ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus) คือ ชื่อเรียกโดยรวมของกลุ่มโรคติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม 'ริกเก็ตเซีย (Rickettsia)' โดยมีแมลงต่างๆ เช่น เหา หมัด ไร เป็นพาหะโรค  ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ได้แก่

  • โรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด (Epidemic typhus)
  • โรคไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น หรือโรคไข้รากสาดใหญ่จากหนู (Endemic typhus หรือ Murine typhus)
  • และโรคไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ หรือโรคไข้รากสาดพุ่มไม้/โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)

อนึ่ง: คำว่า ไทฟัส (Typhus) มาจากรากศัพท์ภาษากรีก  คือ typhos ซึ่งแปลว่า หมอก มัว เนื่องจากใช้บรรยายลักษณะอาการของผู้ป่วยที่จะมี ไข้ มึนงง ซึม โดยอาการของไข้รากสาดใหญ่แต่ละชนิดจะคล้ายๆกัน และมียาสำหรับรักษาให้หายได้ ซึ่งโรคไข้รากสาดใหญ่แต่ละชนิด/ประเภทจะพบในพื้นที่ที่แตกต่างกัน

ก. ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด (Epidemic typhus): พบทุกทวีปทั่วโลก โดยเคยเกิดการระบาดใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ทำให้มีทหารเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก และในปี พ.ศ. 2540 เกิดการระบาดในค่ายผู้ลี้ภัยที่ประเทศ บูรันดี (Burundi) ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 100,000 ราย นอกจากนี้มีรายงานการระบาดในประเทศรัสเซีย แอลจีเรีย และเปรู ส่วนในประเทศอื่นๆมีการรายงานการเกิดโรคประปราย สำหรับประเทศไทยไม่มีสถิติข้อมูลที่ชัดเจน

ข. ไข้รากสาดใหญ่จากหนู (Murine typhus): พบทั่วโลกเช่นกัน โดยโรคจะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี หากเป็นประเทศในเขตที่มีอากาศหนาวจะพบมากในช่วงฤดูร้อน สำหรับประเทศไทยไม่มีสถิติข้อมูลที่ชัดเจนแต่พบเจอได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ค. ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ/โรคสครับไทฟัส/Scrub typhus : พบในทวีปเอเชียและออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและหมู่เกาะมหาสมุทรอินเดีย  ในประเทศไทยพบโรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดนี้มากที่สุด ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไทย ตั้งแต่ 1มกราคม-10กุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานพบโรคนี้ 445 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต  พบภาคเหนือสูงสุด (51%) รองลงมา 5 อันดับแรก ได้แก่  ระนอง น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ

โรคไข้รากสาดใหญ่มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ไข้รากสาดใหญ่

 

ไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม ‘ริคเคทเซีย(Rickettsia)’ ที่มีรูปร่างหลายแบบ อาจเป็นแท่งสั้นๆ หรือ เป็นรูปทรงกลมกึ่งแท่ง เชื้อกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในสัตว์ขาปล้อง หรือแมลงที่เป็นปรสิตต่างๆ เช่น เหา ไร เห็บ หมัด ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคนี้มาสู่คนได้หลายโรคที่รวมถึงไข้รากสาดใหญ่

