โรคเรเนาด์ (Raynaud disease) หรือ ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud phenomenon)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?
- โรคเรเนาด์มีกลไกการเกิดอย่างไร?
- โรคเรเนาด์มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคเรเนาด์มีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเรเนาด์ได้อย่างไร?
- รักษาโรคเรเนาด์อย่างไร?
- โรคเรเนาด์มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคเรเนาด์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันโรคเรเนาด์อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหลอดเลือด โรคของหลอดเลือด (Vascular disease)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- มะเร็ง (Cancer)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โบทอกซ์ หรือโบทูไลนัมท็อกซิน (Botox or Botulinum Toxin)
- น้ำหนักลดผิดปกติ (Unintentional weight loss)
บทนำ: คือโรคอะไร?
โรคเรเนาด์ (Raynaud disease) คือ โรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก, ทั่วไปมักเกิดกับหลอดเลือดนิ้วมือและนิ้วเท้าที่จะหดตัวตีบแคบในภาวะที่มีอากาศเย็น และ/หรือมีความเครียด จนอวัยวะเหล่านั้นเกิดอาการ รู้สึกเย็น ซีด และอาจจนถึงเขียวคล้ำจากการขาดเลือด
อนึ่ง: ชื่ออื่นของโรคเรเนาด์ เช่น Raynaud’s disease, ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud phenomenon หรือ Raynaud’s phenomenon), กลุ่มอาการเรเนาด์ (Raynoud syndrome), เป็นโรคที่ได้ชื่อตามผู้รายงานโรคนี้คนแรกในปลายศตวรรษที่ 19 คือ Auguste Gabriel Maurice Raynaud นายแพทย์ชาวฝรั่งเศส
ทั่วไป โรคเรเนาด์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม/ชนิดคือ โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ และโรคเรเนาด์ทุติยภูมิ
ก. โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ(Primary Raynaud หรือ เรียกว่า Raynaud disease): คือ โรคเรเนาด์ที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดที่ถ่ายทอดมาจากครอบครัว, โรคกลุ่มนี้พบเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 90%ของโรคเรเนาด์ทั้งหมด และอาการมักไม่รุนแรง หายได้เองโดยไม่ต้องมีการรักษา
ข. โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ (Secondary Raynaud หรือ Raynaud phenomenon): คือ โรคเรเนาด์ที่มีสาเหตุจากโรค/ภาวะต่างๆบางโรค/บางภาวะ เช่น ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่นยา Ergotamine), มะเร็งบางชนิด (เช่น มะเร็งปอด), เนื้องอกบางชนิด (เช่น ฟีโอโครโมไซโตมา/ Pheochromocytoma), ทั้งนี้โรคเรเนาด์กลุ่มนี้พบน้อย ประมาณ 10%ของผู้ป่วยโรคเรเนาด์ทั้งหมด ซึ่งทั่วไปมักมีอาการรุนแรงและต้องการการรักษาจากแพทย์
รายงานจากทั่วโลก โรคเรเนาด์พบทุกเชื้อชาติ, ความชุกของโรคฯจะต่างกันในแต่ละประเทศ, เพศหญิงพบสูงกว่าเพศชาย โดยเพศหญิงพบได้ประมาณ 4.9%-20.1% ของประชากร ส่วนเพศชายประมาณ 3.8%-13.5%, พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่, กลุ่มที่เป็นโรคปฐมภูมิมักพบช่วงอายุ 15-30 ปี ส่วนกลุ่มทุติยภูมิ พบอายุเท่าไรก็ได้ขึ้นกับสาเหตุแต่มักพบในอายุสูงกว่ากลุ่มปฐมภูมิ
โรคเรเนาด์มีกลไกการเกิดอย่างไร?
