ดอกซีไซคลิน (Doxycycline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาดอกซีไซคลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาดอกซีไซคลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาดอกซีไซคลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาดอกซีไซคลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาดอกซีไซคลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซีไซคลินอย่างไร?
- ยาดอกซีไซคลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาดอกซีไซคลินอย่างไร?
- ยาดอกซีไซคลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- สิว (Acne)
บทนำ
ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เป็นยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) มีฤทธิ์ยับยั้งและต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ในต่างประเทศบริษัทไฟเซอร์ได้นำมาจัดจำหน่ายในชื่อ Vibramycin คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับรองและอนุมัติการนำมาใช้ในวงการแพทย์เมื่อปี ค.ศ.1967 (พ.ศ. 2510) ประเทศไทยยังมีจำหน่ายในชื่อการค้าอื่นอีกมากมาย
หลังจากได้รับยาดอกซีไซคลินเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ต้องใช้เวลา 15 – 25 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% (Half life) โดยขับออกผ่านไปกับปัสสาวะ
ดอกซีไซคลินจัดเป็นกลุ่มยาอันตราย มีผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) มากมาย การใช้ยานี้จึงต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้ทำการรักษา ไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง
ยาดอกซีไซคลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาดอกซีไซคลินมีสรรพคุณดังนี้ คือ
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องทางเดินหายใจ
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณ มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่
- รักษาสิว
- รักษาโรค Lyme disease (โรคติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Borrelia ที่มีเห็บในสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าเป็นพาหะโรค เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศเขตอเมริกาเหนือ โดยก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาท หัวใจ และข้ออักเสบ)
ยาดอกซีไซคลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของดอกซีไซคลิน คือ ยาจะเข้าไปจับกับสารพันธุกรรมของแบคทีเรียที่เรียกว่า 30s & 50s Ribosomal subunits ส่งผลทำให้แบคทีเรียไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีกต่อ ไป
ยาดอกซีไซคลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาดอกซีไซคลิน จัดจำหน่ายในรูปแบบ
- ยาแคปซูลขนาด 100 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดขนาด 100 มิลลิกรัม
ยาดอกซีไซคลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดอกซีไซคลินมีขนาดรับประทาน ดังนี้
ผู้ใหญ่ – รับประทานเริ่มต้น 200 มิลลิกรัม วันละครั้ง จากนั้นปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง
เด็ก – เริ่มต้นใช้ขนาดยา 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นปรับขนาดรับประทาน เป็น 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยรับประทานวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง
ควรรับประทานดอกซีไซคลินพร้อมหรือหลังอาหารและดื่มตามด้วยน้ำเปล่าไม่ควรรับประ ทานยาพร้อมนม การปรับเปลี่ยนขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับแต่ละโรค ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาดอกซีไซคลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาที่ได้รับอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย
ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาดอกซีไซคลิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาดอกซีไซคลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาดอกซีไซคลิน คือ อาจทำให้ฟันมีสีคล้ำ สามารถพบเห็นได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่, มีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร, มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง, และหากใช้ยาดอกซีไซคลินอย่างไม่ถูกต้อง อาจมีเชื้อแบคทีเรียอื่นแทรกซ้อน เกิดภาวะกดไขกระดูก (ไขกระดูกทำงานลดลง) และแพ้แสงแดดได้
มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซีไซคลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาดอกซีไซคลิน คือ
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาดอกซีไซคลิน
- ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ขวบ
- เพิ่มความระวังหากต้องใช้ยากับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคตับ และผู้ป่วยด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอม จี(Myasthenia gravis)
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (ที่รวมยาดอกซีไซคลิน) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาดอกซีไซคลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยาดอกซีไซคลินกับยาอื่น คือ
- การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับวิตามินบางตัว อาจก่อให้เกิดภาวะความดันในสมองเพิ่มขึ้น และนำมาซึ่งอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นไม่ชัดเจน ยากลุ่มวิตามินดังกล่าว เช่น วิตามินเอ
- การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับยาลดกรดบางกลุ่ม สามารถลดประสิทธิภาพในการรักษาของดอกซีไซคลิน ทำให้อาการติดเชื้อไม่ดีขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรต้องปรับระยะ เวลาของการรับประทานยาให้ห่างกัน 2 – 3 ชั่วโมง ยาลดกรดดังกล่าว เช่น Alum milk, Aluminium hydroxide และ Magnesium hydroxide
- การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่น สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ร่วมกันด้อยลงไป ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่น Amoxicillin, Ampicillin, Penicillin
- การใช้ยาดอกซีไซคลินร่วมกับยาขยายหลอดลมบางตัว สามารถส่งผลให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอนไม่หลับ ชักเกร็ง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาขยายหลอดลมดังกล่าว เช่น Theophylline
ควรเก็บรักษายาดอกซีไซคลินอย่างไร?
ควรเก็บยาดอกซีไซคลินภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius) บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
ยาดอกซีไซคลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ในประเทศไทย ยาดอกซีไซคลินมีชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อทางการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Amermycin (อเมอร์มายซิน) | Unison |
Cin-Doxy (ซิน-ดอกซี) | Medicine Products |
Docline Atlantic (ดอกคลิน แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Docyl (โดซิล) | Unison |
Doxin (ดอกซิน) | Asian Pharm |
Doxin The Forty-Two (ดอกซิน เดอะ โฟร์ตี-ทู) | The Forty-Two |
Doxine (ดอกซิน) | Utopian |
Doxinin (ดอกซินิน) | Inpac Pharma |
Doxinpac (โดซินแพค) | Inpac Pharma |
Doxy (ดอกซี) | Masa Lab |
Doxyclate (ดอกซีเคลท) | T. O. Chemicals |
Doxycline (ดอกซีคลิน) | General Drugs House |
Doxycom (ดอกซีคอม) | Community Pharm PCL |
Doxycycline Osoth (ดอกซีไซคลิน โอสถ) | Osoth Interlab |
Doxyhof (ดอกซีฮอฟ) | Pharmahof |
Doxylcap (ดอกซิลแคพ) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Doxylin (ดอกซิลิน) | T P Drug |
Doxyman-100 (ดอกซีแมน-100) | T. Man Pharma |
Doxymed (ดอกซีเมด) | Medicpharma |
Doxy-P (ดอกซี-พี) | P P Lab |
Madoxy (มาดอกซี) | Pharmadica |
Medomycin (เมโดมายซิน) | Medochemie |
Poli-Cycline (โพลี-ไซคลิน) | Polipharm |
Pondoxcycline (พอนดอกไซคลิน) | Pond’s Chemical |
Siadocin (ซิอโดซิน) | Siam Bheasach |
Torymycin (โทรีมายซิน) | Chinta |
Veemycin (วีมายซิน) | Osoth Interlab |
Vibramycin (ไวบรามายซิน) | Pfizer |
Viprocin (ไวโพรซิน) | Inpac Pharma |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Doxycycline [2014,April10].
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vibramycin/?q=doxycycline&type=brief [2014,April10].
3. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=doxycycline [2014,April10].
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/doxycycline-index.html?filter=2 [2014,April10].
5. http://www.drugs.com/cdi/doxycycline-capsules.html [2014,April10].