เชื้อ Rickettsia ที่ก่อโรคไข้รากสาดใหญ่มีหลายชนิด/ประเภทย่อย: ได้แก่

  • ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด: มีสาเหตุจากเชื้อชนิด Rickettsia prowazekii มีเหา(Louse)  เป็นพาหะนำเชื้อโรค จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘Louse-borne typhus’ โดยเหาจะรับเชื้อมาจากคนที่เป็นโรคนี้โดยการดูดเลือด หลังจากนั้นเชื้อโรคก็จะเข้าไปอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของตัวเหา เหาที่มีเชื้อโรคนี้เมื่อติดไปยังคนอื่นและได้ดูดเลือดกินก็จะถ่ายขี้ที่มีเชื้อโรคนี้ปนออกมา เมื่อคนเกาจนเป็นแผลถลอก เชื้อโรคนี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผลและทำให้เกิดโรคได้ในที่สุด สำหรับตัวเหาที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ในตัวในที่สุดก็จะป่วยตายไปภายใน 2 - 3 สัปดาห์
    • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ก็คือ ผู้ที่เป็นเหาโดยเฉพาะเหาลำตัว เช่น คนที่ไม่ได้อาบน้ำ, ไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้าหรือซักเสื้อผ้า, ผู้ที่อยู่ในค่ายกักกัน ค่ายผู้อพยพ ในคุก, หรือพบในคนเร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัย
  • ไข้รากสาดใหญ่จากหนู: มีสาเหตุจากเชื้อชนิด Rickettsia typhi เชื้อนี้อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของหมัดหนูและหมัดแมวและทำให้สัตว์เหล่านี้ติดเชื้อโรคแต่สัตว์จะไม่แสดงอาการใดๆ หมัดเหล่านี้บางครั้งบังเอิญติดมาสู่คนและกัดดูดเลือดคนเป็นอาหาร(เรียกคนว่าเป็น Accidental host) และเชื้อโรคจากขี้ของหมัดก็จะเข้าสู่ร่างกายคนและทำให้เกิดโรคนี้ได้,  นอกจากนี้แล้วการติดเชื้อนี้อาจเกิดโดยการหายใจเอาฝุ่นขี้ของหมัดที่มีเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายได้ด้วย, สำหรับหมัดที่เชื้อโรคนี้อยู่ในตัวจะไม่ตายและตัวเมียสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคไปสู่ลูกในท้องของมันได้ด้วย         
    • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับหนูหรือแมวที่มีหมัด
  • ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะหรือไข้รากสาดพุ่มไม้ หรือ สครับไทฟัส: มีตัวไรอ่อนเป็นพาหะจึงเรียกได้อีกชื่อว่า 'ไข้รากสาดไรอ่อน (Chigger-borne typhus)' เชื้อโรคนี้อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของตัวไร (Mite) ซึ่งตัวไรมีระยะเจริญเติบโตอยู่ 4 ระยะ เฉพาะระยะที่เป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า Chigger หรือไรแดงเท่านั้นที่จะอาศัยบนตัวสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น หนูกระรอกกระแต รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ และดูดเลือดกินเป็นอาหาร ตัวไรในระยะอื่นๆจะอาศัยอยู่ตามใบหญ้าใบไม้ใกล้ๆกับพื้นดิน ตัวไรเหล่านี้บางครั้งอาจติดมาสู่คนและกัดดูดเลือดคนเป็นอาหารได้ เรียกคนว่าเป็น Accidental host ตัวไรที่เชื้อโรคนี้อยู่ในตัวจะไม่ตายและตัวเมียสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคไปสู่ลูกในท้องของมันได้ด้วย
    • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่ทำงานอยู่กับต้นไม้หรือพุ่มเตี้ยๆ หรือการไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติต่างๆที่มีต้นไม้หรือพุ่มไม้เตี้ยๆ

อนึ่ง: ไข้รากสาดใหญ่ทุกประเภทสามารถเกิดได้ในคนทุกวัย, เพศหญิง และเพศชายพบได้ใกล้เคียง

เชื้อไข้รากสาดใหญ่ก่อโรคได้อย่างไร?

แบคทีเรียในกลุ่ม Rickettsia มีวิธีก่อโรคที่เหมือนกัน คือ เมื่อเชื้อฯเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะกระจายไปตามกระแสเลือด  และเคลื่อนตัวเข้าสู่เซลล์ที่บุหลอดเลือด แบ่งตัวเจริญเติบโต ทำให้เซลล์เหล่านี้ขยายขนาดโตขึ้น เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆก็จะเข้ามาพยายามจับกินเชื้อฯ เหล่านี้ มีการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบของหลอดเลือดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการได้หลายระบบอวัยวะ   ซึ่งการอักเสบของหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามมา  ซึ่งหากเกิดขึ้นรุนแรงอาจส่งผลให้อวัยวะที่หลอดเลือดมีการอุดตันเกิดการเน่าตายจากขาดเลือดได้ นอกจากนี้การเกิดหลอดเลือดอักเสบทำให้สูญเสียโปรตีนออกนอกหลอดเลือด เกิดความดันโลหิตต่ำและอาจเกิดภาวะช็อกได้

ระยะฟักตัวของโรคไข้รากสาดใหญ่ทุกชนิด คือ ระยะตั้งแต่รับเชื้อฯจนกระทั่งแสดงอาการจะใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 6 - 20 วัน

โรคไข้รากสาดใหญ่มีอาการอย่างไร?

