อาการกระตุกรัว กล้ามเนื้อกระตุกรัว (Myoclonus)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ

หลายคนคงเคยมีอาการกระตุก/กล้ามเนื้อกระตุกของแขนหรือขาที่เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซ้ำๆหลายๆครั้ง และเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 1-2 วินาทีเท่านั้น, คงตกใจว่าเป็นอะไร, อาการกล้ามเนื้อกระตุกแบบนั้นเรียกว่า “อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว (Myoclonus)” อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร อ่านได้จากบทความนี้ครับ

อนึ่ง: ในบทความนี้ ขอเรียก ‘อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว’ นี้ว่า “อาการกระตุกรัว”

อาการกระตุกรัวคืออะไร? พบบ่อยไหม?

อาการกระตุกรัว

 

อาการกระตุกรัว/กล้ามเนื้อกระตุกรัว เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ซึ่งอาการกระตุกรัว คือ อาการที่กล้ามเนื้อเกิดการกระตุกอย่างแรง ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายๆครั้ง โดยเป็นเพียงระยะเวลาสั้นมาก ประมาณ 1-2 วินาทีเท่านั้น ลักษณะเป็นขึ้นมาเอง ไม่สามารถควบคุมได้ อาจเป็นเพียงกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย หรือเป็นกับกล้ามเนื้อทั้งตัวก็ได้

อาการกระตุกรัว/กล้ามเนื้อกระตุกรัว เป็นอาการของโรค  ไม่ใช่ตัวโรค พบได้ในหลายโรค และผู้ป่วยโรคนั้นๆไม่จำเป็นต้องมีอาการนี้ทุกคน, โรคต่างๆที่อาจมีอาการนี้ เช่น โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ลมชัก ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคจากความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic disorder) ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาบางชนิดในกลุ่มยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์, ยากันชัก, ยาปฏิชีวนะ, ยาสลบ),ฯลฯ

อาการกระตุกรัว/กล้ามเนื้อกระตุกรัวที่เป็นอาการจากโรค พบน้อย  มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา พบอัตราเกิดประมาณ 1-2 รายต่อประชากร 1 แสนคน/ต่อปี เพศหญิงและเพศชายพบใกล้เคียงกัน และพบได้ทุกวัย

อนึ่ง: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายคำว่า “กระตุก” คือ อาการที่กล้ามเนื้อหดและยืดตัวขึ้นมาเองทันที ส่วนคำว่า “รัว” หมายถึง “ไหวถี่ๆ”

อาการกระตุกรัวเกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาการกระตุกรัว เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดความผิดปกติของวงจรควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหวแบบผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงชั่วคราวที่เป็นอาการผิดปกติ เช่น อาการสะอึก, อาการกระตุกตอนนอน, อาการกระตุกเวลาเครียดกังวล, อาการกระตุกผวาในทารก, แต่บางกรณีก็เป็นอาการที่เกิดจากโรคได้ เช่น ในโรคลมชักแบบกระตุก (Myoclonic seizure) ฯลฯ

อะไรเป็นสาเหตุของอาการกระตุกรัว?

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกระตุกรัวทั่วไป ได้แก่

  • เป็นกลไกปกติของร่างกาย: เป็นสิ่งที่พบได้ในคนปกติทั่วไป ไม่มีสาเหตุผิดปกติเกิด ขึ้น ไม่สัมพันธ์กับโรคใดๆ เช่น สะอึก กระตุกตอนนอน กระตุกผวาในทารก
  • จากมีความผิดปกติในสมอง: เนื่องจากมี โรคสมอง เช่น จากภาวะติดเชื้อ (สมองอักเสบ), สมองขาดออกซิเจน/ สมองพร่องออกซิเจน, ความผิดปกติด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (สมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ), ผลกระทบทางระบบประสาทจาก โรคตับ (โรคสมองเหตุจากโรคตับ), โรคไต, ภาวะหัวใจวาย/ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคอัมพาต, โรคพาร์กินสัน, โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

อาการกระตุกรัวเกิดขึ้นที่ส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?

อาการกระตุกรัวนี้ อาจเกิดขึ้นได้ที่ เปลือกตา/หนังตา  ตา  ปาก แขน ขา ลำตัว          กะบังลม, ซึ่งอาการกระตุกนี้ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น เช่น หนังตากระตุก แขนขากระตุก สะอึก (อาการกระตุกของกะบังลม) และขณะที่กำลังจะหลับก็อาจมีอาการกระตุก หรือสะดุ้งทั้งตัวได้

อาการกระตุกรัวมีอันตรายหรือไม่?

