วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้ (Tepid sponging)
- โดย รัชนี ชัยประเดิมศักดิ์
- 1 มิถุนายน 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ไข้หมายถึงอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยต่ออุณหภูมิของร่างกาย?
- การเช็ดตัวลดไข้หมายถึงอะไร?
- มีวิธีเช็ดตัวเด็กอย่างไร?
- การเตรียมอุปกรณ์
- วิธีเช็ดตัวลดไข้
- วิธีเช็ดตัวนี้ใช้ในผู้ใหญ่ได้ไหม?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
- ไข้ชัก (Febrile seizure)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- วิธีดูแลเด็กชัก (How to care for seizure)
บทนำ
การเช็ดตัวลดไข้ (Tepid sponging) เป็นวิธีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ โดยอาศัยหลักของการนำความร้อนออกจากร่างกายด้วยน้ำ เป็นวิธีที่ทำได้สะดวกมีอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ใกล้ตัว และสามารถให้ผลลัพธ์ในการช่วยลดไข้ได้ดีโดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีสัดส่วนของพื้นที่ผิวกาย (Body surface area) มากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ซึ่งจะได้ผลในการลดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างรวดเร็ว แต่ผลในการเช็ดตัวจะอยู่ได้ไม่นาน ท่านผู้ดูแลต้องให้ยาลดไข้แก่เด็กร่วมด้วย ซึ่งชนิดและขนาดของยาที่ให้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมากและต้องไม่รับประทานยาลดไข้นานติดต่อกันเกิน 5 วันโดยไม่ทราบสาเหตุของไข้ และใน 1 วันควรรับประทานยาลดไข้ห่างกัน 4- 6 ชั่วโมง โดยใน 1 วันไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 ครั้ง
ทั้งนี้ การเช็ดตัวลดไข้ จะมีประโยชน์มากหากท่านไม่ต้องการให้เด็กรับประทานยาติดต่อกันหลายครั้งมาก นอกจากนั้น ยาลดไข้จะใช้เวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาที ท่านสามารถทำการเช็ดตัวลดไข้ให้บุตรหลานของท่าน ทันทีก่อนยาออกฤทธิ์ เมื่อบุตรหลานของท่านมีไข้ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ที่มีประวัติชักเมื่อมีไข้สูง (ไข้ชัก) วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้เบื้องต้นได้ดีทีเดียว
ไข้ หมายถึงอะไร?
ไข้ คือ ภาวะที่เด็กมีอุณหภูมิร่างกาย
- มากกว่า 37.4 องศาเซลเซียส (Celsius) เมื่อวัดทางปาก
- มากกว่า 37.8 องศาเซลเซียสเมื่อวัดทางรักแร้
- มากกว่า 38 องศาเซลเซียส เมื่อวัดทางทวารหนัก
อะไรเป็นปัจจัยต่ออุณหภูมิของร่างกาย?
ปัจจัยมีผลต่ออุณหภูมิร่างกาย คือ
- สิ่งแวดล้อมและอายุ โดยเฉพาะในเด็กทารกแรกเกิดที่ผิวหนังจะมีความความบาง ประกอบกับศูนย์ควบคุมอุณหภูมิร่างกายในสมองยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ทำให้อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการห่อตัวเด็กด้วยผ้าที่หนามากเกินไป หรือ อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิสูง ไม่มีอากาศถ่ายเทสะดวกย่อมมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายทั้งสิ้น ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดอุณหภูมิห้องที่เหมาะสมสำหรับห้องเด็กอ่อนว่า ควรอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส ซึ่งเมื่อเด็กเริ่มโตเท่าวัยเตาะแตะ ผิวหนังจะมีความหนามากขึ้น มีความยืดหยุ่น แต่ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิเด็กวัยนี้ก็ยังไม่คงที่ จนกว่าเด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น
- การออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้มีการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย ทำให้มีการไหลเวียนโลหิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีการสร้างความร้อน ซึ่งทั้งหมดมีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- ระดับของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง เวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศที่สัมพันธ์กับประจำเดือน จะมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายเช่นกัน
- ช่วงเวลาในแต่ละวัน ในคนทั่ปกติวไป ในแต่ละวันภายใน 24 ชั่วโมง อุณหภูมิร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ประมาณ 0.5 – 1 องศาเซลเซียส โดยจะพบว่าอุณหภูมิร่างกายจะต่ำในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน คือ ประมาณ เวลา 01.00 – 04.00 นาฬิกา จากนั้นในช่วงระหว่างวันอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งสูงสุดที่ เวลาประมาณ 16.00 นาฬิกา และจะค่อย ๆลดลงจนถึงช่วงเช้า
- ความเครียด ความเครียดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย ทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และระบบฮอร์โมน ในเด็ก ก็สามารถมีความเครียดได้เช่นกัน จากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนผู้ดูแลใหม่ เพื่อนใหม่ หรือการที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวด เช่น การฉีดยา เจาะเลือด ให้น้ำเกลือ หรือมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นรอบตัว สามารถทำให้เด็กมีความเครียดได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่พัฒนาการทางด้านความนึกคิด- สติปัญญายังไม่สามารถเข้าใจได้ ในสิ่งที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งความเครียด จะมีผลให้ร่างกายมีการผลิตความร้อนออกมาทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- ภาวะมีไข้ ที่เกิดจากการติดเชื้อโรค เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตราย ถ้าอุณหภูมิสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ การที่อุณหภูมิขึ้นเพียงครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่ามีไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังทำการต่อสู้กับเชื้อโรค ต้องดูอาการอื่นประกอบด้วย ทางกาย เช่น พบผื่นขึ้น ตุ่มน้ำใส มีแผลในปาก ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปัสสาวะแสบขัด ท้องเสีย ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ท่านผู้ปกครองควรเตรียมก่อนไปพบแพทย์
นอกจากนั้น ควรสังเกต เพื่อแจ้ง แพทย์ พยาบาล เพราะช่วยการวินิจฉัยหาสาเหตุของไข้ได้ (เชื้อโรคบางชนิด มีลักษณะเฉพาะของการมีไข้) คือ การขึ้นสูงของไข้ว่า มีไข้ในเวลาใด เช่น เช้า กลางวัน กลางคืน รวมทั้งอาจจะมีอาการ หนาวสั่น ร่วมด้วยหรือไม่
การเช็ดตัวลดไข้หมายถึงอะไร?
การเช็ดตัวลดไข้ หมายถึง วิธีการที่ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง โดยการถ่ายเทความร้อน โดยใช้น้ำเป็นตัวช่วยพาความร้อนออกจากร่างกาย จากการใช้ผ้าชุบน้ำ บิดหมาดๆ แล้วเช็ดตัวเด็กอย่างนุ่มนวล นอกจากนี้ การเช็ดตัว ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จึงช่วยเพิ่มการระบายความร้อน และช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัว
มีวิธีเช็ดตัวเด็กอย่างไร?
วิธีเช็ดตัวเด็กมีดังนี้