ไข้รากสาดใหญ่ทั้ง 3 ประเภทรวมถึงโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Rickettsia นี้ ในช่วงประมาณ 5 วันแรกอาการจะเหมือนกัน ได้แก่ มีไข้สูงเฉียบพลัน,ปวดหัว, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย, หลังจากนั้นแต่ละโรคจะมีอาการเด่นที่แตกต่างกันไปแต่โดยรวมก็จะคล้ายคลึงกัน คือ

ก. อาการไอ: ส่วนใหญ่เป็นอาการไอแห้งๆไม่มีเสมหะ ในผู้ป่วยที่เป็นไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด พบอาการไอได้มากถึง 70%, ถ้าเป็นไข้รากสาดใหญ่จากหนู หรือ ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ พบผู้ป่วยเกิดอาการได้น้อยกว่า

ข. ผื่นที่ผิวหนัง: 

  • ผู้ป่วยไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด, และไข้รากสาดใหญ่จากหนู, พบผื่นที่ผิวหนังได้ถึง 80%
  • ในขณะที่ผู้ป่วยไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะพบเป็นผื่นได้ประมาณ50%
  • และหากเป็นคนในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูงแล้วแทบจะไม่พบผื่นเลย
  • ผื่นที่ขึ้น
    • ในช่วงแรกจะเป็นผื่นชนิดแบนเรียบสีแดง
    • ต่อมา จะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ
    • ผื่นจะเริ่มเกิดที่บริเวณ ลำตัวช่วงบน รักแร้ แล้ว กระจายออกไปตามแขนและขาจนทั่วตัว ยกเว้นที่บริเวณ ใบหน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
    • ในไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดจะพบผื่นที่เป็นจุดเลือดออกเล็กๆด้วย เรียกว่า ‘Petechiae’ ซึ่งแทบจะไม่พบในผู้ป่วยที่เป็นไข้รากสาดใหญ่จากหนูและไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ

ค. ต่อมน้ำเหลืองบวม/โต: อาจบวม/โตเฉพาะบางแห่งหรือทั่วตัว โดยมักจะคลำพบ ในผู้ป่วยไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ แทบไม่พบในไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดและในไข้รากสาดใหญ่จากหนู

ง. อาการทางสมอง: เช่นสับสน สั่น ชัก ซึม เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด ไข้รากสาดใหญ่ชนิดอื่นพบได้น้อยกว่า

จ. แผลที่ผิวหนัง(Eschar): พบเฉพาะในผู้ป่วยไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ ไม่พบในไข้รากสาดใหญ่ชนิดอื่นๆ แต่จะพบในโรคอื่นๆที่เกิดจากแบคทีเรียกลุ่ม Rickettsia ได้ โดยจะเกิดตรงผิวหนังบริเวณที่ตัวไรอ่อนกัด เริ่มแรกจะปรากฏเป็นตุ่มนูนที่ไม่เจ็บ, ต่อมาจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็ง ตรงกลางของตุ่มจะเน่ากลายเป็นเนื้อตายสีดำดูคล้ายแผลที่ถูกบุหรี่จี้เรียกว่าแผล Eschar, ซึ่งจะตรวจพบได้ประมาณ 60% โดยตำแหน่งที่มักพบได้แก่ รักแร้ ซอกคอ ขาหนีบ

อาการอื่นๆ: เช่น  ตากลัวแสง/ตาไม่สู้แสง (น้ำตาไหล ตาพร่าเมื่อเจอแสงสวาง) ตาแดง ปวดตา ตับโต ม้ามโต ฯลฯ

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้รากสาดใหญ่ได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคไข้รากสาดใหญ่ในช่วงแรกๆนั้นทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากอาการและอาการแสดงที่ไม่จำเพาะ แพทย์จึงมักวินิจฉัยจาก

