โรคหวัดในเด็ก (Common cold in children)
- โดย พญ. ณัฐชญา ไมตรีเวช
- 27 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคหวัดในเด็กมีกลไกลการเกิดอย่างไร? เป็นโรคติดต่อหรือไม่?
- อะไรเป็นสาเหตุเกิดโรคหวัดในเด็ก?
- อะไรคือปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหวัดในเด็ก?
- โรคหวัดในเด็กมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหวัดในเด็กได้อย่างไร?
- แพทย์รักษาโรคหวัดในเด็กอย่างไร?
- โรคหวัดในเด็กมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคหวัดในเด็กมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลเด็กเป็นโรคหวัดอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคหวัดในเด็กอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- โรคหวัด (Common cold)
- สิ่งแปลกปลอมในจมูก (Nasal foreign body)
- วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้ (Tepid sponging)
- ยาหยอดจมูก (Nasal Drops)
- วิธีกินผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในเด็ก (Oral rehydration salt/ORS in children)
- โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคหวัดในเด็ก (Acute nasopharyngitis in children หรือ Common cold in children) คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยที่สุด โดยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน/ตอนบนที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส มักมีอาการไม่รุนแรง พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักพบบ่อยในฤดูที่มีอากาศเย็นและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เช่น ในฤดูหนาว เพราะมีอุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสร่วมกับเยื่อบุโพรงจมูกแห้งจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉลี่ยแล้วเด็กมีโอกาสเป็นโรคหวัดประมาณ 6 - 8 ครั้งต่อปี และจะพบน้อยลงเมื่อโตขึ้น ขณะที่ผู้ใหญ่พบได้ประมาณ 2 - 3 ครั้งต่อปี โอกาสพบได้พอๆกันทั้งในเด็กหญิงและเด็กชาย
โรคหวัดในเด็กมีกลไกลการเกิดอย่างไร? เป็นโรคติดต่อหรือไม่?
โรคหวัดในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อ โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศ และการสัมผัส โดยที่ไวรัสเหล่านี้จะมีวิธีหลบเลี่ยงกลไกการป้องกันการติดเชื้อของร่างกายทำให้สามารถติดเชื้อไวรัสเดิมๆได้หลายครั้ง
ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส เช่น Rhinovirus มีระยะฟักตัวประมาณ 10 ถึง 12 ชั่วโมง, ส่วนไวรัส Influenza virus ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 ถึง 7 วัน, แต่ในโรคหวัดโดยทั่วไประยะฟักตัวมักประมาณ 1 ถึง 3 วัน
การติดเชื้อโรคหวัดเริ่มจากการสูดหายใจเอาเชื้อไวรัสที่ปนมากับอากาศ ผ่านระบบทางเดินหายใจเข้าไปที่เยื่อบุผิวของจมูก บางครั้งอาจรวมเยื่อบุผิวของตา/เยื่อตาด้วย และมีการขยายตัวของเชื้อไวรัสบริเวณเยื่อบุต่างๆไปจนถึงระบบทางเดินหายใจส่วนบน แล้วทำให้เกิดอาการต่างๆของโรคหวัดตามมา
อะไรเป็นสาเหตุเกิดโรคหวัดในเด็ก?
เชื้อไวรัสทางเดินหายใจมีมากกว่า 100 ชนิดที่สามารถทำให้เกิดโรค/เป็นสาเหตุโรคหวัดในเด็กได้ แต่ประมาณ 1 ใน 3 จะเป็นไรโนไวรัส / Rhinovirus ซึ่งเชื้อตัวนี้เจริญเติบโตได้ดีในโพรงจมูก, ประมาณ 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์เป็นโคโรน่าไวรัส / Coronavirus , และที่เหลือเป็นเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ และมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไปตามชนิดเชื้อไวรัส
อะไรคือปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหวัดในเด็ก?
ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคหวัดในเด็ก นอกจากเรื่องของอากาศหนาวเย็นและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำแล้ว ก็จะมี
- การอยู่ในที่ชุมชนที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคหวัด
- การใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคหวัดเช่น อยู่ในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสหวัด และ
- ในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องก็มีโอกาสติดเชื้อโรคหวัดได้สูงกว่าปกติ
โรคหวัดในเด็กมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคหวัดในเด็ก ได้แก่
ก. ในเด็กทารกและในเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ระยะแรกมักจะมาด้วยอาการไข้ โดยตรวจไม่พบความผิดปกติ อื่นๆ ต่อมาก็จะเริ่มมีน้ำมูกไหล ไอ จาม ร้องกวน และน้ำมูกจะทำให้เกิดการหายใจลำบากได้ อาจ มีอาการอาเจียน และอุจจาระร่วง/ท้องเสียร่วมด้วยในเด็กบางคน
ข. ในเด็กโต: จะเริ่มด้วยอาการจาม ปากคอแห้ง บางคนมีอาการหนาวๆร้อนๆ และ ปวดเมื่อยตามตัว ตามมาด้วยน้ำมูกไหลซึ่งในระยะแรกจะเป็นน้ำมูกใสๆ ต่อมาจะปนสีเหลืองหรือเขียวหรือเป็นหนอง
อนึ่ง การที่น้ำมูกสีเขียวนอกจากเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนแล้ว ยังอาจเกิดจากเม็ดเลือดขาวในร่างกายที่มากำจัดเชื้อไวรัส
อาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2 ถึง 7 วัน ถ้ามีอาการนานกว่านี้ให้สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) เกิดขึ้น หรืออาการเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคหวัด
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
โดยทั่วไปโรคหวัดในเด็กมักจะหายเองถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
*แต่ถ้ามีอาการ/ภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นอาการหวัดนานเกิน 7 วันแล้วไม่หาย หรือมีไข้สูง รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ อ่อนเพลียมาก ปวดหัวรุนแรง หอบเหนื่อย ไอมาก อาจเป็นอาการเกิดจากการติดเชื้อชนิดอื่น (เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสชนิดที่รุนแรง) หรือเป็นโรคอื่น กรณีเหล่านี้เด็กควรได้รับการการตรวจร่างกายและ/หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากแพทย์เพิ่มเติม จึงควรต้องรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลโดยรีบด่วน
*รวมถึงในกรณีที่เด็กมีน้ำมูกมาก เด็กหายใจไม่ออก อาการรบกวนชีวิตประจำวันของเด็กก็สามารถที่จะนำเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับยาบรรเทาอาการได้
แพทย์วินิจฉัยโรคหวัดในเด็กได้อย่างไร?
โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคหวัดในเด็กจาก
- ประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรคโดยผู้ป่วยมักจะ มีอาการดังกล่าวข้างต้น (ในหัวข้อ อาการ)
- และจากการตรวจร่างกายเด็ก เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นๆเช่น แยกจากโรคภูมิแพ้ซึ่งมักจะมีเยื่อบุโพรงจมูกซีด ต่างจากโรคหวัดที่มักจะเยื่อบุโพรงจมูกสีแดง
*และที่สำคัญในเด็กเล็กต้องแยกจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมไปติดในโพรงจมูก (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สิ่งแปลกปลอมในจมูก) เช่น ลูกปัด ยางลบ เมล็ดผลไม้ เป็นต้น โดยแพทย์ตรวจดูในโพรงจมูก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การตรวจทางหูคอจมูก) และสอบถามประวัติทางการแพทย์อื่นๆเพิ่มเติมเช่น อาการเป็นๆหายๆและ/หรือมีอาการเกิดกับจมูกข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น
แพทย์รักษาโรคหวัดในเด็กอย่างไร?