ก. การเตรียมอุปกรณ์
ควรเตรียมอุปกรณ์ในการเช็ดตัวไว้ใกล้มือ เพื่อสะดวกในการหยิบ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆได้แก่
- ปรอทวัดไข้ ในปัจจุบัน มี 2 แบบ คือ
- ปรอทแบบที่วัดทาง ผิวหนัง/รักแร้ เนื่องจากปัจจุบันจะใช้ปรอทวัดทางก้น/ทางทวารหนักเฉพาะในทารกแรกคลอดเท่านั้น อายุต่อจากนั้นใช้วัดทางรักแร้ทั้งหมด
- แบบดิจิตอล (Digital) ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งแบบวัดทางหูและทางหน้าผาก
ทั้งนี้ หากเป็นปรอทแบบธรรมดา (วัดทางรักแร้) ใช้เวลาในการวางปรอทให้สัมผัสกับผิวหนังประมาณ 5 นาที หากเป็นดิจิตอล รอให้มีเสียงดังขึ้น ที่แสดงว่าเครื่องฯได้อ่านอุณหภูมิเรียบร้อยแล้ว (เมื่อไปพบแพทย์ควรให้ประวัติด้วยว่า อุณหภูมิที่วัดที่บ้านนั้นใช้ปรอทแบบใดวัด วัดวิธีทางใด)
- นาฬิกา สำหรับไว้จับเวลาว่า เริ่มเช็ดตัวนานกี่นาทีแล้ว และเอาไว้จับเวลา ที่จะวัดอุณหภูมิซ้ำหลังจากเช็ดตัว 30 นาทีในรายที่มีไข้สูงมากกว่า 38.8 องศาเซลเซียส แต่ในรายที่มีประวัติชักจากไข้สูง (ไข้ชัก)ต้องประเมินอุณหภูมิซ้ำทุก 10 – 15 นาที
- ผ้าเช็ดตัว/ผ้าขนหนูสำหรับรองใต้ตัวเด็กเวลาที่เช็ดตัว เพื่อป้องกันที่นอนหรือบริเวณที่ทำการเช็ดตัวเปียกชื้น และเอาไว้ซับที่ผิวเด็กเมื่อเช็ดตัวเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ ผ้าเช็ดตัว ควรมีขนาดใหญ่กว่าตัวเด็กเล็กน้อย
- ผ้าขนหนูที่อ่อนนุ่มขนาดที่สามารถพันรอบมือของผู้เช็ด ขนาดประมาณ กว้าง 20 x 30 cm. ความหนาของผ้าให้พอเหมาะกับการใช้เช็ดตัวเด็ก (ขึ้นกับความถนัดของแต่ละผู้ดูแลเด็ก) เวลาใช้คือพันรอบมือทั้ง 4 นิ้วเหลือนิ้วโป้งไว้ และพับส่วนปลายตลบมาสอดไว้ที่ฐานของผ้าและวางนิ้วโป้งกดไว้เวลาเช็ดตัว (ดังภาพ)
- กะละมังหรืออ่างน้ำขนาดความจุประมาณ 5 ลิตร
- เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายบางๆ สำหรับสวมใส่หลังเช็ดตัว
- น้ำที่จะใช้เช็ดตัว อุณหภูมิน้ำประมาณ 29.4 – 35 องศาเซลเซียส เทน้ำธรรมดาใส่กะละมัง (ขนาด 5 ลิตร) ผสมน้ำร้อนประมาณ 200 ซีซี. หรือ 1 แก้ว เพื่อน้ำจะไม่ร้อนมากเกินไป หากครั้งแรกไม่แน่ใจ สามารถใช้ปรอทวัดอุณหภูมิห้อง จุ่มลงไปวัดได้ เมื่อเราจำระดับความร้อนได้ครั้งต่อไปไม่ต้องวัดด้วยปรอทแล้ว ใช้ข้อศอกหรือหลังมือแตะทดสอบเพื่อไม่ให้น้ำที่ใช้อุ่นเกินไป ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือแอลกอฮอล์ในการเช็ดตัว จะทำให้เด็กหนาวสั่นได้ง่าย
*****หมายเหตุขณะเช็ดตัวลดไข้ หากเด็กมีอาการเริ่มหนาวสั่น ให้หยุดเช็ดตัวทันที ห่มด้วยผ้าห่มหรือผ้าขนหนูที่แห้งจนกระทั่งหยุดสั่น ควรวัดอุณหภูมิของเด็กทุก 10 – 15 นาที ถ้าเป็นปรอทธรรมดา วัดทางรักแร้ 5 นาที ขณะทำการเช็ดตัว ถ้าเป็นทารกและมีอุณหภูมิกายต่ำกว่า 36.7 องศาเซลเซียสให้ทำการห่อตัว โดยเฉพาะส่วนศีรษะ ดังภาพ ห่อหุ้มศีรษะ ห่อด้วยผ้าขนหนู เนื่องจากส่วนศีรษะมีพื้นที่ผิวกายคิดเป็นสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย ห่อตัวจนกระทั่งเด็กอุณหภูมิปกติจึงหยุดห่อตัว
ข. วิธีการเช็ดตัวลดไข้
- ให้เด็กปัสสาวะก่อนเช็ดตัว แต่ถ้าไม่ปัสสาวะก็ไม่เป็นไร
- นำตัวเด็กนอนบนเตียง ในเด็กที่พอยืน/นั่งได้ ถ้าไม่มีเตียงอาจให้เด็กยืนหรือนั่งบนเก้าอี้ได้ แต่ถ้ามีประวัติชักแนะนำให้นั่ง โดยปูผ้าขนหนูรองตัวเด็ก ถอดเสื้อผ้าเด็กออก