  • ข้อมูลทางระบาดวิทยาของการเกิดโรคในพื้นที่นั้นๆ
  • รวมทั้งประวัติการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดหรือมีความชุกของโรคสูง
  • ประวัติการถูกหมัดกัด สำหรับประวัติการถูกไรกัด ผู้ป่วยมักไม่ค่อยรู้ตัวเนื่องจากไม่เจ็บและไม่มีรอยให้เห็นในทันทีเหมือนหมัด
  • การตรวจร่างกาย   
  • และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น หากอยู่ในเกณฑ์น่าสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคนี้ แพทย์ก็จะให้ ยาปฏิชีวนะรักษาไปก่อนในระหว่างที่รอผลยืนยันการตรวจวินิจฉัย(ซึ่งอาจทำไม่ได้ในทุกราย)

 อนึ่ง:

  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นที่จะพบในผู้ป่วยไข้รากสาดใหญ่ เช่น
    • ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) พบ
      • เม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือต่ำกว่าปกติ
      • ปริมาณเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ
    • ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ พบค่าเอนไซม์ (Enzyme)/ค่าการทำงานของตับขึ้นสูงกว่าปกติ
    • ตรวจเกลือแร่ในเลือด พบค่าเกลือแร่โซเดียมต่ำกว่าปกติ
    • ตรวจเลือดดูการทำงานของไต พบมีค่าของเสียยูเรีย (Urea) ขึ้นสูงกว่าปกติ
  • สำหรับการตรวจที่ช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ คือ
    • ตรวจเลือดหาแอนติบอดี (Antibody /สารภูมิต้านทาน) ที่มีต่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ 2 ครั้งห่างกัน 10 - 14 วันซึ่งจะต้องมีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าขึ้นไป
    • หรือใช้วิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อจากเลือดหรือจากชิ้นเนื้อผิวหนังที่เป็นผื่นโดยวิธีที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR, Polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นวิธีที่ยุ่งยากและราคาแพง
    • การตรวจอื่นๆ เช่น
      • ตรวจหาแอนติบอดีโดยวิธีที่เรียกว่า Weil-Felix test ซึ่งมีความไวและความจำเพาะต่ำ ปัจจุบันจึงเลิกใช้แล้ว
      • หรือการใช้ชุดทดสอบแอนติบอดีสำหรับโรคไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ (Dipstick dot-blot immunoassay) มีข้อดีคือได้ผลรวดเร็ว มีความไวและความจำเพาะสูง แต่ราคาแพง

รักษาโรคไข้รากสาดใหญ่อย่างไร?

แนวทาง 'การรักษาหลัก' ของไข้รากสาดใหญ่ คือ การให้ยาปฏิชีวนะ ยาที่ใช้ เช่น Doxycycline, Chloramphenicol, และ Tetracycline, ซึ่งอาจให้ในรูปแบบกินหรือรูปแบบฉีด สำหรับยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา

และการรักษาแบบประคับประคอง/การรักษาตามอาการ จะทำร่วมไปกับการให้ยาปฏิชีวนะ  เช่น  การให้ ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, การให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดดำ, ให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

อนึ่ง: ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก, แต่ในรายที่อาการรุนแรงก็จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

โรคไข้รากสาดใหญ่มีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรงอย่างไร?

