวสร้างสารภูมิคุ้มกันฯเอง (Active immunization) การสร้างภูมิคุ้มกันฯเองต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 - 10 วันหลังฉีดจึงจะได้ภูมิคุ้มกันฯต่อโรคนี้ที่เพียงพอ

กรณีที่ทารกไม่ได้รับยา HBIG หรือจัดหายา HBIG ไม่ได้ควรพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีไปก่อนให้เร็วที่สุดทันทีหลังคลอด ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 1 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน ซึ่งพบว่าวัคซีนอย่างเดียวก็สามารถป้องกันโรคได้สูงมากถึงแม้ไม่ได้รับยา HBIG

5. หากทารกได้รับวัคซีนชนิดรวมที่สามารถใช้ป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB) ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมักใช้วัคซีนรวมที่มีตารางการบริหารวัคซีนให้แก่เด็กทารกที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน

กรณีเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสตับอักเสบบี สำหรับทารกที่มารดามีพาหะไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg เป็นบวก) และทารกไม่ได้รับยาอิมมูโนโกลบุลิน (HBIG) ควรให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีชนิดเดี่ยวเพิ่มแก่ทารก ณ ตอนอายุ 1 เดือนด้วย สรุปรวมทารกในกรณีนี้ควรได้รับวัคซีนทั้งสิ้น 5 เข็มดังนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีชนิดเดี่ยว (เข็มที่ 1) ณ แรกคลอดภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด
  • ต่อมาฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีชนิดเดี่ยว ( เข็มที่ 2) ณ ทารกอายุ 1 เดือน
  • จากนั้นเข็มที่ (3), (4) และ (5) จะบริหารวัคซีนชนิดรวมที่ป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี ณ อายุเดือนที่ 2 เดือนที่ 4 และเดือนที่ 6 ตามลำดับ

6. สำหรับเด็กที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีมาก่อนรวมทั้งผู้ใหญ่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรคและยังไม่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเช่น ผู้ป่วยฟอกไต, ผู้ที่ต้องได้รับเลือดบ่อยๆ, คู่สมรสของผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ตรวจเลือด เป็นต้น ควรได้รับวัคซีนนี้ 3 ครั้ง ครั้ง แรกทันที ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่สองอย่างน้อย 8 สัปดาห์

7. สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ที่ต้องการผลการป้องกันโรคนี้ที่รวดเร็วเพื่อให้ทันกับการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบบี (ภายใน 1 เดือนก่อนเดินทาง) ให้ฉีดตามตารางเวลาดังนี้ ฉีดเข็มแรก (วันที่ 0) เข็มที่ 2 ณ วันที่ 7 และเข็มที่ 3 ณ วันที่ 21 และควรพิจารณาฉีดเข็มที่ 4 ณ เดือนที่ 12

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี/span>

ภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี

1. ภูมิคุ้มกันโรคนี้จะเกิดขึ้นถึงระดับที่ป้องกันโรคนี้ได้หลังการฉีดวัคซีนนี้เข็มที่ 2 โดยวัคซีนเข็มที่3 ถือเป็นการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันฯโรคนี้สูงขึ้นและมีภูมิคุ้มกันฯที่ป้องกันโรคได้ประมาณ 90 - 95%

เนื่องจากเด็กแรกเกิดสามารถติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาที่เป็นพาหะโรคนี้ได้ง่าย แต่โดยทั่วไปมักจะไม่ได้มีการตรวจเลือดมารดาก่อนคลอดว่าเป็นพาหะฯหรือไม่ จึงควรให้วัคซีนนี้ครั้งแรกแก่ทารกแรกเกิดทุกคนภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากให้วัคซีนเข็มแรกช้าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคนี้จากมารดาที่เป็นพาหะจะน้อยลง

2. การให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีพร้อมวัคซีนชนิดอื่นจะไม่มีผลเสียต่อการสร้างภูมิคุ้มกันฯของวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีหรือวัคซีนอื่นที่ให้พร้อมกัน/ร่วมกัน

3. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในปัจจุบันผลิตด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม สามารถใช้ทดแทนกันได้ทุกยี่ห้อ ดังนั้นเด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งก่อนเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีชนิดหนึ่ง ในครั้งต่อไปอาจรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่ผลิตโดยกรรมวิธีต่างกันได้หรือต่างบริษัทผู้ผลิตได้ โดยไม่มีผลเสียต่อการสร้างภูมิคุ้มกันฯ

ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือไม่?

