สมองพร่องออกซิเจน (Brain hypoxia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- สมองพร่องออกซิเจนมีอาการอย่างไร?
- สมองพร่องออกซิเจนมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดสมองพร่องออกซิเจน?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยสมองพร่องออกซิเจนได้อย่างไร?
- รักษาสมองพร่องออกซิเจนอย่างไร?
- สมองพร่องออกซิเจนรุนแรงไหม?มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันสมองพร่องออกซิเจนได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- สมองตาย (Brain death)
- สภาพผัก (Vegetative State)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus)
- โรคจากขึ้นที่สูง (Altitude sickness)
- ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage)
- หัวใจล้ม (Heart attack)
- โรคเอแอลเอส โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (ALS: Amyotrophic lateral sclerosis or Motor neuron disease)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
สมองพร่องออกซิเจน(Brain hypoxia หรือ Cerebral hypoxia) คือภาวะที่สมองได้รับออกซิเจนจากเลือดน้อยกว่าปกติจนไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้เพื่อการทำงาน(การสันดาป)ของเซลล์สมอง ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆทางสมองขึ้น ซึ่งถ้าสมองพร่องออกซิเจนไม่มากและพร่องในระยะเวลาสั้นๆ อาการผิดปกติทางสมองอาจฟื้นตัวกลับเป็นปกติได้ แต่ถ้าสมองพร่องออกซิเจนมาก/ขาดออกซิเจนและ/หรือพร่อง/ขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน อาการผิดปกติฯมักคงอยู่ตลอดไป ไม่ฟื้นกลับเป็นปกติ และกรณีการพร่อง/ขาดออกซิเจนรุนแรง มักส่งผลให้ผู้ป่วยมี ภาวะชักต่อเนื่อง, อยู่ในสภาพผัก, หรือ ตายจากภาวะสมองตาย, ภาวะหัวใจล้มเหลว, และ/หรือ ภาวะหายใจล้มเหลว
*อนึ่ง: ‘พร่อง’ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า ไม่เต็มตามอัตราเพราะลดหรือขาดไป หรือ ลดไปจากเดิม
สมองพร่องออกซิเจน เป็นภาวะพบเรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมาก แต่ไม่มีการรายงานสถิติเกิดในภาพรวมจากทุกๆสาเหตุร่วมกัน โดยจะรายงานแยกต่างหากตามแต่ละสาเหตุ สมองพร่องออกซิเจนพบได้ทุกอายุตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โอกาสเกิดในเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน
*****ทั้งนี้ เมื่อ ’สมองไม่ได้รับออกซิเจนโดยสิ้นเชิง หรือ สมองขาดออกซิเจน’ จะส่งผลให้เซลล์สมองตายภายในประมาณ 4 นาที เช่น จากการสูดดมสารพิษ(เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์/ Carbon monoxide) จะเรียกภาวะนี้ว่า ‘Brain Anoxia หรือ Cerebral anoxia’ ซึ่งจะมี อาการ(จะรุนแรงมากกว่า), การวินิจฉัย, แนวทางการรักษา, เช่นเดียวกับภาวะสมองพร่องออกซิเจน แต่การพยากรณ์โรคแย่ ทั่วไปสมองจะไม่ฟื้นกลับเป็นปกติ, โอกาสเกิดสภาพผักสูงมาก, รวมถึงอัตราตายสูงมากเช่นกัน
สมองพร่องออกซิเจนมีอาการอย่างไร?
อาการของสมองพร่องออกซิเจน ได้แก่
ก. สมองพร่องออกซิเจนในระดับไม่รุนแรง: อาการมักเป็นชั่วคราว อาการพบบ่อยได้แก่
- สูญเสียความทรงจำชั่วคราว
- ไม่มีสมาธิ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วตัว โดยเฉพาะ แขน ขา
- พูดไม่ชัด
- จำชื่อต่างๆไม่ได้ (Brain block หรือ Mind block)
- สับสน
- วิงเวียน
- ปวดหัว แต่ไม่มาก
ข. อาการรุนแรงจากสมองพร่องออกซิเจน: อาการอาจเกิดถาวร ที่พบบ่อย เช่น
- ประสาทหลอน
- ชัก จนอาจถึงขั้นเกิด ภาวะชักต่อเนื่อง
- เป็นลม
- โคม่า
- สมองตาย
สมองพร่องออกซิเจนมีสาเหตุจากอะไร?