โรคไข้รากสาดใหญ่มีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรค ดังนี้

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง แม้ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษา ก็มีโอกาสหายเองได้ในระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดอาการรุนแรง เช่น
    • ระบบหายใจล้มเหลว
    • เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดทั่วร่างกาย (Disseminated intravascular coagulation)จากหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งอาจทำให้อวัยวะส่วนปลาย เช่น นิ้วมือ-นิ้วเท้าเกิดขาดเลือดไปเลี้ยงและเน่าตายได้ภาวะนี้ยังทำให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดขาดสมดุล อาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ผู้ป่วยก็จะมีชักและมีอาการซึมขั้นโคม่าได้ 
    • หลอดเลือดที่อักเสบหากเกิดขึ้นรุนแรงทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะสูญเสียน้ำออกจากหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตต่ำจนถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้ และส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลวตามมาและถึงตายได้
  • ผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด: หากไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษามีอัตราตาย ประมาณ 20%, แต่หากเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอัตราตายอาจสูงถึง 60%, แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยารักษาอัตราตายจะเหลือเพียง 3 - 4%,
  • ส่วนผู้ป่วยไข้รากสาดใหญ่จากหนูและไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะถ้าได้รับยาฯรักษามีอัตราตายประมาณ 1%
  • ผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดในบางราย เมื่อได้ยาปฏิชีวนะรักษาจนอาการหายไปแล้ว เชื้อฯอาจจะยังไม่ตายทั้งหมดและอาจหลบซ่อนอยู่ในร่างกายของเราได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการ เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆเดือนหรือหลายสิบปี เชื้อฯจะกลับมาก่อโรคและทำให้เกิดอาการอีกครั้งได้ ซึ่งเรียกว่า ‘Brill-Zinsser disease’ โดยโรคนี้มักพบในผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสมและไม่ครบเวลาที่กำหนดและในผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการ
  • ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดและไข้รากสาดใหญ่จากหนู จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตและจะไม่ป่วยอีก, ยกเว้นแต่ในไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาดที่อาจเกิด Brill-Zinsser disease ขึ้นมาดังกล่าวแล้ว
  • ส่วนผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกเรื่อยๆเพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้จะลดลงตามกาลเวลา อีกทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็มีอยู่หลายชนิดย่อย

ป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่ได้อย่างไร?

โรคไข้รากสาดใหญ่ป้องกันได้โดย

  • การป้องกันตนเองจากการเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด: คือ ป้องกันตนเองไม่ให้เป็นเหาโดยเฉพาะการเป็นเหาที่ลำตัว เช่น
    • การอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน, การไม่ใช้เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่นๆร่วมกับผู้อื่น
    • และเมื่อพบว่าตนเองเป็นเหาก็ต้องรีบรักษา
  • การป้องกันตนเองจากการเป็นไข้รากสาดใหญ่จากหนู: คือ การป้องกันการถูกหมัดจากหนูและแมวกัด เช่น
    • กำจัดหมัดให้แมวหรือหนูพันธุ์ที่เลี้ยงไว้อย่างสม่ำเสมอ
    • ส่วนหนูบ้านที่ไม่ได้เลี้ยงไว้ ก็พยายามกำจัดให้หมดไปรวมถึงการเก็บอาหารที่หนูจะมากินให้มิดชิดและกำจัดขยะให้ถูกวิธี
  • การป้องกันตนเองจากการเป็นไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ: คือ การป้องกันการถูกไรกัด เช่น   
    • ใส่เสื้อผ้าแขนขายาวให้มิดชิดเมื่อจะต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับพุ่มไม้หรือต้นไม้เตี้ยๆหรือเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆที่มีต้นไม้พุ่มไม้เตี้ยๆ
    • และหากจะนั่งหรือนอนอยู่กับต้นไม้ ควรทายากันแมลง

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ที่มีประวัติถูกหมัดกัด หรือทำงานเกี่ยวกับต้นไม้ หรือพุ่มไม้เตี้ยๆ หรือเดินทางไปเที่ยวทางธรรมชาติ หรือเป็นเหาอยู่ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดหัว, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, คลื่นไส้อาเจียน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคไข้รากสาดใหญ่หรือไม่ เพื่อรีบรับยาปฏิชีวนะรักษา เพื่อป้องกันการเกิดโรคชนิดรุนแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว

สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าว ควรสังเกตอาการต่อไป หากกินยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาลดไข้/ยาแก้ปวด พาราเซตามอล (Paracetamol) แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น ไอ มีผื่น มีต่อมน้ำเหลืองบวม/โต หรืออื่นๆ ควรรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

บรรณานุกรม

  1. David Walker, Didier Raoult, J. Stephen Dumler, Thomas Marrie, rickettsial diseases, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://emedicine.medscape.com/article/231374-overview#showall [2023,Jan7]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Typhus [2023,Jan7]
  4. http://e-lib.ddc.moph.go.th/pdf/eb35/eb35.pdf [2023,Jan7]
  5. https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=11608&deptcode=brc&news_views=510  [2023,Jan7]