ในคนทั่วไปไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีกระตุ้นอีกหลังจากฉีด 3 เข็มครบแล้ว เนื่องจากการศึกษาระยะยาวพบว่าภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นจากการฉีด 3 เข็มอยู่ได้นานมากกว่า 10 ปี ถึงแม้ว่าในบางรายจะตรวจเลือดไม่พบระดับแอนติบอดี (สารภูมิคุ้มกัน) โรคนี้หรือพบในระดับต่ำ แต่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันฯความจำเหลืออยู่ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

ส่วนผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้ควรได้รับการฉีดวัคซีนนี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯเช่น บุคลากรทางการแพทย์, เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่อาจสัมผัสเลือด, ผู้ป่วยที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องฟอกไต (Hemodialysis), ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

ทั้งนี้ก่อนการฉีดวัคซีนนี้เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯควรปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์อาจทำการตรวจ HBsAg และ anti-HBs เพื่อดูผลของการให้วัคซีนในอดีต กรณีตรวจพบทั้ง HBsAg และ anti-HBs เป็นลบ ควรฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบใหม่อีก 3 เข็มโดยรับการฉีดวัคซีนตามตารางการฉีดวัคซีนนี้คือ เข็มแรกทันที เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 หรือเจาะเลือดตรวจ anti-HBs หลังฉีดวัคซีนที่ระยะเวลา 1 เดือนในแต่ละเข็มที่ได้รับฉีด ถ้าได้ระดับภูมิคุ้มกัน (anti-HBs) ตั้งแต่ 10 mIU/มล. ก็สามารถหยุดฉีดได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีครบจำนวน 3 เข็ม

การฉีดวัคซีนนี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯในบุคคลทุกกรณี มักกระทำเมื่อบุคคลนั้นไปสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้นหากทราบว่าตนเองมีพฤติกรรมที่อาจไปสัมผัสผู้ป่วยที่มีไวรัสตับอักเสบบีควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี (ผลตรวจระดับภูมิคุ้ม กัน anti-HBs ควรมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10 IU/mL ขึ้นไปซึ่งจะหมายถึงเคยได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้และยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันอยู่) ซึ่งหากค่า anti-HBs มากกว่า 10 mIU/mL ผู้สัมผัสไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่กรณีมีภูมิคุ้มกัน (Anti-HBs น้อยกว่า 10 mIU/mL และ ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ (HBsAg ให้ผลบวก) ผู้ป่วยควรได้รับยาอิมมูโนโกลบุลินต่อไวรัสตับอักเสบบี (HBIG) ด้วยร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ฉีดกระตุ้นตามตารางเวลา ดังนี้ เข็มแรกทันที เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 ทั้งนี้กรณีไม่มี HBIG ก็สามารถให้การรักษาด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีเดี่ยวก็ได้

การใช้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในสตรีตั้งครรภ์และการศึกษาด้านการสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลองยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามการได้รับวัคซีนที่เชื้อถูกทำให้หมดฤทธิ์ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นในระหว่างตั้งครรภ์การให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

สำหรับการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในระยะให้นมบุตร ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในสตรีระยะให้นมบุตรและการศึกษาด้านการสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลองยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามไม่มีข้อห้ามใช้วัคซีนนี้ในสตรีระยะให้นมบุตร

มีวิธีเก็บรักษาวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีอย่างไร?

ควรเก็บวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บวัคซีนนี้ในช่องแช่แข็งเพราะวัคซีนจะเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว โดยปกติแล้ววัคซีนนี้ที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีจะมีอายุประมาณ 2 ปีนับแต่วันผลิต ทั้งนี้ก่อนบริหาร/การใช้วัคซีนควรตรวจดูฉลากวันหมดอายุก่อนใช้เสมอ

ชนิดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่ผลิตจากต่างบริษัทจะมีปริมาณแอนติเจน (Antigen/สารก่อภูมิต้านทาน) หรือโปรตีนส่วนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ในปริมาณที่แตกต่างกันไปตั้ง แต่ 10 ถึง 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรและขนาดสูง 40 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร แต่ปริมาตรของวัคซีน ของทุกบริษัทจะเท่ากันคือ 0.5 มิลลิลิตรต่อโด๊ส (Dose, ขนาดการใช้ในแต่ละครั้ง) สำหรับเด็กและ 1 มิลลิลตรต่อโด๊สสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดบรรจุของวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีมีขนาดบรรจุหลายขนาดได้แก่ ขวดละ 0.5 มิล ลิลิตร, 1 มิลลิลิตร และ 5 มิลลิลิตร

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Product Information: Engerix-B, Hepatitis-B Vaccine. GlasoSmithKline, Thailand.
  3. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
  4. โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558