สมองพร่องออกซิเจนเกิดได้จากสาเหตุหลากหลายที่ส่งผลให้เกิดการอุดกั้น/อุดตันทางเดินหายใจ/ทางเดินอากาศ เช่น หลอดลมตีบแคบ, มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้น/อุดตันทางเดินหายใจ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ปอด/ร่างกายพร่อง/ขาดออกซิเจนปกติจากอากาศ ส่วนน้อยเกิดจากคุณภาพอากาศเองที่พร่องปริมาณออกซิเจน เช่น สูดดมควันที่รุนแรง
ทั้งนี้ สาเหตุที่พบได้ เช่น
- ไอรุนแรงจนสำลักเศษอาหารอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ
- โรคปอดต่างๆในระยะรุนแรงที่มีอาการหายใจลำบากรุนแรงจนร่างกายขาดอากาศ เช่น โรคหืด, โรคซีโอพีดี, โรคปอดบวม
- สำลักอาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่มเข้าระบบทางเดินหายใจ
- ผลข้างเคียงจากยาสลบที่ส่งผลให้เกิดการหายใจช้าผิดปกติ หรือออกซิเจนในส่วนผสมของยาสลบลดต่ำกว่าปกติ
- ความดันโลหิตต่ำมาก
- การจมน้ำ
- ผูกคอตาย
- เสียเลือดมาก
- โรคซีดรุนแรง
- การสูดดมสารพิษ เช่น ควันไฟ ก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์
- โรคจากขึ้นที่สูง
- อุบัติเหตุรุนแรงที่สมอง โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะรุนแรง
- โรคหัวใจ: โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดล้มเหลว สมองจึงขาดเลือด/ขาดออกซิเจน เช่น
- ภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง
- ภาวะหัวใจล้ม
- อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมองรุนแรง)
- ผลข้างเคียงจากยาเสพติดเกินขนาดเพราะยาเสพติดเหล่านี้มีฤทธิ์กดการหายใจที่ระดับสมอง
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดสมองพร่องออกซิเจน?
สมองพร่องออกซิเจนเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดสูงกว่าคนทั่วไป คือ
- ผู้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่สมอง เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัยเมื่อขับจักรยาน เป็นต้น
- กีฬา/อาชีพบางประเภท เช่น ฟุตบอลอเมริกัน, นักดำน้ำ, นักปีนเขา, นักมวย
- มีโรคปอดเรื้อรังที่ควบคุมโรคไม่ได้ เช่น โรคหืด, โรคซีโอพีดี, ปอดบวม
- โรคซีดรุนแรง เพราะจะมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดต่ำซึ่งเม็ดเลือดแดงจะเป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆทั่งร่างกายและที่สำคัญคือ สมอง
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหายใจจนส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว เช่น โรคเอแอลเอส
- ผู้เสียเลือดรุนแรงร่างกายจึงอยู่ในภาวะซีดจากขาดเม็ดเลือดแดง เช่น ถูกยิง ถูกแทง อุบัติเหตุรุนแรง
- ความดันโลหิตต่ำรุนแรง เช่น จากเสียเลือดรุนแรงจากอุบัติเหตุต่างๆ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคต่างๆหรืออยู่ในภาวะผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ และ ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพราะการรักษาล่าช้าจะส่งผลให้สมองพร่องออกซิเจนจนอาจขาดออกซิเจนถาวร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดสภาพผัก /ภาวะสมองตาย และเป็นสาเหตุให้ ตายได้สูง
แพทย์วินิจฉัยสมองพร่องออกซิเจนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยสมองพร่องออกซิเจนได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์จากผู้ป่วยและ/หรือจากญาติ ที่สำคัญ เช่น อาการ เหตุการณ์ต่างๆ/อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก่อนเกิดอาการ โรคประจำตัว ยาต่างๆที่ใช้อยู่
- การตรวจวัดสัญญาณชีพ
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ เช่น
- ตรวจเลือด ซีบีซี ดูโรคซีด/ภาวะซีด
- ตรวจเลือดวัดปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
- ตรวจภาพอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ เช่น ภาพสมอง เป็นต้น
- การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและความรุนแรงของสาเหตุตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
รักษาสมองพร่องออกซิเจนอย่างไร?
