ลูปไดยูเรติก (Loop diuretics)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาลูปไดยูเรติก (Loop diuretics) เป็นกลุ่มยาขับปัสสาวะที่ออกฤทธิ์กับไตในบริเวณที่เรียก ว่า ลูปออฟเฮนเล่ (Loop of Henle) ในเบื้องต้นยากลุ่มนี้ถูกนำไปใช้ลดความดันโลหิตสูง ลดอาการบวม/บวมน้ำของร่างกาย และบ่อยครั้งถูกนำมาใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวรวมถึงภาวะไตวาย และอาจกล่าวได้ว่ายาลูปไดยูเรติกมีประสิทธิภาพดีกว่ากลุ่มยาไทอะไซด์ (Thiazide) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะที่ใช้รักษาอาการของผู้ป่วยที่มีสภาพไตเป็นปกติเท่านั้น แต่ยาลูปไดยูเรติกสามารถใช้รักษาได้ในผู้ป่วยที่มีสภาพไตทำงานบกพร่อง

กลไกของกลุ่มยาลูปไดยูเรติกจะออกฤทธิ์ต่อการขนส่งประจุของเกลือโซเดียม เกลือโพแทส เซียม และเกลือคลอไรด์ (Chloride) ซึ่งจะมีผลลดความดันโลหิตและเกิดการขับน้ำออกจากร่างกายเพื่อลดอาการบวม เป็นต้น

อาจยกตัวอย่างยาในกลุ่มลูปไดยูเรติกได้ดังนี้เช่น

  • Furosemide: จัดเป็นยาขับปัสสาวะที่รู้จักและมีการใช้อย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ มี ทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีด ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว และลดอาการบวมของร่างกาย
  • Bumetamide: มักนำมาใช้รักษาอาการหัวใจล้มเหลว โดยจะนำมาใช้กับผู้ที่ต้องใช้ยา Furosemide ในขนาดสูงๆหรือใช้ยา Furosemide แล้วไม่ค่อยได้ผล
  • Etacrynic acid: ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและลดอาการบวมน้ำของร่างกายอันมีสาเหตุจากภาวะหัวใจวายและภาวะไตวาย จะมีข้อแตกต่างจากลูปไดยูเรติกตัวอื่นตรงที่ Etacrynic acid ไม่ มีโครงสร้างคล้ายกับยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) จึงสามารถใช้ยา Etacrynic acid กับผู้ที่แพ้ยา กลุ่มซัลฟา (Sulfa drug, รวมยา Sulfonamide) ได้ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบ ทางเดินอาหารได้มากกว่ายาตัวอื่นของยากลุ่มนี้ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ทำให้ยานี้มีฤทธิ์เป็นกรด
  • Torasemide หรืออีกชื่อคือ Torsemide : ใช้รักษาอาการบวมที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วยซึ่งการใช้เพียงขนาดต่ำๆ ก็สามารถลดความดันโลหิตสูงได้แล้ว

ทั้งนี้ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงจากยาลูปไดยูเรติกเท่าที่พบได้บ่อยคือ เกิดภาวะเกลือโซ เดียม เกลือโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ อาจพบภาวะร่างกายเสียน้ำร่วมด้วย อาการข้างเคียงอีกประ การหนึ่งที่สามารถส่งผลเสียต่อผู้ป่วยอย่างมากได้แก่ เกิดพิษต่อประสาทหูจนอาจทำให้เกิดอาการหูหนวกติดตามมาได้

มีข้อพึงระวังบางประการของการใช้ยาลูปไดยูเรติกร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs หรือกลุ่ม ACE inhibitors คือจะเร่งให้เกิดภาวะไตวายได้ง่ายมากขึ้น

ยาลูปไดยูเรติกจัดเป็นกลุ่มยาอันตรายหากใช้ผิดวิธีก็สามารถส่งผลเสียได้อย่างมากมาย การใช้ยาลูปไดยูเรติกได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์เท่านั้น

 

ลูปไดยูเรติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ลูปไดยูเรติก

ยาลูปไดยูเรติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
  • บำบัดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย

 

ลูปไดยูเรติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาลูปไดยูเรติกคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดกลับเข้ากระ แสเลือดของเกลือโซเดียม เกลือโพแทสเซียม และเกลือคลอไรด์จากปัสสาวะที่ไต ส่งผลให้มีการ ขับน้ำออกจากร่างกายพร้อมกับเกลือดังกล่าว ผู้ป่วยจึงมีปัสสาวะบ่อยขึ้นและทำให้ลดปริมาณของเลือดที่ไปเลี้ยงไต นอกจากนี้ยาลูปไดยูเรติกยังสามารถเพิ่มปริมาณสาร Prostaglandins ซึ่งจะส่ง ผลให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้มีเลือดไปเลี้ยงไตอย่างพอเพียงและไม่ทำให้ความดันเลือดที่ไตเพิ่มขึ้น กลไกทั้งหมดดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการลดอาการบวมและลดความดันโลหิตได้ตามสรรพคุณ

