เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าอเอสเอสอาร์ไอย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไออย่างไร?
- ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- โรควิตกกังวล: สัญญาณเตือนโรควิตกกังวล
บทนำ:คือยาอะไร?
ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ หรือ ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors ที่ย่อว่า ‘เอสเอสอาร์ไอ (SSRI)’ ซึ่งต่อไปในบทความนี้ ขอเรียกว่า “ยารักษาโรคซึมเศร้าฯ” คือยาช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้า คลายความวิตกกังวล อีกทั้งยังนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆอีก เช่น รักษาภาวะการกินอาหารผิดปกติกล่าวคือ กินมากหรือน้อยจนเกินไปอย่างใดอย่างหนึ่ง, รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ, บรรเทาอาการป่วยจากโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต และรักษาการหลั่งเร็วในบุรุษ เป็นต้น
อาจแบ่งรายการยาที่อยู่ในหมวด Selective serotonin reuptake inhibitors/SSRI/เอสเอสอาร์ไอ เช่น Citalopram, Dapoxetine, Escitalopram, Fluoxetine, Fluvoxamine, Indalpine(สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้ยาตัวนี้ไปแล้ว เพราะมีผลข้างเคียงสูงต่อระบบเลือด), Paroxetine, Sertraline, Zimelidine
ในด้านการตลาดพบว่า Fluoxetine เป็นยาในอันดับต้นที่ถูกนำมาใช้รักษาภาวะซึมเศร้า โดยเริ่มทำการตลาดที่ปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) ห่างกันไม่เกิน 4 ปี Sertraline ก็ถูกนำเข้ามาเป็นอัน ดับที่ 2 และทยอยตามมาด้วย Paroxetine, Fluvoxamine Citalopram, และ Escitalopram ตาม ลำดับ นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงสำคัญๆที่อาจนำมาเปรียบเทียบเมื่อจะใช้ยาเหล่านี้เช่น จากตัวอย่างการศึกษาทางคลินิกพบว่า
- มีการก่อให้เกิดภาวะสมรรถภาพทางเพศในบุรุษเสื่อม (Libido problem) จากยากลุ่มนี้โดยเรียงจากมากไปน้อยดังนี้ Citalopram 72.7%, Paroxetine 70.7%, Sertraline 62.9%, Fluraxamine 62.3%, และ Fluoxetine 57.7%
- หรือในด้านทำให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังจากการใช้ยาไป 6 - 12 เดือน จัดลำดับจากมากไปน้อยเช่นกัน ดังนี้ Paroxetin, Fluoxetine, Citalopram, และ Sertraline เป็นต้น
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบางตัวในกลุ่มนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น Fluoxetine และ Sertraline โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การเลือกใช้ยาให้เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้ป่วย ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น รักษา
- ภาวะซึมเศร้า
- อาการวิตกกังวล
- รักษา/บรรเทาอาการย้ำคิดย้ำทำ
- รักษา/บรรเทาอาการป่วยจากโรคหลอดเลือดในสมอง (อัมพาต)
- รักษาอาการหลั่งเร็วในบุรุษเพศ
- รักษา/บรรเทาอาการบริโภคอาหารที่ผิดปกติ
ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคซึมเศร้า(ยาต้านเศร้า)กลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors/ SSRI คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารเซโรโทนิน (Serotonin, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ด้านอารมณ์/จิตใจ) เข้าสู่สมอง ส่งผลให้เกิดฤทธิ์บรรเทาอาการซึมเศร้าตามสรรพคุณ
ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาแคปซูล ขนาดความแรง 20 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 10, 12.5, 20, 50, และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยในกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า SSRI มีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลของตัวผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้าSSRI อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อนึ่ง ถึงแม้ยาในกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ของการเสพติดก็จริง แต่ถ้าหยุดการใช้ยาเองทันที หรือลืม รับประทานยาบ่อยๆหลายครั้ง ก็สามารถก่อให้เกิดอาการการถอนยา/ลงแดงได้ (Withdrawal-like symtoms) ซึ่งมักจะพบอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน เช่น มีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว วิงเวียน หรือมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
ยารักษาโรคซึมเศร้ามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้
