น้ำหนักลดผิดปกติ (Unintentional weight loss)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คืออะไร? พบบ่อยไหม?

น้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติ(Unintentional weight loss หรือ Unexplained weight loss) คือ ภาวะที่น้ำหนักตัวลดลงหรือผอมลงโดยไม่ได้ต้องการลดน้ำหนัก ซึ่งทางการแพทย์ให้ความหมายว่า คือ ‘ภาวะที่น้ำหนักตัวลดลงอย่างน้อย 5%ของน้ำหนักตัวเดิมภายในระยะเวลา 6-12 เดือน’

น้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติ ไม่ใช่โรค(โรค-อาการ-ภาวะ)แต่เป็นเป็นภาวะที่พบบ่อยภาวะหนึ่ง พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบบ่อยกว่าในผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และพบได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย มีการศึกษาที่พบภาวะน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกตินี้ได้ประมาณ 7-13%ของประชากรทั่วไป

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดน้ำหนักลดผิดปกติ?

น้ำหนักลดผิดปกติ

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่อายุมากกว่า 65 ปี และโดยเฉพาะที่ขาดที่พึ่ง หรือต้องใช้สวัสดิการของรัฐ
  • คนพิการ
  • ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(โรคซีโอพีดี) โรคออโตอิมมูน(โรคภูมิต้านตนเอง)
  • ผู้ด้อยทางการศึกษาและทางฐานะการเงิน
  • มีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เช่น ซึมเศร้า
  • สูบบุหรี่จัด
  • ติดสุรา
  • คนโสด, เป็นหม้าย, หย่าร้าง
  • เป็นคนผอมโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

น้ำหนักลดผิดปกติมีสาเหตุจากอะไร?

กลไกการเกิดภาวะผอมผิดปกติหรือน้ำหนักลดผิดปกติที่แน่ชัด ยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่า น่าเกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆที่ส่งผลให้เกิด การเปลี่ยนแปลงในการใช้พลังงานของร่างกาย, กระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้ไม่สามารถย่อยและ/หรือดูดซึมอาหารได้ตามปกติ, มีความผิดปกติในสมดุลของฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย, มีการเสื่อมถอยของเซลล์ต่างๆตามอายุที่รวมถึงเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับ การกิน การย่อย และการดูดซึมอาหาร เช่น โรคเหงือก, โรคฟัน, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่บริโภคเป็นประจำ, โรคประจำตัวต่างๆ, รวมทั้งปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ ที่ส่งผลให้ เบื่ออาหาร รสชาติอาหารผิดปกติ คลื่นไส้-อาเจียน ท้องอืดเฟ้อ/อาหารไม่ย่อย ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง

แต่ทั้งนี้ พอสรุปกลุ่มสาเหตุของน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติได้ดังนี้

ก. จากโรคเรื้อรังหรือภาวะผิดปกติของร่างกาย: เช่น

  • จากโรคมะเร็งต่างๆ คิดเป็นประมาณ ประมาณ 16-36% ของผู้ป่วย ที่พบบ่อย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง, โรคช่องปาก, ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ เช่น กลืนลำบาก ลำไส้บีบเคลื่อนตัวช้ากว่าปกติ ย่อยอาหารได้น้อย น้ำย่อยอาหารลดลง ซึ่งพบสาเหตุกลุ่มนี้ได้ประมาณ 6-19%
  • โรคต่อมไร้ท่อ พบได้ประมาณ 4-11% เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด พบได้ประมาณ 2-9% เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคระบบทางเดินหายใจ พบได้ประมาณ 1-6% เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(โรคซีโอพีดี)
  • โรคสมอง โรคไขสันหลัง พบได้ประมาณ 2-7% เช่น อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคไต พบประมาณ 4% เช่น โรคไตเรื้อรัง
  • โรคติดเชื้อเรื้อรังต่างๆ พบประมาณ 2-5% เช่น วัณโรค โรคติดเชื้อ เอชไอวี/โรคเอดส์

ข. ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ: พบได้ประมาณ 9-42% ที่พบบ่อย คือ ซึมเศร้า (ภาวะซึมเศร้า) และ โรคเครียด

ค. ปัญหาทางการบริโภค เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุราเรื้อรัง, สูบบุหรี่จัด

ง. ปัญหาด้านทางสังคม เช่น การไม่มีผู้ดูแล การไม่มีรายได้ในการซื้ออาหารที่เพียงพอ พบรวมกันได้ประมาณ 4-8%