ในโรคหวัดนั้นไม่มีการรักษาจำเพาะแพทย์จะใช้การรักษาตามอาการ เช่น
- ให้ยาลดไข้ และเช็ดตัวลดไข้ ในกรณีที่มีไข้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้)
- ให้ยาที่ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้นเพื่อให้หายใจสะดวก และแนะนำให้ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) หยอดจมูกบ่อยๆเพื่อล้างน้ำมูกที่เหนียวออกจากโพรงจมูก
- หรือในเด็กเล็กๆจะมียาหยอดจมูกก่อนกินนมหรือก่อนนอนเพื่อให้เด็กหายใจคล่อง แต่ยาชนิดนี้ห้ามใช้ต่อเนื่องกันเกิน 5 วัน เพราะระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บcom บทความเรื่อง ยาหยอดจมูก)
- การให้ยาลดน้ำมูก/ ยาแก้แพ้: โดยแพทย์พิจารณาเป็นรายๆไป แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ แนะนำเพราะทำให้เกิดอาการปากคอแห้ง น้ำมูกเหนียว และอาการกระสับกระส่ายในเด็กบางราย
- ยาแก้ไอ: เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ แต่ถ้ายังไอเยอะอาจจะให้ยากดอาการไอ หรือยาละลายเสมหะ/ยาขับเสมหะ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยากดอาการไอในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีเพราะทำให้เด็กไอไม่ออกและอาจมีเสมหะค้างจนอาจอุดตันในหลอดลมได้
- ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดกิน, สูดทางจมูก, และฉีดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อไวรัสรุนแรงที่แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาเป็นรายๆไป เช่น ยา Oseltamivir
โรคหวัดในเด็กมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคหวัดในเด็ก เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่มักจะหายเองได้ ดังนั้นจึงเป็น โรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคหายได้เองด้วยการดูแลรักษาประคับประคองตามอาการถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เช่น ปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ/หูติดเชื้อ
โรคหวัดในเด็กมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากโรคหวัดในเด็กคือการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ซ้อนในอวัยวะของระบบทางเดินหายใจใกล้เคียง เช่น คออักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ โดยในเด็กเล็กพบได้ถึง 5 - 30% นอกจากนี้โรคหวัดยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดและทำให้โรคภูมิแพ้และ/หรือโรคหืด กำเริบได้
ดูแลเด็กเป็นโรคหวัดอย่างไร?
ดูแลเด็กเป็นโรคหวัดโดย
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย/อาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) เช่น โจ้ก ข้าวต้ม ให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆเพราะเด็กอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้
- อาบน้ำอุ่น ไอน้ำจะช่วยให้จมูกโล่งขึ้น แต่ถ้ามีไข้ให้เช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้ ในเด็กเล็กๆถ้าปล่อยให้ไข้สูงอาจมีอาการชักได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ไข้ชัก และเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้)
- ถ้าเด็กมีอาการท้องเสีย/ถ่ายเหลวให้น้ำเกลือแร่/ผงละลายเกลือแร่/ โออาร์เอส /ORS ทดแทน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง วิธีกินผงละลายเกลือแร่ในเด็กและ เรื่อง โออาร์เอส )
- เมื่อพบแพทย์แล้วให้ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีหรือก่อนนัดเมื่อ
- เด็กมีอาการผิดปกติจากที่เคยมีอาการ เช่น อาเจียน ท้องเสีย
- เด็กมีไข้สูงหรือมีไข้ติดต่อกันนานกว่า 48 ชั่วโมง
- เด็กหายใจลำบาก/ หายใจหอบเหนื่อย
- เด็กอาการทรุดลง
- เด็กอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน
- เมื่อผู้ปกครองกังวลในอาการเด็ก
ป้องกันโรคหวัดในเด็กอย่างไร?
การป้องกันโรคหวัดในเด็กที่ดีที่สุด คือ
- พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ/เป็นหวัด
- ไม่ไปโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กที่มีผู้ติดเชื้อ
- รักษาสุขภาพเด็กให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ของเด็ก
- และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากนั้น ที่สำคัญเช่นกัน คือ
- สอนเด็กให้ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆและทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ
- ในเด็กที่เป็นหวัด ไม่ควรให้เด็กไปโรงเรียนหรือไปสถานรับเลี้ยงเด็กในขณะที่เด็กมีไข้หรือ ไอมาก เพราะเป็นระยะที่เด็กสามารถแพร่เชื้อได้
บรรณานุกรม
- สรวุฒิ พงศ์โรจน์เผ่า.โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนในเด็ก. ใน : บานชื่น เบญจสุวรรณเทพ,โอฬาร พรหมาลิขิต,ยิ่งวรรณ มูลทรัพย์,อุษาณีญา อุรุพงศา, บรรณาธิการ. เอกสารประกอบการสอนกุมารเวชศาสตร์ 2551, 2551 น. 1035-50.
- ชมรมโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย.โรคหวัด. ใน : นวลจันทร์ ปราบพาล,จิตลัดดา ดีโรจนวงศ์ , บรรณาธิการ.แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจในเด็ก.กรุงเทพมหานคร หนังสือ ดีวัน ; 2551 . น.3 -11
- https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=upper-respiratory-infection-uri-or-common-cold-90-P02966 [2022,Aug27]