- ความรู้สึกทางเพศด้อยลงไป
- ท้องเสีย
- ปวดหัว
- สับสน
- นอนไม่หลับ หรือ ง่วนนอน
- เหงื่อออกมาก
- ปากคอแห้ง
- หัวใจเต้นเร็ว
- เพิ่มความอยากอาหาร ทำให้เพิ่มน้ำหนักตามมา
- วิตกกังวล
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ไม่ควรหยุดรับประทานยากลุ่มนี้ทันที หรือลืมรับประทานบ่อยครั้ง ด้วยอาจเกิดภาวะถอนยาได้
- ไม่แนะนำการใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยพบว่าทารกหลังคลอด เมื่อมารดาใช้ยากลุ่มนี้ มักมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของปอด หรือการทำงานของหัวใจติดตามมา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยที่มีประวัติด้วย โรคลมชัก ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI ร่วมกับยาจิตเวชกลุ่มอื่นๆ เช่นยา MAOI (Monoamine-oxidase-inhibitors) และ Tricyclic antidepressants อาจนำไปสู่ภาวะมีสารซีโรโทนินมากเกินจนเกิดภาวะ Hyperserotonergic syndrome/Serotonin syndrome/กลุ่มอาการเซโรโทนิน (ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วจนอาจถึงขั้นตายได้) ดังนั้นจึงควรเลี่ยงในการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI ร่วมกับยาบางกลุ่มจะทำให้ระดับของยาบางกลุ่มเหล่านั้นในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนถึงขั้นเป็นพิษกับร่างกาย แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin
- ยารักษาโรคหัวใจ เช่น Digoxin
- ยาลดความดัน กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
- ยาคลายเครียด กลุ่มเบนโซไดอะซีปีน/Benzodiazepine เช่น Alprazolam, Diazepam
- ยากันชัก เช่นยา Phenytoin
- ยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline
- การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า SSRI ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาสูงขึ้นจนเกิดพิษต่อร่างกาย จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
ควรเก็บรักษายารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไออย่างไร?
สามารถเก็บยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI: เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยารักษาโรคซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยารักษาโรคซึมเศร้า SSRI มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Priligy (พริลิจี้) | A.Menarini |
Esidep (อีซีเดพ) | Ranbaxy |
Lexapro (ลีซาโพร) | Lundbeck |
Anzac (แอนแซค) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Deproxin (เดพร็อกซิน) | Siam Bheasach |
Flulox 20 (ฟลูล็อกซ์ 20) | Medicine Products |
Flumed (ฟลูเมด) | Medifive |
Fluoxine (ฟลูโอซีน) | T. O. Chemicals |
Fluxetin Atlantic (ฟลูเซทิน แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Foxetin (โฟเซทิน) | GPO |
Hapilux (แฮพิลักซ์) | Sandoz |
Loxetine-20 (โลซีไทน์-20) | March Pharma |
Prozac 20 (โพรแซค 20) | Eli Lilly |
Faverin (ฟาเวอริน) | Abbott |
Fluvoxin (ฟลูโวซิน) | Sun Pharma |
Seroxat/Seroxat CR (ซีโรแซท/ซีโรแซท ซีอาร์) | GlaxoSmithKline |
Serlift (เซอร์ลิฟท์) | Ranbaxy |
Serlin 50 (เซอร์ลิน 50) | Zydus Cadila |
Sertra (เซอร์ทรา) | Medifive |
Sertraline GPO (เซอร์ทราลีน จีพีโอ) | GPO |
Sertraline Sandoz (เซอร์ทราลีน แซนดอซ) | Sandoz |
Sisalon (ไซซาลอน) | Unison |
Starin (สตาริน) | Atlantic Lab |
Zoloft (โซลอฟท์) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Selective_serotonin_reuptake_inhibitor#List_of_agents [2022,July9]
- https://www.emedexpert.com/compare/ssris.shtml#2 [2022,July9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/sertraline?mtype=generic [2022,July9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=fluoxetine [2022,July9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/paroxetine?mtype=generic [2022,July9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=escitalopram [2022,July9]
- https://www.emedicinehealth.com/understanding_antidepressant_medications/article_em.htm [2022,July9]
- https://www.ementalhealth.ca/Ottawa-Carleton/Selective-Serotonin-Reuptake-Inhibitors-SSRIs/index.php?m=article&ID=20507 [2022,July9]