กลไกการเกิดโรคเรเนาด์ คือ เมื่อได้รับตัวกระตุ้น ซึ่งโดยทั่วไป คือ อุณหภูมิที่เย็น หรือความเครียด จะกระตุ้นให้เกิดภาวะหดตัวที่หลอดเลือดแดงของอวัยวะในส่วนปลายของร่างกาย (แขน ขา มือ เท้า) ที่พบบ่อยที่สุด คือ หลอดเลือดนิ้วมือ ที่พบบ่อยรองลงมา คือหลอดเลือดนิ้วเท้า แต่อาจพบเกิดกับหลอดเลือด ใบหู และจมูกได้:
- ระยะแรกของอาการ: จะเริ่มมีการหดตัวของหลอดเลือดก่อน อวัยวะที่เกิดอาการจึงมีเลือดเลี้ยงลดลง ส่งผลให้ นิ้วมือ นิ้วเท้า ฯลฯ เย็น และมีสีขาวซีด,
- ระยะที่ 2: เมื่อหลอดเลือดหดตัวมากขึ้น นิ้วมือนิ้วเท้า ฯลฯ จะขาดเลือด/ขาดออกซิเจน จึงมีภาวะเจ็บ/ปวด ชา และอวัยวะส่วนนั้นเปลี่ยนเป็นมีสีเขียวคล้ำ ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ "ระยะที่3"
- ระยะที่ 3: หลอดเลือดจะกลับมาขยายตัวกลับสู่ภาวะปกติ นิ้วมือ นิ้วเท้า ฯลฯ จะกลับมาเป็นสีชมพูตามปกติ อาการอื่นๆก็จะกลับปกติ
ทั้งนี้ อาการเหล่านี้ทั้ง 3 ระยะ อาจเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเป็น 'นาที' หรือเป็น 'ชั่วโมง' หลังได้รับตัวกระตุ้น และอาจมีอาการอยู่นานเป็นนาที หรือเป็นชั่วโมงขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป อาการมักเกิดนานเป็นนาที (กรณีโรคเรเนาด์ปฐมภูมิ) ยกเว้นในรายรุนแรงที่พบได้น้อย (โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ)ที่อาการอาจคงอยู่นานเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงได้
โรคเรเนาด์มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคเรเนาด์ ทั่วไป ได้แก่
ก. โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ: ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคเรเนาด์ คือ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เย็นกว่าปกติ และ/หรือ ความเครียด ซึ่งกลไกการเกิด ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยเหล่านี้ เช่น
- พันธุกรรม: เพราะมักพบอาการนี้เกิดในคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
- เพศ: เพศหญิงพบเกิดได้สูงกว่าเพศชาย
- อายุ: มักพบในช่วงวัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว
ข. โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ: สาเหตุมีได้หลากหลาย เช่น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยากลุ่ม Ergot, Ergotamine, Beta blocker, Sulfasalazine
- โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งปอด
- เนื้องอก ฟีโอโครโมไซโตมา
- โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน เช่น โรคข้อรูมาตอยด์, โรคหนังแข็ง
- อาชีพ: ผู้ที่มีอาชีพที่ทำให้เกิดอาการตัว/มือสั่น เช่น ช่างเลื่อยไม้, อาชีพที่มือเท้าเย็นตลอดเวลา เช่น ผู้ทำงานเกี่ยวกับอาหารแช่แข็ง
- โรค/ภาวะบางชนิด: เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)
โรคเรเนาด์มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเรเนาด์ทั้ง 2 กลุ่มจะเกิดหลังได้รับตัวกระตุ้น ที่สำคัญ คือ อุณหภูมิที่เย็น และ/หรือความเครียด โดยอาการจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรก: อาการจะเกิดการหดตัวของหลอดเลือดก่อน ส่งผลให้ นิ้วมือ นิ้วเท้า เย็น และมีสีขาวซีดจากได้รับเลือดลดลง
- ระยะที่2 : เมื่อหลอดเลือดหดตัวมากขึ้น นิ้วมือนิ้วเท้าจะขาดเลือดมากขึ้นจนเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นขาดออกซิเจน จึงมีภาวะเจ็บ/ปวด ชา และเปลี่ยนเป็นมีสีเขียวคล้ำ
- ระยะที่3: หลอดเลือดจะกลับมาขยายตัวกลับสู่ภาวะปกติ นิ้วมือ-นิ้วเท้า จึงกลับมาเป็นสีชมพูตามปกติรวมถึงอาการต่างๆด้วย
ทั้งนี้ อาการทุกระยะ อาจเกิดภายในระยะเวลาเป็น 'นาที' หรือเป็น 'ชั่วโมง' หลังได้รับตัวกระตุ้น และจะมีอาการอยู่นานเป็นนาที (2-3 นาที) หรือเป็นชั่วโมง โดยทั่วไป อาการมักเกิดอยู่นานเป็นนาที แต่ในรายรุนแรงที่พบได้น้อยอาการอาจคงอยู่นานหลายชั่วโมงได้
อนึ่ง:
- ในโรคเรเนาด์ปฐมภูมิ จะไม่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย แต่ในโรคเรเนาด์ทุติยภูมิ จะมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยเสมอที่จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามแต่ละสาเหตุ/โรค/ภาวะซึ่งแตกต่างกัน เช่น อาการจากมะเร็งปอด, อาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, อาการจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (อ่านเพิ่มเติม อาการของแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุได้จาก เว็บ haamor.com)
