แมนนิทอล (Mannitol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- แมนนิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แมนนิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แมนนิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แมนนิทอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- แมนนิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แมนนิทอลอย่างไร?
- แมนนิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแมนนิทอลอย่างไร?
- แมนนิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- สมองบวม (Brain Edema)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage)
- ออสโมติก ไดยูเรติก (Osmotic diuretic)
- บวมน้ำ (Edema)
บทนำ:คือยาอะไร?
แมนนิทอล(Mannitol) เป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีดซึ่งชนิดรับประทานถูกใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก, ในขณะที่ยาฉีดจะถูกใช้เพื่อลดความดันของสมอง และภาวะสมองบวมโดยใช้กลไกของการขับปัสสาวะเป็นตัวขับน้ำออกจากร่างกายส่งผลให้ความดันในสมองลดลง, นอกจากนี้ทางคลินิก ยังใช้ยาแมนนิทอลในการรักษาภาวะปัสสาวะน้อย(Oliguria)เนื่องจากอาการไตวายเฉียบพลัน
ด้วยประโยชน์ดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศให้ยาแมนนิทอล เป็นยาแผนปัจจุบันที่จำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับชุมชนที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้ใช้ช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วย
อนึ่ง แมนนิทอล คือ สารที่มีโครงผลึกแข็งสีขาว มีรสหวานคล้ายน้ำตาลทราย(จึงมีชื่อเรียกสารนี้อีกชื่อว่า Manna sugar) ที่จัดเป็นสารอนุพันธุ์ของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่มีชื่อเรียกว่า แมนโนส (Mannose) แมนนิทอลถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอย่างมากมาย แต่อุตสาหกรรมที่ใช้แมนนิทอลมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตยานั่นเอง
อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยาแมนนิทอลกับผู้ป่วยบางรายได้ อาทิเช่น
- ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาแมนนิทอล หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้หรือไม่
- มีประวัติเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว
- เป็นผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรงและไม่สามารถปัสสาวะได้ หรืออยู่ในภาวะน้ำท่วมปอด หรือมีอาการเลือดออกในกะโหลกศีรษะ หรืออยู่ในภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
นอกจากนั้นการใช้ยาแมนนิทอลกับผู้ป่วยบางกลุ่มก็อาจต้องใช้ความระมัดระวังหรือต้องนำเงื่อนไขทางสุขภาพของผู้ป่วยมาประกอบกัน เช่น
- สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำ หรือไตมีปัญหา หรือมีภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดแทรกซ้อน
- ผู้ป่วยมีการใช้ยาชนิดอื่นซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาแมนนิทอล
- ผู้ป่วยมีอายุต่ำกว่า 12 ปีซึ่งทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนความปลอดภัยการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยาแมนนิทอลอาจพบอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มีการปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น คลื่นไส้อาเจียน และมีน้ำมูกมาก เป็นต้น
แมนนิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแมนนิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- ลดภาวะสมองบวม (Cerebral edema)
- รักษาภาวะโรคไตวายเฉียบพลัน
- ช่วยในการระบายอุจจาระโดยใช้เป็นยารับประทาน/ยาแก้ท้องผูก มักใช้ในเด็กแต่ปัจจุบัน ลดความนิยมใช้ลง
แมนนิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแมนนิทอล จัดเป็นยาขับปัสสาวะประเภท Osmotic diuretic โดยตัวยาเมื่อใช้เป็นยาฉีด จะออกฤทธิ์ที่ไต ยับยั้งมิให้ไตดูดน้ำและเกลือแร่/ แร่ธาตุในปัสสาวะกลับเข้าสู่ร่างกายโดยอาศัยแรงดันที่เรียกว่าแรงดันออสโมติก (Osmotic pressure, แรงดันที่ป้องกันไม่ให้ของเหลวในหลอดเลือดหรือในเซลล์ไหลซึมออกนอกหลอดเลือดหรือนอกเซลล์) ทำให้มีการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้นและช่วยลดปริมาณน้ำในร่างกายจนส่งผลให้เกิดการลดความดันในกะโหลกศีรษะตามมา
แมนนิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแมนนิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาดความเข้มข้น 20% ขนาดบรรจุ 250 และ 500 มิลลิลิตร
แมนนิทอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการบริหารยา/ใช้ยาแมนนิทอลเฉพาะสำหรับภาวะสมองบวม (Cerebral edema) ดังนี้เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาขนาด 0.25 - 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาหยดยาอย่างน้อย 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนความปลอดภัยที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้กับผู้ ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแมนนิทอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแมนนิทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แมนนิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแมนนิทอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- แน่นหน้าอก
- ไอ
- หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- คัดจมูก
- เจ็บคอ
- คลื่นไส้อาเจียน
- กระหายน้ำ
- ปริมาณน้ำและเกลือแร่/ แร่ธาตุในร่างกายขาดภาวะสมดุล
- วิงเวียน
- หนาวสั่น
- มีไข้
- หัวใจเต้นเร็ว
- เจ็บหน้าอก
- ตาพร่า
- ลมพิษ
- ความดันโลหิตต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้แมนนิทอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแมนนิทอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาแมนนิทอล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในขั้นรุนแรง ผู้ที่มีภาวะน้ำท่วมปอด ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง ผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสียน้ำในร่างกาย/ภาวะขาดน้ำอย่างมาก ผู้ที่มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำ สั่งจากแพทย์
- ระวังการเกิดภาวะเกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล รวมถึงสมดุลของความเป็นกรดด่างของ ร่างกาย
- ขณะให้ยานี้กับผู้ป่วยหากมีอาการแพ้ยาต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีพร้อมกับให้แพทย์ตรวจอา การของผู้ป่วยโดยเร็ว
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแมนนิทอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แมนนิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแมนนิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแมนนิทอล ร่วมกับยา Amikacin อาจทำให้ไตได้รับความเสียหายหรือสูญเสียการได้ยินของหู/หูหนวก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Mannitol ร่วมกับยาโซเดียมไบฟอสเฟต (Sodium biphosphate) อาจเป็นเหตุให้เกิดไตวาย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Mannitol ร่วมกับยา Droperidol (ยาจิตเวช) อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาแมนนิทอลอย่างไร?
ควรเก็บยาแมนนิทอล:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แมนนิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแมนนิทอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Mannitol Chi Sheng (แมนนิทอล ไค เชง) | Chi Sheng |
Mannitol Thai Otsuka (แมนนิทอล ไท โอสุกะ) | Thai Otsuka |
Mannitol 20% ANB (แมนนิทอล 20% เอเอนบี) | ANB |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/dosage/mannitol.html#Usual_Adult_Dose_for_Oliguria [2022,Jan29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mannitol [2022,Jan29]
- https://www.drugs.com/monograph/mannitol.html [2022,Jan29]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/mannitol%20thai%20otsuka [2022,Jan29]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/mannitol?mtype=generic [2022,Jan29]
- https://www.drugs.com/mtm/mannitol-injection.html [2022,Jan29]
- https://www.drugs.com/monograph/mannitol.html [2022,Jan29]