แนวทางการรักษาสมองพร่องออกซิเจน ได้แก่
ก. การรักษาเพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด/เพื่อให้สมองได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น เช่น
- ให้เลือดกรณีมีการเสียเลือดมาก/โรคซีดรุนแรง
- ให้สูดดมออกซิเจน
- ใส่ท่อช่วยการหายใจ และอาจรวมไปถึงใช้เครื่องช่วยหายใจ
ข. การรักษาสาเหตุ: ที่จะต่างกันออกไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น หัตการทางการแพทย์หรือการผ่าตัด เพื่อ เอาสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจออกไป, หรือเพื่อหยุดภาวะ ตกเลือดของผู้ป่วย ฯลฯ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมแต่ละสาเหตุได้จากเว็บ haamor.com เช่น โรคจากขึ้นที่สูง เป็นต้น)
ค. การรักษาตามอาการ : เช่น
- ให้ยาลดไข้ กรณีมีไข้สูง
- ให้ยากันชัก กรณีมีอาการชัก
- กายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูกรณีมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
สมองพร่องออกซิเจนรุนแรงไหม?มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
สมองพร่องออกซิเจนเป็นภาวะอันตราย/รุนแรง(มีการพยากรณ์โรคไม่ดี) การพยากรณ์โรคขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ เช่น
- อาการจากสมองขาดออกซิเจนรุนแรงหรือไม่ ถ้ามีอาการชักร่วมด้วย การพยากรณ์โรคแย่
- สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานานเท่าไร
- ถ้าสมองขาดออกซิเจนไม่มากแต่ต่อเนื่องนานเกิน 8 ชั่วโมง เซลล์สมองมักเสียหายถาวร
- ถ้าสมองขาดออกซิเจนโดยสิ้นเชิงนาน 4-5นาที เซลล์สมองจะเสียหายถาวร
- ตำแหน่งของเนื้อเยื่อสมองที่ขาดออกซิเจน เช่น ถ้าขาดออกซิเจนบริเวณก้านสมอง อาการจะวิกฤตที่สุด
- สุขภาพร่างกายเดิมของผู้ป่วย
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อมีสมองพร่องออกซิเจนและแพทย์แนะนำให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ที่สำคัญ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองโยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- ทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูต่อเนื่องตาม แพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว วิงเวียนศีรษะมาก
- กังวลในอาการ
ป้องกันสมองพร่องออกซิเจนได้อย่างไร?
การป้องกันสมองพร่องออกซิเจน ไม่สามารถทำได้ 100% แต่ที่สามารถทำได้คือ การพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ
- การป้องกันตนเองจากโรคเรื้อรังต่างๆที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ(โรคเอนซีดี) ที่สำคัญคือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในแต่ละวันในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- หลีกเลี่ยง อาหาร หวาน มัน เค็ม
- มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- ตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์ทุกปี
- รูจักใช้หน้ากากอนามัย
- กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่ดื่มสุรา
- ไม่ใช้ยาเสพติด
- ระมัดระวังอุบัติเหตุในการใช้รถ ใช้ถนน
- ใช้เครื่องป้องกันอุบัติเหตุรุนแรงเสมอตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และ/หรือกระทรวงแรงงาน เช่น การสวมใส่หมวกนิรภัย, การคาดเข็มขัดนิรภัย
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cerebral_hypoxia [2020,Sept12]
- https://www.ninds.nih.gov/disorders/all-disorders/cerebral-hypoxia-information-page [2020,Sept12]
- https://medlineplus.gov/ency/article/001435.htm [2020,Sept12]