- อาการที่เกิดขึ้น มักเกิดกับ นิ้วมือ นิ้วเท้า อาจเกิดหลายนิ้ว บางครั้งอาจเกิดเพียงนิ้วเดียวได้ และมักเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย คือ ซ้าย และขวา
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ทั่วไป อาการจากโรคเรเนาด์ จะไม่ก่อผลข้างเคียง และจะหายไปเอง แต่เกิดซ้ำใหม่ได้เสมอเมื่อได้รับตัวกระตุ้นครั้งใหม่ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการขึ้น จึงมักใช้การดูแลตนเองโดยให้ความอบอุ่นกับมือและเท้า การลดความเครียด อาการก็จะหายไปเอง
แต่เมื่อมีอาการดังกล่าวใน หัวข้อ อาการฯ ที่รุนแรง เช่น ปวดนิ้วมือ นิ้วเท้ามาก หรือมีแผล (เกิดจากเนื้อเน่าตาย) ตามปลายนิ้วมือ นิ้วเท้าหลังเกิดอาการทั้ง 3 ระยะ หรือเกิด นิ้วเย็น ชา พร้อมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไอเป็นเลือด, เหนื่อยหอบ หรือ เกิดหลังการกินยา/ใช้ยา หรืออาการต่างๆส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยโรคเรเนาด์ได้อย่างไร?
ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคเรเนาด์ปฐมภูมิ ได้จากอาการทางคลินิกของผู้ป่วย คือ จากประวัติอาการที่มี 3 ระยะ(ดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”) ร่วมกับประวัติอาการที่เกิดตามหลังตัวกระตุ้น และไม่มีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย และร่วมกับการตรวจร่างกายก็ไม่พบความผิดปกติ
แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไอเป็นเลือด, มีไข้, น้ำหนักลดผิดปกติ โดยไม่มีสาเหตุอันควร, มีการทำงานผิดปกติทางระบบประสาท, เป็นต้น และการตรวจร่างกายพบสิ่งผิดปกติ แพทย์ก็จะนึกถึงโรคเรเนาด์ทุติยภูมิ ซึ่งแพทย์จะมีการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของโรคเรเนาด์ทุติยภูมิต่อไป โดยการสืบค้นเพิ่มเติมจะขึ้นกับว่า แพทย์สงสัยว่า สาเหตุเกิดจากโรคอะไร เช่น เอกซเรย์ปอด เมื่อสงสัยอาการเกิดจากโรคมะเร็งปอด เป็นต้น
รักษาโรคเรเนาด์อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเรเนาด์ ได้แก่
ก. โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ: โรคนี้ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษา โรคจะเป็นๆหายๆ ไม่ก่ออันตราย ไม่มีผลข้างเคียง ในบางคนเมื่อโตขึ้น โรคจะหายไปเอง ทั้งนี้การรักษา คือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่เครียด และรักษาดูแลร่างกายโดยเฉพาะมือเท้าให้อบอุ่นอยู่เสมอ(เช่น สวมถุงมือ ถุงเท้า)โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มีอากาศเย็น และลดความกังวลในโรคโดยการทำความเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของโรคนี้
ข. โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ: แนวทางการรักษานอกจากเช่นเดียวกับในข้อ “ก” แล้ว คือ การรักษาสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่บุคคล/แต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, การรักษามะเร็งปอด, การรักษาโรคข้อรูมาตอยด์, การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ, แนะนำอ่านเพิ่มเติม วิธีรักษาแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บ com
อนึ่ง: กรณีเกิดอาการจากโรคเรเนาด์ที่รุนแรง คือ เป็นครั้งละนานเป็นชั่วโมง หรือ มีอาการเกิดบ่อย หรือ มีอาการมากจนเกิดแผลที่นิ้วมือ-นิ้วเท้า แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาตามความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การให้ยารับประทาน เช่น ยาขยายหลอดเลือด (เช่นยา Nifedipine), ยาป้องกันหลอดเลือดอุดตันจากเกิดลิ่มเลือด (เช่นยา Aspirin)
- การฉีดยา โบทอกซ์ (Botulinum toxin) เพื่อลดการทำงานของเส้นประสาท มือ เท้าเพื่อช่วยขยายหลอดเลือด
- การผ่าตัดเส้นประสาทที่ทำให้เกิดการหดตัวรุนแรงของหลอดเลือด
โรคเรเนาด์มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคเรเนาด์ คือ
