โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน (Venous stroke)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 18 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: เรื่องทั่วไป
- โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันคืออะไร?
- โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันพบบ่อยไหม?
- สาเหตุโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันเกิดจากอะไร?
- อาการเหมือนหรือต่างกับโรคหลอดเลือดแดงสมองอุดตัน?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน?
- เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
- การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันได้ผลดีหรือไม่?
- การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันทำอย่างไร?
- การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันใช้เวลานานเพียงใด?
- โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
- ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เลือดหนืด หรือ ภาวะเม็ดเลือดแดงมากปฐมภูมิ (Polycythemia vera)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- ยาสลายลิ่มเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด (Fibrinolytic drugs or Thrombolytic drugs)
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
- สมองบวม (Brain Edema)
- สมองขาดออกซิเจน สมองพร่องออกซิเจน (Cerebral hypoxia)
บทนำ: เรื่องทั่วไป
โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต (Stroke) ที่เรารู้จักกันดีนั้นมี 2 กลุ่มหลักเมื่อแบ่งตามชนิดของหลอดเลือดที่เกิดพยาธิสภาพ กล่าวคือ หลอดเลือดในสมองเรามี 2 ระบบ คือ หลอดเลือดแดง และระบบหลอดเลือดดำ, ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองที่เราพบบ่อยและก่อให้เกิดอาการอัมพาตนั้นเกือบทั้งหมด (มากกว่า 99%) เกิดจากหลอดเลือดแดง (Artery) มีความผิดปกติ, แต่มีส่วนน้อยมากๆเท่านั้นที่เกิดจากหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Venous obstruction) หรือจากโพรงหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis) ที่เรียกว่า “โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน (Venous stroke),” เรามาเรียนรู้โรคนี้กันว่ามีลักษณะทางคลินิกอย่างไร?
โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันคืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน คือ โรคสมองที่เนื้อเยื่อสมองสูญเสียหน้าที่การทำงานอย่างเฉียบพลันเนื่องมาจากเกิดการอุดตันของ’ระบบหลอดเลือดดำในสมอง’ ส่งผลให้มีความดันในระบบหลอดเลือดดำในสมองสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะสมองบวมทั้งแบบ *Vasogenic brain edema* และแบบ **Cytotoxic brain edema**, ส่งผลให้เนื้อสมองบางส่วนขาดเลือด และ มีเลือดออกเป็นจุดๆ(Petechial hemorrhage)ในบริเวณเนื้อสมองที่ขาดเลือด
*อนึ่ง:
- *Vasogenic brain edema*: หมายถึง ภาวะสมองบวมจากการสูญเสียหน้าที่ของสมองส่วนที่เรียกว่า Blood brain barrier (มีหน้าที่ควบคุมการเข้า-ออกของสารเคมีในหลอดเลือดและในตัวเซลล์สมอง) ทำให้มีการไหลออกของสารเคมีจากหลอดเลือดสู่เซลล์สมองมากขึ้นจึงเกิดการบวมของสมอง/ภาวะสมองบวม
- **Cytotoxic brain edema*: หมายถึง ภาวะสมองบวมจากเซลล์สมองสูญเสียพลังงานจากการขาดออกซิเจน(สมองขาดออกซิเจน) ทำให้เซลล์สมองตายและเกิดการปล่อยสารเคมีออกมาจากเซลล์สมองที่ตายจนก่อให้เกิดการบวมของเนื้อสมอง
โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันพบบ่อยไหม?
โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน พบน้อย มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาพบ ในแต่ละปีได้ประมาณ 13.2-15.7 รายต่อประชากร 1 ล้านคน, พบเพศหญิงสูงกว่าเพศชายประมาณ 3:1 (แต่บางรายงานพบในอัตราเท่ากัน), มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป แต่พบได้ทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิด, โดยพบสูงกว่าในผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เช่น โรคมะเร็ง โรคไตรั่ว โรคโควิด-19
สาเหตุโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันเกิดจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันเกิดจากการที่เลือดมีภาวะแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติ ร่วมกับมีการกดเบียดของระบบหลอดเลือดดำสมอง เช่นจาก
- ภาวะเลือดแข็งตัวง่ายแต่กำเนิด เช่น ขาดสารต่อต้านการแข็งตัวของเลือด (Protein C, S, Antithrombin III deficiency)
- ภาวะมีเลือดหนืด/ข้นเช่น ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง, ไฟไหม้รุนแรง, น้ำร้อนลวกรุนแรง, เลือด ข้นจากโรคเลือดหนืด (Polycythemia vera), ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก, โรคมะเร็ง
- การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดขนาดสูงและเป็นระยะเวลานาน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com เรื่อง การคุมกำเนิด)
- การใช้ยาเคมีบำบัด รักษาโรคต่างๆ เช่น ยา L-asparaginase
- การใช้ยาสเตียรอยด์, ยาเฮ็พพาริน (Heparin)
- การติดเชื้อบริเวณ ไซนัส, หน้าผาก, ช่องหูชั้นใน
- การกดเบียดหลอดเลือดดำในสมองจากก้อนเนื้องอกสมอง
- การทำหัตถการบริเวณหลอดเลือดดำในบริเวณคอ, ผิวสมอง เป็นต้น
อาการเหมือนหรือต่างกับโรคหลอดเลือดแดงสมองอุดตัน?
อาการจากโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน จะแตกต่างจากอาการของ โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดแดงอุดตัน เนื่องจากมีกลไกการเกิดโรคที่ต่างกัน
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน ทั่วไปจะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังนี้ เช่น
- ปวดหัว พบได้ประมาณ 75%
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง พบได้ประมาณ 49%
- แขนขาอ่อนแรง พบได้ประมาณ 34%
- อาการชัก พบได้ประมาณ 37%
- ระดับความรู้สึกตัวผิดปกติ พบได้ประมาณ 30%
- ความผิดปกติที่พบไม่บ่อย เช่น เส้นประสาทสมองพิการ (Cranial nerve palsy), ตากระตุก, หูดับ
*ส่วนอาการจากหลอดเลือดแดงในสมองอุดตัน แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันอย่างไร?
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันทำได้ไม่ง่าย ต้องเริ่มจากที่แพทย์คิดถึงภาวะนี้กรณีผู้ป่วยมีอาการ ปวดหัว ชัก และมีอาการแขนขาอ่อนแรง ประกอบกับมีประวัติการดำเนินโรค/ธรรมชาติของโรคที่ค่อยๆเกิด ไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วเหมือนโรคอัมพาตที่เกิดจากหลอดเลือดแดงอุดตันที่จะเกิดอย่างเฉียบพลัน, ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหัวนำมาก่อน หรือมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบในผู้ที่มีภาวะ/ปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวใน 'หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุฯ') ต่อการเกิดโรคนี้
นอกจากประวัติอาการดังกล่าวแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป, การตรวจร่างกายทางระบบประสาท, และจะให้การวินิจฉัยร่วมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนสมองและ/หรือเอมอาร์ไอสมอง, หรือร่วมกับการตรวจหลอดเลือดดำด้วยการเอกซเรย์ฉีดสี/สารทึบแสงเข้าในหลอดเลือด (Contrast cerebral angiography)
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน?
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน เช่น
- หญิงตั้งครรภ์
- ภาวะใกล้คลอด
- ผู้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งในบริเวณลำคอ, โรคเลือดหนืด, โรคเลือดชนิดที่เลือดแข็งตัวง่าย
- ผู้ป่วยที่ทำหัตถการเกี่ยวกับหลอดเลือดดำ
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอกรณีที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน, และอาการเป็นมานานหลายวันไม่ดีขึ้น, หรือมีอาการปวดหัวร่วมกับอาการชัก, และ/หรือร่วมกับแขน/ขาอ่อนแรง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันได้ผลดีหรือไม่?