จ. ผลข้างเคียงจากยาที่บริโภคเป็นประจำบางชนิด พบประมาณ 2% เช่น ยาลดความดัน ยาเบาหวานบางชนิด

ฉ. บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

จะเห็นได้ว่าสาเหตุน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติ มีหลากหลายสาเหตุที่มีการดูแลรักษาแตกต่างกันตามแต่ละสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ เมื่อมีน้ำหนักลดผิดปกติ หรือ ผอมผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุเพื่อได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุน้ำหนักลดผิดปกติได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติครอบครัว และการใช้ชีวิต
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือด เช่น ดูโรคเบาหวาน โรคไต
  • การตรวจภาพอวัยวะต่างๆอาจด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค แผล หรือก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และ/หรือการเจาะ/ดูดเซลล์จากรอยโรค แผล หรือก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา

รักษาน้ำหนักลดผิดปกติอย่างไร?

แนวทางการรักษาน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติ คือการรักษาสาเหตุ, การดูแลรักษาเพื่อการเพิ่มน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ, และการรักษาตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ คือ การรักษาโรค/ภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุ เช่น รักษาโรคมะเร็ง, รักษาวัณโรค, รักษาโรคของต่อมไทรอยด์, รักษาปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ, หรือ การดูแลเมื่อมีปัญหาทางสังคม (แนะนำอ่านรายละเอียดแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

ข. การรักษาภาวะผอมลงหรือการเพิ่มน้ำหนักตัว คือ การรักษาด้านโภชนาการ โดยปรับประเภทอาหาร, เพิ่มอาหารประเภทให้พลังงาน (โปรตีน คาร์โบไฮเดรต/แป้ง น้ำตาล และไขมัน), เพิ่มปริมาณอาหาร เช่น เพิ่มจำนวนมื้ออาหาร และ/หรือเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ, ปรับประเภทอาหารให้ถูกปากหรือตามความประสงค์ของผู้ป่วย, ให้อาหารเสริม เช่น ให้วิตามินและ/หรือเกลือแร่/แร่ธาตุเสริมอาหาร, ช่วยดูแลด้านอารมณ์/จิตใจเพื่อเพิ่มความอยากอาหาร, ให้ยากระตุ้นการอยากอาหาร, ให้อาหารทางสายให้อาหาร หรือทางหลอดเลือดดำเมื่อกินทางปากได้น้อย ทั้งนี้จะเลือกวิธีใดหรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกันขึ้นกับ สาเหตุ, ความรุนแรงของอาการ, และดุลพินิจของแพทย์

ค.การรักษาตามอาการ เช่น เปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวเมื่อมีปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน, ดูแล ควบคุม รักษาอาการ ท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย หรือคลื่นไส้-อาเจียน เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรหลังพบแพทย์?

การดูแลตนเองเมื่อน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติหลังพบแพทย์แล้ว ที่สำคัญโดยทั่วไป คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และลดโอกาสติดเชื้อต่างๆเพราะเมื่อผอมลง ร่างกายจะอ่อนแอจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น
  • พักผ่อน นอนหลับ ให้เพียงพอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ จะกระตุ้นการอยากอาหาร สุขภาพจิตดีขึ้น และช่วยลดอาการท้องผูก
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่
  • เลิก/ไม่ดื่มสุรา

ป้องกันน้ำหนักลดผิดปกติได้อย่างไร?

การป้องกันน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติ คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุ (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ)ที่หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกๆวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ป้องกัน ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่
  • เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอเพื่อให้ตรวจพบโรคและภาวะผิดปกติต่างๆตั้งแต่ก่อนมีอาการเพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเกิดน้ำหนักลดผิดปกติหรือผอมผิดปกติ

บรรณานุกรม

  1. Saper, R. et al. (2004). Common dietary supplements for weight loss. Am Fam Physician. 70, 1731-1738.
  2. Wang, R., and Phelan, S. (2005). Long-term weight loss maintenance. Am J Clin Nutr. 82 (suppl),222s-225s.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Weight_loss [2020, July18]
  4. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17770-unexplained-weight-loss [2020, July18]
  5. https://medlineplus.gov/ency/article/003107.htm [2020, July18]
  6. https://bestpractice.bmj.com/topics/en-us/548 [2020, July18]