อาการกระตุกรัวเกือบทั้งหมดไม่มีอันตราย ไม่ก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าอาการกระตุกนั้นเป็นอยู่นาน ต่อเนื่องหลายๆวัน เช่น สะอึกติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน หลายๆวัน ก็ต้องหาสาเหตุ, อาการกระตุกแขนขา และ/หรือลำตัวร่วมกับความจำเสื่อม ความรู้สึกตัวลดลง หรือเซ อาการเหล่านี้ก็ต้องหาสาเหตุ เพราะเป็นอันตรายได้ เช่น การสะอึกต่อเนื่อง จะมีผลต่อการกิน การพูด การหายใจ หรือ การกระตุกของแขนขา จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหยิบจับสิ่งของ และเกิดการล้มได้งาย

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อมีอาการกระตุกฯต่อเนื่องนานเป็นวัน หรือ หลายวัน, หรืออาการกระตุกฯก่อผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีปัญหาในการ กลืน พูด หรือ การหายใจ หรือเกิดร่วมกับความจำเสื่อม

แพทย์จะวินิจฉัยว่ามีอาการกระตุกรัวได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการกระตุกรัวจาก

  • อาการที่ผู้ป่วยเล่า และอาการที่แพทย์มองเห็น/ตรวจพบ
  • ร่วมกับการสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของอาการกระตุก เช่น ยาที่ใช้อยู่
  • และร่วมกับการตรวจร่างกายว่า มีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่,  ถ้ามีก็ต้องหาสาเหตุหรือโรคร่วม ซึ่งแพทย์ก็จะพิจารณาการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ, ทั้งนี้การจะตรวจสืบค้นอะไรเพิ่มเติมจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วย ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูการทำงาน ของตับ ของไต, หรือการตรวจภาพสมอง เพื่อดูรอยโรคในสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน หรือเอมอาร์ไอ

รักษาอาการกระตุกรัวอย่างไร?

เมื่อมีอาการกระตุกรัว ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เพราะเป็นเพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ แต่ในบางกรณีที่พบมีโรคร่วมด้วย (มีการกระตุกต่อเนื่อง) ก็ต้องรักษาโรคร่วม เพื่อแก้ไขสาเหตุ ซึ่งการรักษาจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การรักษา โรคสมองอักเสบ โรคตับ หรือโรคไต  

นอกจากนั้น คือ การรักษาอาการกระตุกที่เกิดต่อเนื่อง โดยให้ยาที่ควบคุมอาการกระตุก เช่น ยานอนหลับ  หรือ ยากันชัก,  บางกรณีที่อาการกระตุกเป็นเฉพาะที่ เช่น โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก, การฉีดยาโบทูไลนุ่มทอกซิน/โบทอกซ์ (Botulinum toxin: Botox) เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อก็ได้ผลดี 

แต่กรณีมีอาการกระตุกทั่วตัว หรือกรณีอาการไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจพิจารณารักษาอาการกระตุกด้วยการผ่าตัด ฝั่งเครื่องกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า (Deep brain stimulation)

การดูแลตนเองควรทำอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อมีอาการกระตุกรัวที่เกิดขึ้นตามปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษแต่อย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ยกเว้น เมื่ออาการเกิดบ่อย และมีอาการอยู่นานในแต่ละครั้ง ก็ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ

ส่วนเมื่อมีอาการกระตุกรัวที่เกิดจากโรค และได้พบแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง ทั่วไปคือ

  • ไม่เครียด ไม่กังวล
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่ควรตกใจกับอาการที่เกิดขึ้น
  • ต้องหมั่นดูแล รักษา ควบคุม โรคร่วมต่างๆที่เป็นอยู่/เป็นต้นเหตุให้ดี
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด, และ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการกระตุกเป็นบ่อยขึ้น และ/หรือ แต่ละครั้งเป็นนานขึ้น
    • มีอาการต่างๆที่ผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันอาการกระตุกรัวได้อย่างไร?

ไม่มีการป้องกันอาการกระตุกรัวที่เกิดตามปกติ, แต่สามารถป้องกันอาการกระตุกรัวที่ผิดปกติที่เกิดจากโรคได้ โดยการป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ) เช่น โรคอัมพาต  สมองอักเสบ สมองขาดออกซิเจน โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคตับ โรคไต  ซึ่งการป้องกันโรคส่วนใหญ่ สามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การรักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ให้แข็งแรง ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติม เรื่องโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุเหล่านี้ ที่รวมถึงการดูแลตนเอง และการป้องกัน ฯลฯ ได้ในแต่ละบทความที่เกี่ยวข้องจากเว็บ hamor.com

บรรณานุกรม

  1. https://rarediseases.org/rare-diseases/general-myoclonus/?filter=Affected+Populations  [2023,Jan 21]