 

ลูปไดยูเรติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลูปไดยูเรติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน และ
  • ยาฉีด

 

ลูปไดยูเรติกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยตัวยาในกลุ่มลูปไดยูเรติกมีขนาดความแรงรวมถึงคุณสมบัติของการรักษาที่แตกต่างกัน การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

 

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลูปไดยูเรติก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาลูปไดยูเรติกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

 

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลูปไดยูเรติกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาลูปไดยูเรติกให้ตรงเวลา

 

ลูปไดยูเรติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลูปไดยูเรติกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ทำให้มีเกลือแร่บางตัวในกระแสเลือดต่ำเช่น เกลือโซเดียม เกลือโพแทสเซียม และเกลือคลอไรด์ จึงส่งผลให้เกิดภาวะสูญเสียน้ำของร่างกายหรือภาวะขาดน้ำ และมีภาวะกรดยูริคในเลือด สูงจึงเกิดภาวะเกาต์คุกคาม มีอาการวิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดผื่นคัน บางกรณีอาจทำให้เกิดอาการหูหนวกได้อีกด้วย

 

มีข้อควรระวังการใช้ลูปไดยูเรติกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ลูปไดยูเรติกเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก
  • ห้ามใช้ยากับนี้ผู้ที่มีภาวะตับทำงานล้มเหลว/ตับวาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่สูญเสียเกลือแร่ของร่างกายอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลฟา (Sulfa drug)
  • ห้ามใช้ยานี้กับกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ยาลูปไดยูเรติก) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

 

ลูปไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลูปไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยากลุ่มลูปไดยูเรติกร่วมกับยา Cyclosporin อาจทำให้เกิดภาวะเกาทต์คุกคาม หาก ไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มลูปไดยูเรติกร่วมกับยา Methotrexate จะทำให้ปริมาณยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาลูปไดยูเรติกร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่มสามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษกับไต และ/หรือสูญเสียการได้ยิน/หูหนวก วิงเวียน โดยมากมักเกิดกับผู้สูงอายุ ยาปฏิชีวนะกลุ่มดังกล่าวเช่น Amikacin, Tobramycin และ Gentamycin เป็นต้น

 

ควรเก็บรักษาลูปไดยูเรติกอย่างไร?

ควรเก็บยาลูปไดยูเรติกในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

 

ลูปไดยูเรติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลูปไดยูเรติกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Dema (ดีมา) T. Man Pharma
Dirine (ไดรีน) Atlantic Lab
Femide (ฟีไมด์) MacroPhar
Frusemide (ฟรูซีไมด์) Utopian
Frusil (ฟรูซิล) Suphong Bhaesaj
Fudirine (ฟูไดรีน) P P Lab
Furetic/Furetic-S (ฟูเรติก/ฟูเรติก-เอส) Siam Bheasach
Furide (ฟูไรด์) Polipharm
Furine 40 (ฟูรีน-40) Medicine Products
Furomed (ฟูโรเมด) Inpac Pharma
Furomide (ฟูโรไมด์) Medicpharma
Furosemide GPO (ฟูโรซีไมด์ จีพีโอ) GPO
Furozide (ฟูโรไซด์) A N H Products
Fuseride (ฟูซีไรด์) Pharmasant Lab
Fusesian (ฟูซีเซียน) Asian Pharm
Hawkmide (ฮอคไมด์) L. B. S.
H-Mide (เฮท-ไมด์) Macro Phar
Lasiven (เลซีเวน) Umeda
Lasix/Lasix High Dose (เลซิก/เลซิก ไฮท์ โดส) Sanofi-aventis
Prosix (โพรซิก) Inpac Pharma
T P Furosemide (ที พี ฟูโรซีไมด์) T P Drug

 

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Loop_diuretic  [2022,June18]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/loop-diuretics.htmlhttps://en.wikipedia.org/wiki/Furosemide  [2022,June18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Bumetanide  [2022,June18]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Etacrynic_acid  [2022,June18]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Torasemide  [2022,June18]
  6. https://www.straighthealthcare.com/loop-diuretics.html   [2022,June18]