- เมื่ออุปกรณ์ครบ เริ่มทำการเช็ดตัว โดยใช้ผ้าชุบน้ำที่เตรียมไว้ บิดผ้าให้หมาด โดยเริ่มจากแขนและขาก่อน(เพื่อให้เด็กได้ปรับตัวกับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้เช็ดตัว) และเช็ดเข้าสู่ลำตัว ทั้งนี้ทำการเช็ดแขนและขาข้างละ อย่างน้อย 5 นาที ที่ลำตัวหลังและก้นอย่างน้อย 10 -15 นาที วิธีเช็ด โดยเช็ดจากปลายแขนเข้าสู่ต้นแขน เพื่อเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ เป็นการพาความเย็นเข้าสู่หัวใจ แล้วหัวใจปั้มเลือดที่มีความเย็นไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิอีกทางหนึ่ง เมื่อลูบผ้าไปตามแขน-ขา ควรมีการพักผ้า ที่ข้อพับต่างๆ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก (วิธีนี้จะช่วยให้เลือดพาความเย็นไปด้วยเพิ่มขึ้น) ทำการชุบน้ำใหม่เมื่อผ้าร้อนขึ้นกว่าเดิม
- ใช้เวลาในการเช็ดตัวอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที โดยอุณหภูมิที่คาดหวังหลังการเช็ดตัวคือ ต่ำกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- ไม่ควรทาแป้งหลังทำการเช็ดตัว หรือ ห่มผ้าให้เด็ก หรือใส่เสื้อผ้าให้เด็กที่หนาเกินไป เนื่องจากจะขัดขวางการระบายความร้อนออกจากร่างกาย นอกจากนั้น ควรกระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมากๆ
อนึ่ง:
- ในขณะที่ทำการเช็ดตัว เด็กเล็กอาจมีการร้องโวยวายได้จากความไม่สุขสบายตัว ให้ทำการเช็ดตัว ด้วยความนุ่มนวล เมื่อเช็ดตัวเสร็จ เด็กจะสบายขึ้น
- ในเด็กที่เคยมีประวัติชักจากไข้สูง สามารถทำการวัดอุณหภูมิซ้ำได้ทุก 10-15 นาที และให้รับประทานยาลดไข้สลับกับเช็ดตัวทุก 4 ชั่วโมง แต่ยาลดไข้ให้ได้ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน หรือให้ยาลดไข้ตามที่แพทย์แนะนำ
วิธีเช็ดตัวนี้ใช้ในผู้ใหญ่ได้ไหม?
วิธีการเช็ดตัวดังกล่าว สามารถปรับใช้ได้กับทุกวัย ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
แนะนำให้ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อ
- เด็กมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน
- ส่วนในรายที่เด็กอายุเกิน 3 เดือน แล้วมีอาการ
- ซึม
- ไม่ยอมดูดนม
- ไม่รับประทานอาหาร
- ไม่เล่น
- มีท้องเสีย และ/หรือ อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งใน 6 ชั่วโมง ให้รีบด่วนพาไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่นกัน
- แต่ถ้าหากมารดา/ผู้ดูแล ดูแล้ว เด็กสามารถ เล่นได้ รับประทานอาหารได้ดี มีไข้ต่ำๆ อาจรอดูอาการได้
- แต่ถ้าภายใน 2-3 วัน อาการไข้ยังไม่ทุเลา (หรือ 1-2 วันในเด็กอ่อน) ควรรีบพาไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
บรรณานุกรม
- เกรียงศักดิ์ จีรแพทย์ .http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=274 [2019,June1]
- เบญจพร จึงเกรียงไกร .(2552 ).การพยาบาลเพื่อตอบสนองความสุขสบายและการมีสุขอนามัยที่ดี ใน สุปาณี เสนาดิสัย และ มณี อาภานันทิกุล (บรรณาธิการ), คู่มือปฏิบัติการพยาบาล. (หน้า113 – 116) กรุงเทพฯ: บริษัท จุดทอง.
- Curchoe, R. M. (2013). Infection, Prevention and Control. In Potter, P.A., Perry, A.G ., Stockert, P. A. & Hall, A. M. (Eds.) Fundamental of Nursing. (8 th ed.). St. Louis: Mosby an affiliate of Elsevier.
- Rosdahl, C. B. & Kowalski, M.T. ( 2007). Textbook of Basic Nursing. Lippincott Williams & Wilkins. www. Pharmyaring.com/pic/p_091122204929.doc
- WHO. ( 2005). Pocket book of Hospital care for children. Hong kong : Special administrative region.https://www.who.int/hiv/pub/imai/imai_hos_care_child.pdf [2019,June1]