ผลการรักษาหรือการพยากรณ์โรคของโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันส่วนใหญ่รักษาได้ผลดีถ้ามาพบแพทย์ได้ทันเวลา คือ ก่อนที่จะมีระดับความรู้สึกตัวเสียไป และ/หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงไม่มาก
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันทำอย่างไร?
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันประกอบด้วย การรักษาแก้ไขสาเหตุ หรือโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การหยุดใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด, หยุดยาเคมีบำบัด, แก้ไขรักษาภาวะเลือดข้น/เลือดหนืด, การให้ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น
นอกจากนั้น ถ้ามีภาวะสมองบวมมากๆก็ต้องให้ยาลดสมองบวมร่วมด้วย, และกรณีมีเลือดออกปริมาณมากในสมองก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันใช้เวลานานเพียงใด?
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน, แต่ถ้ามีสาเหตุจากโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ (เช่น เนื้องอกสมอง) ก็ต้องรักษาด้วย 'ยาละลายลิ่มเลือด' ไปตลอดชีวิต
โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน เช่น
- เกิดการบวมของเนื้อสมอง (สมองบวม)
- เกิดความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นอย่างมาก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ความดันในกะโหลกศีรษะสูง)
- รวมทั้งก่อให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น
- และกรณีที่มีภาวะสมองบวมที่เกิดในสมองส่วนสำคัญเช่น ที่ก้านสมอง, หรือการบวมเกิดเป็นบริเวณกว้างที่อาจก่อให้เกิดเนื้อสมองที่บวมเลื่อนมากดทับก้านสมอง (Brain herniation) ก็เป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงตายได้
ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันควรต้องปฏิบัติตัวดังนี้ เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
- ระวังภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากยาละลายลิ่มเลือด (ที่สำคัญคือ ภาวะเลือดออกง่าย) ที่มักจะเกิดได้ง่าย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาละลายลิ่มเลือด) โดยการหลีกเลี่ยงการซื้อยานี้และยาต่างๆทานเอง, หลีกเลี่ยงการทานอาหารเสริม หรือสมุนไพร เพราะอาจเสริมฤทธิ์ของยาละลายลิ่มเลือดจนเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ และ ระวังอุบัติเหตุที่อาจก่อให้เกิดเลือดออกง่าย
ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันที่มีอาการผิดปกติมากขึ้น เช่น ปวดหัว, มีจ้ำห้อเลือดขนาดใหญ่ตามผิวหนัง, ชักบ่อยขึ้น, แขน ขาอ่อนแรงมากขึ้น, รวมทั้งมีอาการที่สงสัยว่าจะแพ้ยาที่ใช้อยู่ (เช่น ใบหน้า ริมฝีปาก บวม มีผื่นคันขึ้นทั้งตัว หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย), ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด/หรือทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันอย่างไร?
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตันสามารถทำได้กรณีที่มีสาเหตุจาก ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงซึ่งอาจพบในภาวะหลังคลอดที่เกิดจากการที่ผู้หญิงหลังคลอดอยู่ไฟ, ทานน้ำน้อย, ทานเค็ม, จึงมีความร้อนสะสมในตัวสูง ก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายอย่างมาก จึงป้องกันได้โดยการไม่อยู่ไฟ, หรือถ้าอยู่ไฟก็ต้อง ทานอาหาร ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ: เช่น
- พยายามไม่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดขนาดสูง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com 2 เรื่องคือเรื่อง การคุมกำเนิด และเรื่อง ยาเม็ดคุมกำเนิด) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
- ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อบริเวณใบหน้า, โพรงไซนัส, ไม่แกะสิวหรือแกะแผลบริเวณใบหน้าเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย, การติดเชื้อบริเวณใบหน้าอาจลุกลามเป็นการติดเชื้อเข้าหลอดเลือดดำของสมองที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ได้
สรุป
โปรดใส่ใจสุขภาพอาการผิดปกติเพียงน้อยนิดที่ไม่หายไปเองจากการดูแลตนเอง ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด้วยนะครับ
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560598/ [2023,March18]