ก. โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ: เป็นโรคที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ยกเว้นก่อความกังวลให้ผู้มีอาการ
ข. โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ: ผลข้างเคียงที่เกิดจะเป็นผลข้างเคียงจากโรคที่เป็นสาเหตุที่จะแตกต่างกันตามแต่ละสาเหตุของแต่ละผู้ป่วย แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง ผลข้างเคียงของโรคที่เป็นสาเหตุแต่ละโรค ได้จากเว็บ com
อนึ่ง: ที่พบได้น้อยมาก คือ เมื่อเกิดอาการจากโรคเรเนาด์ที่รุนแรง (มักพบในโรคเรเนาด์ทุติยภูมิ) คือนิ้วมือ-นิ้วเท้าขาดเลือด/ขาดออกซิเจนเป็นเวลานานเป็นชั่วโมง อาจส่งผลให้เกิดแผลที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าได้ ซึ่งเป็นแผลจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นตายจากขาดเลือด ซึ่งเมื่อเกิดแผลขึ้นที่ปลายนิ้ว ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล
โรคเรเนาด์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคเรเนาด์ทั่วไป คือ
ก. โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ: เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่มีผลกระทบต่ออายุไขของชีวิต และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคอะไรที่รวมถึงโรคมะเร็ง
ข. โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ: การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง การพยากรณ์โรคของแต่ละสาเหตุ/แต่ละโรคได้ใน เว็บ haamor.com
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเรเนาด์ที่สำคัญ เช่น
- ดูแล ร่างกาย มือ เท้า ให้อบอุ่นอยู่เสมอ เช่น ใส่ ถุงมือ ถุงเท้า ใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่างๆที่เย็นๆ
- รักษาสุขภาพจิต ไม่เครียด
- ไม่สูบบุหรี่ และ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสอง เพราะควันบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหดตัว
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวได้ เช่น น้ำแข็ง เครื่องดื่มแช่แข็ง ไอสครีม เครื่องดื่มคาเฟอีน(ชา กาแฟ เครื่องดื่มโคลา เครื่องดื่มชูกำลัง)
- ไม่ใช้ยาต่างๆพร่ำเพื่อ ไม่ซื้อยาใช้เอง การซื้อยา/ใช้ยาต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกรว่า เป็นโรคเรเนาด์
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ จะช่วยการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น ป้องกันการเกิดอาการจากโรคเรเนาด์ได้
- เมื่อต้องใช้ยารักษาโรคนี้ ต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งให้ถูกต้อง และพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
กรณีมีอาการจากโรคเรเนาด์รุนแรงจนต้องพบแพทย์ และเมื่อกลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง เช่น เกิดอาการบ่อยขึ้น หรือ อาการแต่ละครั้งเป็นนานขึ้นๆ
- มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดหัวมาก อ่อนเพลียมาก
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากยาที่แพทย์สั่ง
- มีแผลที่ปลาย นิ้วมือ นิ้วเท้า ที่จมูก และ/หรือที่ใบหู
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคเรเนาด์อย่างไร?
การป้องกันโรคเรเนาด์ ทั่วไป คือ
ก. โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ: ที่สำคัญ คือ ลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการดูแลตนเองดังกล่าวในหัวข้อ “การดูแลตนเองฯ” โดยหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น(ความเย็นและความเครียด) และ ดูแลรักษาร่างกาย มือ เท้า ให้อบอุ่นเสมอ
ข. โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ: คือ ปฏิบัติตนดังกล่าวในข้อ “การดูแลตนเองฯ” ร่วมกับป้องกันการเกิดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องการป้องกันโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคเรเนาด์ได้จากเว็บ haamor.com)
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Maurice_Raynaud [2022,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Raynaud_syndrome [2022,Oct15]
- https://emedicine.medscape.com/article/331197-overview#showall [2022,Oct15]
- https://medlineplus.gov/raynaudsdisease.html#cat95 [2022,Oct15]